หลังจาก ‘เนวิน ชิดชอบ’ เจ้าของสโมสรฟุตบอลอาชีพเบอร์ 1 ของไทยชี้ว่าสโมสรฟุตบอลในไทยเกือบทุกทีมขาดทุน และอาจมีการยุบทีมจาก 122 ทีม เหลือ 100 ทีม ในปี 2562 พบผู้ชมในสนามปี 2560 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เหลือเฉลี่ยเพียงนัดละ 4,604 คน TCIJ ชวนดูตัวเลขเงินๆ ทองๆ ของธุรกิจสโมสรกีฬาไทยปี 2560 พบขาดทุนถ้วนหน้า กลุ่มธุรกิจขาดทุน 351.56 ล้านบาท ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ขาดทุน 74.54 ล้านบาท ‘ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด’ ขาดทุน 124.02 ล้านบาท มีกำไรหลักล้านแค่ 7 ทีม เข้าตลาดหลักทรัพย์ยากเพราะรายได้ไม่แน่นอน-ตีมูลค่านักฟุตบอลยาก ที่มาภาพประกอบ: Kyle Simourd (CC BY 2.0)
'เนวิน' ระบุสโมสรเกือบทั้งหมดขาดทุน ปี 2562 ทีมฟุตบอลในไทยอาจยุบกว่า 20 ทีม
เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ออกมาเปิดใจผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจสโมสร BURIRAM UNITED ในเรื่องของวงการฟุตบอลลีกอาชีพของไทยว่ามีการเติบโตหดตัวลง หลังจากกระแสความนิยมจากแฟนบอลเริ่มลดน้อยลงไปอย่างต่อเนื่อง และแฟนบอลที่เข้าชมเกมในสนามก็มีจำนวนลดลง รวมทั้งผู้บริหารสโมสรฟุตบอลไทยก็เริ่มถอดใจ และอาจจะยกเลิกการทำทีมไป
“การลงทุนสร้างสโมสรฟุตบอลในไทยลีก ตั้งแต่ T1 ถึง T4 จำนวน 122 ทีม มีเม็ดเงินรวมกันมากกว่า 5,000 ล้านบาทในแต่ละปี และเป็นที่รับทราบกันว่าสโมสรเกือบทั้งหมด มีผลประกอบการขาดทุน ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ คงเลิกกิจการกันไปมากกว่าครึ่งแล้ว แต่สำหรับกิจการที่เรียกว่าฟุตบอลอาชีพ ผู้บริหารสโมสรทุกสโมสรยังคงมีหัวใจสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้จะขาดทุนและเจ็บปวดแค่ไหนก็ยังสู้ และทำต่อไปด้วยความรัก ทั้งรักฟุตบอล รักบ้านเกิด และมีความหวังที่อยากเห็นฟุตบอลไทยเติบโตก้าวหน้าต่อไป”
“แต่วิกฤตแฟนบอลไม่เข้าสนาม เป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจของคนทำทีม ผู้บริหารสโมสร และนักฟุตบอลมากที่สุด หากแฟนบอลหันหลังให้สนามฟุตบอล ไม่เข้ามาชมในสนาม ไม่มาให้กำลังใจนักฟุตบอล ไม่มาส่งเสียงเชียร์ อีกไม่นาน ฟุตบอลไทยที่เราภาคภูมิใจ และดีใจว่ามีการเติบโตมากที่สุดในเอเชียและเป็นลีกอันดับหนึ่งของอาเซียนก็มีโอกาสที่จะร่วงหล่นลงมา เป็นลีกอันดับท้ายๆ ของเอเชียได้เหมือนในอดีต”
"เสียงเชียร์ เสียงตะโกนในสนามและกำลังใจจากแฟนบอล ไม่ได้ให้กำลังใจนักฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังเป็นกำลังใจ และเสียงเชียร์แก่ผู้บริหารสโมสร ให้มุ่งมั่น ตั้งใจทำทีมต่อไปอีกด้วย ... วันนี้ หลายๆ สโมสร แม้หัวใจยังคิดสู้แต่กำลังทรัพย์ที่ร่อยหรอ บางสโมสรมีความคิดเรื่องถอนทีมเพราะถอดใจ ผมได้ยินมาว่าจาก 122 ทีม ในปีนี้ (2561) อาจจะเหลือ 100 ทีม ในปีหน้า (2562)" นายเนวิน ระบุ [1]
มุ่ง eSports เปิดตัว 'บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต'
ต่อมานายเนวิน ได้เปิดตัว 'บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต' ทีมแข่งขันอีสปอร์ต (eSports) ของตัวเองโดยเริ่มที่สองเกมดังขวัญใจชาวไทยอย่าง RoV: Arena of Valor และ Dota 2 พร้อมเล็งสร้างอีสปอร์ตสเตเดียมและอีสปอร์ตอะคาเดมีเพื่อพัฒนาผู้เล่นเข้าสู่ระดับมืออาชีพ พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ถึงการชิงแชมป์โลก โดยสาเหตุที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดตัดสินใจเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ต นั้นเพราะได้เล็งเห็นถึงโอกาสใหม่ๆ ในแง่การทำธุรกิจ เนื่องจากวงการนี้มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น และกำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กีฬาฟุตบอล โดยจะประยุกต์การบริหาร การตลาด และการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาจากสโมสรฟุตบอลของตัวเองมาสู่ทีมอีสปอร์ต สำหรับการทำทีมนั้น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต ได้เข้าไปซื้อสิทธิ์บริหารทีมของสองเกมดัง คือทีม Arctic Wolf ของ เกม RoV : Arena of Valor โดยจะเปลี่ยนชื่อเป็น Buriram Arctic Wolf และ ทีม Seth Gaming ของเกม Dota 2 โดยจะเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Buriram Seth Gaming [2]
"ตอนนี้ประเทศไทยมีคนดูกีฬาอีสปอร์ตกว่า 10 ล้านคน ซึ่งนับเป็นอันดับ 20 ของโลก มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้กว่า 30,000 ล้านบาท คอมมูนิตี้นี้เติบโตเร็วมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราศึกษาและลงทุนในธุรกิจนี้ เพราะเห็นแล้วว่าเป็นกีฬาของอนาคต เป็นกีฬาที่เราสามารถขยายแบรนด์ได้ ยังสามารถแตกไลน์ธุรกิจพวก สินค้าที่ระลึกได้อีก" เนวินระบุ [3]
สถิติผู้ชมฟุตบอลไทยปี 2555-2560 ทรงกับทรุด ปี 2560 ผู้ชมต่ำสุดเฉลี่ยนัดละ 4,604 คน
ระหว่างปี 2555-2560 เฉลี่ยแล้วมีแฟนบอลเข้าไปชมฟุตบอลลีกระดับสูงสุดของไทย (ไทยพรีเมียร์ลีกก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นไทยลีก 1) นัดละ 5,388 คน โดยฤดูกาลที่มีผู้ชมเฉลี่ยสูงสุดคือฤดูกาล 2558 มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 6,349 คน ส่วนฤดูกาลที่มีผู้ชมเฉลี่ยต่ำสุดคือฤดูกาล 2560 ที่ผ่านมามีผู้ชมเฉลี่ยในสนามเพียงนัดละ 4,604 คน
ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายฤดูกาลพบตัวเลขดังนี้ ฤดูกาล 2555 ใช้ระบบการแข่งขัน 18 ทีม แข่ง 34 นัด มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 4,823 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 15,319 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดน้อยที่สุดคือ บีบีซียู 939 คน [4] ฤดูกาล 2556 ใช้ระบบการแข่งขัน 17 ทีม แข่ง 32 นัด มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 6,095 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 18,941 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดน้อยที่สุดคือ ทีโอที 1,637 คน [5]
ฤดูกาล 2557 ใช้ระบบการแข่งขัน 20 ทีม แข่ง 38 นัด มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 5,029 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 19,132 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดน้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 1,146 คน [6] ฤดูกาล 2558 ใช้ระบบการแข่งขัน 18 ทีม แข่ง 34 นัด มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 6,349 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 19,553 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดน้อยที่สุดคือ ทีโอที 1,802 คน [7]
ฤดูกาล 2559 ใช้ระบบการแข่งขัน 18 ทีม แข่ง 34 นัด (แต่ละทีมแข่งได้เพียง 30-31 นัด ต้องประกาศยุติการแข่งขันก่อนเนื่องจากเพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 5,428 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 15,547 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดน้อยที่สุดคือ บีบีซียู 1,540 คน [8] และ ฤดูกาล 2560 ใช้ระบบการแข่งขัน 18 ทีม แข่ง 34 นัด มีผู้ชมเฉลี่ยในสนามนัดละ 4,604 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดสูงสุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 13,890 คน ทีมที่มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละนัดน้อยที่สุดคือ ซุปเปอร์ พาวเวอร์ สมุทรปราการ 1,444 คน [9]
ประเทศไทยอยู่ตรงไหน? เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย จำนวนผู้เข้าชมฟุตบอลอาชีพในอินเดียนอกจากจะเป็นลำดับต้นๆ ของทวีป ที่มาภาพประกอบ: indianexpress.com ข้อมูลที่ประมาณการโดย Fox Sports Asian Football ระบุว่า 5 ลีกฟุตบอลสูงสุดในประเทศเอเชียที่แฟนบอลเข้าชมเกมต่อนัดมากที่สุด ได้แก่ เกาหลีใต้ เฉลี่ยประมาณ 8,000 คนต่อนัด ออสเตรเลีย 12,000 คนต่อนัด ญี่ปุ่น 18,000 คนต่อนัด อินเดีย 20,000 คนต่อนัด และจีนเฉลี่ยประมาณ 24,000 คนต่อนัด [10] ส่วนประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิเช่น ฟุตบอลลีกสูงสุดในอิหร่าน มีผู้ชมเฉลี่ย 9,060 คนต่อนัด, อินโดนีเซีย 8,708 คนต่อนัด, มาเลเซีย 6,914 คนต่อนัด และ เวียดนาม 6,307 คนต่อนัด เป็นต้น [11] |
ทีมใหญ่ในไทยลีกขาดทุนมหาศาล
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561) พบภาพรวมอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจ 93120 : กิจกรรมด้านสโมสรกีฬา (กิจกรรมสโมสรกีฬา ไม่ว่าจะเป็นสโมสรสำหรับนักกีฬาอาชีพ กึ่งอาชีพ หรือสมัครเล่น ที่ให้โอกาสสมาชิกในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น สโมสรฟุตบอล สโมสรโบว์ลิ่ง สโมสรว่ายน้ำ สโมสรกอล์ฟ สโมสรมวย สโมสรเพาะกาย สโมสรกีฬาฤดูหนาว สโมสรหมากกระดาน สโมสรกีฬาประเภทลู่และลาน สโมสรยิงปืน ฯลฯ) ในปี 2558 จำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 107 ราย ปี 2559 ส่งงบการเงิน 112 ราย และปี 2560 ส่งงบการเงิน 100 ราย ในด้านรายได้รวม ปี 2558 มีรายได้รวม 3,525.75 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 3,153.72 ล้านบาท และปี 2560 มีรายได้รวม 3,218.73 ล้านบาท แต่กระนั้นพบว่าภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ขาดทุนมาทั้ง 3 ปี โดยในปี 2558 ขาดทุนสุทธิรวมอุตสาหกรรม 441.59 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุนสุทธิรวมอุตสาหกรรม 149.01 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุนสุทธิรวมอุตสาหกรรม 351.56 ล้านบาท
อนึ่งทีมฟุตบอลส่วนใหญ่จดทะเบียนธุรกิจการค้าหมวดธุรกิจ 93120 : กิจกรรมด้านสโมสรกีฬา แต่ทั้งนี้จากการสืบค้นพบว่ายังมีทีมที่จดในหมวดอื่นๆ เช่น หมวดธุรกิจ 93191:กิจกรรมการจัดการแข่งขันกีฬา เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจสโมสรฟุตบอลที่ทำรายได้สูง 10 อันดับแรกในปี 2560 มีถึง 7 สโมสรที่ขาดทุน ซึ่งเมื่อพิจารณาสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด) ทีมีรายได้เป็นอันดับ 1 รวมทั้งยังเป็นสโมสรที่คว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 1 ฤดูกาล 2560 แม้จะมีรายได้รวมถึง 749,438,472.00 บาท แต่ก็ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 74,540,007.00 บาท ส่วนทีมที่ขาดทุนมากที่สุดคือ ‘ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด’ ขาดทุนสุทธิ 124,020,120.00 บาท
แต่เมื่อพิจารณาในด้านการทำกำไรของธุรกิจสโมสรฟุตบอล พบว่าทีมในปี 2560 การท่าเรือ เอฟ.ซี. จำกัด มีกำไรสุงสุด 16,630,465.80 บาท โดยธุรกิจสโมสรฟุตบอลที่มีกำไรเกินหลักล้านบาทมีเพียง 7 ทีมเท่านั้น (การท่าเรือ เอฟ.ซี. จำกัด, ชลบุรี เอฟ.ซี. จำกัด, เมืองทอง ยูไนเต็ด จำกัด, ระยองฟุตบอลคลับ จำกัด, สโมสรฟุตบอลกรุงธนบุรี จำกัด, อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด จำกัด และสโมสรฟุตบอล เชียงราย ซิตี้ จำกัด)
ฝันค้าง ‘สโมสรฟุตบอลไทย’ เข้า ‘ตลาดหุ้น’?
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด พร้อมที่จะเข้าไปเป็น บริษัทจดทะเบียน ซึ่งเดิมทีก็วางเป้าหมายไว้ในปี 2561 ที่จะนำสโมสรเข้าไปซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต้องเลื่อนไปเป็นปี 2562 โดยการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สามารถเลือกได้ 2 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายใต้องค์ประกอบ ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท และมีกำไรก่อนเข้าจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท หรือการเข้ามาเป็นสมาชิกกับตลาดหลักทรัพย์ (MAI) ภายใต้องค์ประกอบทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 50 ล้านบาท และมีกำไรก่อนเข้า จดทะเบียน 10 ล้านบาท [12]
เมื่อปลายปี 2560 นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความสนใจของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจสโมสรฟุตบอลนั้นปัจจุบันยังมีอยู่ แต่บริษัทเหล่านั้นจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างความ น่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจและฐานะ ของบริษัทโดยเฉพาะแฟนบอลที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนทั้งนี้สิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญ คือในเรื่องของจำนวนฐานแฟนบอลในระยะยาวจะเป็นอย่างไรเพราะธุรกิจฟุตบอลนั้น ไม่ค่อยมีความเสถียรในเรื่องของฐานแฟนบอล เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรายได้ ซึ่งต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อสร้าง ความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนอย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีกลุ่มบริษัทในธุรกิจฟุตบอลแสดงความสนใจที่จะเข้าจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสโมสรขนาดใหญ่ ในศึกไทยพรีเมียร์ลีก ซึ่งแสดงความ ชัดเจนว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันจะเงียบไปบ้าง แต่เชื่อว่าอยู่ในขั้นตอนของการปรับโครงสร้างบริษัทให้มีคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนนายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ระบุว่าการนำทีมฟุตบอลเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีประเด็นเรื่องของการประเมินมูลค่านักฟุตบอลในด้านการบันทึกบัญชีจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศจะมีตัวกลางผู้ประเมินมูลค่านักฟุตบอล แต่ในไทยไม่มีดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ยาก [13]
อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] “เนวิน” ร่ายยาว “ฟุตบอลไทย เติบโต หรือหดตัว?”แย้มปีหน้าส่อยุบทีมกว่า 20 สโมสร (ประชาชาติธุรกิจ, 28/7/2561)
[2] บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปิดตัว “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต” - เริ่มที่สองเกมดัง RoV และ Dota 2 (Blognone, 30/7/2561)
[3] 'บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด' ไม่ใช่แค่ฟุตบอล (คมชัดลึก, 2/8/2561)
[4] ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2555 (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561)
[5] ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2556 (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561)
[6] ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2557 (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561)
[7] ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2558 (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561)
[8] ไทยลีก ฤดูกาล 2559 (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561)
[9] ไทยลีก ฤดูกาล 2560 (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2561)
[10] Top 5 Most attended football leagues in Asia (Fox Sports Asian Football, 7/1/2017)
[11] List of attendance figures at domestic professional sports leagues (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1/8/2018)
[12] ฟุตบอลไทยสู่ตลาดหุ้น...นับถอยหลังเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ (คมชัดลึก, 3/2/2561)
[13] ที่ปรึกษาฯหวั่นตีมูลค่านักกีฬา-รายได้ไม่แน่นอนชี้สโมสรฟุตบอล'ไอพีโอ'ยาก (กรุงเทพธุรกิจ, 25/12/2560)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายได้ทีมฟุตบอลไทยมาจากไหน?
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ