จับตา: ย้อนดูข้อเสนอตั้ง 'ทบวงนครหลวง' และ 'กระทรวงนครบาล'

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 5348 ครั้ง


ย้อนดูความเป็นมาของการเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘ทบวงนครหลวง’ และ ‘กระทรวงนครบาล’ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการกรุงเทพฯ รวมทั้งข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละแนวทาง ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ข้อมูลจาก รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทิศทางการปรับปรุงรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานกรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ของคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ระบุถึงความเป็นมาของการเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘ทบวงนครหลวง’ และ ‘กระทรวงนครบาล’ รวมทั้งข้อดี-ข้อเสีย ไว้ดังนี้

การตั้งทบวงนครหลวง

ในปี 2522 สมัยของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้มีการเสนอร่างกฎหมายการตั้ง 'ทบวงนครหลวง' ซึ่งจะแบ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ออกเป็นเทศบาลต่าง ๆ จำนวน 7 เทศบาล เต็มพื้นที่กรุงเทพฯ และให้นำกฎหมายว่าด้วยเทศบาลมาใช้บังคับ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ใช้อำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลเทศบาลต่าง ๆ เหล่านี้ และให้ทบวงนครหลวงมีอำนาจในการแบ่งสรรงบประมาณอุดหนุนแก่เทศบาลดังกล่าว ทั้งนี้ในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ต่อสภาผู้แทนราษฏรและได้มีการรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว แต่ต่อมามีการยุบสภาผู้แทนราษฏร ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงตกไป

การตั้งกระทรวงนครบาล

ในอดีต 'กระทรวงนครบาล' เป็นหน่วยงานราชการที่ก่อตั้งเมื่อ 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่บังคับบัญชาการรักษาพระนคร คือปกครองมณฑลกรุงเทพ มีกรมที่สังกัดเช่น กรมพลตระเวน กรมสุขาภิบาล ต่อมาในปี 2465 ได้มีรวมกระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทยเข้าเป็นกระทรวงเดียวกันเรียกว่า 'กระทรวงมหาดไทย' [1]

ส่วนข้อเสนอการตั้งกระทรวงนครบาลในยุคสมัยใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการกรุงเทพ โดยพรรคกิจสังคมได้เคยเสนอร่างกฎหมายตั้งกระทรวงนครบาลให้รวมหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้ขึ้นตรงกับกับกระทรวงนครบาล และให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ออกเป็น 11 นครบาล โดยแต่ละนครบาลจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและสภาของแต่ละนครบาลเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน นอกจากนี้ หากชุมชนใด จังหวัดใดมีประชากรหนาแน่น และรายได้เพียงพอตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็ให้จัดตั้งเป็นนครบาลเช่นเดียวกับในเขตกรุงเทพฯ กระทรวงนครบาลจะกำกับดูแลนครบาลต่าง ๆ ดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อพรรคกิจสังคมเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภาผู้แทนราษฏรและได้มีการรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว แต่ต่อมามีการยุบสภาผู้แทนราษฏร ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงตกไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: