ตลาดยาในไทยเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-6% ต่อปี โดยมีสัดส่วนขายผ่านโรงพยาบาลถึง 80% แม้ค่าใช้จ่ายด้านยาจะสูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม แต่คนไทยกลับเจอสถานการณ์การเข้าไม่ถึงยาจำเป็น โดยเฉพาะผู้ป่วยในโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ปี 2560 ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค มีรายได้รวม 67,919.53 ล้านบาท ส่วนผู้ขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติรายได้รวมสูงถึง 402,881.32 ล้านบาท ประเทศไทยขาดดุลในเรื่องนี้โดยตลอดเพราะส่งออกได้แต่ยาราคาถูก แต่นำเข้ายาราคาแพง ที่มาภาพประกอบ: StockSnap (CC0)
ตลาดยาไทยมูลค่า 1.77 แสนล้าน เติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-6% ต่อปี
เมื่อเดือน เม.ย. 2561 เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยประเมินว่าปัจจุบันเฉพาะอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันในไทยมีมูลค่าประมาณ 1.77 แสนล้านบาท [1] และจากการประเมินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าในปี 2561-2563 มูลค่าการจำหน่ายยาในตลาดประเทศไทยจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-6% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่
ความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนไทย โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยจากโรคเฉพาะทาง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมถึงจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะมีถึง 10.3 ล้านคนในปี 2562 และรัฐต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุในปี 2559 อยู่ที่ 2.81 แสนล้านบาท จะเพิ่มเป็น 4.64 แสนล้านบาทในปี 2564 เหตุเหล่านี้ทำให้ความต้องการใช้ยาเฉพาะทางและบริการทางการแพทย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การเข้าถึงช่องทางการรักษาที่ดีขึ้นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 0tส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล (ค่ายาและค่ารักษา) ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าน่าจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 5.4% ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราเฉลี่ย 3.3% ต่อปี ส่วนภาครัฐจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่ 6.0% ต่อปี
การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โรงพยาบาลของไทยมีความก้าวหน้าและมีความพร้อมด้านศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะการรักษาโรคเรื้อรัง รวมทั้งศูนย์ดูแลและบริบาลผู้ป่วยสูงอายุ ประกอบกับยังมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง (อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย) ทำให้มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการในไทยมากขึ้น คาดว่าในช่วงปี 2561-2563 จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8% ต่อปี
นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ผลิตยาที่ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงงานให้ได้ มาตรฐาน GMP ตามแนวทาง PIC/S โดยผู้ผลิตที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560-2561จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ส่วนผู้ผลิตที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะจูงใจให้ผู้ผลิตยารายใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น [2]
คนไทยเจอสถานการณ์ ‘เข้าไม่ถึงยาจำเป็น’
จากงานวิจัย 'การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย' โดย อ.ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เสนอต่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่เมื่อ ม.ค. 2561 ระบุว่า 'การเข้าไม่ถึงยาจำเป็น' ของผู้ป่วยยังเป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
งานวิจัยพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในขณะที่ประเทศไม่มีนโยบายด้านราคายาที่ชัดเจน ขาดระบบควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลการกำหนดราคายาให้เหมาะสมและเป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยาโดยเฉพาะยาที่มีราคาแพงและยาที่ผูกขาดตลาดโดยเจ้าของรายเดียวหรือน้อยราย
ยาเป็นสินค้าที่มีลักษณะการผูกขาดในตัวเองอันเนื่องมาจากระบบสิทธิบัตร และผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกใช้ได้ด้วยตนเอง คุณภาพสินค้าก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของยาเอง นอกจากนี้ลักษณะของธุรกิจยายังเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ข้ามชาติที่มีการผูกขาดในตลาดโลก ในประเทศไทยนั้นค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นแสนล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาการเข้าไม่ถึงยาจำเป็นนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นในระบบสุขภาพไทย โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงยาในความเจ็บป่วยที่มีความรุนแรง เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น [3]
จำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลสัดส่วนสูงถึง 80% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมด
ข้อมูลจากธนาคารกรุงศรีอยุธยายังระบุว่า ช่องทางการจำหน่ายยาในประเทศนั้น แบ่งเป็น 2 ช่องทางหลัก คือ การจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล และ การจำหน่ายยาผ่านร้านขายยา นอกจากนี้ไทยมีการส่งออกยาประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตยาทั้งหมด เมื่อพิจารณา การจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล พบว่าเนื่องจากระบบสวัสดิการสาธารณสุขของไทยที่ครอบคลุมข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่นั้นให้บริการผ่านโรงพยาบาล ทำให้มูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมด แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 75% ของมูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล หรือเท่ากับ 60% ของมูลค่าตลาดยารวม ส่วนโรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วน 25% ของมูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล หรือ 20% ของมูลค่าตลาดยารวม
ส่วน การจำหน่ายยาผ่านร้านขายยา นั้นพบว่าปัจจุบันร้านขายยามีสัดส่วนที่ประมาณ 20% ของมูลค่าตลาดยารวม ทั้งนี้จำนวนร้านขายยาประเภทต่างๆ ทั่วประเทศมี 22,459 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ 30% และต่างจังหวัด 70% (ข้อมูลหน่วยงานบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, มี.ค. 2560) แบ่งเป็น 1) ร้านขายยาเดี่ยว (Stand-alone) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเป็นรายกลางและเล็ก (SME) มีสัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งหมด และ 2) ร้านขายยาของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสาขา (Chain store) โดยมีการลงทุนทั้งในรูปแบบของการลงทุนเองและการขยายธุรกิจในรูปของแฟรนไชส์ (Franchise) ทั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) อาทิ ดิสเคาน์สโตร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าสะดวกซื้อ และกลุ่มร้านค้าเฉพาะในหมวดสินค้าสุขภาพ ที่แตกไลน์ธุรกิจโดยการเพิ่มโซนจำหน่ายสินค้าในกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง [4]
‘ปตท.’ ลุยธุรกิจยา จับมือ ‘องค์การเภสัชกรรม’ สร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง
เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์การเภสัชกรรม(อภ.) และ บริษัท ปตท. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตยา เสริมสร้างความมั่นคง และยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทัดเทียมสากลเพื่อสร้างประโยชน์โดยรวมแก่คนไทยและประเทศไทย โดย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปีหรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย ขณะที่ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 8 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงระบบสาธารณสุขของประเทศยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ได้ เนื่องจากยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทมีราคาสูงมากและต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด 100% ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมในฐานะเสาหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ มีความพร้อมทั้งทางด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต รวมถึงมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยามายาวนาน และมีเครือข่ายจากต่างประเทศที่จะร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จึงได้เริ่มเดินหน้าศึกษาวิจัยพัฒนายาในกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งอย่างจริงจัง และมีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีดซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน การที่องค์การเภสัชกรรมสามารถสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายกลุ่มยารักษาโรคมะเร็งได้ด้วยตนเองนั้น จะสามารถลดราคายาลงได้มากกว่า 50% ซึ่งเป็นการลดภาระด้านยาในระบบสาธารณสุขของประเทศและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในอนาคต ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมชั้นปลาย บริษัท ปตท. กล่าวว่า ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจยาที่ยาวนานขององค์การเภสัชกรรม ผนวกกับความชำนาญทางวิศวกรรมการผลิตและเดินเครื่องโรงงานผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงของ ปตท. จะช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตยาโดยรวมของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ [5] |
บริษัทผลิตยาไทยรายได้น้อยเพราะผลิตยาราคาถูก บริษัทขายส่งข้ามชาติรายได้ดีกว่า
จากการสืบค้นใน เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ก.ย. 2561) ในหมวดธุรกิจ 'การผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค' และ 'การขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์' พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ใน หมวดธุรกิจการผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ที่ส่งงบการเงินในปี 2560 นั้น มีจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 507 ราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 407 ราย ขนาดกลาง 52 ราย และขนาดใหญ่ 48 ราย รายได้รวมของทั้งหมวดธุรกิจอยู่ที่ 67,919.53 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมของทั้งหมวดธุรกิจอยู่ที่ 6,730.42 ล้านบาท
ด้านข้อมูลการลงทุนตามสัญชาติของหมวดธุรกิจการผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคปี 2560 นั้น แบ่งเป็นสัญชาติไทย 66.49% ญี่ปุ่น 11.99% อินเดีย 3.88% สวิตเซอร์แลนด์ 3.23% คิวบา 2.93% และสัญชาติอื่นๆ 11.48% โดย 10 บริษัทที่มีรายได้รวมสูงสุดในปี 2560 ได้แก่ บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด รายได้รวม 4,344,871,656 บาท, บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) 3,231,730,000 บาท, บริษัท เบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด 2,918,326,616 บาท, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) 2,721,778,845 บาท, บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด 2,636,231,001 บาท, บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด 2,543,745,768 บาท, บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด 2,520,401,746 บาท, บริษัท ไทยเมจิฟาร์มาซิวติคัล จำกัด 1,665,542,016 บาท, บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด 1,377,579,206 บาท และ เอ.เอ็น.บี.ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด 1,340,325,651 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทลำดับต้นๆ ที่มีรายได้รวมในหมวดธุรกิจนี้ส่วนใหญ่มักมีชาวต่างชาติร่วมลงทุน เช่น บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด มีสัดส่วนการลงทุนสัญชาติอเมริกัน 100% บริษัท เบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด ฮ่องกง 44.92% บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ญี่ปุ่น 49% บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ญี่ปุ่น 52% และบริษัท ไทยเมจิฟาร์มาซิวติคัล จำกัด ญี่ปุ่น 97.31% เป็นต้น
ใน หมวดการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ที่ส่งงบการเงินในปี 2560 นั้น มีจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 2,340 ราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 2,283 ราย ขนาดกลาง 22 ราย และขนาดใหญ่ 35 ราย รายได้รวมของทั้งหมวดธุรกิจอยู่ที่ 402,881.32 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมของทั้งหมวดธุรกิจอยู่ที่ 12,937.98 ล้านบาท
ด้านข้อมูลการลงทุนตามสัญชาติของหมวดธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ที่ส่งงบการเงินในปี 2560 นั้น แบ่งเป็นสัญชาติไทย 47.35% อเมริกัน 13.42% สิงคโปร์ 7.42% เนเธอร์แลนด์ 5.19% ญี่ปุ่น 5.12% และสัญชาติอื่นๆ 21.51% โดยบริษัทที่มีรายได้รวมสูงสุดในปี 2560 ได้แก่ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 112,900,954,225 บาท, บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด 54,243,893,754 บาท, บริษัท ซีโน-แปซิฟิคเทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 30,590,488,055 บาท, บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด 17,182,790,831 บาท, บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 11,454,991,497 บาท, บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 8,968,354,324 บาท, บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด 7,039,891,195 บาท, บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด 6,172,605,832 บาท, บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด 5,481,822,990 บาท และบริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด 4,883,918,610
ด้านการลงทุนตามสัญชาติของบริษัทชั้นนำในหมวดธุรกิจนี้ก็พบว่า มีต่างชาติเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด มีสัดส่วนการลงทุนสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ถึง 49% บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด มาเลเซีย 100% บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด อเมริกัน 100% บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส 100% บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อเมริกัน 100% บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด สวิตเซอร์แลนด์ 100% บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ลักเซมเบิร์ก 100% บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด อังกฤษ 100% และ บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ฝรั่งเศส 100% [6]
เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง 'หมวดธุรกิจการผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค' และ 'หมวดการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์' จะเห็นได้ว่าธุรกิจการผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคนั้นมีรายได้รวมและกำไรสุทธิต่ำกว่ามาก โดยในบทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ผู้ผลิตยาเอกชนในประเทศที่คนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่นั้นจะเน้นผลิตยาชื่อสามัญทั่วไปที่มีราคาไม่สูง นอกจากนี้ผู้ผลิตยาเอกชนในไทยยังพบกับอุปสรรคอื่นๆ อีก เช่น การกำหนดราคากลางยา โดยกระทรวงสาธารณสุขและกรมบัญชีกลางจะใช้ราคากลางเป็นเครื่องมือในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาเพื่อให้สถานพยาบาลของรัฐจัดซื้อยาในราคาที่เหมาะสม, การเข้ามาแข่งขันของยาราคาถูกจากอินเดียและจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย และผู้ผลิตยาเอกชนในประเทศยังค่อนข้างเสียเปรียบองค์การเภสัชกรรมทั้งด้านการผลิตและโอกาสการเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่าย นอกจากนี้การปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP-PIC/S โดยการเข้าเป็นสมาชิกการตรวจประเมินยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.2559) ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น ส่วนธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ที่มีรายได้สูงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทยาของต่างชาติ (Multinational companies: MNCs) ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยต่างชาติเป็นตัวแทนนำเข้ายาต้นแบบ (Original drugs) มาจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างสูง [7]
DKSH ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดยาและเวชภัณฑ์
บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกของ DKSH Holding Ltd. (ชื่อเดิม DiethelmKellerSiberHegner) บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทที่มีรายได้รวมสูงสุดของหมวดการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ในไทยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 112,900,954,225 บาท (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของรายได้รวมทั้งหมวดธุรกิจฯ) [8] ในเว็บไซต์ของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า บริษัทให้บริการในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในประเทศไทย โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทันตกรรม ยาที่จำหน่ายตามเคาน์เตอร์ (OTC) และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังกระจายผลิตภัณฑ์สู่สถาบันผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล คลินิก เภสัชกร ร้านขายยา ทันตแพทย์ จักษุแพทย์ และอีกหลายสถาบัน ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมของบริษัท ช่วยให้สามารถเข้าถึง โรงพยาบาล คลินิก เภสัชกร แพทย์ และร้ายขายยากว่า 150,000 ราย ช่วยขนส่ง จัดเก็บและกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ DKSH มีสำนักงานใหญ่และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้เชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นที่พร้อมให้บริการบริษัทด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในตลาดประเทศต่างๆ ในเอเชียกว่า 13 ประเทศ เช่น บรูไน กัมพูชา จีน ฮ่องกง เกาหลี ลาว มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม [9] |
อุตสาหกรรมยาของไทยขาดดุลการค้ามาโดยตลอด
ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น พบว่าผู้ผลิตยาในไทยยังคงเสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ผลิตไทยนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญจากต่างประเทศมาผสมและผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ โดยไทยนำเข้าวัตถุดิบยาสัดส่วนสูงประมาณ 90% ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูปทั้งหมด ประเทศไทยมีการส่งออกยาประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตยาทั้งหมด อีก 95% ที่ผลิตได้นั้นจำหน่ายในประเทศ ในช่วงปี 2555-2560 ยาเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนน้อยเพียง 0.20% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด เนื่องจากยาที่ส่งออกจะเป็นยาชื่อสามัญทั่วไปที่มีมูลค่าต่ำ การส่งออกส่วนใหญ่จะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา (สัดส่วนการส่งออกรวมกัน 58% ของมูลค่าการส่งออกยาทั้งหมด) ส่วนการนำเข้ายาส่วนใหญ่จะเป็นตัวยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศซึ่งมีราคาสูง อาทิ ยาสร้างเม็ดเลือด ยาปฏิชีวนะ ยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมยาของไทยขาดดุลการค้ามาโดยตลอด โดยตัวเลขการส่งออกยาของไทยในปี 2560 มีมูลค่า 375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้ายาในปี 2560 มีมูลค่า 1,592 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้ายาต้นแบบ (โดยเฉพาะยาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน) แหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส (สัดส่วนรวมกัน 30% ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด) ส่วนการนำเข้ายาราคาถูกจะมาจากอินเดีย (สัดส่วน 6.7%) และจีน (สัดส่วน 3.7%) [10]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] ตลาดยาโตสะพรั่ง 1.7 แสนล้าน ผู้ผลิตแห่โกอินเตอร์บุกตลาดใหม่ CLMV (ประชาชาติธุรกิจ, 3/4/2561)
[2] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : อุตสาหกรรมยา (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 11/4/2561)
[3] การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย (อุษาวดี สุตะภักดิ์ และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล, เสนอต่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), ม.ค. 2561)
[4] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : อุตสาหกรรมยา (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 11/4/2561)
[5] องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางยาให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23/1/2561)
[6] TCIJ เรียบเรียงข้อมูลจากการสืบค้นใน เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ก.ย. 2561)
[7] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : อุตสาหกรรมยา (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 11/4/2561)
[8] TCIJ เรียบเรียงข้อมูลจากการสืบค้นใน เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 ก.ย. 2561)
[9] ข้อมูลจาก dksh.com (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5/9/2561)
[10] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : อุตสาหกรรมยา (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 11/4/2561)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: โครงสร้างอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทย
คนไทยรู้ยัง: 'ร้านขายยา' กระจุกตัวอยู่ใน 'กรุงเทพ'
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ