ร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ ที่ ครม. อนุมัติต้นเดือน เม.ย. 2561 นำแนวทาง PPP Fast Track บรรจุเป็นกฎหมายหลัก ลดระยะเวลาขั้นตอนศึกษาจนถึงการลงนามก่อสร้างจาก 25 เดือน เหลือเพียง 9 เดือน ที่มาภาพประกอบ: sti.or.th
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2561 ว่านายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้กำหนดนโยบายของรัฐชัดเจนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ หากเข้าข่ายการลงทุนแบบดังกล่าวจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนอย่างกระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ เพราะได้นำหลักเกณฑ์ของนำแนวทาง PPP Fast Track ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาบรรจุเป็นกฎหมายหลัก ทำให้ทุกหน่วยงานศึกษาการเริ่มต้นโครงการไปพร้อมกัน ทำให้ลดระยะเวลาขั้นตอนศึกษาจนถึงการลงนามก่อสร้างจาก 25 เดือน เหลือเพียง 9 เดือน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนมากขึ้น
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ PPP Fast Track ที่ใช้อยู่เป็นการดำเนินการมติ ครม. เมื่อเห็นว่ามีประสิทธิภาพ เร่งรัดโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงนำมาบรรจุอยู่ในกฎหมายแม่ เพื่อให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่สานต่อเดินหน้าได้ และยังให้อำนาจคณะกรรมการ PPP กำหนดแนวทาง Fast Track ได้เพิ่มเติม เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา ปัจจุบันโครงการ PPP Fast Track ที่ดำเนินการไปแล้ว 5 โครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชมพู ตั้งแต่เริ่มตั้งโครงการคืบหน้าจนถึงการลงนามก่อสร้างใช้เวลา 9 เดือน และยังมีอยู่อีก 11 โครงการลงทุนอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการ รวมทั้งยังได้กำหนดประเภทกิจการที่ต้องเข้าสู่กฎหมายร่วมลงทุน 12 กิจการ เช่น การสร้างถนน มอเตอร์เวย์ ทางหลวง กิจการรถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน พลังงาน โทรคมนาคม โรงพยบาล โรงเรียน ศูนย์ประชุม ที่อยู่อาศัย วิทยาศาสตร์ 4.0 โดยจะมีคณะกรรมการจาก 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาโครงการเข้าแผนร่วมลงทุน
สำหหรับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญดังนี้ 1. “Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น
2. “Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน
3. “Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้ 4. “Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ