รื้อปัญหา 'ครู' ระบบเหลื่อมล้ำ-ล้าหลัง ค่าจ้างรัฐสูง-เอกชนต่ำ เกษียณเยอะ งานหนัก ไม่อิสระฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ: 9 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 10078 ครั้ง

1 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ครูโรงเรียนรัฐเกษียณอายุราชการกว่า 20,000 คน หวั่นขาดแคลนเพราะบางโรงเรียนบรรจุข้าราชการไม่ได้ ขณะที่ครูโรงเรียนเอกชน-อาชีวะได้รับเงินเดือนต่ำ สวนทางกับครูโรงเรียนรัฐ ครูระบุอุปสรรคสำคัญคือ ภาระหนักนอกเหนืองานสอน-ครูมีไม่พอ-ขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอน ส่วนเยาวชนย้ำต้องปฏิรูปฝ่ายแนะแนว ด้านรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ของ สนช. ชี้ระบบผลิตครูไทยมีปัญหา ไม่สอดคล้องกับระบบโรงเรียน ไม่สอดคล้องกับความต้องการ

สังคมไทยมีความคาดหวังกับ 'ครู' สูงมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ เพราะถือว่าเป็นบุคลากรสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของระบบการศึกษา แต่ปัญหาและคุณภาพของครูยังคงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สังคมตั้งคำถามมาในทุกยุคสมัย

จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของนิด้าโพลล์ ในเดือน ม.ค. และ ต.ค. 2561 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังให้ครูต้องปรับตัวหรือเตรียมความพร้อม เพื่อสอนให้นักเรียนมีทักษะทางด้านสังคม ด้านคุณธรรม ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเรียนการสอน นอกเหนือจากการท่องจำจากตำรา และยังคาดหวังว่าครูต้องเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ความสามารถของตัวเองให้มากขึ้น ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความทันสมัยเป็นสื่อการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ครูตรงต่อเวลา พูดจาชัดเจน แสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา สุภาพเรียบร้อย, ตั้งใจถ่ายทอดวิชาการ, ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ไม่มีอคติลำเอียงต่อลูกศิษย์, รักและเข้าใจศิษย์เพื่อที่ศิษย์จะได้กล้าปรึกษาในสิ่งต่าง ๆ, ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนหาวิธีการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น, ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น พูดจาข่มขู่ ใช้คำพูดไม่สุภาพ เยาะหยันหรือดูถูกผู้เรียน, ช่วยเหลือศิษย์โดยสังเกตความผิดปกติหรือข้อบกพร่องของศิษย์ และพร้อมให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น ทั้งนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนน้อยเท่านั้น (ไม่ถึง 1%) ที่ไม่คาดหวังอะไรกับครู/อาจารย์ไทยในปัจจุบัน [1] [2]

ครูตอบ อุปสรรคสำคัญ ‘ภาระหนักนอกเหนือการสอน-คนไม่พอ-ขาดอิสระ

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เคยสำรวจความเห็นของครูสอนดีจำนวน 210 คน กลุ่มตัวอย่างกระจายใน 4 ภูมิภาคของประเทศเพื่อสอบถามถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการทำหน้าที่ครูและแนวทางการส่งเสริมครูให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ผลการสำรวจพบ 6 ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรค ประกอบด้วย (1) ภาระหนักนอกเหนือจากการสอนร้อยละ 22.93 (2) จำนวนครูไม่เพียงพอ สอนไม่ตรงกับวุฒิ ร้อยละ 18.57 (3) ขาดทักษะด้านไอซีที ร้อยละ 16.8 (4) ครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว ร้อยละ 16.49 (5) ครูสอนหนัก ส่งผลให้เด็กเรียนมากขึ้น ร้อยละ 14.33 และ (6) ขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอนร้อยละ 10.88 อุปสรรคเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการทำงานของครู อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงปัจจัยส่งเสริมที่ครูต้องการพบว่าร้อยละ 39 ต้องการการพัฒนากระบวนการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น [3]

ครูโรงเรียนรัฐเกษียณอายุราชการกว่า 20,000 คน

เมื่อเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่าตามที่สำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานในวันที่ 1 ต.ค. 2561 มีครูเกษียณอายุราชการจำนวน 20,000 คน ซึ่ง สพฐ.มีข้อมูลชัดเจนว่าครูเกษียณอายุราชการเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ไหน โรงเรียนใดบ้าง และ สพฐ.จะประสานความร่วมมือกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ให้เร่งดำเนินการโยกย้ายข้าราชการครูเพื่อไปทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ ตามที่ครูยื่นความประสงค์ขอย้ายให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา เมื่อทาง ศธจ.ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะทราบถึงข้อมูลตำแหน่งครูที่ว่าง จากนั้น สพฐ.จะเรียกบรรจุครูผู้ช่วยที่ประกาศขึ้นบัญชีไว้เพื่อทำการบรรจุรอบ 2 ภายในต้นเดือน พ.ย. 2561 ทั้งนี้ เพราะปีที่ผ่าน (2560-2561) เคยพบปัญหาโรงเรียนแห่งหนึ่งมีการเกษียณอายุราชการจำนวนมาก ทำให้เหลือผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงคนเดียวและต้องให้พระสงฆ์เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังระบุว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูได้ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องการขาดแคลนครูก็ยังเกิดจากประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น บางโรงเรียนแทนที่จะบรรจุข้าราชการได้เลย แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ยังไม่อนุญาตให้คืนอัตรากำลังให้กับโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 250 คน เป็นต้น [4]

อัตรากำลังข้าราชการครูตามเกณฑ์ กคศ.

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ได้กำหนดสูตรการคำนวณอัตรากำลังข้าราชการครูของโรงเรียนไว้ 8 แบบ ดังนี้









ที่มาข้อมูล: สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ - สพฐ. (เข้าถึงข้อมูล 5 ธ.ค. 2561)

ครูโรงเรียนเอกชน-อาชีวะ เงินเดือนต่ำ สวนทางครูโรงเรียนรัฐ

ครูสอนในระดับอาชีวศึกษาบางคนยังมีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท บางคนทำงานเพื่อมุ่งหวังสิทธิ์ที่จะนำไปใช้ในการสอบบรรจุเท่านั้น ที่มาภาพประกอบ: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI เมื่อปี 2555 ประเมินว่ารายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและสอนในโรงเรียนรัฐเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 15,000 บาท ในปี 2544 เป็นประมาณ 24,000-25,000 บาท ในปี 2553 นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเดือนของครูที่ผ่านมานั้นเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า จนปัจจุบันเงินเดือนครูโรงเรียนรัฐสูงกว่าเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ [5] แต่สถานการณ์นี้สวนทางกับครูโรงเรียนเอกชนและครูอาชีวศึกษาโดยสิ้นเชิง

เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2561 เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) ระบุว่าที่ประชุม กช. ได้หารือถึงประเด็นโรงเรียนเอกชนภาคใต้มีการเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูเอกชนต่ำกว่าอัตราที่กำหนด คือ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนพื้นที่ภาคใต้อย่างเดียว แต่เป็นภาพรวมของทุกพื้นที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนด้วย เนื่องจากขณะนี้เงินกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนมีไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการให้แก่ครูเอกชน เพราะมีทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร แต่ในปัจจุบันสวัสดิการของครูโรงเรียนเอกชนมีเพียงค่ารักษาพยาบาลคนละ 100,000 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น [6]

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค.2561 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันหลักสูตรอาชีวศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ เป็นสถาบันที่มีคุณภาพ เพียงแต่กระบวนการจัดการจะต้องมีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาที่เหมาะสม ส่วนวิทยาลัยการอาชีพ ครูอาจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นครูอัตราจ้างซึ่งจะหมุนเวียนเข้าออกอยู่ตลอด ดังนั้น ควรมีการจ้างในอัตราที่รัฐบาลกำหนด เพราะขณะนี้ครูอาชีวศึกษาบางคนยังมีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท บางคนที่ทำงานก็เพื่อมุ่งหวังสิทธิ์ที่จะนำไปใช้ในการสอบบรรจุเท่านั้น และนอกจากปัญหาเรื่องการพัฒนาครูแล้ว การพัฒนานักศึกษาอาชีวะให้สามารถปฏิบัติงานได้จริงก็เป็นสิ่งสำคัญ นักศึกษาควรได้รับการฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลได้งบประมาณสนับสนุนเป็นเงินค่าวัสดุอุปกรณ์เป็นรายหัว แต่มีการนำเงินส่วนนี้บางส่วนไปใช้จ่ายในการจ้างครูหรือใช้ในเรื่องอื่นๆ ทำให้เด็กไม่สามารถฝึกปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ [7]

เยาวชนขอปฏิรูป ‘ฝ่ายแนะแนว’

เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2561 กลุ่มเยาวชนเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กว่า 30 คน เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการทำงานเชิงรุกในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ

หนึ่งในประเด็นข้อเรียกร้องในครั้งนั้นคือ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำแนวคิดเรื่องวิชาชีวิต ซึ่งพัฒนาและรวบรวมโดยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพิ่มทักษะชีวิตและปรับใช้กับระบบการศึกษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนเมื่อต้องเผชิญกับความจริงในสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยกำหนดให้แต่ละสถานศึกษาต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และนำปัญหาที่เด็กเคยผิดพลาดมาพิจารณาด้วย และขอให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิรูปฝ่ายแนะแนว ซึ่งเยาวชนที่ยื่นข้อเรียกร้องมองว่าฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนจะเป็นตัวใช้ในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน รวมถึงยังสามารถให้คำแนะนำได้อย่างเป็นมิตร [8]

รายงานชี้ระบบผลิตครูไทยมีปัญหา ไม่สอดคล้องกับระบบโรงเรียน

จาก รายงานการพิจารณาศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง ระบบการผลิตและพัฒนาครู ของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ (2542-2560) ที่ได้มีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาหลายๆ ด้าน รวมทั้งความพยายามในการปฏิรูปครู อันได้แก่ 1) ระบบการผลิตครู (Teacher Training System) 2) ระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (Teacher Licensing System) 3) ระบบการพัฒนาครูประจำการ (Teachers Professional Development System) และ 4) ระบบการใช้ครู ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบรรจุ แต่งตั้งและการย้ายครู แต่กระนั้นรายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ได้ชี้ว่าในปัจจุบันยังพบปัญหาสำคัญๆ ดังนี้

รูปแบบการผลิตครูมีหลายรูปแบบ: รูปแบบการผลิตครูที่มีความหลากหลายและไม่เท่าเทียมกัน รูปแบบการผลิตครูมีทั้งหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี โดยหลักสูตรผลิตครู 4 ปีผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวสามารถสอบบรรจุเป็นครูได้ แล้วจึงไปอบรมเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในภายหลัง สำหรับหลักสูตรผลิตครู 5 ปี ผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทันที ความแตกต่างกันของทั้งสองหลักสูตร ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของผู้เข้ารับการศึกษา

การผลิตครูไม่สอดคล้องกับความต้องการ: สถาบันผลิตครูประสบภาวะวิกฤตสำคัญ ได้แก่ จำนวนบัณฑิตใหม่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง คือ มีบัณฑิตใหม่ระดับปริญญาตรีมากกว่าความต้องการในภาพรวมแต่ไม่เพียงพอในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ในขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาการขาดแคลนครูเฉพาะวิชาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาในชนบท การผลิตครูยังเน้นการเตรียมครูให้ไปทำการสอนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ไม่ได้เตรียมครูให้ยอมรับกับสภาพจริงในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนที่ขาดความพร้อม ส่งผลให้บัณฑิตครูที่เข้าไปทำการสอนในโรงเรียนไม่สามารถเผชิญและแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ทำให้เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจและไม่อยากเป็นครู ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนผลจากการผลิตครูที่แยกขาดจากสภาพจริงของระบบโรงเรียน ทำให้บัณฑิตครูขาดมุมมองเกี่ยวกับปัญหาทางการศึกษาและขาดความตระหนักในการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นความรับผิดชอบในวิชาชีพครู

ขาดระบบการผลิตครูของครู

ขาดระบบการผลิตครูของครู (Teachers of Teachers): แต่เดิมประเทศไทยมีระบบฝึกหัดครูเพื่อป้อนครูเข้าสู่ระบบโรงเรียน ได้แก่ วิทยาลัยครู และวิทยาลัยเทคนิคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีระบบฝึกหัดครูของครูเพื่อป้อนอาจารย์ ให้กับวิทยาลัยครูและวิทยาลัยเทคนิค ได้แก่ วิทยาลัยวิชาการศึกษา 8 แห่ง และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า 3 แห่งที่ผลิตครูของครูช่างให้กับวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ

โดยระบบฝึกหัดครูและครูช่างได้ออกแบบให้ผู้ที่จบวิทยาลัยครูหรือวิทยาลัยเทคนิคสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ต่อมาเมื่อมีการยกระดับวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏและเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ และวิทยาลัยเทคนิคก็เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชมงคล ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่ผลิตครูปริญญาเหมือนกับวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชมงคลก็ผลิตครูช่างปริญญาเหมือนกับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่ง ทำให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตครูของครูหรือครูของครูช่างหายไปจากระบบ และในปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ที่คนไม่ได้รับการบ่มเพาะการเป็นครูของครูหรือขาดประสบการณ์ภาคปฏิบัติในการเป็นครูในโรงเรียนหรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างเข้ามาทำหน้าที่ในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์เป็นจำนวนมาก

ระบบการพัฒนาครูไม่มีความเชื่อมโยงกับระบบการผลิตครู: การผลิตและการพัฒนาครูประจำการยังไม่มีระบบเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะไม่มีความชัดเจนเรื่องระบบการพัฒนาครูใหม่ (Beginner teachers) เพราะไม่มีการฝึกอบรมก่อนเข้าประจำการ (Induction Training) ทำให้การเข้าสู่วิชาชีพครูขาดการให้คำปรึกษาและการแนะนำจากครูที่มีประสบการณ์ (Coaching and Mentoring) นอกจากนี้ ยังไม่มีกฎหมายให้มีการฝึกอบรมเพื่อต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี และระบบการผลิตยังขาดการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากภาคปฏิบัติ

การออกใบอนุญาต การบรรจุ แต่งตั้ง และการย้าย สร้างความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู: หลังจากที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตครูครั้งใหญ่ในปี 2547 โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี มาเป็น 5 ปี และมีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยใช้ระบบการรับรองหลักสูตร ต่อมาเมื่อมีสภาวะขาดแคลนครูทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จึงได้มีรูปแบบการออกใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพให้กับผู้ที่จบหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 4 ปี และศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอีก 1 ปี และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตร 4+2 โดยได้รับวุฒิปริญญาโทและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในขณะที่หลักสูตร 5 ปี ต้องเรียนต่ออีก 2 ปีจึงจะได้รับวุฒิปริญญาโท ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาต่อ รวมทั้งหลักสูตร 5 ปี เป็นหลักสูตรปริญญาตรีที่มีการบังคับให้เรียนครบทุกรายวิชาก่อนออกปฏิบัติการสอนในชั้นปีที่ 5 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดโปรแกรมการเรียนการสอน และในหลายกรณีทำให้นักศึกษาต้องใช้เวลาในการศึกษาในหลักสูตรมากกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นการสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างมาก

นอกจากปัญหาเรื่องระบบและรูปแบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความไม่หลากหลายของประเภทของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทำให้ไม่ตอบสนองต่อการใช้ครูในระบบโรงเรียน เช่น บางคนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 4+2 ซึ่งมีความชำนาญในการสอนในระดับมัธยมศึกษาแต่ได้บรรจุในโรงเรียนระดับประถมศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมโยงของระบบการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกับระบบการพัฒนาครูประจำการหรือการศึกษาในระดับปฐมวัยหรือระดับประถมศึกษาได้คนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตเฉพาะประเภทดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องจะทำอย่างไรจึงจะสามารถออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้กับผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเฉพาะทางที่อาจไม่ได้ผ่านระบบการผลิตครู

ระบบการใช้ครูซึ่งเกี่ยวข้องกับการบรรจุ แต่งตั้งและการย้ายครู: หลักการบรรจุแต่งตั้ง และโยกย้ายครูของประเทศไทยควรได้รับการทบทวนใหม่ ปัจจุบันการบรรจุแต่งตั้งยึดหลักการกระจายอำนาจที่ทำโดยแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา หรือเปลี่ยนมาเป็นจังหวัด ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะข้อสอบแต่ละเขตพื้นที่ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ควรจะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่สอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูตามความต้องการของจังหวัด โดยจังหวัดอาจจะมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์ หลักการเรื่องการให้สิทธิกับครูหรือบุคลากรทางการศึกษาในการย้าย ควรได้รับการทบทวน เพราะครูที่ได้รับการบรรจุในโรงเรียนที่ดีแล้ว เช่น โรงเรียนในเมืองไม่มีความประสงค์ที่จะขอย้าย ทำให้คนที่บรรจุภายหลังที่ต้องการย้ายไม่มีโอกาส ส่งผลให้เกิดการวิ่งเต้นขอย้ายดังที่เป็นมาโดยตลอด ดังนั้นจึงควรกำหนดคณะกรรมการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการย้ายครูทั้งประเทศ ร่วมกับจังหวัดและมีระเบียบกำหนดจำนวนปีของการปฏิบัติงานเพื่อประกอบการโยกย้ายไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ครูมีประสบการณ์ในโรงเรียนหลายรูปแบบและเกลี่ยครูที่มีประสบการณ์ไปช่วยในโรงเรียนที่ขาดแคลนได้โดยอาจจัดเงินช่วยเพิ่มเติมหรือการตอบแทนที่เหมาะสม

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] นิด้าโพลล์: “ครูไทย ยุคไทยแลนด์ 4.0”, นิด้าโพลล์, 15/1/2561
[2] นิด้าโพลล์: “ครู/อาจารย์ และการศึกษาไทยในปัจจุบัน”, นิด้าโพลล์, 8/10/2561
[3] ปัญหาครูไทย..(เมื่อไหร่)ใครจะสะสาง?, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 4/8/2558
[4] 'สพฐ.' สั่งสำรวจ 'ร.ร.' แห่งไหนขาดแคลนครู พบเกษียณกว่า 2 หมื่น, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 13/9/2561
[5] ปัญหาครูไทย..(เมื่อไหร่)ใครจะสะสาง?, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 4/8/2558
[6] สช.ตั้งทีมเร่งแก้ปัญหาครูเอกชนเงินเดือนต่ำ, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 21/11/2561
[7] แนะปฏิรูปอาชีวศึกษา ต้องอัปเกรด "ครูอาชีวะ" ดูแลเรื่องเงินเดือน ผลิต นศ.ทำงานได้จริง, ผู้จัดการออนไลน์, 18/1/2561
[8] เครือข่ายเยาวชนยื่น 3 ข้อเสนอศธ.ปรับปรุงการดูแลเด็ก, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 20/9/2561

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ‘ครูไทย ยุคไทยแลนด์ 4.0’

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: