ภาคประชาสังคมไทยคัดค้านการเข้าร่วมข้อตกลง CP-TPP ชี้มีแต่บรรษัทขนาดใหญ่หรือภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำการวิจัย ซึ่งชัดเจนว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CP-TPP แน่นอนว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดกลไกตลาดทางการเกษตร และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง ชาวนา เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มาภาพประกอบ: CustomsNews
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ที่ จ.เชียงใหม่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดงานเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีให้ความสนใจต่อการเข้าร่วม CP-TPP ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 170 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย รวมถึงภาคธุรกิจ และกลุ่มสิทธิผู้หญิง ทั้งจากเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดในภาคเหนือ
โดยประเด็นที่กลุ่มเกษตรกรและองค์กรภาคประชาสังคมที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดในเวทีได้แก่ การเข้าถึงและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช ราคาผลิตผลการเกษตร รวมไปถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อเปิดการค้าเสรี
นายสกนธ์ วรัญญวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเวทีครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในภาคเหนือ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยอยู่ในระหว่างการศึกษาโอกาสและข้อท้าทายต่อการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CP-TPP จึงได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และระบุว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากเวทีนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประกอบขั้นตอนการการตัดสินใจต่อไป
ดร.รัชดา เจียสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาเอกชนทางเศรษฐกิจ นำเสนอข้อมูลด้านโอกาสและข้อท้าทายที่ได้รับจากข้อตกลงทางการค้า CP-TPP และอ้างถึงผลการศึกษาว่า บริษัทที่ปรึกษาได้ติดตามข้อตกลงเจรจาการค้า TPP มากกว่าสิบปี และมั่นใจว่าประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการยกมาตรฐานสูงขึ้นภายในประเทศตามข้อตกลงการค้านี้ และจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ดร.รัชดายังระบุด้วยว่าเครือข่ายเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ได้ทำการวิจัยผลกระทบจากข้อตกลง CP-TPP ในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ยังไม่ปรากฎชัดว่ามีงานวิจัยจากภาครัฐที่วิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศต่อประเด็นการเข้าร่วม CP-TPP ทั้งนี้ ผู้นำเสนอในเวทีดังกล่าวประกอบด้วยภาครัฐและภาคเอกชน โดยไม่มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างไปจากภาครัฐ
"เป็นที่น่าสังเกตว่า ‘การประเมินผลกระทบข้อตกลง CP-TPP’ นั้นมีแต่บรรษัทขนาดใหญ่หรือภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำการวิจัย ซึ่งชัดเจนว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CP-TPP แน่นอนว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดกลไกตลาดทางการเกษตร และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง ชาวนา เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ" คุณมัจฉา พรอินทร์, ประธานสมาคมไทย APWLD กล่าว
"เมื่อมองจากสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้หญิง แรงงาน และสิทธิการเข้าถึงภาคบริการสาธารณะ เราขอยืนยันว่า เราภาคประชาสังคม ขอยืนยันไม่รับ UPOV 1991 และ CP-TPP." คุณมัจฉา กล่าว
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะนำประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CP-TPP หลังจากได้รับการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่าจะนำไปสู่การเติบโตภาคธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยต่อมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มจัดเวทีประชาพิจารณ์ในห้าจังหวัด ซึ่งได้จัดเวทีรับฟังไปแล้วล่าสุดสองแห่ง คือ จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่ และจะจัดขึ้นอีกในสามจังหวัดคือ สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น ในวันที่ 13, 16, และ 26 กันยายน ตามลำดับ
กลุ่มเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ที่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ CP-TPP ต่างแสดงท่าทีเป็นห่วงและกังวลเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และสิทธิของเกษตรในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และการใช้ในชุมชน ทั้งนี้คุณธิดากุล แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าเกษตรกรไทยยังคงสิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ตราบที่เมล็ดพันธุ์นั้นยังไม่ได้ถูกจดสิทธิบัตรจากบริษัท
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน แสดงความคิดเห็นต่อการจัดเวทีครั้งนี้ว่า "รู้สึกเวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ดูเหมือนเป็นเวทีเพื่อการโฆษณาว่า CP-TPP ดีอย่างไรมากกว่า และคิดว่าท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงทางการค้านี้จะทำลายกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามากดขี่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานอีกที"
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) ได้แถลงการณ์ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรนักกิจกรรมสิทธิสตรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกว่า 50 องค์กร จาก 10 ประเทศใน 11 ประเทศคู่ค้า CP-TPP เพื่อคัดค้านข้อตกลง CP-TPP เนื่องจากมองว่าข้อตกลงขนาดใหญ่นี้มุ่งเน้นการให้อำนาจและสิทธิพิเศษแก่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น โดย CP-TPP จะให้รัฐต้องปฏิบัติกับบริษัทข้ามชาติเช่นเดียวกับนักลงทุนในชาติ (national treatment) และผลักให้เกษตรกรรายย่อยต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มงวดในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยห้ามการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน ส่งผลกระทบต่อชาวนาผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ
นางสาวสุลักษณ์ หลำอุบล จาก APWLD กล่าวว่า CP-TPP โดยแท้จริงแล้ว เป็นเพียงการเพิ่มอำนาจของบริษัทข้ามชาติในการวางกรอบระเบียบทางการค้ารวมถึงการกำหนดกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ
“ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงยา ท่าทีจากผู้แทนรัฐบาลยังกล่าวแต่ว่า ประชาชนยังคงเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ตราบเท่าที่ทรัพยากรนั้นยังไม่ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งนับว่าเป็นคำตอบที่เป็นการตบหน้าประชาชน เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า CP-TPP เป็นการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บนชีวิตประชาชนเท่านั้น” สุลักษณ์ กล่าว
APWLD จะยังคงติดตามเวทีประชาพิจารณ์นี้ต่อไปพร้อมกับสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม และเพื่อคัดค้านการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CP-TPP ของรัฐบาลไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ