กลุ่มส่งเสริมสิทธิแรงงาน สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในซิลิคอน วัลเลย์ เรียกร้องให้ ‘Samsung’ คุ้มครองสิทธิของพนักงานนับแสนคนทั่วโลกและเรียกร้องให้บริหารด้วยความโปร่งใส
การรณรงค์ทั่วโลกเริ่มขึ้นแล้ว เพื่อประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสุขภาพอนามัยของบริษัท Samsungบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันแรงงานสากลที่ผ่านมา (1 พ.ค.) ซึ่งออกมารณรงค์ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในเมืองซาน โฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย
การแคมเปญครั้งนี้เพื่อสมานฉันท์กับผู้ใช้แรงงานซัมซุงทั่วโลก มีผู้ร่วมสนับสนุนกว่า 200,000 รายชื่อ มีข้อเรียกร้องคือ Samsung ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของพนักงานนับแสนคนทั่วโลก และเรียกร้องให้บริหารด้วยความโปร่งใส เพราะบริษัทกำลังดำเนินคดีกับรัฐบาลเกาหลีใต้ที่พยายามตรวจสอบหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต
นักรณรงค์ในซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการใช้สารเคมีอย่างมาก และมีสารเคมีที่เป็นอันตราย ทำให้คนงานและคนในชุมชนเจ็บป่วยรุนแรง เนื่องจากบริษัทในหุบเขาซิลิคอนจ้างเหมาบริษัทอื่นทำการผลิตให้ จึงมีนักรณรงค์หลายกลุ่มในหลายประเทศเริ่มศึกษาปัญหาเหล่านี้
ส่วนองค์กรส่งเสริมสุขภาพอนามัยในเกาหลีใต้ ได้ศึกษาปัญหาคนงานอิเล็กทรอนิกส์และจัดทำเอกสารกรณีปัญหากว่า 300 กรณีที่เป็นโรคมะเร็งและเจ็บป่วยรุนแรง หลายกรณีเจ็บป่วยจากการทำงานในโรงงาน Samsung มีอย่างน้อย 118 คนในเกาหลีใต้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้และศาลต่างก็เห็นว่า จำนวนกรณีปัญหาการเจ็บป่วยรุนแรงที่มากขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับการทำงานในโรงงาน Samsung
Samsung ถูกกดดันจากนานาชาติมากขึ้น ให้ต้องระบุปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและปัญหาสุขภาพอนามัยของคนงาน และให้เปิดเผยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อคนงาน Samsung ด้วย นักรณรงค์กล่าวว่าปัญหา Samsung เสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องโปร่งใสในเรื่องการใช้สารเคมีมากกว่านี้ และต้องรับผิดชอบต่อปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน และเมื่อเดือน มี.ค. 2018 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ 3 คนได้ออกมาแถลงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการข่มขู่คนงานและองค์กรภาคประชาสังคม ที่เปิดเผยสภาพการทำงานที่เลวร้ายในบริษัท Samsung เวียดนาม
ก่อนหน้าที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อ มีข้อเรียกร้องให้ Samsung ต้องถอนฟ้องคนงานและองค์กรภาคประชาสังคม ที่เปิดเผยการใช้สารเคมีในโรงงานต่าง ๆ และเลิกบิดเบือนข้อมูล ให้ใช้สารเคมีที่ปลอดภัยและประกันสิทธิของผู้ใช้แรงงานที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัท Samsung เวียดนามได้ดำเนินคดีกับองค์กรด้านสิทธิ ที่เปิดเผยรายงานวิจัยเกี่ยวกับสภาพการทำงานในเวียดนาม ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Sumsung Galaxy จำนวนกว่าครึ่งของโลก ถือว่าเป็นการคุกคามนักวิจัยและคนงานที่กังวลกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในโรงงาน องค์การนั้น คือ ศูนย์วิจัยพัฒนาบทบาทเพศวิถี ครอบครัวและสภาพแวดล้อม ตั้งอยู่ที่กรุงฮานอย และองค์กร IPEN ในรายงานระบุว่าระดับเสียงในโรงงานดังมาก คนงานยืนทำงานเป็นเวลานานจนเป็นลมหมดสติ มีอาการวิงเวียน แท้งบุตร
ด้วยเหตุนี้ สิทธิที่จะเข้าถึงการป้องกันสุขภาพอนามัยจากสารเคมีเป็นข้อเรียกร้องหลัก กล่าวคือคนงานและผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่ามีการใช้สารเคมีชนิดใดในการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ในแถลงการณ์ระบุว่า Samsung จะต้องหยุดปกปิดข้อมูล ในโรงงานที่เกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้ฟ้องร้องรัฐบาลเพื่อกีดกันไม่ให้มีการเปิดเผยการใช้สารเคมีในโรงงานต่อสาธารณะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเป็นการบั่นทอนค่าชดเชยสำหรับคนงานที่เจ็บป่วย (จากเว็บไซต์เครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์สากล https://goodelectronics.org/global-day-action-samsung/ )
นอกจากนี้ Samsung ยังพยายามต่อต้านสหภาพแรงงานมาหลาย 10 ปี ในเกาหลีใต้เองก็ได้มีการเปิดเผยเอกสารภายในกว่า 600 แผ่นที่ระบุถึงยุทธวิธีและกิจกรรมการต่อต้านสหภาพแรงงานของบริษัท ดังนั้นการรณรงค์ครั้งนี้จึงเรียกร้องให้บริษัทเคารพสิทธิแรงงาน ให้คนงานรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้อย่างอิสระและส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัยในโรงงานด้วย
ในวันแรงงาน (1 พ.ค.) นักรณรงค์ประท้วงซัมซุงได้ชุมนุมกันที่สวนรูสเวลท์ เมืองซาน โฮเซ และเดินขบวนไปยังศาลากลางเพื่อสมทบกับกลุ่มนักกิจกรรมอื่น ๆ และสหภาพแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล รณรงค์สิทธิแรงงาน รวมทั้งมีนักจัดตั้งทางการเมืองหัวก้าวหน้าที่ออกมารณรงค์สนับสนุนการย้ายถิ่น การจัดที่อยู่อาศัยราคาถูก การเรียกร้องความยุติธรรมของผู้อพยพย้ายถิ่น คำขวัญของนักรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพอนามัยคือ “ทำความสะอาด Samsung หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ที่มาแปลและเรียบเรียงจาก
http://www.sanjoseinside.com/2018/05/03/op-ed-silicon-valley-health-labor-environmental-groups-call-on-samsung-to-protect-workers/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ