เปิดปมมอเตอร์เวย์ปากช่อง ‘เวนคืนไม่เป็นธรรม-เกิดผลกระทบต่อชีวิต’

TCIJ School รุ่นที่ 5 (งานภาคสนาม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย. 2561): 8 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 12179 ครั้ง

 

‘TCIJ School’ ลงพื้นที่ฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบจาก ‘โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน–นครราชสีมา’ พื้นที่ อ.ปากช่อง ระบุการเวนคืนไม่เป็นธรรม ไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย รธน.ว่าด้วยการเวนคืนและหลักความได้สัดส่วน ขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เวนคืนเกินความจำเป็น

‘ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6’ หรือ ‘ทางหลวงพิเศษสายตะวันออกเฉียงเหนือ’ เป็นโครงการทางหลวงพิเศษเชื่อมระหว่างเมือง เริ่มต้นจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุดที่ จ.หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางในแผนแม่บทระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี 2540  ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างเส้นทาง 3 สายต่อเนื่องกัน (ระยะทางตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2540) ได้แก่ สายบางปะอิน–นครราชสีมา, สายนครราชสีมา–ขอนแก่น และสายขอนแก่น–หนองคาย ทั้ง 3 เส้นทางนี้จะมีระยะทางรวมกัน 535 กิโลเมตร โดย ‘ทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา’ เป็นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ที่เริ่มดำเนินการเป็นโครงการแรกซึ่งมี พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา พ.ศ. 2556 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้เริ่มก่อสร้างในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ส.ค. 2559

สำหรับการเวนคืนที่ดินประชาชนตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนฯ เมื่อปี 2556 นั้น เริ่มต้นจาก กม.0+000 อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา แนวเส้นทางตัดผ่าน จ.สระบุรี และไปสิ้นสุดที่ จ.นครราชสีมา กม. 195+943 รวมระยะทาง 196 กม.แบ่งออกเป็น 4 ตอน การสำรวจเบื้องต้นแนวเส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านทุ่งนาและชุมชนบางส่วนซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบ โดยตอนที่ 1 พื้นที่จุดเชื่อมต่อจากบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 24.5 กม.จะต้องเวนคืนที่ดินประมาณ 500 แปลง โดยมีสิ่งปลูกสร้างประมาณ 200 หลัง ตอนที่ 2 เริ่มจาก กม.ที่ 24 ถึง กม.ที่ 83 สุดเขต จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 59 กม. แนวอยู่ในเขตชุมชนเมืองมากที่สุด มีที่ดินที่ต้องเวนคืนประมาณ 1.5 พันแปลง มีสิ่งปลูกสร้างประมาณ 300 หลัง ตอนที่ 3 จาก กม.ที่ 83-กม.ที่ 142 ระยะทางประมาณ 58.5 กม. มีพื้นที่ที่ต้องถูกเวนคืนประมาณ 600 แปลง เป็นสิ่งปลูกสร้างประมาณ 500 หลัง และตอนที่ 4 อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนประมาณ 600 แปลง เป็นสิ่งปลูกสร้างประมาณ 70 หลัง [1]

กรมทางหลวงเคยเสนอ ครม. ลดงบประมาณสาย ‘บางปะอิน-นครราชสีมา’ โปะสาย ‘บางใหญ่-กาญจนบุรี’ แทน

เมื่อเดือน มี.ค. 2560 อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่าจากการประเมินล่าสุด ค่าเวนคืนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 18,000-19,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาเดิมคิดไว้ตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่ผ่านมามีการปรับราคาประเมินที่ดินขึ้น 3 ครั้ง คือปี 2551,2555,2559 อีกทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีการจ่ายค่าเวนคืนที่สูงด้วย โดยกรมทางหลวงเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณ โครงการจากค่าก่อสร้างซึ่งผลการประมูลสามารถประหยัดงบลง โดยจะลดงบประมาณสายบางปะอิน-นครราชสีมา ประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อขอนำมาใช้สำหรับจ่ายเวนคืนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี แทน [2]

ต่อมาในเดือน ก.ค. 2560  อธิบดีกรมทางหลวงระบุว่ากรมจะขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางปี 2560 จำนวน 5,100 ล้านบาท จ่ายเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 2,358 ล้านบาท ซึ่งรวมงบประมาณ 516 ล้านบาทที่โยกจากถนน 4 ช่องจราจรสายหล่มสัก-น้ำหนาว และค่าก่อสร้าง 2,242 ล้านบาท ที่จะกระจายไปทั้ง 25 สัญญา ที่เหลือ 500 ล้านบาทจะจ่ายค่าเวนคืน      ล็อตสุดท้ายสายบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนที่ 24 และ 25 ในพื้นที่ อ.ปากช่อง-สีคิ้ว 74 ล้านบาท และพระนครศรีอยุธยา 1,099 ราย วงเงิน 426 ล้านบาท จากทั้งโครงการต้องจ่ายค่าเวนคืน 6,600 ล้านบาท [3] จากนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 กระทรวงคมนาคมยังได้รายงานการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป โครงการ 'มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา'  ตอนที่ 21 ช่วง กม.82+500 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วงเงิน 1,850 ล้านบาท ระยะเวลา 1,080 วัน และตอนที่ 22 กม.86+000-กม.98+347 ระยะทาง 12.347 กิโลเมตร วงเงิน 1,447 ล้านบาท ระยะเวลา 1,080 วัน รวม 2 ช่วง ระยะทางรวม 15.817 กิโลเมตร วงเงินรวม 3,298.37 ล้านบาท ซึ่งหลังลงนามสัญญาก่อสร้างแล้ว มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ก็จะสามารถก่อสร้างได้ครบ 40 ตอน [4]

กรมทางหลวงขอโยกงบอีกครั้ง ระบุบางสัญญาสามารถประหยัดงบลง บางสัญญาต้องเพิ่มวงเงิน

กลางเดือน มิ.ย. 2561 อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่าการก่อสร้างงานโยธาสายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 40 ตอน วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท โดยมีค่าก่อสร้าง 69,970 ล้านบาท นั้น การก่อสร้างบางสัญญาสามารถประหยัดงบลง บางสัญญาต้องเพิ่มวงเงิน เนื่องจากมีการปรับปรุงแบบเพื่อเยียวยาตามข้อร้องเรียนของประชาชน เช่น เพิ่มทางลอด, เพิ่มทางขนาน ซึ่งกรมทางหลวงไม่สามารถเกลี่ยโยกวงเงินได้เอง เพราะสำนักงบประมาณได้แยกงาน 40 ตอน ออกเป็น 40 โครงการ ดังนั้นจะต้องรวบรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอโยกงบอีกครั้ง [5]

ผู้ได้รับผลกระทบแคลงใจประเด็นเวนคืน-ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ในเขต อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง รวมทั้งเคยทำ หนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้แก้ไขการดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 เมื่อเดือน ส.ค. 2560 โดยได้ระบุถึง ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเวนคืนและหลักความได้สัดส่วน, การขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน, ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรมและหน้าที่ของรัฐในการดำเนินโครงการฯ และความไม่ชอบธรรมในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และกำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมบางพื้นที่

ส่วนในประเด็น ‘ขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน’ นั้น กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ระบุว่ากรมทางหลวงได้อ้างว่าการดำเนินโครงการนี้ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในหลายวาระและโอกาสทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ แต่ในความเป็นจริง ผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนและบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ต.หนองน้ำแดง ต.ขนงพระ ต.พญาเย็น และ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ถูกละเลยการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการอย่างถูกต้องและเพียงพอ การเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่เครือข่ายฯ หรือสมาชิกเครือข่ายฯ ได้ร้องขอไป ได้กระทำอย่างล่าช้าจนน่าเชื่อว่าเป็นการเปิดเผยเมื่อกรมทางหลวงมั่นใจว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์การคัดค้านโต้แย้งได้แล้ว ส่วนการมีส่วนร่วมในแสดงความคิดเห็นนั้น กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนฯ หรือการดำเนินโครงการฯ ส่วนที่กระทบต่อตนเองได้ถูกกีดกันออกจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่น มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในสถานที่ห่างไกลและไม่เปิดให้มีการรับรู้หรือได้รับเชิญ หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียบางคนพยายามหาทางไปร่วมประชุม ก็ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความเห็น หรือไม่รับฟังความเห็น มีการบิดเบือนความเห็นหรือความต้องการ ฯลฯ ในขณะที่เปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือเห็นด้วยกับโครงการฯ เข้าร่วม  นอกจากนี้ การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน (ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่) ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการร่วมดำเนินการในส่วนที่สำคัญ เช่น การกำหนดขอบเขตการศึกษาวิเคราะห์ ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติม .. จับตา: (ความเห็น) การไม่ปฏิบัติตาม รธน. ว่าด้วยการเวนคืน-ความได้สัดส่วน ‘มอเตอร์เวย์ปากช่อง’)

‘เวนคืนเกินความจำเป็น’ พื้นที่ ‘ศูนย์บริการทางหลวง’

พื้นที่ที่จะดำเนินการศูนย์บริการทางหลวงบริเวณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2561 ได้ทำการปรับพื้นที่แล้ว

โดยเฉพาะการเลือกกำหนดตำแหน่งพื้นที่และขนาดพื้นที่ก่อสร้างและดำเนินการศูนย์บริการทางหลวง ด่านเก็บเงิน และทางขึ้น-ลงจำนวนมากเกินความจำเป็น (โดยศูนย์บริการทางหลวงมีส่วนกว้างที่สุดถึง 200 เมตรและส่วนยาวสุดสำหรับพื้นที่กิจกรรมดังกล่าวถึง 1,000 เมตร ต่อหนึ่งด้าน (ไม่รวมพื้นที่ส่วนที่เป็นถนน) ศูนย์บริการฯ ดังกล่าวมีรวมสองฝั่งถนน ในตำแหน่งพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำหรับของชุมชน การพักอาศัยและการประกอบอาชีพของบุคคลในชุมชน ตลอดจนมีความสำคัญสูงในเชิงนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ยังมีทางเลือกอื่นคือยังมีพื้นที่คงเหลือและไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมากและกว้างขวางของกรมการสัตว์ทหารบกที่ห่างออกไปประมาณเพียง 3 กิโลเมตร ที่สามารถใช้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ได้ หรือมีทางเลือกอื่นที่มีผลกระทบน้อยกว่า 

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการระบุว่า การที่กรมทางหลวงเลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้ทำให้น่าเชื่อว่า กรมทางหลวงมุ่งที่จะแสวงหาผล ประโยชน์จากการที่ดินของบุคคลและชุมชนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากเอกชนและเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ของกรมทางหลวงเอง ด้วยวิธีการที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำให้มากที่สุดจากการเวนคืนและชดใช้ค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่ใช้วิธีการที่ก่อผลกระทบต่อบุคคลและชุมชนน้อยกว่า ด้วยการขอให้กรมการสัตว์ทหารบกเจ้าของที่ดินอันเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันเสียสละที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการใช้ที่ดินดังกล่าว (ซึ่งแนวถนนของโครงการได้พาดผ่านเข้าในพื้นที่ของกรมการสัตว์ทหารบกดังกล่าวนี้อยู่ด้วยแล้วในช่วง กม.ที่ 116 ถึง กม.119 ของโครงการฯ โดยกินเนื้อที่มีความกว้างถึงประมาณ 400  เมตร รายละเอียดที่ปรากฏตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ) หรือเลือกใช้ที่ดินแปลงอื่นที่ก่อผลกระทบน้อยที่สุด การเลือกที่จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลและชุมชนอย่างรุนแรง ตลอดจนผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางธรรมชาติดังกล่าวมานี้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักความได้สัดส่วนอันเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป และหลักนิติธรรมที่ให้ความสำคัญกับหลักการถือกฎหมายเป็นใหญ่หรือปกครองด้วยกฎหมายรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

'ศูนย์บริการทางหลวง' ทำเลทองของนักลงทุน

กรมทางหลวงระบุว่าจะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ และ ปตท.เข้าร่วมลงทุนจุด 'ศูนย์บริการทางหลวง' ของโครงการมอเตอร์เวย์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2561 นอกจากนี้รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการน้ำมัน เช่น ปตท. และบางจาก ให้ความสนใจจะลงทุนพัฒนาโครงการ ที่มาภาพ: aboutliving.asia

เดือน ม.ค. 2561 อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่าสำหรับการพัฒนาพื้นที่ริมทางหลวงทั้ง 2 สายอยู่ในระหว่างทำรายละเอียดการประกวดราคาว่าใน 1 เส้นทางจะแยกเป็นหลายสัญญาหรือเป็นสัญญาเดียว คาดว่า 3-4 เดือนนี้ จะได้ข้อสรุป และปลายปีนี้จะประกวดราคาเป็นรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี แบบมีเงื่อนไขโดยรัฐจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามปริมาณการจราจรที่เข้าพักริมทางหลวง คาดว่าเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2562 โดยที่พักริมทางหลวงจากนโยบายรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยากให้เหมือนต่างประเทศ ภายในมีร้านค้าที่ทุกคนต้องมาแวะ ไม่ใช่ร้านที่มีสาขา เน้นเป็นสินค้าจากท้องถิ่นหรือโอท็อป ซึ่งกรมกำลังพิจารณารายละเอียดอยู่

สำหรับวงเงินลงทุนการก่อสร้างที่พักริมทางในส่วนของสายบางปะอิน-โคราช มี 8 แห่ง วงเงิน 1,500 ล้านบาท เป็นที่พักริมทาง 5 แห่ง ที่วังน้อย หนองแค ทับกวาง ปากช่อง และสูงเนิน, สถานที่บริการทางหลวง 2 แห่ง ที่สระบุรีและสีคิ้ว และศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง ที่ปากช่อง ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 6 จุด วงเงิน 700 ล้านบาท ที่ อ.นครชัยศรี 2 จุด อ.เมืองนครปฐม 2 จุด และ อ.ท่ามะกา 2 จุด โดยรูปแบบการพัฒนามี 3 ประเภท ได้แก่ ที่พักริมทางหลวง (rest area) ขนาด 15 ไร่ สถานที่บริการทางหลวง (service area) ขนาด 20 ไร่ และศูนย์บริการทางหลวง (service center) ขนาด 50 ไร่ ลงทุน 300-400 ล้านบาท/แห่ง

การพัฒนาที่พักริมทาง จะแบ่ง 2 สัญญา คือ ขาเข้า 1 สัญญา และขาออก 1 สัญญา เพื่อให้เอกชนที่สนใจร่วมประมูล โดยเอกชน 1 รายจะได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่ 1 สัญญา กรมทางหลวงจะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ และ ปตท.เข้าร่วมลงทุน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2561 นอกจากนี้รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการน้ำมัน เช่น ปตท. และบางจาก ให้ความสนใจจะลงทุนพัฒนาโครงการ [6]

 

ราคาเวนคืนไม่สมเหตุสมผล

ที่ดินใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงการเวนคืนโครงการมอเตอร์เวย์ ถือเป็นทำเลทองที่มีราคาซื้อ-ขาย สูงใน จ.นครราชสีมา ภาพประกอบ: การประกาศซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทางอินเตอร์เน็ต

ในประเด็น ‘ราคาเวนคืน’ นั้น พบว่าได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และมีการเคลื่อนไหวร้องทุกข์มาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่กรมทางหลวงจะเวนคืนที่ในราคาต่ำ ทั้งๆ ที่ตาม พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 และ 11 กรมทางหลวงหรือผู้ซึ่งรับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ต้องทำการเจรจาตกลงซื้อขายกับเจ้าของ แต่จู่ ๆ จะให้พวกชาวบ้านเซ็นโอนที่และมอบอำนาจให้ ในขณะนั้นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงได้ทำหนังสือคัดค้านและขออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2559 โดยระบุว่าการประเมินราคาเวนคืนที่ดินการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน วิธีการตามกฎหมายกำหนด ทำให้ชาวบ้านกว่าหนึ่งพันครอบครัวได้รับความเสียหาย จึงพากันมาร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีต่อหน่วยงานหรือบุคคลที่รับผิดชอบ [7]

ทั้งนี้ พบว่าราคาเวนคืนของโครงการฯ นี้ มีราคาที่ต่ำมาก เฉลี่ยตารางวาละ 300-500-900 บาท แต่จากการเก็บข้อมูลการซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ถูกเวนคืนโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน–นครราชสีมา ในพื้นที่ อ.ปากชอง จ.นครราชสีมา นั้นมีราคาสูงกว่าราคาเวนคืนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น

การประกาศขายที่ดินเปล่า โครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ที่เริ่มเปิดขายเมื่อปี 2556 ราคาตารางวาละ 30,798 – 39,629 บาท ที่ดินตั้งอยู่ที่บริเวณ กม.4 ถนนธนะรัชต์ ลักษณะที่ดินเป็นที่ดินเปล่า

การขายที่ดินแปลงหนึ่งให้ บริษัทสยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2556 จำนวน 2 ไร่ 1 งาน ราคาตารางวาละ 15,000 บาท ที่ดินตั้งอยู่บริเวณ กม.3 ถนนธนะรัชต์ ลักษณะที่ดินเป็นที่ดินตาบอด

การซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 จำนวน  80 ตารางวา ราคาตารางวาละ 12,500 บาท ที่ดินตั้งอยู่บริเวณ กม.2 ถนนธนะรัชต์  ลักษณะที่ดินเป็นที่ดินตาบอด

การขายที่ดินแปลงหนึ่งให้ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 จำนวน 4 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา ราคาตารางวาละ 43,000 บาท  ที่ดินตั้งอยู่บริเวณ กม. 18 ถนนธนะรัชต์ ลักษณะที่ดินเป็นที่ดินติดถนนธนะรัชต์

การซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2559 จำนวน 2 ไร่ ราคาตารางวาละ 62,500 บาท ที่ดินตั้งอยู่บริเวณ กม. 7 ถนนธนะรัชต์ ลักษณะที่ดินเป็นที่ดินติดถนนธนะรัชต์

การประกาศขายอาคารพาณิชย์  3 ชั้น จำนวน 2 ชุด แห่งหนึ่ง ประกาศขายเมื่อปี 2559 - 1 คูหา พื้นที่ 35 ตารางวา ราคา 5,500,000 บาท - 2 คูหา พื้นที่ 69 ตารางวา ราคา 11,000,000 บาท อาคารตั้งอยู่บนถนนโยธาธิการ นครราชสีมา 2049 ห่างจากถนนธนะรัชต์ ประมาณ 250 เมตร

กสม. เคยชี้การเวนคืนที่ดินสร้างมอเตอร์เวย์ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยระบุไว้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 ว่า กสม. ได้มีการตรวจสอบกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี และเห็นว่าโครงการก่อสร้างทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ร้องทั้งในคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน  ในประเด็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรง นอกจากนั้น กสม. ยังมีความเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนซึ่งไม่ใช้ราคาที่ดินที่ซื้อขายในปัจจุบัน ทำให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์ในราคาที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืน การจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรพิจารณาถึงความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนจะได้รับการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรอยู่บนหลักการว่าค่าทดแทนและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ต้องเพียงพอให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยไม่ด้อยไปกว่าก่อนการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

เสียงจากปากช่อง เมื่อ มอเตอร์เวย์กระทบต่อวิถีชีวิต

 

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ช่วง กม. 102+000 กม. 110+900 (รวมทางแยกระดับปากช่อง) มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2562 ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง

หลังจากที่โครงการฯ เริ่มส่งหนังสือเวนคืนและดำเนินการก่อสร้างก็เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่บางส่วนทันที เริ่มตั้งแต่การเวนคืนที่ชาวบ้านได้รับเงินชดเชยน้อยกว่าราคาซื้อขายในตลาดหลายเท่า การก่อสร้างทางปิดทับถนนที่ใช้สัญจรในชุมชน ขวางทางระบายน้ำจนเกิดน้ำท่วมขังที่ดินทำการเกษตร และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแนวก่อสร้างได้รับผลกระทบจากมลภาวะในรูปแบบต่าง ๆ

น.ส.นพมาศ สุวรรณศรี เกษตรกร อายุ 42 ปี กล่าวว่าโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ได้แบ่งที่ดินของตนเองออกเป็นสองฝั่ง สร้างความยากลำบากต่อการใช้งานเนื้อที่ที่เหลืออยู่ “ที่ดินการเกษตรของที่บ้าน 18 ไร่ โดนเวนคืน 6 ไร่ ที่ดินเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงการผ่ากลางแนวเฉียง ทำให้เกิดเป็นสามเหลี่ยมสองด้าน ส่วนหนึ่งเป็นที่ตาบอด อีกส่วนหนึ่งคือสามเหลี่ยมที่ใช้อะไรไม่ได้ เสียรูปที่ดินไปเลย”

“ไม่ทราบว่าเขาใช้หลักเกณฑ์อะไรในการประเมินราคา ที่โดนคือ เราได้ตารางวาละ 500 บาท ในขณะที่ ปี 2556 ที่ดินราคาขึ้น ตกเกือบๆ 2 ล้านต่อไร่ เราได้จริงไร่ละ 2 แสน ปัจจุบันถ้าไม่โดนเวนคืนก็อาจจะขึ้นเป็น 3-4 ล้านบาท พอโครงการมาเราไม่ได้ประโยชน์ คือมันไม่ได้ทำให้บูมทางด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่มันทำให้ราคาอสังหาฯ ตกลง เราไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของอสังหาฯ อยู่แล้ว คำนึงถึงทางด้านจิตใจ มันเป็นแหล่งอาหาร มันคือชีวิต” น.ส.นพมาศ กล่าว

นายณัฐวุฒิ ชัยชนะสงคราม เกษตรกร อายุ 35 ปี ระบุว่าปัจจุบันตนเหลือที่ดิน 10 ไร่หลังการเวนคืน ใช้ทำไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลูกผักสวนครัว โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ติดกับโครงการก่อสร้าง “ได้ค่าเวนคืนตารางวาละ 500 กว่าบาท ตอนทำประชาพิจารณ์ก็บอกจะให้ราคาที่ซื้อขายปัจจุบัน แต่พอค่าเวนคืนออกมาเป็นอีกราคาหนึ่ง ซึ่งราคาที่เขาซื้อขายกันแถวนี้ประมาณไร่ละ 1-2 ล้านบาท แต่ผมได้ 2 แสน เป็นราคาขาย 10 ไร่ ถึงจะซื้อคืนได้ 1 ไร่ ส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนก็แบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งไม่มีทางเข้า เครื่องจักรเข้าไม่ได้”

ณัฐวุฒิ ยังระบุว่า ปี 2560 ที่ผ่านมาพืชผลทางการผลิตของเขาเสียหาย เนื่องจากเกิดน้ำท่วมขัง โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ซึ่งสร้างขวางทางระบายน้ำ

“ที่เราอยู่ริมเขา เขาทำถนนสูงขึ้นไป 7 เมตร ที่เราอยู่ตรงกลางกลายเป็นแอ่งรับน้ำ จากปกติไม่เคยน้ำขัง ไม่ถึงกับทำให้พืชที่ปลูกเสียหายทั้งหมด แต่ปกติรถไถสามารถไถได้ภายใน 5 ชั่วโมง ตอนนี้เข้าไปรถไถก็จม เพิ่งโดนปีที่ผ่านมา เพราะเขาเพิ่งถม อีกฝั่งของถนน ปกติมันมีอุโมงค์น้ำธรรมชาติในไร่ น้ำจากเขาจะต้องไหลมา ทำให้น้ำบาดาลมีใช้ตลอด ปีนี้น้ำบาดาลแห้งไป มันไปกั้นทางน้ำไหล ปกติรายได้ก็ไม่ค่อยมากอยู่แล้วนะ ได้ไร่ละ 6 พันบาทต่อปี โดนไป 10 ไร่ รายได้ก็หายไป 6 หมื่นบาทต่อปี”

ด้านนายเต็ม จันทร์พิมาน เกษตรกร อายุ 65 ปี ซึ่งมีที่ดิน 9 ไร่ และถูกเวนคืน 2 ไร่เพื่อใช้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เชื่อว่า เงินที่ได้รับเป็นค่าเวนคืน น้อยกว่าราคาขายทั่วไป “โดนเวนคืนที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ก่อสร้าง 2 ไร่ ถูกเวนคืนที่ดินในราคาต่ำเกินจริง”

การก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ภายในพื้นที่ของ น.ส.ศุภากานต์ วิศิษย์ศักดิ์วาสิน

ขณะที่ น.ส.ศุภากานต์ วิศิษย์ศักดิ์วาสิน พนักงานบริษัท อายุ 56 ปี ระบุเช่นกันว่า ค่าชดเชยการเวนคืนที่ดิน น้อยกว่าราคาซื้อขายจริงหลายเท่าตัว “บางจุด ซื้อมาตารางวาละตั้ง 4,000 บาท แต่ว่าทางหลวงส่งจดหมายมาให้ตารางวาละ 370 บาท ก็เลยปวดใจเนอะ ร้องไปได้เพิ่มมา 735 บาท บางคนรับเขามามากหน่อยเพราะมีที่มาก ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร เพราะเป็นเกษตรกร สำหรับเราขนาดให้ราคาสูงๆ ยังไม่อยากจะไปเลย แล้วคุณมาบังคับให้ราคาที่คุณกำหนดเอง แถวนี้ราคาตารางวาหนึ่งเป็นหมื่นนะคะ” 

พ.ท.เกียรติศักดิ์ วัฒนา อดีตข้าราชการทหาร ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้แนวก่อสร้าง กล่าวว่า โครงการเริ่มเข้ามาดำเนินการพร้อมเครื่องจักรในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลภาวะ เช่น มลพิษทางเสียง มลพิษทางอากาศ ที่เกิดในช่วงระหว่างเวลา 07.00 – 18.00 น. ของทุกวัน “10 เม.ย. 2561 กรมทางหลวง และบริษัทเอกชน เข้าพื้นที่วางเครื่องจักรขนาดใหญ่ เตรียมพร้อมถมที่ดินของชาวบ้าน สิ่งที่ตามมาคือ ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่คู่กับปัญหาเสียงดัง ฝุ่นละอองพัดเข้าบ้าน แรงสั่นสะเทือนของเครื่องจักรทำให้บ้านเกิดรอยร้าว” พ.ท.เกียรติศักดิ์กล่าว

พ.ท.เกียรติศักดิ์ ระบุว่า ไม่เพียงแค่ผลกระทบจากเสียงรถบรรทุกผ่าน หรือเสียงเครื่องจักรทำงานเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากลักษณะทางกายภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของชุมชน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แนวก่อสร้างด้วย

ส่วน น.ส.ศุภากานต์ วิศิษย์ศักดิ์วาสิน ระบุว่า “ตั้งแต่ 6 โมงก็ได้ยินแล้วจนทุ่มหนึ่ง วิ่งทั้งวันเลย บางวันเข้ามาตี 5 ครึ่ง จนพี่ต้องกระโดดขวางรถ คิดดูสิ ยอมตาย คืออยู่ไปมันก็เหมือนไม่ได้อยู่แล้วในโลกนี้ มันไม่มีสิทธิ ที่ของเราไม่ใช่ของรัฐ พี่ซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรง หลังเกษียณอายุหวังว่าจะมาอยู่ จะได้ไม่ต้องไปเช่าเขา”

ต่อประเด็นน้ำท่วมนั้น แม้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางส่วนของโครงการจะออกแบบให้เป็นโครงสร้างเสาสูงจากพื้นดิน แต่โครงการในพื้นที่ อ.ปากช่อง ส่วนใหญ่ ใช้วิธีการถมดินยกพื้นสูง ทำให้แนวเขตถนนมีลักษณะเป็นเนินแบ่งพื้นที่ราบออกเป็นสองฝั่ง และในฤดูฝนของปี 2560 เกิดน้ำท่วมในที่ดินฝั่งหนึ่งข้างเขตก่อสร้าง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีสาเหตุมาจาก การก่อสร้างถนนที่ไปปิดกั้นทางน้ำไหลตามธรรมชาติ

นายพงษ์ศักดิ์ นราวัฒน์ เกษตรกรและเจ้าของรีสอร์ทในพื้นที่ กล่าวว่าหลังจากโครงการมอเตอร์เวย์เริ่มก่อสร้าง พื้นที่สวนแก้วมังกรของเขาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเสียหายจำนวนหนึ่ง “ฝนตกก็ออกได้ แต่ทุเรศทุรังต้องถลกขากางเกงไป แต่มอเตอร์ไซค์ไปไม่ได้ มีไร่ต้นแก้วมังกร น้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหายไป 60 กว่าต้น ขาดทุนไปกว่า 30,000 บาท”

นอกจากนี้ การมาถึงของแนวถนนถมสูงที่ชาวบ้านเชื่อว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมแล้ว ยังสร้างความลำบากให้กับคนในพื้นที่ในเรื่องการสัญจรไป-มาระหว่างสองฝั่งถนนด้วย เพราะแม้โครงการจะได้ออกแบบช่องลอดใต้แนวมอเตอร์เวย์ แต่ชาวบ้านพบว่า ช่องดังกล่าวมีขนาดเล็กเกินกว่าจะใช้รถสัญจรได้อย่างปกติ

 

อุโมงค์ กว้าง 2.4 เมตร สูง 2.1 เมตร ความยาว 55 เมตรที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งของโครงการ ซึ่งขนาดของอุโมงค์หรือทางลอดเล็กเกินกว่ารถยนต์จะผ่านได้ คล้ายกับการระบายน้ำมากกว่าใช้เดินทาง

นายณรงค์ เหล็งหวาน หนึ่งในผู้รับผลกระทบระบุว่า “ในอดีต ตรงนี้เป็นทางสาธารณะชาวบ้านใช้กันอยู่เป็นประจำ พอสร้างมอเตอร์เวย์กลายเป็นว่า ถนนไปขวางทางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้อยู่เดิม มีอุโมงค์รูลอด กว้าง 2.4 เมตร สูง 2.1 เมตรให้ ความยาวจากฝั่งนี้กับฝั่งตรงข้ามประมาณ 55 เมตร แต่ชาวบ้านไม่สามารถใช้สัญจรได้จริง รถกระบะก็ไม่สะดวกแล้ว เกษตรกรขนพืชไร่จำเป็นต้องใช้รถบรรทุก 6 ล้อ หรือ 10 ล้อ ไม่สามารถผ่านได้ หรือแม้แต่รถไถ รถแทร็กเตอร์ที่ใช้สำหรับไถกลบ พรวนดิน ก็ผ่านไม่ได้” นายณรงค์กล่าว

“ชาวบ้านต้องใช้รูลอดนี้ เป็นภาวะจำยอม ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ใช้ได้เฉพาะรถขนาดเล็ก มอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน ถ้าหากมีการสัญจรยามค่ำคืน ความปลอดภัยไม่มี ถ้าขับรถผ่านกำลังลอดไปอีกฝั่งแล้วฝนตก ช่องนี้จะกลายเป็นช่องระบายน้ำ ถ้าใช้งานจริงอันตราย” นายณรงค์กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายเต็ม จันทร์พิมาน เพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า “ที่ทำมาหากินโดนถนนตัดผ่าน ไม่สามารถใช้ยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่ได้ ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล แก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที ก่อนที่ถนนจะเสร็จในปี 2562 ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน ถูกจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ทำมาหากิน เพราะถนนถูกยกระดับให้สูงขึ้นกว่าที่ดินทำเกษตร”

“กระทบเรื่องการเดินทาง เพราะว่าที่ของพี่ห่างจากมิตรภาพ-บายพาส แค่กิโลครึ่ง แต่พอโครงการตัดผ่าน การสัญจรใช้ระยะเวลามากกว่าเดิม ต้องหาเส้นทางใหม่ โครงการสร้างเสร็จมีผลกระทบแน่นอน ยังไม่รู้จะใช้ทางไหน” น.ส.นพมาศ สุวรรณศรี ระบุ

ขณะเดียวกัน นายบุญชู ชัยชนะสงคราม เกษตรกร อายุ 60 ปี บิดาของนายณัฐวุฒิ ระบุว่าเมื่อโครงการมอเตอร์เวย์สร้างทับถนนชุมชน การขนส่งผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากไม่สามารถใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ขนผลผลิตออกไปขายได้สะดวก

“เวลาเก็บข้าวโพด หรือเก็บพืชไร่ รถของชาวไร่ผ่านไม่ได้ เกษตรกรไม่ได้ใช้เกวียน ทำทางลอดกว้างแค่ 2.4 เมตร สูง 2.1 เมตร ชาวไร่ใช้รถตั้งแต่ 6-10 ล้อ เส้นนี้เขาใช้กันมานานแล้ว รถบรรทุกสูง 4.5 เมตร ผ่านไม่ได้ การขนพืชผลการเกษตรลำบาก ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสามเท่า แม้แต่รถดับเพลิงของ อบต. จะเข้าก็ผ่านไม่ได้ ในหนังสือที่เขาทำรายงานการประชุมบอกว่าถนนแถวนี้เป็นทางเกวียน ผมจะบอกว่า รุ่นผมยังไม่เจอเกวียนเลย ผมว่าทางนี้ทำเพื่อสะดวกแก่ผู้ก่อสร้างในการระบายน้ำ” นายบุญชูกล่าว

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการสัญจรในพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านร้องขอให้โครงการมอเตอร์เวย์ก่อสร้างถนนคู่ขนานไปกับแนวมอเตอร์เวย์เพื่อให้ชาวบ้านใช้เดินทางได้อย่างสะดวก

นายสมาน ทองดี เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ อายุ 71 ปี ระบุว่า หลังเกษียณในปี 2538 ได้ย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่ อ.ปากช่อง และยึดอาชีพเกษตรกร หลังการมาถึงของโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ที่ดินของเขา 6 ไร่ที่ถูกเวนคืน และเหลือที่อยู่ 9 ไร่ แต่ถูกตัดขาดจากภายนอก เนื่องจากโครงการสร้างทับทางสาธารณะที่เคยมี

“เมื่อก่อนเราใช้มอเตอร์ไซค์ขับไปทำงานที่ไร่ได้ แต่พอมอเตอร์เวย์เข้ามามีการถมดินสูงขึ้นจากพื้นหลายเมตร ถนนสูงกว่าพื้นที่ทำมาหากิน ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านกลายเป็นวิวประกอบการสัญจรของคนเมือง แต่ที่ของเกษตรกรกลายเป็นที่ตาบอด ไม่มีใครสามารถเข้าไปทำมาหากินในทางที่ถนนตัดผ่านได้” นายสมานกล่าว

นายสมานเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย “อยากได้ถนนเส้นขนานเข้าที่ ไม่อย่างนั้นมันเป็นที่ตาบอด ไม่มีทางออก-ทางเข้า ลำบาก ธรรมดาจะมีทางเข้า พอถนนตัดผ่านแล้ว ไม่มีทางเข้า เคยเรียกร้องนักข่าว แต่ก็ยังเงียบๆ ทางหลวงเขาบอกว่าจะทำให้ ก็ไม่รู้เขาจะทำให้หรือไม่”

ด้าน น.ส.นพมาศ สุวรรณศรี กล่าวว่า “อยากให้มีการทบทวนโครงการ เพราะว่าความเสียหายมันสูงกว่ามูลค่าการก่อสร้าง คนในท้องที่ใช้การไม่ได้แน่ ไม่มีโลคัลโรด (ทางคู่ขนานสำหรับชุมชน) จะให้เข้าออกยังไง มีแต่ทางให้ข้าม แต่ว่าระหว่างทางไป-มายังไง เคยเสนอไปแล้ว แต่เงียบ เวลาเจอเจ้าหน้าที่ก็บอกศึกษาดีแล้ว”

 

กรมทางหลวงยืนยันดำเนินการตามระเบียบและข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง

นายปริญญ์ มฤทุสาธร ผู้ช่วยหัวหน้าช่างสำนักทางหลวงที่ 10 กรมทางหลวง ได้ตอบข้อกังวลและข้อเรียกร้องต่างๆ ของชาวบ้าน ในหลายประเด็นต่อ TCIJ School 5 ว่า “กรณีที่ชาวบ้านกังวลเรื่องน้ำท่วม ความเป็นจริงเราทำพื้นที่กั้นน้ำในมอเตอร์เวย์ เพราะน้ำจะถูกขังไว้ในมอเตอร์เวย์ แล้วจะซึมลงดินจะไม่ไหลออกไปท่วมพื้นที่รอบนอกมอเตอร์เวย์ ถ้าตรงไหนไม่เป็นแอ่ง ประสบการณ์ที่ผ่านมาเวลาฝนตกน้ำก็ไม่เคยท่วมบริเวณนี้ ถ้าตรงไหนพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นลุ่มน้ำก็จะมีน้ำขัง ท้ายที่สุดก็ซึมลงสู่ดิน ส่วนพื้นที่ที่ไม่เป็นแอ่ง น้ำก็จะไหลออกมาตามปกติ ไม่มีท่วมขัง”

ขณะที่ประเด็นราคาค่าเวนคืนที่น้อยกว่าราคาตลาดนั้น นายปริญญ์ ยืนยันว่ากรมทางหลวงได้ดำเนินการตามระเบียบและข้อกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว “ต่อกรณีการเวนคืนที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ต่อชาวบ้านในพื้นที่ หน่วยงานจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักทางหลวงที่ 10 เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้มีการประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่หลายครั้ง ทุกอย่างทำตามระเบียบอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน มีการเรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาช่วยกันระดมความคิดเห็นต่อการประเมินราคาการเวนคืนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ให้กับชาวบ้าน ซึ่งราคาประเมินก็มาจากผลการประชุมที่มีทั้งแกนนำชาวบ้าน และตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบเองก็มีส่วนร่วมในการประเมินราคา”

ในกรณีที่มีบ้านของประชาชนในพื้นที่ร้าวจากความสั่นสะเทือนในกระบวนการก่อสร้างมอเตอร์เวย์นั้น นายปริญญ์กล่าวว่า “กรณีมีบ้านหลังหนึ่งร้าว และไม่มีทางเข้าออก อันเป็นผลกบระทบจากการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บ้านหลังนี้ร้าวก่อนที่จะมีการก่อสร้างถนนด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีการร้องเรียนทางกรมทางหลวงก็จะรับผิดชอบ โดยการปรับแบบการก่อสร้างเพื่อคืนพื้นที่ให้เขามีทางออกสู่ถนนได้ ส่วนเรื่องบ้านเมื่อสิ้นสุดกระบวนการก่อสร้างแล้วถึงจะมีการซ่อมแซมให้”

ด้านข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่อยากให้มีการย้ายแนวการก่อสร้าง นายปริญญ์ ระบุว่าไม่สามารถกระทำได้แน่นอนเนื่องจากโครงการมีความก้าวหน้ามากแล้ว “เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกระบวนการทั้งหมด ถูกวางแผนไว้หมดแล้ว และได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 40% กระบวนการแก้ไขปัญหาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ได้ถูกตัดสินเป็นที่สิ้นสุดหมดแล้ว ส่วนใครไม่พอใจค่าเวนคืนก็ไปฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ หรือศาลปกครอง ซึ่งก็ได้ถูกตัดสินมาหมดแล้วเช่นกัน ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็มารับค่าเวนคืน และเยียวยาต่างๆ ไปหมดแล้ว ตั้งแต่ปี 2559 จะเหลือบางส่วนที่ยังไม่พอใจในราคาเวนคืน ซึ่งยังต่อสู้ และยังไม่มารับเงินเยียวยาซึ่งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้ฝากธนาคารออมสินไว้ให้ทั้งหมดแล้ว เพราะงบประมาณถูกเบิกออกมาหมดแล้ว”

“ทุกอย่าง ผ่านกระบวนการไปหมดแล้ว มันแก้จนถึงที่สุดแล้ว ในส่วนที่มีหลายท่านมาคัดค้าน ก็เพราะว่าไม่อยากให้เขามาสร้างในพื้นที่ของตัวเอง หรือไม่ก็ไม่พอใจค่าเวนคืนซึ่งมันน้อยเกินไป แต่ในความเป็นจริงหากจะทำให้ทุกอย่างถูกใจกับทุกคนก็คงเป็นไปได้ยาก” นายปริญญ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่ดินของประชาชนในพื้นที่หลายแห่งถูกแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่งโดยโครงการมอเตอร์เวย์ หากโครงการแล้วเสร็จจะมีการล้อมรั้ว ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางไปอีกฝั่งของที่ดินตัวเองได้โดยง่าย

หลังจากทราบว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการมอเตอร์เวย์ ชาวปากช่องได้รวบรวมข้อมูล และรายชื่อผู้ที่ได้รับกระทบ ร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้รัฐบาลทนทวนการดำเนินโครงการมอเตอร์เวย์ฯ เมื่อเดือน ต.ค. 2557 [8] และ ก.พ. 2559 [9] แต่ก็ไม่เป็นผล  

“ไม่รู้จะพึ่งที่ไหนแล้ว ข่าวก็ออก ไปขอพบผู้ใหญ่ก็ไม่พบ ตอนไปพบนายกฯ ก็โดนเอาไปปรับทัศนคติ แล้วท่านจะรู้เหรอว่าเรามีทัศนคติแบบไหน? ใช่ไหม? เราไม่ได้ไปทำอะไรผิด ไปหาท่านนายกรัฐมนตรี คือแค่ไปยื่นหนังสือ อยากจะให้ผู้ใหญ่หันมามองเรา เราส่งเรื่องร้องไปทุกหน่วยงานแล้ว แต่เรื่องมันไม่น่าจะถึงท่าน ก็โดนกัก โดยทหารให้ปรับทัศนคติ ที่ราบ 2” น.ส.ศุภากานต์ กล่าว

ด้านนายนริศย์ วงติถา พนักงานบริษัท อายุ 59 ปี กล่าวว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนไม่เป็นธรรม แต่ด้วยระบบการเมืองและกฎหมายที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยในปัจจุบัน ทำให้เสียงเรียกร้องจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถส่งไปถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากระบบการเมืองปกติ

ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเคลื่อนไหว มีการถูกเชิญไปปรับทัศนคติ ทำให้รู้สึกหวาดกลัว และทำได้เพียงแค่การต่อสู้ทางเอกสารผ่านช่องทางต่างๆ ในระบบราชการ และการฟ้องร้องในศาลเท่านั้น

 

อบต.แบ่งรับแบ่งสู้ “เราเป็นคนกลาง เราก็อยากเข้าข้างประชาชน แต่บางเรื่องมันพูดไม่ได้”

ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวปากช่อง นายสุทิน บางประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หนึ่งในพื้นที่ซึ่งโครงการมอเตอร์เวย์ฯพาดผ่าน ตอบคำถามกับ TCIJ School 5 โดยระบุว่า ราคาเวนคืนเป็นเรื่องที่ อบต. ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้

“เรื่องราคาเวนคืนมอเตอร์เวย์ฯ ถ้าเขาจัดการตามราคาประเมิน ที่ดินตรงนี้ราคาสูงมาก ถ้าไร่ต่อไร่ 20 ล้านเนี่ยยังซื้อไม่ได้เลย เวนคืนมี 2 โซน โซนละ 4,000 บาทกับ 500 บาท โครงการนี้มีการประสานงานกับ อบต. ตั้งแต่ต้น แต่เราไม่ได้อยู่ในฐานะจะไปบังคับเขาได้ ถ้าพูดว่ารัฐเอาเปรียบผมก็มองว่ามันมีส่วน เวลาเวนคืนสิ่งปลูกสร้าง โอ้โหราคา 10 บาทให้เขาเป็น 100 บาท ราคามันมหาศาล ซึ่งทุกคนก็ดีใจว่าราคาที่ดินก็จะได้มหาศาล แต่พอราคาเวนคืนออกมาปั๊บ ตายละ ทุกคนยอมไปแล้ว ส่วนหนึ่งรับเงินไป พอราคาที่ดินมาทุกคนหงายท้อง คิดว่าจะได้คนละ 5-10 ล้านบาท แต่ไม่ใช่”

ต่อปัญหาเรื่องน้ำท่วม นายสุทินยืนยันว่า ปัญหายังไม่เกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าหากโครงการแล้วเสร็จจะไม่พบปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ระบุว่า หากเกิดปัญหา อบต. จะรับเรื่องเพื่อไปส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขแน่นอน

“มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้หรอก น้ำมันมีทางไปของมัน ถนนมากั้น แต่มันไปได้ เราพูดอะไรมากก็ไม่ได้มันยังไม่เกิด แต่ถ้าน้ำท่วมจริง เราเป็นคนกลาง เขาต้องแก้ เขาไม่แก้ไม่ได้หรอก เรื่องทางลอด ดูจากแบบก่อสร้าง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอันไหนคือท่อลอดหรือสะพานข้าม พอทำท่อลอดมาแล้วมันอาจจะไม่ถูกใจกับคน มันจึงเป็นเรื่องของกรมทางหลวงเขาเขียนแบบมา เราค้านไปแล้วว่าลอดได้เฉพาะรถเล็กบางส่วน อย่างน้อยรถดับเพลิง รถขยะต้องลอดได้ เราเป็นคนกลาง บางครั้งเราก็เข้าข้างประชาชน แต่บางเรื่องมันพูดไม่ได้ อย่างน้ำท่วมเราจะไปตีความกันยังไงอ่ะ มันยังไม่เกิด”

ต่อปัญหาที่ชาวบ้านไม่มีทางสัญจรในท้องถิ่น และเรียกร้องให้โครงการสร้างทางคู่ขนานไปกับมอเตอร์เวย์ นายสุทิน ชี้แจงว่าโครงการตัดสินใจไม่ก่อสร้างทางขนาน เนื่องจากเชื่อว่าโครงการได้ประเมินแล้วว่าในชุมชนมีอัตราการสัญจรที่ต่ำ

 

“ตอนแรกที่เข้ามาเคลื่อนไหว ไม่รู้อะไรเลย แต่จากการร่วมต่อสู้มาต่อเนื่องหลายปี ทำให้ได้รู้ว่าหน่วยงานรัฐทำอะไรก็เพียงให้มันจบๆ หน้าที่ไป แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบและความเดือดร้อนที่จะตามมาภายหลัง โดยเห็นได้จากการสร้างทางหลวงพิเศษยกสูงแบบทึบ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ สุดท้ายทางหลวงพิเศษที่สร้างใหม่จะกลายเป็นกำแพงกั้นขวางทางน้ำ” นายนริศย์กล่าว

นอกจากนี้นายนริศย์ ยังระบุว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่รู้ปัญหาและเข้าใจถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่สามารถช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านที่ผู้เดือดร้อนได้ เนื่องจากถูกผู้ใหญ่ในหน่วยงานห้ามปรามไว้ เพราะไม่ต้องการที่จะไปทำให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายระดับสูงขุ่นเคืองใจ

แม้การต่อสู้ของชาวปากช่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับโครงการมอเตอร์เวย์จะไม่เป็นผลเท่าที่ควร แต่ชาวปากช่องยังคงยืนยันว่าจะต่อสู้ เพื่อเรียกร้องให้พวกเขาได้รับในสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความยุติธรรม และยืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ เพียงแค่ต้องการให้เกิดการทบทวนและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เหมาะสม ล่าสุดผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่บางส่วนได้รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มพิทักษ์ปากช่อง” นำเสนอข้อมูลที่ได้ศึกษาและรวบรวมผลกระทบต่างๆ จากโครงการมอเตอร์เวย์มาเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลอีกทางหนึ่ง

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] เลื่อนยาวเวนคืน 2 พันแปลง 'บางปะอิน-โคราช' ชาวบ้านโวยทำที่เขาใหญ่ตาบอด (หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 22-25 ธ.ค. 2556)
[2] ทล.ชงโยกค่าก่อสร้างมอเตอร์เวย์2สาย เกลี่ยจ่ายเวนคืนสายบางใหญ่ 1.3 หมื่น ล. (MGR Online, 6/3/2560)
[3] มอเตอร์เวย์บางใหญ่-เมืองกาญจน์ ติดหล่มที่ดินแพง! โปะ 5 พันล้านเวนคืน (ประชาชาติธุรกิจ, 10/7/2560)
[4] มอเตอร์เวย์ "โคราช" ฉลุย ครม.อนุมัติครบแล้ว 40 ตอน-เพิ่มเงินสร้างอาคารเรียนการบินอีก 243 ล้าน (ประชาชาติธุรกิจ, 25/7/2560)
[5] ทล.เร่งมอเตอร์เวย์บางใหญ่ติดหล่มเวนคืน ล่าช้า 9 ด. -ปรับเงื่อนไข O&M ขายซอง ก.ค. (MGR Online, 18/6/2561)
[6] ดึงบิ๊กค้าปลีก-ปั๊มน้ำมันลงทุนจุดพักรถมอเตอร์เวย์ (ประชาชาติธุรกิจ, 22/1/2561)
[7] ชาวบ้านนับร้อยเข้าร้องทุกข์ รัฐเวนคืนที่ดินสร้างมอเตอร์เวย์ ให้ราคาที่ดินต่ำ-ไม่เป็นธรรม (มติชนออนไลน์, 20/6/2559)
[8] ร้องนายกฯ ค้านโครงการสร้างถนนสาย 'บางปะอิน-โคราช' (ไทยรัฐออนไลน์, 24/10/2557)
[9] ชาวปากช่องร้อง "บิ๊กตู่" ทบทวนสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช (โพสต์ทูเดย์, 2/2/2559)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: (ความเห็น) การไม่ปฏิบัติตาม รธน. ว่าด้วยการเวนคืน-ความได้สัดส่วน ‘มอเตอร์เวย์ปากช่อง’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: