เทศบาลนครเชียงใหม่ ทดลองการใช้นวัตกรรมกับดักไข่ยุงลดปริมาณยุงลาย ลดการแพร่ระบาดไข้เลือดออกในชุมชนนำร่องในพื้นที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 ว่าเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ทดลองการใช้นวัตกรรมใหม่กับดักไข่ยุง ลดปริมาณยุงลาย เพื่อลดการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในชุมชน นำร่องในพื้นที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด อำเภอเมืองเชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองหอย ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยนวัตกรรม “กับดักไข่ยุง” เป็นผลงานของนักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งถือเป็นกับดักไข่ยุงตัวแรกของประเทศไทย จากการวิจัยพบว่า กลิ่นหอยลายเป็นกลิ่นที่ยุงลายชอบมากที่สุด จึงได้มีการคิดค้นสารสกัดจากน้ำหอยลายมาเป็นตัวล่อยุงให้บินมาติดกับดัก เมื่อติดกับดักแล้ว พอยุงวางไข่เป็นลูกน้ำก็จะถูกสารกำจัดลูกน้ำยุงลายฆ่าไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ สำหรับสารดึงดูดที่สกัดจากน้ำหอยลาย เมื่อเปิดกับดักจะมีฤทธิ์ในการดึงดูดยุงได้ 2 เดือน ส่วนสารลาวาซีโอไลท์ ที่เป็นตัวฆ่าลูกน้ำยุงลายจะอยู่ได้นานถึง 6 เดือน ซึ่งกับดักไข่ยุงจะช่วยลดจำนวนลูกน้ำยุงลายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 500 ตัว ลดการใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ใส่ในน้ำตามบ้านเรือน พร้อมทั้งลดปริมาณพื้นที่การใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงในภาชนะและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย หากการทดลองใช้ในพื้นที่ทดลองประสบผลสำเร็จก็จะดำเนินการใช้ในพื้นที่อื่นในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ต่อไป
พร้อมกันนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชนทั้ง 97 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เน้นให้ร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยให้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ