คนไทยรู้ยัง: คาดไทยดูด 'Medical Tourism จีน' ได้ 6% ในปี 2561

กองบรรณาธิการ TCIJ: 8 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 7418 ครั้ง

ด้วยกำลังซื้อที่สูงและการแพทย์ในประเทศจีนมีไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ ทำให้กลุ่ม Medical Tourism ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีจำนวนกว่า 630,000-650,000 ราย ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย หรือคิดเป็น 6% ที่จะเดินทางมายังประเทศไทยภายในปี 2561 นี้ ที่มาภาพประกอบ: South China Morning Post

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เปิดเผยเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2561 ได้คาดว่าในปี 2561 นี้  ตลาดคนไข้ต่างชาติยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่จับตลาดคนไข้ต่างชาติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2561 จะมีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลประมาณ 3.42 ล้านครั้ง โดยกลุ่มคนไข้ชาวเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เมียนมาและจีน จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นทดแทนกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลางที่มีบทบาทลดลง และจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย ประกอบกับแนวโน้มของคนจีนที่เดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีโอกาสขยายตลาด Medical Tourism ไปยังกลุ่มลูกค้าจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการในเรื่องของความงาม (Beauty) ที่คนจีนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเองก็ค่อนข้างมีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ศัลยกรรมความงามบนใบหน้า ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงบริการที่ไม่ซับซ้อน เช่น ทันตกรรม เวชศาสตร์ชะลอวัย หรือแม้แต่ตรวจสุขภาพ แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่ม Medical Tourism ชาวจีนเช่นกัน

ทั้งนี้การให้บริการทางการแพทย์ในประเทศจีนมีไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในจีนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ คนไข้ต้องใช้เวลาในการรอรับบริการนานและแออัด อีกทั้งมีเวลาในการพูดคุยกับแพทย์น้อย เนื่องจากมีคิวที่รออีกจำนวนมาก ส่งผลให้คนจีนที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงจนถึงคนที่มีฐานะร่ำรวยนิยมเดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ เพื่อต้องการความสะดวกรวดเร็วและการบริการที่ดีกว่า

คนจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น สะท้อนได้จากปี 2559 กลุ่ม Medical Tourism คนจีน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังประเทศต่างๆ มีจำนวนกว่า 500,000 ราย หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าของปีก่อนหน้า  และจากกระแส Medical Tourism ของคนจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดลูกค้า Medical Tourism ชาวจีนจะมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย แต่ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย อีกทั้งการจะขยายตลาด Medical Tourism ได้นั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้กับคนจีนเชื่อถือหรือมั่นใจ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า ในปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยว Medical Tourism ชาวจีนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีประมาณ 630,000-650,000 ราย ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้นที่เดินทางมาประเทศไทย

โดยกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่น่าสนใจและเป็นโอกาสคือ 1. กลุ่มลูกค้าที่มีภาวะมีบุตรยาก จากการที่รัฐบาลจีนประกาศให้ประชากรมีบุตรคนที่ 2 ได้ และมีคู่สมรสชาวจีนกว่า 90 ล้านคู่ที่ต้องการมีบุตรคนที่ 2 โดยเฉพาะคนที่มีภาวะมีบุตรยาก ซึ่งเดิมทีไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศปลายทาง ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวจีนเลือกเดินทางเข้ามารับการรักษาหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยที่จะเจาะตลาดลูกค้าเซ็กเมนต์ใหม่กลุ่มนี้ และ 2. กลุ่มลูกค้าที่เน้นการดูแลด้านความงาม จากกระแสความงาม (Beauty) ของคนจีนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากการผ่าตัดศัลยกรรมบนใบหน้าแล้ว ยังมีบริการด้านความงานอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นบริการทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น ทันตกรรม (Dental) การดูแลผิวพรรณ เวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging) หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพเชิงบำบัดต่างๆ (Wellness) เช่น ตรวจสุขภาพ การฟื้นฟูหรือพักฟื้นสุขภาพร่างกายในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน และน่าจะเป็นโอกาสในการเจาะตลาดของผู้ประกอบการไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: