ปัจจุบันไทยและ สปป.ลาว มีการทำข้อตกลง MOU ที่ไทยจะซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 9,000 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่างกันรวมแล้ว 5,832 เมกะวัตต์ ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center
เว็บไซต์ Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2561 ว่าถึงแม้จะมีเหตุการณ์ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่หลายหมู่บ้านที่อยู่ในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต สูญหาย และไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนมาก แต่ทั้งสปป.ลาว และรัฐบาลไทย ยังคงยืนยันเดินหน้ากรอบความร่วมมือตามเอ็มโอยูที่ตกลงกันไว้
ปัจจุบันไทยและ สปป.ลาว มีการทำข้อตกลง MOU ที่ไทยจะซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 9,000 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่างกันรวมแล้ว 5,832 เมกะวัตต์ แต่โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ มายังประเทศไทย มีจำนวน 6 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,989 เมกะวัตต์ ได้แก่ 1.โครงการเทิน-หินบุน จำนวน 220 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน มี.ค. 2541 2.โครงการห้วยเฮาะ จำนวน 126 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน ก.ย. 2542 3.โครงการน้ำเทิน 2 จำนวน 948 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน เม.ย. 2553 4.โครงการน้ำงึม 2 จำนวน 597 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน มี.ค. 2554 5.โครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย จำนวน 220 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน ธ.ค. 2555 และ 6.โครงการหงสาลิกไนต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ 3 ยูนิต รวมจำนวน 1,878 เมกะวัตต์ เข้าระบบล่าสุดเดือน มี.ค. 2559
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยในปี 2562 อีก 3 โครงการ รวมปริมาณไฟฟ้า 1,843 เมกะวัตต์ ได้แก่ 1.โครงการไซยบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ 2.โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย 354 เมกะวัตต์ และ 3.โครงการน้ำเงี้ยบ 1 จำนวน 269 เมกะวัตต์ ส่วนในปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการน้ำเทิน 1 เข้าระบบอีก 520 เมกะวัตต์ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวทั้งหมดเข้าระบบแล้ว จะทำให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวรวม 6,352 เมกะวัตต์ จากกรอบความร่วมมือ 9,000 เมกะวัตต์
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ยังมีอีกหลายโครงการที่ สปป.ลาวได้เสนอขายไฟฟ้าให้กับ ไทย แต่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาความเหมาะสมก่อนจะตกลงกัน ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP2018) ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้เป็นหลัก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าแม้ว่าโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย จะมีปัญหาที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยยืนยันแล้วว่าจะไม่กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าของฝั่งไทย เพราะยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่เพียงพอ
สำหรับกรอบข้อตกลงตามเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเหลือไฟฟ้าที่ไทย จะต้องซื้อเข้าระบบ อีกเกือบ 3,000 เมกะวัตต์ นั้น มีโครงการที่ยังมีศักยภาพที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น โครงการปากเบ่ง กำลังการผลิต 798 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ได้มีการเจรจากับฝ่ายไทย มีอีกจำนวนกว่า 1,905 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการเซกอง 4 กำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ โครงการเซกอง 5 กำลังการผลิต 330 เมกะวัตต์ โครงการน้ำกง 1 กำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์ และโครงการเซนาคาม กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่เอกชนไทยเข้าไปเป็นผู้พัฒนาโครงการอีก 600 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องติดตามว่าหลังแผน PDP2018 จัดทำแล้วเสร็จ short list ของโครงการใหม่จะเป็นอย่างไร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ