การพิทักษ์จารีตของพุทธเถรวาทไทยผ่านการเรียนบาลี

เจษฎา บัวบาล: 6 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 6534 ครั้ง


บาลีเป็นภาษาหนึ่งที่ถูกเชื่อว่าผู้เรียนจะทำหน้าที่รักษาพุทธพจน์หรือพุทธศาสนาเถรวาทไว้ได้ แต่การเรียนบาลีในประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของรัฐซึ่งจัดการแบบรวมศูนย์ได้กลายเป็นเครื่องจักรสำคัญในการรักษาจารีตเดิมของพุทธแบบไทย การเรียนจึงไม่เอื้อต่อการตีความที่หลากหลายและความก้าวหน้าทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ แต่กลับส่งเสริมให้ผู้เรียนเติบโตในวงการสมณศักดิ์

การเรียนบาลีในไทยมิใช่ภาษาศาสตร์แต่เป็นศาสนศึกษา

มีความพยายามของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในการเขียนตำราภาษาบาลีให้เป็นภาษาศาสตร์ เช่น การแบ่งพยัญชนะออกเป็นหมวดหมู่และจัดให้เข้ากับฐานเสียง และการสรุปย่อไวยากรณ์เป็นหมวดเหมือนภาษาทั่วไป คือ นาม คุณนาม กิริยา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาจะมีการเขียนหนังสือไวยากรณ์ออกมาเพิ่ม แต่เน้นไปที่การแก้สำนวนให้ทันสมัยขึ้น มากกว่าจะพัฒนาตำราเดิมให้เป็นภาษาศาสตร์ 

ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการพัฒนาตำราไวยากรณ์อาจเป็นเพราะสนามหลวงยึดตำราเดิมเป็นแนวข้อสอบ ผู้เขียนสมัยเป็นสามเณรก็ถูกแนะนำจากอาจารย์ให้เขียนตอบตามตำราให้มากที่สุดและนักเรียนที่ท่องจำตำราได้จะมั่นใจว่ามีโอกาสผ่านมากกว่าการตอบอธิบายตามความเข้าใจ ดังนั้น การมาเน้นให้ผู้เรียนท่องจำจึงสำคัญกว่าการออกแบบตำราให้ง่ายต่อการเรียน

ตำราเรียนภาษาบาลียังมีปัญหา ให้นึกภาพว่า ผู้ที่จะช่ำชองภาษาบาลีได้ต้องเรียนถึงประโยค ป.ธ. 9 หรือใช้เวลาอย่างน้อย 8 ปี (สอบปีละครั้ง ส่วนประโยค 1-2 รวบเข้าด้วยกัน) ซึ่งการเรียนภาษาอื่นๆ เช่น อังกฤษ หรือที่ยอมรับกันว่ายาก เช่น จีน ฝรั่งเศส หรือสันสกฤต ผู้เรียนใช้เวลาเพียง 2-3 ปี การเรียนบาลีที่ต้องใช้เวลานานมิใช่เพราะเป็นภาษาที่พิสดารกว่า หากแต่ตำราเรียนมีปัญหาและผู้สอนไม่ทราบวิธีในการอธิบายให้ง่าย เพราะอาจารย์เองก็ศึกษาผ่านการท่องจำมาเช่นกัน

แต่คณะสงฆ์ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหานี้ เพราะยิ่งเรียนยากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตอกย้ำความพยายามและบุญบารมีของผู้สอบผ่านมากเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มหาเปรียญทั้งหลายจะได้รับการยอมรับมากกว่าพระทั่วไป

และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เปิดให้สอบบาลีได้เพียงปีละครั้ง เพราะต้องสร้างความศักดิ์สิทธิ์ผ่านโอกาสที่ยากในการเข้าสอบ หากมองว่าบาลีคือการเรียนภาษา สามารถเปิดสอบได้ปีละ 3-4 ครั้ง เช่นเดียวกับการสอบ TOELF การสอบหลายครั้งมิได้หมายความว่าจะทำข้อสอบให้ง่ายขึ้น ตรงกันข้ามอาจทำให้ยากขึ้นก็ได้ แต่ผู้สอบจะมีโอกาสมากขึ้นโดยไม่ต้องรอนานเกินไป ซึ่งหากสอบได้ปีละ 3-4 ครั้ง ก็จะมีจำนวนมหาเปรียญเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่า ก็จะลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของบาลีลงไป

"การเรียนบาลีจึงไม่ใช่การเน้นให้คนมีความรู้ด้าน ภาษาศาสตร์ แต่เป็นการรักษาจารีตและอำนาจของพระสงฆ์อีกชนชั้นหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น จะสังเกตได้ว่า สังคมไทยคาดหวังให้พระมหาเปรียญเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องธรรมะหรือการเทศน์สอน มากกว่าจะเป็นนักภาษาศาสตร์"

คนไทยมองภาษาบาลีว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นมูลภาษาหรือภาษาสากล ที่พระพุทธเจ้า เทวดา พรหม และมนุษย์ที่ไม่เคยเรียนรู้ภาษาใดเลยจะพูดบาลี พระเณรจะต้องพนมมือไหว้ขณะท่องแบบไวยากรณ์ต่อหน้าอาจารย์ และถูกบอกว่าเป็นคนมีบุญมากที่ได้เรียนภาษานี้ อาจารย์หลายท่านตำหนิการถือหนังสือแกว่งไปมาหรือหนีบด้วยรักแร้ว่าไม่ให้ความเคารพตำรา ควรจะถือกอดไปข้างหน้าหรือแบกไปบนไหล่หรือศีรษะจึงจะเหมาะสมและกราบตำราทุกครั้งก่อนการเปิดอ่าน จะเห็นว่า มิใช่เป็นแค่การเรียนเอาภาษา แต่เป็นการช่วยพิทักษ์จารีตและหลักปฏิบัติที่นักอนุรักษ์นิยมไทยประสงค์ด้วย

ตำราเรียนที่ใช้ในระดับชั้นต้นๆ คือ นิทานธรรมบทและมงคลชีวิต 38 มีคุณูปการมากในการนำมาเทศน์สอนของพระมหาเปรียญเหล่านั้น และไม่น่าแปลกที่คนไทยจะเคยชินกับนิทานพวกนี้ ตลอดจนเรื่องบุญ บาป ซึ่งถูกเน้นในตำราเรียนชั้นต้น ๆ สันนิษฐานได้ว่า ตำราเหล่านี้ถูกเลือกมาเพื่อมุ่งให้ใช้เป็นแนวทางในการเผยแผ่ธรรมแบบพุทธเถรวาทไทยอีกด้วย 

เรียนบาลีเพื่อเป็นพระสังฆาธิการ มิใช่นักวิชาการ

ตำราเรียนของประโยค ป.ธ. 3 ชี้ชัดว่า การเรียนบาลีไม่เพียงมุ่งให้นักเรียนมีความรู้เรื่องภาษาและศาสนาเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมสู่การทำงานเป็นเลขานุการของพระสังฆาธิการ จึงกำหนดให้มีวิชา “บุรพภาค” หรือการเขียนจดหมายราชการมาเป็นหนึ่งใน 3 วิชาที่ต้องสอบให้ผ่าน ทั้งที่วิชานี้มิน่าจะจัดเป็นหลักสูตรการเรียนภาษาบาลีแต่อย่างใด 

ประเด็นสำคัญคือ งานวิชาการในโลกสมัยใหม่จะเป็นงานที่ดี ตำราหรือข้อมูลควรจะถูกศึกษาอย่างวิพากษ์และเปิดโอกาสต่อการตีความที่แตกต่างออกไป ซึ่งแน่นอนว่าทำไม่ได้ในการเรียนบาลี ที่นักเรียนถูกบอกให้เชื่อตำราและครูอาจารย์ เช่น การแต่งฉันท์ของประโยค ป.ธ. 8 ที่ต้องอาศัยการสรุปความภาษาไทยและแต่งเป็นฉันท์ด้วยภาษาบาลี นักเรียนทางโลกจะมีปัญหาร่วมกันคือ ไม่เห็นด้วยกับการสรุปความของอาจารย์ และตนตีความไปอีกแบบ สุดท้ายอาจารย์ตรวจบอกว่าสรุปไม่ตรงประเด็น (ทั้งที่นักศึกษาบางคนมีความรู้ทางโลกที่จะสรุปความได้เก่งกว่าอาจารย์ซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะบาลี) 

การจะสอบให้ผ่านวิชานี้คือ ต้องดูแบบอย่างที่อาจารย์แต่งเฉลย และจดจำคำสำคัญ (keywords) ของเรื่องนั้นๆ ไปใช้ จึงจะมั่นใจได้ว่าสอบผ่าน ในเมื่อกระบวนการเรียนไม่ส่งเสริมการวิพากษ์และรับความหลากหลาย การจะทำงานวิชาการที่ดีซึ่งต้องชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของความรู้/มุมมองแบบเก่าจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ต่อให้มีพระนักวิชาการด้านบาลีเกิดขึ้น ก็จะเป็นวิชาการในแง่สามารถแปลคัมภีร์ด้วยสำนวนที่ทันสมัยมากขึ้นเท่านั้น มิใช่การเล่นกับมโนทัศน์ (concepts) 

พระสงฆ์ที่จบการศึกษาบาลีในทุกระดับจึงรับตำแหน่งพระสังฆาธิการทำงานคณะสงฆ์มากกว่าจะผันตัวเองไปเรียนต่อในทางโลกและเป็นนักวิชาการจริงๆ พระเปรียญ 9 ก็เตรียมที่จะรับตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง หรือกลับภูมิลำเนาไปเป็นครูใหญ่บาลี เจ้าคณะตำบล/อำเภอ และต่อมาก็ขอตำแหน่งเป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) นี่เป็นอนาคตที่พระมหาเปรียญพอจะคาดหวังได้   

แม้บางท่าน เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จะได้รับการขนานนามว่าเป็นนักวิชาการ แต่งานของท่านก็สะท้อนไปในลักษณะอนุรักษ์นิยม ที่ปกป้องคำสอนของเถรวาทและโต้แย้งกับคำสอนนิกายอื่นซึ่งไม่วางอยู่บนคัมภีร์บาลีว่าเป็นลัทธิแปลกปลอม ตลอดจนพระภิกษุหลายรูปเสนอไม่ให้ไหว้หรือรับไหว้พระภิกษุมหายาน เพราะมิได้บวชด้วยภาษาบาลี สังฆกรรมจึงเป็นโมฆะ และเท่ากับเขายังเป็นอุบาสกคนหนึ่ง สรุปได้ว่า การเรียนบาลีแบบไทยมิได้เปิดทางสู่การเป็นนักวิชาการที่ใจกว้าง กล้าวิพากษ์ศาสนาตนเอง และอยู่ร่วมกับผู้เห็นต่างได้

การเรียนบาลีกับ Secular State

การจัดการเรียนการสอนภาษาบาลีที่ดีส่งผลต่อการนำไปสู่รัฐ Secular ได้ด้วย กล่าวคือ เป็นก้าวหนึ่งที่กิจการคณะสงฆ์ถูกแยกออกไปจากรัฐ และบริหารกันเองแบบเอกชนซึ่งสามารถทำให้หลากหลายได้ การขอให้รัฐเข้ามาจัดการปฏิรูปแล้วยื่นตำราชุดใหม่ (ไม่ว่าจะดีแค่ไหน) มาให้เรียนกันทั้งประเทศ สุดท้ายก็จะนำไปสู่เผด็จการทางความคิด ที่ผู้เรียนไม่สามารถแสดงออกได้เพราะจะต้องเขียนข้อสอบให้ตรงกับที่สนามหลวงส่วนกลางต้องการ

แต่ละสำนักควรเปิดการเรียนการสอนเป็นของตัวเอง ใช้ตำราของตัวเอง มีวิธีวัดผลและออกใบประกาศในนามของสำนักตัวเอง สำนักเรียนที่พัฒนาระบบการสอนให้เข้าใจง่าย เน้นความเข้าใจมากกว่าท่องจำก็จะดึงดูดผู้เรียนได้มากกว่า ที่สำคัญ การใช้ตำราที่แตกต่างหลากหลาย เช่น บางสำนักอาจใช้พระไตรปิฎก จะทำให้ความรู้ทางปริยัติเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

ตัววัดความสามารถอาจถูกเปลี่ยนจากการแสดงพัดยศหรือใบประกาศนียบัตรของแม่กองบาลีสนามหลวง มาเป็นความสามารถตีความพระสูตรด้วยมุมมองใหม่ โต้แย้งข้อเสนอเดิมซึ่งถูกแปลอย่างผิดไวยากรณ์ และผลงานเหล่านั้นจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการฐาน TCI เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไป 

“หากการเรียนบาลีถูกทำให้กลายเป็น ภาษาศาสตร์ จะทำให้ผู้เรียนบ่มเพาะแนวคิดเชิงวิพากษ์และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับศาสนามากยิ่งขึ้น อีกทั้งการที่แต่ละสำนักออกแบบหลักสูตรเป็นของตัวเอง จะช่วยให้คณะสงฆ์ออกห่างจากการครอบงำของอำนาจรัฐด้วย”

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: unclelkt(CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: