คดีฆ่าหั่นศพสาวคาราโอเกะ ตกเป็นข่าวดังเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2560 โดย น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว ผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมได้ เป็นเรื่องราวที่สะเทือนขวัญผู้คนและแพร่สะพัดในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ‘เปรี้ยวหั่นศพ’ ‘สวยสังหาร’ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สื่อต่างๆ พากันประโคมข่าวคดีฆาตกรรมอันเหี้ยมโหดครั้งนี้ในทุกๆแง่มุม ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งส่งเสียเชียร์ฆาตรกรสาว เป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ?
สวยสังหารกับการยอมรับได้ของคนบางจำนวน
เราต่างประณามการใช้กำลังในการยุติปัญหา ปฏิเสธว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกยกย่องและไร้ความเป็นอารยะ แต่ดูเหมือนว่าโลกไม่เคยหลีกหนีการใช้กำลังและความรุนแรงได้เลย ร้ายแรงไปกว่าการใช้กำลังจบปัญหาก็คือ การลงมือ’ฆ่า‘ให้ถึงแก่ความตาย ทั้งด้วยอาวุธร้ายแรงและวิธีการต่างๆที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ หัวใจล้มเหลว ร่างกายแหลกสลาย หรืออื่นๆ พฤติกรรมอันแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและด้านมืดในหัวใจมนุษย์ มีปรากฏเสมอมาทุกยุคทุกสมัย ข่าวการ’ฆ่าหั่นศพ’ โดยหญิงสาววัยรุ่นหน้าตาสะสวยราวกับดารา และมีคนติดตามข่าวเธอราวกับติดตามภาพยนตร์ซีรีย์ดัง กระทั่งเห็นด้วยกับตัวฆาตกร จนถึงกับส่งเสียงเชียร์อยู่ในโลกออนไลน์ สะท้อนมุมกลับอันเลวร้ายของสังคมไทยในวันนี้หรือไม่ อย่างไร ?
‘เปรี้ยวหั่นศพ’ กลายเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ไม่มีใครไม่รู้จักในปี พ.ศ.2560 นอกจากความโหดอำมหิตของเธอที่ทำให้ข่าวแพร่สะพัดไปทั้งโลกออนไลน์แล้ว รูปร่างหน้าตา ความสวยงามก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอกลายเป็นที่สนใจ
ย้อนกลับไปวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ที่โน่นสง่า อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ชาวบ้านพบศพหญิงสาวนิรนามถูกหั่นออกเป็นสองท่อนยัดในถุงดำ ใส่ถังน้ำเพื่ออำพรางคดี ทราบชื่อ นางสาว วริศรา กลิ่นจุ้ย หรือแอ๋ม แรกเริ่มเดิมทีเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นประเด็นทางชู้สาว แต่ภายหลังจากการสอบสวนไม่พบพิรุธและได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากกล้องวงจรปิด พบว่าผู้ตายได้ขึ้นรถ C-RV เป็นภาพสุดท้ายจึงเปลี่ยนประเด็นเป็นความแค้นส่วนตัวที่มียาเสพติดเข้าไปเกี่ยวข้อง
29 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ตำรวจขอหมายจับ 4 ผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าหั่นศพ ประกอบด้วย นายวศิน นาม พรหม อายุ 22 ปี, เปรี้ยว(หัวหน้ากลุ่ม), เอิร์น, และแจ้ โดยมีข่าวว่าผู้ต้องหาหลบหนีไปประเทศเมียนมาร์
3 มิถุนายน พ.ศ.2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าสามารถจับกลุ่ม เปรี้ยว, เอิร์น, และแจ้ได้แล้ว โดยนาย วศิน นามพรหม ถูกจับกุมไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังกับทางการ สปป.ลาว และตม.หนองคาย อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่ยังตามจับกุม น.ส. จิดารัตน์ หรือเบนซ์ พรหมคุณ อายุ 21 ปี ที่จังหวัด อุบลราชธานี ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่า เป็นแต่เพียงผู้นำทรัพย์สินมีค่าไปเท่านั้น
คดีดังกล่าวแพร่สะพัดในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ‘เปรี้ยวหั่นศพ’ หรือ’สวยสังหาร’ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยเวลาอันรวดเร็ว สื่อต่างๆ พากันเกาะติดคดีฆาตกรรมอันเหี้ยมโหดครั้งนี้ในทุกๆ แง่มุม ยก ตัวอย่างเช่น ฆาตกรเคยสวมเสื้อลายตุ๊กตาชัคกี้ (ตุ๊กตาผี) และเคยใช้รูปโปรไฟล์เฟสบุ๊คด้วยภาพตุ๊กตาผีตัวดังกล่าว อีกทั้งการไม่สวมกุญแจมือกับฆาตกร จนเจ้าหน้าที่ต้องออกมาชี้แจง หรือแม้แต่การแชร์ภาพลายสักตามร่างกายแนวซาดิสต์และอื่นๆ ของเปรี้ยว ก็ยังถูกขุดขึ้นมาจากบัญชีเฟสบุ๊ค แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ แม้แต่การแต่งหน้า ทานของหวานของกลุ่มฆาตกรต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจบนโรงพัก ก็ยังถูกแพร่สะพัดออกไปในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตามนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวช ขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การกล่าวหาว่าน.ส.ปรียานุช(เปรี้ยว) เป็นฆาตรกรโรคจิตนั้นถือว่าสังคมมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะคนเป็นโรคจิตคือคนที่ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ผู้ป่วยโรคจิตจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ต่างจากน.ส.ปรียานุช ที่มีการวางแผนซับซ้อน มีการโต้ตอบซึ่งต่างจากผู้ป่วยโรคจิต
คดีฆาตกรรมครั้งนี้ พฤติกรรมและคำอธิบายสภาวะจิตของฆาตกรไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมของสื่อที่นำเสนอแม้กระทั่งความรักสวยรักงามของฆาตรกรกลุ่ม ‘ฆ่าหั่นศพ’ ก็นับเป็นประเด็นสำคัญด้วย เพราะปรากฏในเวลาอันไล่เลี่ยกันต่อมาว่า มีผู้ใช้เฟสบุ๊คจำนวนหนึ่งออกมาสนับสนุนตัวฆาตกร โดยติดแฮชแทค #ทีมเปรี้ยว พร้อมข้อความให้กำลังใจโพสต์ลงบนโลกโซเชียล สิ่งที่ควรคำนึงสำหรับประเด็นนี้ก็คือ การสนับสนุนตัวฆาตกรเป็นผลมาจากการนำเสนอของสื่อต่างๆ ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ สิ่งเหล่านี้กำลังนำทางเราไปสู่อะไร ?
รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา ออกความเห็นเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นในงานจุฬาเสวนา ครั้งที่ 6 หัวข้อบรรยาย “ฆ่า หรือ ค่า สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย” เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2560 ว่า เหตุการณ์อาชญากรรมในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติที่มีมานาน แต่กรณีที่เกิดกระแสในระดับที่ทำให้คนในสังคมเริ่มคล้อยตามกำลังมีเพิ่มมากขึ้น “ระยะสั้นอาจยังไม่มีผลกระทบมาก แต่อนาคตจะกลายเป็นแผลลึกทำให้สังคมไทยเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่กำลังค้นหาพฤติกรรมตัวเอง สื่อยิ่งนำเสนอทำให้ผู้รับสารจดจำและกลายเป็นความเคยชินกับความรุนแรง โดยเฉพาะเยาวชนหากปล่อยให้ซึมซับโดยไม่มีวุฒิภาวะแยกแยะว่าอะไรถูกหรือผิด คิดเพียงว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากปล่อยไปอีกไม่นานสังคมไทยจะเกิดปัญหา”
ทางด้าน ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ออกความเห็นกับเรื่องดังกล่าวในเวทีเสวนาเดียวกันว่า “สื่อยุคปัจจุบันต้องทำเพื่อปากท้อง แม้จะผิดหลักจรรยาบรรณก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด หากไม่ทำอาจถูกหัวหน้าให้เลือกว่าจะทำงานหรือให้ลาออก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกระหว่างเรื่องอุดมการณ์กับปากท้อง จนทำให้คนในสังคมมองว่า สื่อยุคนี้เป็นเสือกระดาษหรือแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ไม่สามารถกำกับดูแลกันได้จริง สุดท้ายคนจึงหันไปสนใจสื่อประเภทอื่นที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และเล่นข่าวหนักๆ มากกว่า”
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/content/962152 , สืบค้นเมื่อ 14 /06/2561
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_381243 ,สืบค้นเมื่อ 14 /06/2561
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_374591 , สิบค้นเมื่อ 14/06/2561
ย้อนรอยคดีฆ่าหั่นศพในอดีต คดีฆ่าหั่นจู๋ พนักงาน รฟม. คดีเขย่าขวัญคนกรุงรับปี 2550 เมื่อมีคนพบศพนายพิชัย ทองใบ พนักงานช่างเทคนิคของ รฟม. ในสภาพถูกฟันที่ท้ายทอย คอถูกปาดลึกเกือบขาด รวมทั้งอวัยวะเพศของผู้ตายถูกคนร้ายใช้มีดตัดเกือบขาดเช่นกัน อีกทั้งยังใช้เลือดเขียนเป็นรูปหัวใจไว้ที่กลางหน้าอกของผู้ตาย สร้างความสยดสยองเป็นอย่างยิ่ง จนในที่สุดนายกฤษฎาพร บรรพชาติ หรือนายเก่งรฟม.ผู้ที่ลงมือฆ่าก็ขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว โดยนายเก่งสารภาพถึงมูลเหตุจูงใจมาจากเรื่องชู้สาว |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ