ปัจจุบันตลาดรถเช่า (ไม่รวมรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถบัส และรถจักรยานยนต์) ในไทยมีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในแวดวงธุรกิจ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ในฐานะรถเช่าเพื่อการดำเนินงาน หรือรถเช่าระยะยาวเกิน 1 ปี และธุรกิจรถเช่าระยะสั้น ในธุรกิจการท่องเที่ยว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินตลาดรถเช่าโดยรวมปี 2561 น่าจะมีโอกาสขยายตัวถึง 45,000 ถึง 45,900 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: Entrass Magazine
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าปัจจุบันตลาดรถเช่า (ไม่รวมรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถบัส และรถจักรยานยนต์) มีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในแวดวงธุรกิจ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ในฐานะรถเช่าเพื่อการดำเนินงาน (Operating Lease) หรือรถเช่าระยะยาวเกิน 1 ปี ซึ่งรถเช่าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรถเช่าเพื่อการใช้งานของพนักงานในองค์กรต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นรถเช่าเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการบริการลูกค้า เช่น เพื่อการขนส่งคน หรือสิ่งของ เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจรถเช่าระยะสั้น (Rental) มักอยู่ในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งจะให้บริการรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน โดยสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว คือ ตัวเลขมูลค่าตลาดรถเช่ารวมที่ขยายตัวสูง ทั้งนี้จากปี 2549 ที่สมาคมรถเช่าไทยได้ให้ข้อมูลมูลค่าตลาดรถเช่าไว้ที่ 10,500 ล้านบาท ผ่านมา 10 ปี พบว่าตลาดรถเช่าโดยรวมแสดงทิศทางการเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องชัดเจน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 14 ต่อปี
โดยปี 2560 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดรถเช่าน่าจะขยายตัวได้ต่อด้วยมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 42,500 ล้านบาท หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 9 โดยหากแบ่งสัดส่วนตลาดจะพบว่ากว่าร้อยละ 69 เป็นตลาดรถเช่าระยะยาว ซึ่งคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรถเช่าระยะยาวจะมีสูงถึงกว่า 29,300 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7 ในปี 2560 นี้ โดยการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศ ไม่ว่าจะมาจากการค้าในประเทศ การส่งออก หรือการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce เป็นแรงส่งสำคัญให้กับตลาดรถเช่าระยะยาว ขณะที่ตลาดรถเช่าระยะสั้นซึ่งมีสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 31 คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 13,200 ล้านบาท หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 13 โดยได้รับอานิสงส์หลักจากการเดินทางมาเพื่อเข้าถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี การเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิง และการเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศ
สำหรับปี 2561 พบว่าปัจจัยสนับสนุนธุรกิจรถเช่าน่าจะมาจากหลายส่วนด้วยกัน โดยตลาดรถเช่าระยะยาวนอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศต่อเนื่องมาจากปี 2560 ก็ยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ผลักดันธุรกิจทัวร์ โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ การขยายตัวของการก่อสร้างทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคเอกชน ขณะที่ตลาดรถเช่าระยะสั้นได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวจากทั้งนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสำคัญ รวมถึงสายการบินโลว์คอสต์ที่มีการแข่งขันกันสูง และขยายฐานตลาดลูกค้าออกไปยังจังหวัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง การเดินทางด้วยรถเช่าจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าธุรกิจสำคัญที่จะช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจรถเช่าโดยหลักๆ โดยเฉพาะในปี 2561 มี 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจท่องเที่ยว มีรายละเอียดดังนี้
- ธุรกิจโลจิสติกส์ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความนิยมในการใช้ช่องทางซื้อขายออนไลน์ เช่น e-marketplace (เว็บไซต์สื่อกลางการติดต่อซื้อขาย) การใช้สื่อโซเชียล ได้แก่ Facebook, Instagram และ Line เพื่อการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ปี 2561 ไปนี้ ก็น่าจะมีความเข้มข้นด้านการลงทุนที่มากขึ้นจากทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลกจากต่างชาติ และนักลงทุนในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีโดยช่วยสนับสนุนธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ขยายตัวต่อเนื่องตามไปด้วย โดยธุรกิจขนส่งสินค้าที่มีความต้องการใช้รถเพื่อการขนส่งจำนวนมากในปัจจุบัน หันมาใช้บริการรถเช่าระยะยาวสำหรับรถกระบะและรถบรรทุกขนาดเล็กมากขึ้นเพื่อช่วยในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการจัดหา ดูแล ซ่อมบำรุงรถยนต์ ทำให้การบริหารจัดการต้นทุน และคาดการณ์เรื่องค่าใช้จ่ายแม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเช่ารถระยะยาวของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นอีกธุรกิจที่มีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของตลาดรถเช่าทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หันมาใช้บริการรถเช่ากันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศถูกลง ขณะที่เส้นทางการบิน และเที่ยวบินมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดหรือเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาเดินทางด้วยตนเองเป็นกลุ่มขนาดเล็กด้วยเครื่องบินมากขึ้น ทำให้เกิดเทรนด์การขับขี่รถเอง การใช้รถบริการของโรงแรมเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ถึงกว่า 5,500 แห่งทั่วประเทศ หรือใช้บริการรถรับส่งที่จัดโดยสถานที่ท่องเที่ยวเองนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการรถเช่ารูปแบบต่าง ๆ มีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการมูลค่าตลาดรถเช่ารวมของไทยปี 2561 ไว้ที่ 45,000 ถึง 45,900 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6 ถึง 8 จากปี 2560 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจรถเช่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นผู้ประกอบการอาจต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารในวงการ รวมถึงพยายามสร้างให้ธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจำนวนรถเช่าที่อยู่ในกิจการ โดยในกลุ่มธุรกิจรถเช่าระยะสั้น ซึ่งในปี 2561 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีทิศทางขยายตัวลดลง ก็อาจเจอกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกว่าธุรกิจรถเช่าระยะยาว รวมถึงมีโอกาสที่จะเจอการแข่งขันทางด้านราคาได้มากขึ้นกว่าปี 2560 ซึ่งผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่มีขนาดเล็กและมีสายป่านการเงินไม่ยาวนัก อาจต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดรถเช่าโดยรวมยังคงเป็นตลาดที่ต้องให้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีการแข่งขันในตลาดที่เข้มข้นจากผู้เล่นรายใหม่ที่ยังคงเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ