เอฟทีเอ ว็อทช์ ส่งสารถึงหัวหน้า คสช. ก่อนไปญี่ปุ่น 'อย่าเข้า CPTPP'

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3441 ครั้ง

เอฟทีเอ ว็อทช์ ส่งสารถึงหัวหน้า คสช. ก่อนไปญี่ปุ่น 'อย่าเข้า CPTPP'

เอฟทีเอ ว็อทช์ ส่งสารถึงหัวหน้า คสช.ก่อนไปญี่ปุ่น อย่าเข้า CPTPP ชี้บทเรียน 10 ปีความตกลงไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้ไทยกลายเป็นถังขยะโลก หวั่นเข้าร่วม CPTPP ภาคเกษตรล่มสลายทรัพยากรชีวภาพถูกขโมยเรียบ ที่มาภาพประกอบ: peopleoverprofit.online

ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะเดินไปประชุมความร่วมมือแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 8-9 ต.ค.นี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้แถลงข่าว “ส่งสารถึงหัวหน้า คสช.ก่อนเยือนญี่ปุ่น: 10 ปีบทเรียน JTEPA ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP” โดยระบุว่า การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ หนึ่งในวัตถุประสงค์ของรัฐบาล คสช.คือการไปเดินหน้าขอเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าของหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ซึ่งญี่ปุ่นให้การสนับสนุนและเร่งเร้ามาโดยตลอด นับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงนี้ไป

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ก่อนที่นายกฯและหัวหน้าคสช.จะดำเนินการเช่นนั้น ขอให้ศึกษาข้อมูลและบทเรียนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นหลังการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะโลก และหากเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดกุมทรัพยากรชีวภาพของไทย เช่นที่ทำมาแล้วกับ พืชกัญชา พืชกระท่อม และยังขัดขวางไม่ให้เกษตรกรไทยเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้อีก แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์กลับโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของการเข้าความตกลง CPTPP อย่างบิดเบือน พูดเพียงข้อดีของความตกลง และพยายามให้ข้อมูลว่า หลายข้อห่วงใยด้านยาและการคุ้มครองการลงทุนถูกตัดออกไปแล้ว เมื่อสหรัฐฯถอนตัวจากการเจรจา ทั้งที่จริงเป็นเพียงการหยุดชั่วคราว ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่า จะถูกนำกลับมามีผลบังคับใช้เมื่อไรอย่างไร อีกทั้งไม่ได้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกเรียกร้องให้ต้องแลกเปลี่ยนหรือผูกพันมากกว่าความตกลงฯจากสมาชิก 11 ชาติก่อนหน้าเพื่อให้ยอมรับไทย

“ฉะนั้นไม่มีทางที่หัวหน้าคสช.จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากพอสำหรับการตัดสินใจในอนาคตของชาติกับเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์จึงต้องออกมาส่งสารถึงพวกท่าน และการเข้า CPTPP ยังส่งผลกระทบทางลบโดยตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของคสช.เองเสียด้วยซ้ำ”

ทางด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2549 องค์กรพัฒนาเอกชนที่รวมกันในนามเอฟทีเอ ว็อชท์ ออกมาแสดงความกังวลที่รัฐบาลไทยไปทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ขณะนั้นจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะโลก ซึ่งคำเตือนครั้งนั้นไม่ได้เป็นการพูดเกินจริง

“จาก 11 ปีที่ผ่านมา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีจุดมุ่งหมายให้เปิดการเคลื่อนที่ของขยะที่ประเทศร่ำรวยไม่สามารถกำจัดเองได้ ถูกส่งออกไปกำจัดที่ประเทศยากจนกว่า โดยสาระสำคัญของความตกลงดังกล่าว คือการทำให้ขยะเป็นสินค้า แบ่งเป็นชนิดกว่า 1,000 รายการ และสามารถค้าขายได้ ตัวอย่างเช่น กากสารเคมี ขี้เถ่าจากเตาเผาขยะ ตะกอน ขยะเทศบาล ฯลฯ แม้จะเป็นขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เลย ขจัดอุปสรรคทางกฎหมายต่างๆ นี่คือสิ่งที่ความตกลง JTEPA ได้ปูทาง แต่สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้นหลังรัฐประหาร

แม้รัฐบาล คสช. ประกาศให้เรื่องขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่การออกคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 คำสั่ง คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมือง ให้โรงแยกขยะ โรงไฟฟ้าขยะ สามารถตั้งที่ไหนก็ได้ และยังมีกฎหมายอำนวยความสะดวกที่นักลงทุนให้กดดันเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเข้มงวดเกินไป ทำให้ธุรกิจกำจัดของเสียให้เกิดเพิ่มขึ้นทุกปี ไฟเขียวตั้งโรงงานให้ง่ายขึ้น เช่น ที่สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี พื้นที่รอบแหลมฉบัง ยิ่งเมื่อจีนเลิกรับขยะเข้าประเทศ ประเทศไทยจึงกลายเป็นปลายทางขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติกของโลก”

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศระบุว่า ขยะพิษทั่วโลกที่พบในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นผลการเปิดทางของความตกลง JTEPA ทำให้อนุสัญญาบาเซลไม่สามารถคุ้มครองไทยได้ เพราะไปเปิดทางไว้หมดแล้วโดยไม่จำกัดแค่ขยะจากญี่ปุ่นเท่านั้น

ขยะกับการค้าเสรี (FTA) เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ทั้งผลประโยชน์การเมือง ท้องถิ่น และอีกมากมาย แม้ปัจจุบันงานศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้คำ FTA เปลี่ยนเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (EPA – Economic Partnership Agreement) ที่ให้ความรู้สึกดีกว่า แต่แท้จริงแล้วไม่ต่างกัน เพราะกลไกนี้ท้ายที่สุดก็คือการทำให้ประเทศร่ำรวยในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แก้ไขปัญหาขยะในบ้านตัวเองได้โดยนำขยะมาทิ้งไว้ในประเทศกำลังพัฒนา กรณีญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตขยะต้นๆของโลก เฉลี่ยขยะเทศบาลตามบ้านเรือน 40 ล้านตัน ขยะอันตราย 400 ล้านตัน ซึ่งมีมากกว่าประเทศไทยมาก แต่ไม่มีพื้นที่ทิ้งขยะ ญี่ปุ่นจึงต้องคิดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศเรื่องขยะ โดยใช้กลไกการค้าเสรี

“ในอนาคตไทยมีความสามารถเป็นพื้นที่รองรับขยะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียได้หรือไม่ หลายสิบปีก่อน ประเทศจีนเป็นจุดหมายปลายทางของขยะหมุนเวียนจากประเทศต่างๆ ในปี 2558 จีน นำเข้าขยะกว่า 49.6 ล้านตัน แต่ปัจจุบันจีนยกเลิกการนำเข้าขยะเนื่องจากปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและต้องการฟื้นฟูประเทศ จึงเกิดคำถามว่าประเทศไทยมีศักยภาพรองรับขยะได้เหมือนจีนหรือไม่ มาตรฐานของโรงงานรีไซเคิลไทยทำได้หรือไม่ และจะเกิดผลกระทบอะไรหากประเทศไทยนำเข้าขยะมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งตัวเลขจากนักวิชาการจากสหรัฐฯชี้ว่าในช่วงครึ่งปี 2561 มีขยะ 8 หมวดส่งมาที่ไทยมากกว่าเดิม 2000-7000% จากเดิมที่ถูกส่งไปจีน”

ข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยทำแล้วเริ่มตั้งแต่ 2546 มีถึง 14 ฉบับ เร่งการค้าขยะปลอดภาษี ตัวอย่างการยกเว้นภาษีและลดอัตราศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิด หมายถึงว่าข้อตกลงเหล่านี้ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่นำเข้าขยะปริมาณนำเข้าของเสียเคมี จากประเทศญี่ปุ่นปีละหลายพันตัน เช่น เศษน้ำมัน ขี้แร่ ฯลฯ และการนำเข้าเศษทังสเตน ญี่ปุ่นส่งเข้าสูงที่สุด ลองลงมา ตุรกี เยอรมนี ที่ไทยนำเข้ามา ตัวขี้แร่นำเข้ามาจาก 6 ประเทศ ญี่ปุ่นมาอันดับ 1 ขยะเทศบาล ตัวเลขนำเข้าขยะที่นำเข้าประเทศไทย เช่น ขี้น้ำมัน ที่ไทยน้ำเข้าขยะมากว่า 30 ประเทศ ทำให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยเป็นที่รองรับขยะอันตรายใช่หรือไม่ และเมื่อ พ.ย.2560 กระทรวงการคลังยังได้ออกประกาศลดอากรสินค้าซึ่งทั้งหมดเป็นขยะเท่ากับยอมรับการนำเข้า ขณะที่การตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าถูกบังคับให้ทำได้แค่ 10% ส่งออกตรวจได้ 20%

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 และกฎหมายที่เอื้ออำนวย พระราชบัญญัติโรงงาน และกรมโรงงานที่ย่อหย่อนต่อการเปิดโรงงานขยะ ทบทวนและดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขความ ตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจบางประเด็นเพื่อห้ามการนำเข้าขยะอันตราย

ทางด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (BIOTHAI) กล่าวว่า บทเรียนกว่า 10 ปีที่ประเทศไทยรับข้อตกลงระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2544 รัฐบาลทักษิณ จนถึงรัฐบาล คสช. ทุกครั้งที่รัฐบาลไปลงนามความตกลงระหว่างประเทศ มีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก ดังเช่นครั้งที่รัฐบาลทักษิณไปลงนามความตกลงเอฟทีเอกับออสเตรเลีย ประชาชนมีโอกาสเห็นเนื้อหาข้อตกลงในขณะที่ลงนามไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้รู้เนื้อหาก่อน ขณะที่ความตกลง JTEPA มีข้อจำกัดมากมายในการเข้าถึงข้อมูล ขณะนั้นกระทรวงการต่างประเทศให้เข้าไปดูแต่ห้ามจด ไม่มีการประเมินผลกระทบ

“ในปัจจุบันประชาชนก็ยังมีส่วนร่วมน้อยมาก เป็นเรื่องของกลุ่มผู้นำที่ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่แตกต่าง ทุกครั้งที่มีความตกลง จะมีการสัญญาหลายเรื่อง เมื่อ 11 ปีที่แล้ว คณะเจรจาฯนำโดยกระทรวงการต่างประเทศกับญี่ปุ่น ก็อ้างว่าภาคเกษตรจะได้ประโยชน์ เช่น มีการลดลงภาษีสินค้าเกษตรถึงร้อยละ 80 ยกเว้นเรื่องข้าวที่ญี่ปุ่นขอไว้, อัญมณี ส่งทอ จะได้ประโยชน์อย่างชัดเจน, ในภาคบริการ คนไทยกว่า 135 อาชีพ สามารถไปทำงานที่ญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น, ความร่วมมือระว่างสหกรณ์การเกษตรจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย เช่น สหกรณ์ที่ปลูกกล้วยหอมทองส่งออกญี่ปุ่น แต่จากงานวิจัยของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ 5 ปีหลัง JTEPA มีผลบังคับใช้ พบว่า กล้วยหอมที่ส่งไปน้อยลงเป็นลำดับ น้อยลงกว่า 3 เท่าตัว เพราะญี่ปุ่นหันไปหาตลาดที่ถูกกว่า นี่จึงเป็นคำสัญญาที่ไม่เป็นจริง เช่นเดียวกับ เอฟทีเอไทย-จีน ผัก-ผลไม้ที่เดิมเคยได้ดุลก็ลดการได้ดุลไปเรื่อยๆ ขณะที่นักลงทุนจีนก็เข้ามาทำการผลิตเอง โดยที่เกษตรกรไทยเป็นเพียงเจ้าของที่ดินหรือแรงงานเท่านั้น”

นอกเหนือจากเรื่องการค้าสินค้าที่คำสัญญาไม่เป็นจริง แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการได้มากที่สุดจากความตกลง JTEPA เมื่อ 11 ปีที่แล้ว คือทรัพยากรทางชีวภาพของไทย ผู้อำนวยการ BIOTHAI กล่าวว่า ในความตกลง JTEPA ระบุห้ามปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรจุลชีพที่มาจากธรรมชาติ นี่เกี่ยวพันกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตโดยตรง เมื่อเทียบกับความตกลงฯของญี่ปุ่นกับประเทศในอาเซียนไม่มีประเทศไทยใดยอมเนื้อหาเช่นนี้ แต่การประท้วงของประชาชนในช่วงนั้นทำให้รัฐบาล คมช.ต้องทำจดหมายข้างเคียง (Side Letter) ระบุว่า จะไม่มีการแก้กฎหมายในประเด็นนี้ ทำให้นี่คือสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเข้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ครั้งนี้

นอกจากนี้ สาระใน CPTPP ที่กระทรวงพาณิชย์ประชาสัมพันธ์ว่า ไม่มีปัญหาและไทยจะได้ประโยชน์นั้น กำหนดเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพอีกเรื่องคือ ให้รับอนุสัญญาบูดาเปสต์ ที่อ้างว่า เป็นการจัดเก็บจุลชีพเปิดทางในการจดสิทธิบัตร ซึ่งไม่จำกัดแค่จุลชีพ แต่ยังรวมไปถึงเซลล์และเนื้อเยื่อ ดังนั้นครอบคลุมไปถึงการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตนั่นเอง ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างมากในอนาคตและ การเข้าเป็นภาคีบูดาเปสยังปิดช่องทางในการออกกฎหมายและระเบียบปฏิบัติในการคุ้มครองทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศในอนาคต ผลกระทบต่อการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ

ซึ่งอุตสาหกรรมชีวภาพ 60% ในญี่ปุ่นมาจากจุลินทรีย์ ญี่ปุ่นมีบทบาทมากในอุตสาหกรรมนี้ มูลค่าเกือบ 2 ล้านๆบาท ไม่นับเรื่องการผลิตยารุ่นใหม่ ขณะที่เกษตรกรไทยกว่า 2 ล้านครอบครัวใช้จุลชีพในรูปแบบของน้ำหมักและรูปแบบอื่นๆในการทำการเกษตรจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากถูกผูกขาด

อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การผูกขาดพันธุ์พืช “ญี่ปุ่นโน้มน้าวให้ประเทศไทยปรับปรุงกฎหมายให้เป็นมาตรฐาน คือพยายามรับข้อตกลง UPOV 1991 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์ การที่พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ ต้องไม่ไปรับปากโง่ๆ เพราะการรับข้อตกลงจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง”

“ทำไมญี่ปุ่นต้องการผลักดัน UPOV1991 มีทุนไทยอยู่เบื้องหลังด้วยไหม ให้ดูตัวเลขตลาดเมล็ดพันธุ์โลก 8 บริษัทครอง 75% ญี่ปุ่น 2 บริษัท คือ ซาคาตะ และ ตาคิอิ บริษัทไทย เจียไต๋ เป็นพันธมิตรกับตาคิอิ และยังเป็นพันธมิตรกับมอนซานโต/ไบเออร์”

“การที่ไทยอยากไปเข้า CPTPP ครั้งนี้ ญี่ปุ่นพยายามผลักดันมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และนักปรับปรุงพันธุ์ที่เข้มข้น ตาม UPOV1991 ความตกลงนี้จะขยายสิทธิผูกขาดให้บริษัทมีสิทธิผูกพันคล้ายกับกฎหมายสิทธิบัตร สนับสนุนให้บริษัทครอบครองเมล็ดพันธุ์อย่างถูกกฎหมายโดยไม่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนเจ้าของเมล็ดพันธุ์ อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ในประเทศจะได้ประโยชน์ เชื่อมโยงกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ เช่น เจริญโภคภัณฑ์ และสมาชิกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ที่สมาชิกคือบรรษัทข้ามชาติด้านเมล็ดพันธุ์ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ที่ไม่ได้มีแค่ไทย มีมอนซานโต-ไบเออร์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผลักดันการแก้ไขกฎหมายพันธุ์พืชของไทยหลายประเด็น การยอมรับข้อตกลงดังกล่าว จะส่งผลต่อการเก็บพันธุ์ปลูกต่อทำไม่ได้อีกต่อไป และการละเมิดเรื่องนี้จะมีความผิดทางอาญา ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นอันเกิดมาจากที่บริษัทได้สิทธิผูกขาดครอบครอง

“ภายใต้ความตกลงมีเรื่องการผูกขาด ให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช การผูกขาดสิทธิ ขยายความคุ้มครองจากเมล็ดพันธุ์ไปยังผลิตผลและผลิตภัณฑ์ ให้อำนาจกับบริษัทเอกชนมากขึ้น และไม่เพียงห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ แต่ยังห้ามการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างกันด้วย ซึ่งนี่ขัดกับสิ่งที่ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวสนับสนุนความตกลงนี้

จากงานวิจัยของมูลนิธิชีววิถีที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพบว่า ราคาเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้นแน่ๆ โดยเฉพาะพืชที่ได้รับการคุ้มครองตาม UPOV1991 จากการคำนวณ จะมีราคาเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาทต่อปี เป็น 80,721-142,932 ล้านบาทต่อปี ใกล้เคียงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นมี่ฟิลิปปินส์ คือ 4 เท่า ต่างชาติเข้าถึงฐานทรัพยากรโดยไม่แบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งที่เป็นยา เทคโนโลยีเกษตรต่างๆ”

รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ สรุปว่า จากข้อมูลและบทเรียนผลกระทบที่เกิดจากความตกลง JTEPA ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะโลกเต็มตัว แต่การเข้า CPTPP จะทำให้ทรัพยากรชีวภาพและพันธุ์พืชไทยถูกยึดครองโดยบรรษัทข้ามชาติ บรรษัทญี่ปุ่น และทุนเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทย

“หัวหน้าคสช.ควรตระหนักในเรื่องนี้ เพราะเนื้อหาเหล่านี้สร้างผลกระทบโดยตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช.เองเสียด้วยซ้ำ ทั้งผู้นำคสช.และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าใช้นโยบายการหาเสียงระยะสั้นๆเพราะผลกระทบเสียหายระยะยาวเสียยิ่งกว่าการที่ JTEPA ทำให้ไทยเป็นถังขยะโลก ในท้ายนี้อยากให้ทุกพรรคการเมืองประกาศจุดยืนทางนโยบายให้ชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจเมื่อมีการเลือกตั้ง”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: