สื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' ระบุโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. ใช้เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 60,709 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,297 ล้านบาท สถานะของโครงการยังรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมหลังปรับแบบใหม่บางช่วง ใช้งบ 100 ล้านบาทสำรวจการเวนคืนที่ดิน
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 ว่ายังต้องลุ้นจะฉลุยหรือชะลอโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. ใช้เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ที่กรมทางหลวง (ทล.) เร่งให้แจ้งเกิดเป็นแรงหนุนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่กำลังตอกเข็มรอบอร์ด PPP ไฟเขียวหลังคณะกรรมการ PPP นัด 9 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมาไม่รับพิจารณา ยังติดใจข้อกฎหมายจะนำมาเป็นใบเบิกทางดึงเอกชนลงทุนพ่วงเก็บค่าผ่านทาง จะเป็น พ.ร.บ.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทาน รอลุ้นนัดเดือน ก.ย. 2561 โดย ทล. เสนอลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี
ขณะที่สถานะของโครงการรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมหลังปรับแบบใหม่บางช่วง แม้ว่าปีนี้ ทล. ได้งบฯ 100 ล้านบาท สำรวจการเวนคืนที่ดิน เพื่อทบทวนค่าเวนคืนจะมากหรือน้อยจากกรอบ 18,000 ล้านบาท แต่คาดว่าการเปิดประมูลน่าจะเลื่อนจาก ก.พ. 2562 เป็นปลายปี 2562 จากนั้นเริ่มเวนคืนปี 2563-2564 สร้างเสร็จปี 2566-2567
รัฐจ่ายเวนคืน 1.8 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่าเงินลงทุนโครงการ 79,006 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 60,709 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,297 ล้านบาท โดยรัฐจะเวนคืนที่ดิน และให้เอกชนก่อสร้าง ติดตั้งระบบ และรับสัมปทานบริหารโครงการและพื้นที่เชิงพาณิชย์จุดพักรถ 30 ปี หากใน ก.ย. 2561 นี้คณะกรรมการ PPP อนุมัติโครงการจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จากนั้นจะตั้งงบฯเวนคืนที่ดินต่อไป
“โครงการนี้ค่าเวนคืนสูง เพราะราคาประเมินที่ดินปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะชะอำ กรมจึงสำรวจพื้นที่จริงเพื่อให้ได้วงเงินที่แน่นอน จะได้ไม่เหมือนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีที่โครงการล่าช้าเพราะติดค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้น”
เวนคืนกว่า 3 พันแปลง
สำหรับการเวนคืน คาดว่าอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท แยกเป็นที่ดิน 3,416 แปลง 16,000 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลัง 1,361 ล้านบาท และต้นไม้ 735 ต้น 611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่บริษัทที่ปรึกษาประเมินไว้อยู่ที่ 9,488 ล้านบาท เพราะราคาซื้อขายที่ดินในแนวเส้นทางปรับตัวสูงขึ้น และตลอดแนวจะเป็นการก่อสร้างบนพื้นที่ใหม่มีเขตทางกว้าง 200-1,000 เมตร พาดผ่าน 4 จังหวัด รวม 41 ตำบล 13 อำเภอพาดผ่าน 4 จังหวัดได้แก่ จ.นครปฐม มี 7 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ ต.ดอนยายหอม อ.เมืองนครปฐม ต.โคกพระเจดีย์ ต.บางระกำ ต.ท่ากระชับ ต.บางแก้ว ต.ท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี และ ต.ตลาดจินดา อ.สามพรานจ.ราชบุรี มี 17 ตำบล 5 อำเภอ ได้แก่ ต.พงสวาย ต.บางป่า ต.คุ้งกระถิน อ.เมืองราชบุรี ต.ดอนคา ต.โพหัก ต.หัวโพ ต.วัดแก้ว อ.บางแพ ต.ดอนคลัง ต.ดอนกรวย ต.บ้านไร่ ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก ต.เกาะศาลพระ ต.วัดเพลง ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง ต.วัดยางงาม ต.วันดาว และ ต.วังมะนาว อ.ปากท่อจ.สมุทรสงคราม มี 2 ตำบล 1 อำเภอ
ได้แก่ ต.แพรกหนามแดง และ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา และ จ.เพชรบุรี มี 15 ตำบล 4 อำเภอ ได้แก่ ต.ห้วยโรง ต.บางเค็ม ต.เขาย้อย ต.หนองปลาไหล อ.เขาย้อย ต.มะพร้าว ต.หนองปรง ต.หัวสะพาน อ.เมือง ต.บ้านทาน ต.โรงเข้ ต.หนองกะปุ ต.ไร่สะท้อน ต.ห้วยลึก อ.บ้านลาด ต.ท่าแลง ต.ท่าคอย และ ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง
นครชัยศรีจุดเชื่อมบางใหญ่
จุดเริ่มต้นเชื่อมมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี บริเวณต่างระดับนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่าน จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม บรรจบกับ ถ.เพชรเกษม กิโลเมตรที่ 188 ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นถนนตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 ด่าน ได้แก่ ด่านนครชัยศรี ตลาดจินดา บางแพ ราชบุรี วัดเพลง ปากท่อ 1 ปากท่อ 2 เขาย้อย และท่ายาง ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง ประกอบด้วย นครชัยศรี ตลาดจินดา บางแพ ราชบุรี วัดเพลง ปากท่อ เขาย้อย และท่ายาง มีที่พักริมทางหลวง 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการทางหลวงราชบุรี สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี บ้านลาด บางแพ และเขาย้อย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ