ญี่ปุ่นกับการจัดการภัยพิบัติ: การรับมือและป้องกันน้ำท่วมในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ฐานันดร ชมภูศรี 2 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7579 ครั้ง


‘การรับมือน้ำท่วม’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น!
 

ภาพความเสียหายจาก พายุไต้ฝุ่นนานมาดอล (Nanmadol) ที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือน ก.ค. 2017 (ที่มาภาพ: AFP)

เมื่อเกิดฝนตกหนักที่ญี่ปุ่น ระดับน้ำในพื้นที่นอกเมืองมักจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่ไม่สามารถรองรับฝนตกที่หนักหน่วงได้เพียงพอ แม้ในปี 2017 นี้ก็ตาม ปัญหาก็ยังไม่ได้หมดไป เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เกิดฝนตกหนักเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นนานมาดอล (Nanmadol) เป็นเหตุให้น้ำท่วมและดินถล่ม ทำให้มีผู้สูญหาย 10 คนจากจังหวัดฟูกุโอกะและโออิตะ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 36 ราย เจ็บสาหัส 5 คน บ้านพังยับเยิน 102 หลัง พังไปครึ่งหนึ่ง 35 หลัง

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องบริหารจัดการน้ำท่วม เท่าที่มีการบันทึกไว้ ต้องย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 4 (ค.ศ.301-400) ในรัชสมัยแห่งสมเด็จพระจักรพรรดินินโตกุ (Emperor Nintoku) อันเป็นประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการยุคแรกของญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่า Nihon Shoki เมื่อมีการสร้างแนวดินเป็นคันกั้นน้ำที่ชื่อว่ามันดะ (Manda) ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า มันดะ-โนะ-สึสึมิ (Manda-no-tsutsumi) ที่แม่น้ำโยโดะ (Yodogawa [Yodo River]) ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของเมืองเนยะงาว่า (Neyagawa) จังหวัดโอซาก้า

 

สมเด็จพระจักรพรรดินินโตกุ (Emperor Nintoku)

โครงการป้องกันน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตาม ๆ กันมาในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยแต่ละท้องถิ่น เหตุผลก็เพื่อปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมและหมู่บ้าน เป็นการสร้างคันกั้นน้ำด้วยความสูงระดับต่าง ๆ สูง-ต่ำ ในลักษณะสลับฟันปลา ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ การสร้างนี้พิจารณาจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่เคยโดนน้ำท่วมมาก่อนรวมถึงลักษณะทางภูมิประเทศว่าสูงหรือต่ำ เป็นต้น โดยสร้างตามบริเวณที่ใกล้กับหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรเป็นหลัก ทั้งยังคำนึงถึงแรงดันของน้ำด้วยการปลูกต้นไม้เป็นแนวยาวบนคันกั้นน้ำ และพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย ๆ อยู่แล้วนั้นชาวบ้านได้ดำเนินการรับมือด้วยตนเองมาก่อนแล้ว ด้วยการสร้างบ้านแบบมีใต้ถุน สร้างเนินไว้กั้นน้ำ และสร้างเรือฉุกเฉินเตรียมไว้

ในช่วงเวลาดังกล่าวและหลังจากนั้นเรื่อยมา อำนาจในการปกครองบ้านเมืองที่เคยกระจัดกระจายอยู่ตามท้องถิ่น ได้ค่อย ๆ กระจุกตัวเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจอันเหนือกว่าอำนาจใด ๆ บนเกาะญี่ปุ่น วิธีบริหารจัดการน้ำท่วมก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดของชนชั้นปกครอง ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่าสามารถบริหารบ้านเมืองได้ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างบารมีและฐานทรัพยากรด้วยการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมขึ้นในที่ราบลุ่มซึ่งโดนน้ำท่วมเป็นประจำ ด้วยเหตุที่สมัยนั้นมีความเชื่อว่า “ใครควบคุมสายน้ำทั้งหลายได้ ย่อมปกครองบ้านเมืองได้”

ประมาณกลางศตวรรษที่ 15 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่าเซนโงกุ จิดาอิ (Sengoku Jidai) ซึ่งอธิบายแบบง่าย ๆ ได้ว่าเป็นโมงยามแห่งสงครามเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ โดยเป็นความขัดแย้งทางทหารที่ค่อนข้างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กันนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขนาดกว้างใหญ่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินญี่ปุ่น

ภาพคันกั้นน้ำสัตสึมะ (Satsuma)

คันกันน้ำถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ที่ริมแม่น้ำอาเบะ (Abegawa [Abe River]) อยู่ในเขตของเมืองชิซูโอกะ (Shizuoka) ในจังหวัดที่ชื่อเดียวกัน เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อ โตคุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) ขึ้นครองตำแหน่งโชกุน แล้วเขาก็บัญชาให้ครอบครัวชิมาซุ (Shimazu) สร้างคันกั้นน้ำนี้ขึ้นมาเพื่อปกป้องเมืองซุนปุ (Sunpu) จากน้ำท่วม โดยบางส่วนของคันกั้นน้ำนี้ยังอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน

การป้องกันน้ำท่วมของญี่ปุ่นสมัยโบราณ

ในช่วงศตวรรษที่ 4 (ค.ศ.301-400) อันเป็นรัชสมัยแห่งสมเด็จพระจักรพรรดินินโตกุ มีการขุดคลองที่นัมบะ (Namba) เมืองหนึ่งในจังหวัดโอซาก้าเพื่อระบายน้ำที่ท่วมจากทะเลสาบคาวาอูชิลงสู่อ่าวคาวาอูชิ (Kawauchi) และยังเคยมีการสร้างแนวดินเป็นคันกั้นน้ำที่ชื่อว่ามามุตะโนะสึดูมิ (Mamutanotsudumi) โดยดำริของพระจักรพรรดิคนดังกล่าว เพื่อรองรับน้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำโยโดะ คันกั้นน้ำนี้ปัจจุบัน [is located] อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าฟุรุกะ-วาบาชิ (Furuka-wabashi) โดยมีวัดสึ (Tsu) ซึ่งเป็นวัดร้างที่เมืองโอกายาม่า (Okayama) นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ ‘เทคโนโลยี’ การบริหารจัดการน้ำท่วมในสมัยนั้น

ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 8 เป็นยุคของรัฐบาลนาระ (Nara) ถูกสถาปนาขึ้นโดยสิ่งที่เรียกว่าริสึเรียว-เซอิ (Ritsuryo-sei) อันเป็นระบบกฎหมายที่มีรากฐานมาจากลัทธิขงจื้อและกฎหมายจีนในญี่ปุ่นยุคนั้น ซึ่งภายใต้ระบบริสึเรียว-เซอิ เจ้าหน้าที่รัฐที่ชื่อว่าโคคุชิและคุนจิได้รับมอบหมายให้ดูแลระบบชลประทานและการป้องกันน้ำท่วม แม้ว่าจะมีวิธีจัดการน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ ทว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม อำนาจของระบบกฎหมายริสึเรียว-เซอิได้อ่อนแอลง ทำให้ขนาดของโครงการเพื่อระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำทำได้น้อยลง

ทั้งนี้ก็มีภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงมือดำเนินการ โดยคุคาอิ (Kukai) อาจารย์สอนพระพุทธศาสนาผู้มีชื่อเสียง เขาเรียนจบจากประเทศจีนในวิชาพระพุทธศาสนาและทฤษฎีกับทักษะวิทยาศาสตร์ เขาเป็นผู้นำในการสร้างอ่างเก็บน้ำมันโนะอุอิเกะ (Mannouike)

ภาพคันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ของญี่ปุ่น (ที่มาภาพ: disasters.weblike.jp)


การบริหารจัดการน้ำท่วมของญี่ปุ่นอย่างเป็นระบบจริงจังเรียกได้ว่าเกิดขึ้นช่วงปลายของสมัยเซนโงกุ (Sen-goku) ในกลางศตรรษที่ 16 โดยมีคันกั้นน้ำชินเง็น (Shingen) ถูกสร้างขึ้นที่ริมแม่น้ำคามานาชิ (Kamanashi) เมืองคาอิ จังหวัดยามานาชิ โดยคำสั่งของชินเง็น ทาเคดะ ผู้เป็นซามูไรและเจ้าที่ดิน คันกั้นน้ำนี้ยังอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน [แนวต้นไม้ ในภาพประกอบ]

ซึ่งเมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมขนาดใหญ่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวิธีจัดการน้ำท่วมที่มีชื่อเสียงของยุคเอโดะนั้น ทำด้วยการสร้างคลองให้น้ำไหลจากแม่น้ำสายหนึ่งไปสู่แม่น้ำอีกสายเริ่มดำเนินการครั้งแรกที่แม่น้ำยาฮางิ (Yahagi) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1605 แล้วไปจบที่แม่น้ำโทเนะ (Tone) ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนาน โดยสำเร็จเอาในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 และมีการสร้างคลองเชื่อมแม่น้ำเพิ่มอีกต่อ ๆ กันมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคเอโดะ โดยการสร้างคลองก็เพื่อจัดการกับปัญหาน้ำท่วมแทนที่การใช้อ่างเก็บน้ำที่ใช้มาก่อน

ที่มาข้อมูล
Japan : Heavy Rain, Flood, Landslide : 2017/07/05 (adrc.asia, 5/7/2017)
Flood Management in Japan (narbo.jp เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/12/2017)
Traditional technique:Satsuma Levee(bank) (mlit.go.jp เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/12/2017)
Traditional technique:Manda-no-tsutsumi (Manda Levee)(mlit.go.jp, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/12/2017)
Historical assessment of Chinese and Japanese flood management policies and implications for managing future floods (Pingping Luo & Kaoru Takara, February 2015)

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ z-world.co, z-world.co

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: