ภายใต้กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความหวาดกลัวเรื่องโลกร้อน ปรากฏว่าการใช้ ‘บรรจุภัณฑ์พลาสติก’ ในไทยยังไม่ได้ลดลง แค่มีแนวโน้มเติบโตช้าลงเท่านั้น จากที่ขยายตัวช่วงปี 2551-2555 ถึง 7% ต่อปี ชะลอเหลือ 3% ช่วงปี 2556-2560 ทั้งนี้ ไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจพลาสติกแปรรูปกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในปี 2560 ยังมีกำลังการผลิตเกือบ 32 ล้านตัน เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนและอันดับ 16 ของโลก ที่มาภาพประกอบ: Hans (CCO)
หลังจากที่โลกได้รู้จักกับ ‘พลาสติก’ เมื่อกว่าร้อยปีก่อน พลาสติกถูกนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์ราคาถูกเพื่อให้คนทั่วไปโดยเฉพาะคนรายได้น้อยทั่วโลกใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง แต่ปัจจุบันได้ค้นพบปัญหาของพลาสติกมากขึ้นโดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากงานศึกษาการคาดคะเนจำนวนขยะที่ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทร ชี้ว่าจำนวนพลาสติกที่ไปติดอยู่ตามแนวปะการังในเอเชียแปซิฟิกอาจเพิ่มขึ้นจาก 1.11 พันล้านชิ้น เป็น 1.57 พันล้านชิ้นภายในปี 2025 โดยในแต่ละปีมีขยะพลาสติกประมาณ 4.8 ถึง 12.7 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร และกว่า 3 ใน 4 ของพลาสติกเหล่านี้มาจากบนบก [1]
กล่าวเฉพาะประเทศไทย พบว่าปริมาณขยะพลาสติกคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยมีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตันถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา บางส่วนตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลายเฉลี่ยประมาณ 450 ปี จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้หากนำพลาสติกไปเผาอย่างผิดวิธีก็จะทำให้เกิดมลพิษและส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอีกด้วย [2]
วันคุ้มครองโลกเมื่อเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เครือข่ายวันคุ้มครองโลกได้ประกาศแนวคิดวันคุ้มครองโลกยุติมลพิษขยะพลาสติก (End Plastic Pollution) เนื่องจากขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันปัญหาโลกร้อน ซึ่งนานาชาติให้ความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นหารือควบคู่กัน
หลายภาคส่วนผุดโครงการลดใช้พลาสติก
สำหรับประเทศไทย ในรอบไม่กี่ปีมานี้หลายภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ มีโครงการที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ออกมามากมาย เช่น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับภาคเอกชนด้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (NO MORE SINGLE USE PLASTIC) พร้อมตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อของประชากรในหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็น 0 ที่มาภาพ: tu.ac.th
โครงการลดใช้พลาสติกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่มีรูปธรรมการลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกับผู้ประกอบการร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย ดังนี้ 1.ไม่ใช้โฟม (ซึ่งทางธรรมศาสตร์ไม่ใช้มาสองปีแล้ว) 2.ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุขวดที่มีพลาสติกห่อหุ้มฝาขวด (แคปซีล) 3.ไม่ให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว หากผู้บริโภคต้องการจะต้องจ่ายในราคา 1 บาท 4.ลดการใช้ขวดพลาสติก ด้วยการนำภาชนะมาเติมน้ำ ลดราคาขั้นต่ำ 2 บาท ต่อแก้ว และ 5.ผู้ประกอบการตกลงว่าจะหลีกเลี่ยงการนำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาใช้ในการจัดจำหน่ายอื่นๆ (ข้อตกลงมีผล ธ.ค. 2560 เป็นต้นไป) [3]
เดือน พ.ค. 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับภาคเอกชนด้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ (ได้แก่ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น บริษัท สหลอว์สัน จำกัด เจ้าของร้าน ลอว์สัน 108 และ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เจ้าของร้าน ท็อปส์ เดลี่ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต) เดินหน้าโครงการยกเลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (NO MORE SINGLE USE PLASTIC) พร้อมตั้งเป้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อของประชากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็น 'ศูนย์' ผ่านมาตรการ อาทิ ยกเลิกการให้บริการถุงพลาสติก จำกัดการให้ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก ยกเลิกจำหน่ายน้ำดื่มที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด ยกเลิกการให้บริการหลอดที่มีถุงพลาสติกหุ้ม ยกเลิกการรับร้องเรียนกรณีพนักงานไม่ให้ถุงพลาสติก [4]
กรมควบคุมมลพิษ MOU เลิกหุ้มฝาขวดด้วยพลาสติก กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กำหนดให้บริษัทผลิตน้ำดื่มเลิกหุ้มฝาขวดด้วยพลาสติก (cap seal) โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกให้ได้ปีละ 520 ตัน หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลกถึง 6.5 รอบ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561 [5]
ว่าด้วย ‘พลาสติกหุ้มฝาขวด’ (cap seal)
ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปีโดยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มร้อยละ 60 หรือ ประมาณ 2,600 ล้านขวดต่อปี พลาสติกหุ้มฝาขวดก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ พลาสติกหุ้มฝาขวดผลิตจากพลาสติกพีวีซี (Polyvinyl Chloride: PVC) ซึ่งมีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ ทำให้ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเลซึ่งจะไม่ย่อยสลาย หากไม่มีการรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อมบนบก บางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล จากข้อมูลการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตายพบว่า มีสาเหตุจากการกินพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่นๆ ในหลายๆ ประเทศไม่มีการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ [6] |
ภาครัฐแนะห้างสรรพสินค้า-ร้านค้าปลีก เก็บค่าถุงพลาสติกลูกค้า ปลายเดือน ก.ย. 2561 สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงการออกมาตรการจูงใจการลดหรือเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องโฟม หรือวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศและปัญหาโลกร้อน โดยอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการเพื่อเสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นอยู่ โดยแนวทางที่กระทรวงการคลังได้เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณา คือ ให้ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกรายใหญ่ เรียกเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากลูกค้าใบละ 1-2 บาท ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่กำหนดให้ลูกค้าเสียเงินซื้อถุงพลาสติกเพิ่ม โดยมีจุดประสงค์กระตุ้นให้ประชาชนลดใช้ถุงพลาสติกด้วยการเตรียมตะกร้า กระเป๋า หรือถุงผ้า ไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าแทน หากเกิดขึ้นจริงจะลดปริมาณขยะในประเทศได้จำนวนมาก ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องรอการพิจารณาจากกระทรวงทรัพยากรฯ และอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต [7]
ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561 กระทรวงสาธารณสุขให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศรณรงค์ใช้ถุงผ้าใส่ยาให้ผู้ป่วย ที่มาภาพ: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
รณรงค์โรงพยาบาลใช้ถุงผ้าใส่ยาผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศรณรงค์ใช้ถุงผ้าใส่ยาให้ผู้ป่วย ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป โดยขอความร่วมมือประชาชนนำถุงผ้าเมื่อมารับบริการ ตามนโยบายโรงพยาบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GREEN & CLEAN Hospital) ที่เน้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาล ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและโลก พร้อมเชิญชวนประชาชน ผู้ประกอบการ บริจาคถุงผ้าได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ร่วมกันลดการใช้พลาสติก ลดโลกร้อน [8]
ปี 2560 การใช้ยังไม่ลด แค่เติบโตช้าลง-การใช้พลาสติกแบบอ่อนตัวยังเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2551-2555 ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 7 ต่อปี และเริ่มชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วงปี 2556-2560 โดยเมื่อศึกษาในสัดส่วนของบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้ว พบว่าปริมาณการใช้พลาสติกคงรูป (rigid plastic packaging) เริ่มมีอัตราการเติบโตของการบริโภคที่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยพลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging)
การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้พลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging) มีความต้องการมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่ การเติบโตของความเป็นชุมชนเมืองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว ทำให้ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น การขยายตัวของครัวเรือนขนาดเล็ก เนื่องจากจำนวนคนโสดและคู่สมรสที่ไม่มีบุตรมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์แบบเฉพาะหน่วย (individual packaging) มากขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะมีขนาดเล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการบริโภคสินค้าของสมาชิกในครัวเรือน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุรวมไปถึงกระแสความใส่ใจด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รักษาความสดใหม่ สามารถยืดอายุสินค้าให้นานที่สุด และรักษาระดับความร้อนและความเย็นของอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่มีสารปนเปื้อนออกมาจากพลาสติก [9]
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 1 อาเซียน
ประเทศไทยไทยมีความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกพลาสติกหลักของภูมิภาค และมีความพร้อมของผู้ประกอบการธุรกิจพลาสติกแปรรูปกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ [10] ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่า ในปี 2560 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมีกำลังการผลิตเกือบ 32 ล้านตัน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 16 ของโลก โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้แบ่งเป็นการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น 12 ล้านตัน ปิโตรเคมีขั้นกลาง 8 ล้านตัน และปิโตรเคมีขั้นปลาย 10.8 ล้านตัน กว่าร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผลิตในไทยเป็นสายโอเลฟินส์ (Olefins) เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบตั้งต้นหลัก [11]
2 ยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีไทย ‘ปตท.-เครือซีเมนต์ไทย’ ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ในไทยมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ปตท. (PTT group, มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 54) และ กลุ่มเครือซีเมนต์ไทย (SCG group, ร้อยละ 29) โดยทั้ง 2 กลุ่มมีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบในการผลิตและการตลาด โดยกลุ่ม ปตท.มีธุรกิจเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ธุรกิจขุดเจาะและผลิตก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และมีการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลากหลายประเภท ขณะที่กลุ่มซีเมนต์ไทยมีธุรกิจต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิต ปิโตรเคมีรายอื่นๆ ที่เน้นผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย ซึ่งมีทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติหรือร่วมลงทุนกับต่างชาติ เช่น อินโดรามา (Indorama), Exxon, Ming Dih และผู้ผลิตสัญชาติไทย เช่น วีนิไทย เป็นต้น [12] ข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีรายได้รวมในปี 2557 2,866,883.40 ล้านบาท ปี 2558 ได้ 2,063,727.44 ล้านบาท ปี 2559 ได้1,737,144.57 ล้านบาท ปี 2560 ได้ 2,044,951.64 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปี 2561 ได้ 1,123,597.63 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ ปี 2557 คือ 55,794.93 ล้านบาท ปี 2558 ได้ 19,936.42 ล้านบาท ปี 2559 ได้ 94,609.08 ล้านบาท ปี 2560 ได้ 135,179.60 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปี 2561 ได้กำไรสุทธิ 69,816.78 ล้านบาท ส่วน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์คือ SCC แต่ชื่อย่อของกลุ่มเครือซิเมนต์ไทยคือ SCG) มีรายได้รวมในปี 2557 เท่ากับ 503,577.25 ล้านบาท ปี 2558 เท่ากับ 460,041.16 ล้านบาท ปี 2559 เท่ากับ 450,573.26 ล้านบาท ปี 2560 เท่ากับ 482,449.47 ล้านบาท และ ไตรมาส 2 ปี 2561 เท่ากับ 251,550.91 ล้านบาท มีกำไรสุทธิในปี 2557 คือ 33,615.33 ล้านบาท ปี 2558 ได้ 45,399.71 ล้านบาท ปี 2559 ได้ 56,084.19 ล้านบาท ปี 2560 ได้ 55,041.25 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปี 2561 ได้กำไรสุทธิ 24,807.62 ล้านบาท [13] |
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลางของไทยมากกว่าร้อยละ 80 ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายราวร้อยละ 45 ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ ผลจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ บรรจุภัณฑ์ (ร้อยละ 38) สิ่งทอ (ร้อยละ18) รถยนต์ (ร้อยละ 12) อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 11) และอื่นๆ (ร้อยละ 21) ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (ส่วนใหญ่เป็นเม็ดพลาสติก) มีสัดส่วนร้อยละ 55 โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ จีน (ร้อยละ 31) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 10) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 10) เวียดนาม (ร้อยละ 9) และอินเดีย (ร้อยละ 8)
นอกจากนี้พบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ของไทยยังมีการขยายฐานการผลิตไปประเทศที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีตลาดความต้องการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ อาทิ อินโดนีเซีย จีน และสหรัฐฯ เช่นกรณี PTT GIobal Chemical เข้าไปลงทุนสร้าง Petrochemical complex ของ ในสหรัฐฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากราคา Shale gas ที่มีราคาถูก และการร่วมลงทุนกับ PT Pertamina (Persero) ของอินโดนีเซียเพื่อขยายตลาดในประเทศอินโดนีเซีย [14]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] ผลสำรวจชี้ 1 ใน 3 ของแนวปะการัง 'มีพลาสติกติดอยู่' (BBC Thai, 26/1/2561)
[2] ‘ขยะพลาสติก’ ทั่วไทย 2 ล้านตันต่อปี ทส.ชี้วิกฤตโลก-ชวนลดปริมาณ (มติชนออนไลน์, 5/4/2561)
[3] ธรรมศาสตร์ ทำได้จริง ลงมือลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Greenpeace Thailand, 8/11/2560)
[4] “ธรรมศาสตร์” เสนอ 5 มาตรการ ลดการใช้พลาสติกจากร้านค้าในศูนย์รังสิตเป็น “ศูนย์” (tu.ac.th, 10/5/2561)
[5] ภาครัฐ-เอกชนร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ, 13/2/2561)
[6] อ้างแล้ว
[7] แนะห้าง-ร้านค้า เก็บค่าถุงพลาสติกใบละ 1-2 บาท ลดขยะ (โพสต์ทูเดย์, 1/10/2561)
[8] 1 ต.ค.61 โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ รณรงค์ใช้ถุงผ้าใส่ยาผู้ป่วย (สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 28/7/2561)
[9] การเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทย กับโอกาสของผู้ผลิตไทยในกระแสการเติบโต (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 7/8/2561)
[10] อ้างแล้ว
[11] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 21/3/2561)
[12] อ้างแล้ว
[13] สืบค้นจากเว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561
[14] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 21/3/2561)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: โครงสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ