ชาวเน็ตเรียกร้องสิทธิรักษาพยาบาลของครูเอกชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 6735 ครั้ง

ชาวเน็ตเรียกร้องสิทธิรักษาพยาบาลของครูเอกชน

ชาวเน็ตเรียกร้องสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนผ่าน change.org ขอสิทธิในการรักษาพยาบาลของครูเอกชนควรจะไม่ด้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) เพราะปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลของครูเอกชนกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีต่อคน ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือต้องสำรองจ่ายไปก่อน ที่มาภาพ: change.org/กิตติศักดิ์ กิติวงศ์โกศัย

7 ม.ค. 2561 มีการรณรงค์เรื่อง 'ความทุกข์ของครูเอกชน มีทางออก' โดยผู้ใช้เว็บชื่อ กิตติศักดิ์ กิติวงศ์โกศัย ผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ระบุว่าขอสิทธิในการรักษาพยาบาลของครูเอกชนควรจะไม่ด้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) เพราะปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลของครูเอกชนกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีต่อคน ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือต้องสำรองจ่ายไปก่อน

โดยรายละเอียดทั้งหมดของการรณรงค์มีดังต่อไปนี้

ผมเป็นครูมามากกว่า 25 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากที่เทียบเท่าราชการมาจนถึงจุดที่สิทธิการรักษาพยาบาลต่ำกว่าหลักกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า (กองทุน 30 บาท) ในปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลของครูเอกชนกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีต่อคน ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือต้องสำรองจ่ายไปก่อน ที่ผ่านมาเราได้แต่รอว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมทำให้ผมเป็นห่วงเพื่อนครูที่อาจประสบชะตากรรมเดียวกัน คือ เมื่อสามเดือนก่อนผมเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน โชคดีที่อาการกำเริบหนักตอนถึงโรงพยาบาล และโชคดีอีกอย่างที่ผมอยู่ในกองทุนประกันสังคมซึ่งค่าใช้จ่าย ทั้งหมดกว่า 400,000 บาทในการสวนสีหัวใจสอดขดลวด บอลลูน ค่ายา ค่าการรักษาต่อเนื่อง ฯลฯ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าวันนั้นผมอยู่กับกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ผมจะต้องกู้ยืมเงินจากที่ไหน เพื่อมาสำรองจ่าย และส่วนต่างที่เกิดขึ้นใครจะช่วยผม จากข้อมูลหนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่เปรียบเทียบราคา 5 กลุ่มโรค โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจอุดต้นฉับพลัน อัตราเริ่มแรกอยู่ที่ 89,376 บาท และขยับไปที่ 142,918 บาท ไปจนถึง 158,680 บาท ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเมื่อปี 2557 ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายคงสูงกว่านั้น และโรคอื่นๆที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง พวกเราจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย จะต้องรออีกนานแค่ไหนที่พวกเราจะได้รับการเหลียวแล

ข้อมูลจาก TDRI Factsheet, ระบบประกันสุขภาพ ,กองทุนประกันสังคม ,กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

1.สิทธิข้าราชการ มีคนอยู่ในระบบราว 5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 12,000 บาท งบประมาณเฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท งบจากภาษี โดยรัฐบาลอุดหนุน 100 %

2.สิทธิประกันสังคม มีคนอยู่ 12 ล้านคน งบประมาณเฉลี่ยคนละ 3,093 บาท งบประมาณเฉลี่ยปีละ 38,000 ล้านบาท รัฐบาลอุดหนุนส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบผู้ประกันตนและนายจ้าง

3.สิทธิบัตรทอง ครอบคลุมประชาชนทั่วไป 49 ล้านคน งบเฉลี่ยในการรักษาพยาบาลโดยไม่รวมค่าอื่นๆประมาณ 2,895 บาทต่อคน

ผมจึงอยากจะขอเสนอ

1.สิทธิในการรักษาพยาบาลของครูเอกชนควรจะไม่ด้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า (กองทุน 30 บาท)

2.ผมติดตามและทราบว่าทางกองทุนสงเคราะห์มีแนวคิดที่ย้ายครูเข้ากองทุน 30 บาท โดยจะหักเงินสมทบ 6% ส่วนหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมมีความเป็นห่วงและเชื่อว่าคุณครูหลายท่านคงกังวลใจไม่น้อย เพราะครูเอกชนอย่างเราไม่ได้มีรายได้มาก เงินส่วนนี้ที่สะสมไว้ก็เพื่อวันหนึ่งจะใช้เป็นเงินประจำวันหลังเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครูหลายท่านที่อายุมากแล้ว ซึ่งเงินสะสมที่ส่งในช่วงต้นก็คำนวณจากเงินเดือนที่ไม่ได้สูงมากนัก ผมจึงขอเสนอทางที่จะกระทบทุกฝ่ายให้น้อยที่สุด ดังนี้

2.1 ให้นำเงินที่ได้จากดอกเบี้ยเงินฝากของกองทุนสงเคราะห์ส่วนหนึ่งโอนไป กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมเชื่อว่าทุกคนทราบว่ารัฐบาลต้องแบกรับภาระจึงอยากเสนอวิธีนี้เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับทางรัฐ ผมคิดคำนวณจากงบรายรับ-รายจ่ายของรอบบัญชีตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558-31 กรกฏาคม 2559 ของกองทุนสงเคราะห์ ที่มีรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 240,000,000 ล้านบาท และเมื่อคิดคำนวณจำนวนครูเอกชนที่ 130,000 คน เท่ากับรายจ่ายด้านรักษาพยาบาลต่อคนต่อปี จะอยู่ที่ประมาณ 2,200 บาท ในขณะที่สิทธิบัตรทองตกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี ทำให้มีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 800 บาท

2.2 ส่วนต่างนี้ผมอยากเสนอให้ทางโรงเรียนเอกชนอนุเคราะห์ออกให้กับคุณครูซึี่งจะตกคนละประมาณ 800/12 เท่ากับ 70 บาทต่อคนต่อเดือน ถ้าโรงเรียนหนึ่งมีครู 20 คนก็จะมีค่าใช้จ่ายเพื่มขึ้น 1,400 บาทต่อเดือน มีอยู่ 100 คนก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับสิ่งที่คุณครูได้รับ คือ ไม่ต้องกังวลในกรณีที่จำเป็นต้องเข้าทำการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายเกิน 100,000 บาท

ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงจากสิทธิ์เดิมที่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเทียบเท่ากับราชการเป็นไปเพื่อการลดภาระค่าใช้จ่ายรัฐบาล แต่อยากจะให้คำนึงถึงความเหมาะสมและสำคัญไม่ยิ่งหย่อน คือการที่สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ค่าใช้จ่ายหลังจากเกษียณถ้าพอมีเก็บก็จะเป็นการช่วยลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นหลัง หากลองสำรวจดูก็จะพบว่าครูเอกชนเองรายได้ไม่ได้สูงและคงมีไม่กี่คนที่มีเงินออมเพียงพอสำหรับหลังเกษียณโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน เงินส่วนที่รัฐบาลสมทบเข้ามา 6% รวมกับของส่วนโรงเรียนและส่วนของครูเป็นเงินสะสมที่จะช่วยให้ครูเอกชนอย่างเราสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่ิงที่ผมเสนอไปก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับทางรัฐ ส่วนต่างที่ผมเสนอไปก็เชื่อว่า ไม่ได้หนักหนาไปสำหรับทางโรงเรียน เพราะเป็นสวัสดิการที่ดูแลเรื่องสำคัญในชีวิตของลูกจ้าง คือ ความเจ็บป่วย และคุณครูก็ยังได้รับเงินก้อนที่สะสมตามอายุการทำงาน ผมหวังว่าท่านผู้ดูแลนโยบายจะได้ยินเสียงและรับฟังครูตัวเล็กๆอย่างผมและกรุณาเร่งแก้ไขเพื่อให้ พวกเราครูเอกชนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น

หมายเหตุ: ถ้าเพื่อนครูเห็นด้วย ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ได้มากกว่า 50,000 ชื่อ เพื่อที่ผมจะได้เป็นตัวแทนนำรายชื่อไปยื่นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบคุณ คุณครูเอกชนทุกท่าน
กิตติศักดิ์ กิติวงศ์โกศัย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: