เครือข่ายผู้บริโภค คัดค้าน ‘(ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับทำร้ายประชาชน’

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 1778 ครั้ง

เครือข่ายผู้บริโภค คัดค้าน ‘(ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับทำร้ายประชาชน’

เครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค จัดงานแถลงข่าว ‘ต้านกฎหมายยา ฉบับทำร้ายประชาชน’ ชี้ อย. กำลังสร้างความแตกแยกให้กับวิชาชีพ

7 ก.ย. 2561 เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ห้อง Gemini ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค จัดงานแถลงข่าว ‘ต้านกฎหมายยา ฉบับทำร้ายประชาชน’ ในประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แก้ไขพระราชบัญญัติยา (พ.ร.บ.ยา) ซึ่งทำให้สร้างปัญหากับวิชาชีพและก่อให้เกิดปัญหาการใช้ยาเกินจำเป็น รวมทั้งเปิดช่องให้นายทุนเข้ามาแสวงหาประโยชน์

นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับแก้ไขนี้มีการลดความเข้มข้นของการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่ได้แก้ปัญหาที่มีต่อผู้บริโภคในหลายประการ ได้แก่ ไม่มีมาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาอัตโนมัติในตำรับยาที่เป็นอันตรายและถูกถอนทะเบียนในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่แล้วและเปิดโอกาสให้เภสัชกรไม่ต้องอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพทย์ปฐมภูมิและทำให้ปัญหาการแขวนป้ายรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น รวมถึงการแขวนป้ายโดยวิชาชีพอื่นด้วย อีกทั้งยังลดมาตรการการควบคุมการโฆษณาจากการขออนุญาตให้สามารถดำเนินการแค่เพียงการจดแจ้งได้ และขาดมาตรการควบคุมการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ตลอดจนไม่มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมการขายยาในสื่อใหม่ (ขายยาออนไลน์) ทั้งที่เป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบันและจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต

ด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ให้ข้อมูลเพิ่มว่า พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไขนี้ ยังขยายอายุทะเบียนตำรับยาจากร่างเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี โดยที่ไม่มีกระบวนการทบทวนทะเบียนตำรับยา และเปิดโอกาสให้มีการดำเนินการส่งเสริมการขายยาผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ (โดยเฉพาะเรื่องการแถมพก ชิงรางวัล ออกรางวัลหรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกันจากผู้ประกอบวิชาชีพ ถือว่าไม่มีความผิด) รวมถึงยังลดทอนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในคลินิก เพราะเปิดให้วิชาชีพอื่นขายยาที่ถูกแบ่งประเภทอย่างไม่เป็นสากล และยังไม่แก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้เป็นปัญหาโรคเชื้อดื้อยาที่สำคัญอีกด้วย นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้มีการจดแจ้งเภสัชชีววัตถุทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างมาก

ส่วนนางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ ขาดมาตรการการจัดการกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดซ้ำซาก เช่น การโฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เป็นเท็จ ผิดกฎหมาย ขาดกลไกและอำนาจหน้าที่ที่อนุญาตให้ อย. สามารถตรวจสอบและจัดการโครงการวิจัยทดลองยาที่จะคุ้มครองอาสาสมัครในการวิจัยฯ หากเกิดความเสียหายหรือผิดพลาดร้ายแรง และไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยาที่สมเหตุสมผล (การแบ่งประเภทยาออกเป็น 4 ประเภท (ตามมาตรา 4) จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งยังเกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจยาทั้งในปัจจุบันและอนาคต)

“พ.ร.บ. ยาฉบับนี้ทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเพราะราคาแพง เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดที่จะต้องยื่นโครงสร้างราคาเมื่อขอขึ้นทะเบียนยากับไม่มีคณะกรรมการยาที่มีอำนาจหน้าที่กำกับหรือควบคุม หรือออกมาตรการควบคุมราคายาได้” นางสาวพวงทองกล่าว

ขณะที่นางสาวสุภาวดี วิเวก ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคมีข้อเสนอแก่ อย. ในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา คือ ต้องกำหนดให้มีกลไกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เป็นอันตรายโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศหรือในบริษัทแม่ จะต้องกำหนดให้ต้องมีเภสัชกรประจำอยู่ที่ร้านตลอดเวลาเปิดทำการและการโฆษณายาจะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน ซึ่งรวมถึงโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตและ Social Media ต่างๆ หากพบว่าไม่ได้รับอนุญาตหรือทำผิดจากที่ได้รับอนุญาตต้องถูกเพิกถอนทันที รวมทั้งห้ามไม่ให้มีการโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่กระทำผ่านผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ และแก้ไขให้ทะเบียนตำรับยามีอายุ 5 ปีและต้องทบทวนทะเบียนตำรับยาก่อนต่ออายุ อีกทั้งกำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล (Prescription Only Medicines, Pharmacy Only Medicines และ Over-the-counter Medicines) และให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม

ด้านนางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ. ยา ที่แก้ไขนี้จะต้องกำหนดให้การผลิตหรือผสมยาที่ใช้รักษาสัตว์ทั้งฟาร์มจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน และควรกำหนดให้มีการขออนุญาตสำหรับการผลิตและการนำเข้าเภสัชชีววัตถุ รวมถึงต้องกำหนดโทษทางปกครองเพื่อระงับเหตุที่กระทำผิดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

“นอกจากนี้ควรกำหนดให้ อย. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบโครงการวิจัยทดลองยาในมนุษย์ เพื่อคุ้มครองอาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัย และกำหนดให้การแบ่งประเภทยาเป็นไปตามหลักสากล รวมถึงให้คงวิชาชีพที่จะจ่ายยาได้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เหมือนเดิม อีกทั้งยังควรกำหนดให้ต้องยื่นโครงสร้างราคายาเมื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ตลอดจนกำหนดให้คณะกรรมการยามีอำนาจในการออกมาตรการควบคุมราคายา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน” นางสาวสถาพรกล่าว

ขณะที่นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ทราบมาว่า อย. กำลังจะเอา พ.ร.บ. ยาฉบับแก้ไขนี้ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จึงขอเตือน อย. ว่าอย่าเพิ่งเอาเข้า ครม. จนกว่าจะมีการแก้ไขให้มีสาระตามที่ได้เสนอไป ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ไม่คุ้มครองผู้บริโภค

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: