โรงพยาบาลแม่สอดพบคนไทยป่วยวัณโรคมากกว่าแรงงานเพื่อนบ้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3209 ครั้ง

โรงพยาบาลแม่สอดพบคนไทยป่วยวัณโรคมากกว่าแรงงานเพื่อนบ้าน

โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก พบคนไทยเป็นวัณโรคมากกว่าชาวพม่า ปี 2561 พบผู้ติดเชื้อ 123 ราย แยกเป็นคนไทย 71 ราย สัญชาติพม่า 52 ราย โรงพยาบาลแม่สอดใช้กลยุทธ์วิธีการรักษาเชิงรุก หลังวิธีการรักษาที่ผ่านมาไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะปัญหาดื้อยา พบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อวัณโรค 3 ราย ที่มาภาพประกอบ: TNN24

สปริงนิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าที่ห้องประชุมโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรควัณโรค ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างปี 2555-2560 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคไปรักษากับทางโรงพยาบาลแม่สอด จำนวน 500 ราย พบเป็นบุคคลต่างชาติ (แรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า) มากกว่าคนไทย และในปี 2559 พบว่าคนไทยมากกว่าต่างชาติซึ่งส่วนมากเป็นชาวพม่า ส่วนการรักษาพบว่า อัตราการหายจากโรควัณโรค มีประมาณร้อยละ 80 แต่คนไทยมักเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ส่วนปัญหาของคนต่างด้าวคือ การขาดยา เนื่องจากไม่ยอมทานยา เพราะเมื่อทานไปแล้วรู้สึกทรมานจึงไม่ยอมทาน ต่อมาในปี 2561 พบผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคอีก 123 ราย แยกเป็นคนไทย 71 ราย เป็นชาวพม่า 52 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยดื้อยา 2 ราย นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัญโรค เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่สอด อีก 3 ราย จากปีที่ผ่านมาพบ 12 ราย

นายแพทย์ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลแม่สอดได้เริ่มกำหนดกลยุทธ์ในการรักษาเพื่อ ลดปัญหาการขาดยา กำหนดให้ผู้ป่วยมาทานยาต่อหน้าแพทย์ที่รักษา หรือพยาบาล, จัดเจ้าหน้าที่นำยาไปบริการถึงที่บ้าน และให้ทานยาต่อหน้า แต่ก็มีอีกปัญหาหนึ่งคือปัญหาการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา หรือแรงงานที่ผ่านระบบเอ็มโอยู ถือหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอตแรงงานเข้ามา โดยไม่ผ่านการตรวจสุขภาพโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่่ ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ถือหนังสือเดินทางเข้ามา ก็สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ชายแดนเข้าไปยังจังหวัดชั้นในของประเทศไทยได้ทันที แม้ว่ามีการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯ แล้วก็ตาม เมื่อตรวจพบโรควัณโรค หรือโรคอื่นๆ ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีการรักษาต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร จึงมีข้อเสนอแนะ อยากให้แรงงานที่เข้ามาในระบบ MOU ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ควรที่จะตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลในพื้นที่ และได้รับการรักษาให้หายขาดก่อน ที่จะเดินทางเข้าไปทำงานพื้นที่ชั้นในจะดีที่สุด และเมื่อไปทำงานในพื้นที่ชั้นในแล้ว สามารถตรวจสุขภาพในพื้นที่ชั้นในได้ตลอด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: