'ไทย-ญี่ปุ่น-พม่า' เตรียมขับเคลื่อน พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายรอบใหม่ หลังไจก้าปรับแผนแม่บท ถอนอุตสาหกรรมหนัก 'เหล็ก-ปิโตรเคมี' มุ่งอุตสาหกรรมเบา ที่ส่งเสริมใช้แรงงาน เช่น ผลิตชิ้นส่วน พร้อมเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อน ปลาย มิ.ย. 2561 ถกร่วม 3 ฝ่าย รับทราบแผน ที่มาภาพประกอบ: The Myanmar Times
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังคณะผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้าพบ ว่าไจก้าได้นำเสนอร่างรายงานฉบับสุดท้ายของการสำรวจโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แผนแม่บทการพัฒนาซึ่งได้ศึกษาเพิ่มเติมจากการศึกษาระหว่างไทย - เมียนมา ซึ่งปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการประชุมหารือความร่วมมือของคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ญี่ปุ่น - ไทย - เมียนมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาร่างรายงานดังกล่าวว่า จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขร่างรายงานฉบับสุดท้ายของการสำรวจโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะรายละเอียดเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แผนแม่บท ได้มีการปรับปรุงในหลายส่วน ได้แก่ ปรับเป้าหมายในการลงทุนจาก อุตสาหกรรมใหญ่ พวกปิโตรเคมี หรือ อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำเป็น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากขึ้น และ เป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วน ซึ่งยังคงใช้แรงงานเมียนมา โดยญี่ปุ่นเข้าไปตั้งโรงงานลงทุนในทวาย และส่งต่อชิ้นส่วนเข้ามาที่แหล่งอุตสาหกรรมในไทย เป็นรูปแบบที่เกิดประโยชน์กับทั้ง 3 ฝ่าย
โดยจะเริ่มลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ถนนต่างๆ ก่อน ซึ่งขณะนี้ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ เนด้า ให้ที่ปรึกษา ทบทวนแนวเส้นทาง และการออกแบบรายละเอียด ถนนซึ่งเดิมกรมทางหลวงได้ออกแบบไว้ และพบว่า มีปัญหาในเรื่องความลาดชัน ที่เป็นอุปสรรคกับการขนส่งด้วยรถบรรทุก โดยจะปรับเส้นทางบางช่วงเพื่อลดปัญหาเรื่องความลาดชันมาก ก่อนที่จะพิจารณาให้เงินกู้กับเมียนมา ขณะที่ ทางสภาของเมียนมาได้เห็นชอบเรื่องการกู้เงินจากไทยดำเนินการก่อสร้างถนนแล้ว
นอกจากนี้ ยังพิจารณาแบ่งเฟสการดำเนินโครงการใหม่ มีระยะการพัฒนาที่ยาวขึ้นมากกว่าเดิม เพื่อให้ตรงกับความพร้อมของนักลงทุนมากขึ้น และสอดคล้องกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเร่งรัดในระยะแรก
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ เนด้าเตรียมเงินกู้ 4.5 พันล้านบาท แก่รัฐบาลพม่า เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนจากฝั่งไทยไปเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่า โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราผ่อนปรน ที่ 0.1% ขณะที่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเดิม นอกจากพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแล้ว ยังมี นิคมอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงเหล็ก โรงปุ๋ยโรงไฟฟ้า เส้นทางการคมนาคม ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นได้พบกับรัฐบาลหลายครั้งแล้ว ในการขับเคลื่อนโครงการทวาย ขณะที่เมียนมาเริ่มต้องการพัฒนาพื้นที่เพื่อผลักดันเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งไจก้าศึกษาแล้วพบว่าพื้นที่หลังท่า ควรเป็นอุตสาหกรรมเบา การขับเคลื่อนหลังจากนี้จะมีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ แม้โครงการอาจจะไม่ได้เริ่มต้นในรัฐบาลนี้ แต่เชื่อว่าจะเดินหน้าต่อ เพราะทวายเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ