คนไทยรู้ยัง: ไทยได้ขึ้นทะเบียน 'มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา' ตามหลังชาติอาเซียน

กองบรรณาธิการ TCIJ: 7 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4685 ครั้ง

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา (UNESCO) ประกาศให้ขึ้นทะเบียนศิลปะการแสดง ‘โขน’ ของไทยอยู่ในรายการ ‘มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา’ นับเป็นการขึ้นทะเบียนประเภทนี้เป็นครั้งแรกของไทย พบ ‘เวียดนาม’ เป็นชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมากที่สุดในอาเซียนถึง 12 วัฒนธรรมภูมิปัญญา ตามมาด้วยอินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

สำนักข่าว BBC รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา (The Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ของยูเนสโก (UNESCO) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-1 ธ.ค. 2561 ที่เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจาก 181 ประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาของยูเนสโกเข้าร่วมประชุม

ในปีนี้ที่ประชุมพิจารณาและประกาศให้ขึ้นทะเบียนศิลปะการแสดงโขนในประเทศไทย (Khon, masked dance drama in Thailand) อยู่ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาของมวลมนุษยชาติครั้งแรกของไทย นับตั้งแต่ได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาเมื่อปี 2559

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจะเสนอ 'นวดไทย' เพื่อขึ้นบัญชีของยูเนสโกในรอบปี 2563 และก็ยังมีมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาอื่น ๆ อย่างเช่น โนห์รา ผีตาโขน มวยไทย ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อนำเสนอในปีต่อๆ ไปอีกด้วย

ความเห็นนักวิชาการ 'โขน' ได้ขึ้นทะเบียนอะไร?

ต่อกรณีนี้ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความเห็นผ่าน เฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ระบุว่า

เมื่อไม่กี่นาทีมานี้ ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศ ของส่วนงาน ICH องค์การยูเนสโก ได้พิจารณาและเห็นชอบให้รับรอง โขนในประเทศไทย เป็นตัวแทนของมรดก ICH ของมนุษยชาติ

ในขณะที่ประเทศไทยคงรู้สึกดีใจ และอยากเฉลิมฉลองโอกาสนี้ อยากจะขอให้ช่วยกันให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจหน่อย เพราะข้อมูลที่อยู่ในสื่อในขณะนี้ ล้วนแต่ทำการบ้านกันมาน้อยเหลือเกิน

(1) 'โขน' ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น 'มรดกโลก' คนละเรื่องกัน โขนเป็นมรดกที่มีชื่อยาวๆ ว่า 'Intangible Cultural Heritage' หรือ ICH ซึ่งภาษาไทยแปลว่า 'มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา' หรือ ‘มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้’ หรือ ‘มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ’ ขอเรียกว่า ‘มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา’ เพราะสั้นที่สุด

(2) มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา กับมรดกโลก มีลักษณะต่างกัน มีกระบวนการต่างกัน และวัตถุประสงค์ของการเกิดขึ้นมาก็ต่างกัน พูดง่ายๆ มรดกโลกเป็นสิ่งก่อสร้าง หรือแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับมนุษยชาติ มักจะเป็นโบราณสถาน หรืออาคารสถานที่มีความสำคัญยิ่งยวดในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรม และจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ การพิจารณาว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นมรดกโลก จะต้องฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเป็นหลัก ส่วนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา เป็นสิ่งที่ไม่เป็นกายภาพชัดเจน แต่เป็นการปฏิบัติ ความรู้ ประเพณี พิธีกรรม การแสดง ดนตรี งานช่าง ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ปฏิบัติในกลุ่มหรือชุมชนเล็กๆ แต่ถ้าชุมชนนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าของเขา ก็สามารถเป็นมรดกของเขาได้

(3) การขึ้นทะเบียน หรือการได้รับการรับรองจากยูเนสโกแปลว่าอะไร? ก่อนอื่นควรจะต้องเข้าใจก่อนว่า มีทะเบียนสองแบบ แบบแรกเรียกว่า Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ซึ่งหมายถึงรายการหรือทะเบียนของสิ่งที่เป็นตัวแทนของมรดกภูมิปัญญาของมนุษยชาติ คือมรดกที่ยังมีการปฏิบัติอยู่ และเป็นตัวแทนของความหลากหลายในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ส่วนรายการที่สองเรียกว่า List of Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding คือมรดกฯ ที่ต้องมีการส่งเสริมรักษาให้มีการสืบทอดอย่างเร่งด่วน (นอกจากนั้นยังมีอีกรายการหนึ่ง เรียกว่า รายการของกระบวนการและวิธีการส่งเสริมรักษาที่เป็นตัวอย่างที่ดี)

(4) การขึ้นทะเบียน ไม่ได้แปลว่าประเทศนั้นเป็นเจ้าของ ประเทศอื่นห้ามเป็นเจ้าของอีก การขึ้นทะเบียนแปลว่า แต่ละประเทศเห็นคุณค่า ความสำคัญของมรดกตัวเอง และต้องการจะให้มีการสืบทอด และให้คนอื่นได้รู้จักและชื่นชมด้วย ยูเนสโกสนับสนุนให้ประเทศที่มีมรดกคล้ายคลึงกันขึ้นทะเบียนร่วมกัน เป็นมรดกของหลายๆ ประเทศร่วมกัน แต่ถ้าไม่สะดวกต่างคนก็ต่างขึ้นของตัวเองได้

(5) โขนไทย โขนเขมร? มรดกการแสดงชื่อคล้ายกันของทั้งไทยและกัมพูชา ได้รับการรับรองในคราวเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าอ่านเอกสารนำเสนอโดยละเอียดก็จะเห็นว่า การแสดงทั้งสองมีความแตกต่างกัน ของกัมพูชาใช้ชื่อว่า ละคอนโขลวัดสวายอันเด็ท (Lkhon Khol Wat Sway Andet) เป็นการแสดงของชุมชนแห่งหนึ่งห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันออกราว 10 กม. ชุมชนนี้เป็นชุมชนเกษตร และทุกปีจะต้องจัดการแสดงละคอนโขลเพื่อบวงสรวง “เนียกตา” ผู้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ผู้จะบันดาลให้การเพาะปลูกได้ผลดี การแสดงมีลักษณะเป็นพิธีกรรมสูง มีการเข้าทรง และละคอนโขลต้องแสดงจนเป็นที่พอใจของเนียกตา จึงเป็นการแสดงเชิงพิธีกรรมในชุมชนเฉพาะแห่งหนึ่ง และเนื่องจากความระส่ำระสายทางการเมือง ทำให้ผู้แสดงระดับครูมีเหลือไม่มาก ต้องหาทางสืบทอดอย่างเร่งด่วน ดังนั้นจึงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมฯ ที่ต้องการให้มีการส่งเสริมรักษาอย่างเร่งด่วน

(6) ส่วนโขนในประเทศไทย นำเสนอในลักษณะที่กว้างขวางกว่า เป็นการแสดงที่คลี่คลายมาจากการแสดงในราชสำนัก มาเป็นศิลปะของชาติ ที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดการให้มีการสืบทอดและมีการแสดง และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ยังมีการปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง

(7) ขึ้นทะเบียนแล้วแปลว่าอะไร? แปลว่าประเทศที่นำเสนอมีความรับผิดชอบที่จะสนับสนุนให้มีการสืบทอด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นส่งเสริมให้มีการเรียนการสอน การแสดง การให้ความเข้าใจ การทำให้คนยุคใหม่รู้สึกว่าโขนไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยก สนับสนุนให้มีการค้นคว้า และอื่นๆอีกมากมาย

(8) แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาว่าด้วย ICH ของยูเนสโก คือการเปิดใจให้กว้าง เห็นความหลากหลายของการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เห็นว่าสิ่งที่มีค่าของคนแต่ละกลุ่มนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และเกิดความชื่นชมระหว่างกัน ไม่จำเป็นต้องคอยเปรียบเทียบว่าของใครเหนือกว่า สวยงามกว่า หรือเก่าแก่กว่าของใคร

‘เวียดนาม’ ชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมากที่สุดในอาเซียนถึง 12 วัฒนธรรมภูมิปัญญา

TCIJ รวมรวมข้อมูลจาก Wikipedia [1] [2] (ณ วันที่ 3 ธ.ค. 2561) พบว่าในระดับโลกนั้น 10 อันดับแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญามากที่สุด ได้แก่จีนได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 39 วัฒนธรรมภูมิปัญญา ตามมาด้วยญี่ปุ่น 21 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, เกาหลีใต้ 19 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, สเปนและตุรกีเท่ากันที่ 16 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, ฝรั่งเศสและโครเอเชีย เท่ากันที่ 15 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, มองโกเลีย 14 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, เบลเยียม อินเดีย และอิหร่าน เท่ากันที่ 13 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, เวียดนาม 12 วัฒนธรรมภูมิปัญญา อาเซอร์ไบจานและเปรู เท่ากันที่ 11 วัฒนธรรมภูมิปัญญา และโคลอมเบีย 10 วัฒนธรรมภูมิปัญญา

ในระดับอาเซียนนั้น เวียดนามได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญามากที่สุดที่ 12 วัฒนธรรมภูมิปัญญา อินโดนีเซีย 6 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, กัมพูชาและฟิลิปปินส์เท่ากันที่ 3 วัฒนธรรมภูมิปัญญา, มาเลเซีย 2 วัฒนธรรมภูมิปัญญา ลาวและไทยเท่ากันที่ 1 วัฒนธรรมภูมิปัญญา

อนึ่ง ตัวเลขนี้รวมกับการขึ้นทะเบียนร่วมกับชาติอื่นด้วยเช่น 'กีฬาชักเย่อ' (Tugging rituals and games) ได้รับการขึ้นทะเบียนร่วมกันของ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม ในปี 2558 เป็นต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: