สถิติ 5 ปี จับนายหน้าหลอกคนไทยไปทำงานต่างประเทศได้ 600 กว่าคน

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.พ. 2561 | อ่านแล้ว 4501 ครั้ง

สถิติ 5 ปี จับนายหน้าหลอกคนไทยไปทำงานต่างประเทศได้ 600 กว่าคน

กรมการจัดหางานเปิด สถิติ 5 ปี จับสาย/นายหน้าหลอกไปทำงานต่างประเทศได้ 600 กว่าคน หวังใช้มาตรการ 3 ป. ป้องกัน ป้องปราม ปราบปราม ที่มาภาพประกอบ: กรมการจัดหางาน

เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2561 ว่านายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบถึงกรณีคนหางานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางานรวบรวมผลความคืบหน้าการดำเนินคดีหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศย้อนหลัง 5 ปี พร้อมกับเร่งหามาตรการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมานั้น (2556-2560) กรมการจัดหางาน ได้ดำเนินคดีหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ไปแล้วจำนวน 707 คดี โดยอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 689 คดี ชั้นอัยการ 14 คดี และพิพากษา 4 คดี สามารถจับกุมสาย/นายหน้า ได้จำนวน 661 คน ซึ่งในการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นนั้น

กรมการจัดหางานใช้มาตรการ 3 ป. ดังนี้ 1. มาตรการป้องกัน โดยใช้การประชุมชี้แจงให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ประชาชนและคนหางานทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้ขั้นตอนของการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้อง รูปแบบหรือกลวิธีการหลอกลวงของสาย/นายหน้า รวมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ และเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้

2. มาตรการป้องปราม จัดตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงคนหางานทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยจัดชุดเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบและติดตามเฟซบุ๊คของผู้ที่โฆษณาชักชวน/รับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศรวมทั้งจัดตั้งและส่งเสริมเครือข่ายในชุมชน/หมู่บ้าน โดยประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน และอาสาสมัคร ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล พร้อมทั้งยังเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ ด่านตรวจคนหางานใน 17 จังหวัด 25 ด่านทั่วประเทศ โดยจัดตั้งคณะทำงานป้องกันการลักลอบไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีและประเทศอื่น ๆ คอยตรวจสอบ

3. มาตรการปราบปราม โดยใช้การดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในรูปแบบประสานการติดตามการออกหมายจับจากพนักงานสอบสวน และประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งหมายจับเข้าระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เพื่อจับกุมผู้ที่มีหมายจับในขณะที่จะเดินทางออกนอกประเทศหรือจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง” โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ สอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: