พนักงาน ‘GM เกาหลีใต้’ ไม่พอใจถูกปิดโรงงาน 1 แห่ง หวั่นนำไปสู่วิกฤตการจ้าง

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 10 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4206 ครั้ง

พนักงาน ‘GM เกาหลีใต้’ ไม่พอใจถูกปิดโรงงาน 1 แห่ง หวั่นนำไปสู่วิกฤตการจ้าง

พนักงานเจเนอรัลมอเตอร์ส เกาหลีใต้ไม่พอใจที่สำนักงานใหญ่สหรัฐอเมริกาจะปิดโรงงานกุนซาน หวั่นนำไปสู่วิกฤตการจ้างงานที่จะส่งผลกระทบต่อพนักงานโรงอื่นอีก 16,000 คน ที่มาภาพ: Korea Metal Workers’ Union GM Korea

พนักงานเจเนอรัล มอเตอร์ส เกาหลีใต้ (GM Korea) เมืองกุนซาน รู้สึกราวกับถูกหักหลังและไม่พอใจ ทันทีที่ผู้บริหาร GM เกาหลีใต้ ตัดสินใจปิดโรงงานที่กุนซาน ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจของพนักงานเพราะอาจนำไปสู่วิกฤตการจ้างงานที่จะส่งผลกระทบต่อพนักงานโรงอื่นอีก 16,000 คน ในเมืองช็อลลาเหนือ เมืองบูพยองในจังหวัดคย็องกี และเมืองชางวอนในจังหวัดคย็องซังใต้

ความไม่พอใจและขับข้องใจต่อสำนักงานใหญ่เพิ่มขึ้น จากกลยุทธ์การบริหารที่เรียกว่า “เฉือน-เผา” คือ การดูดเอาผลประโยชน์จำนวนมหาศาล เงินกองทุนสนับสนุนการดำเนินกิจการ และสิทธิบัตรเทคโนโลยีจากโรงงานกุนซานในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ GM เกาหลีเป็นหนี้จำนวนมาก

จาก Daewoo สู่ GM….ทำไมจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง?

นาย “K” (หรือเสียงหัวเราะแบบเกาหลี) แรกเริ่มทำงานที่บริษัท Daewoo Motors’เมืองบูพยอง เมื่อปี 1986 ปัจจุบันเป็นคนงานฝ่ายผลิตที่ GM เกาหลี เมืองกุนซาน ก่อนวันหยุดตรุษจีน (16 ก.พ. 2018) เขาได้รับแจ้งขอให้ลาออกโดยสมัครใจก่อนเกษียณอายุ จดหมายดังกล่าวมาเป็นครั้งที่สองหลังจาก 17 ปีที่ K ได้รับเป็นครั้งแรกสมัยอยู่ Daewoo เมื่อปี 2001

“ภรรยาของผมถามว่า “ทำไมบริษัทถึงแจ้งให้ลาออกเป็นครั้งที่สอง”  K ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว Hankyoreh เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

ซึ่งทำให้ K นึกย้อนถึงช่วงเวลาที่พนักงานกว่า 1,700 คนถูกลอยแพในปี 2001 หลัง Daewoo ประกาศล้มละลาย

“ในตอนนั้น เป็นสถานการณ์ที่ถ้าคุณไม่ถูกไล่ออก มันก็มาลงที่ผม” ผมมีลูกเรียนชั้น ป.6 และ ม.2 และสิ่งที่วิตกกังวล ณ ตอนนั้นคือความอยู่รอด

หลังจากที่เขาสูญเสียงาน K ก็เปิดร้านอาหาร เขาจัดการส่งไก่ด้วยตัวเอง และพยายามดิ้นรนเพราะเพิ่งทำธุรกิจเป็นครั้งแรก

“เราทำร้านได้พอส่งลูกเรียน” จนกระทั่งปี 2003 พนักงานและผู้บริหารก็ทำข้อตกลงกันได้ คือขอให้นายจ้างเรียกพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน K จึงปิดร้านแล้วกลับไปทำงานที่เดิม

เมื่อปี 2005 K ถูกมอบหมายให้ทำโรงงานเครื่องยนต์ดีเซลที่เพิ่งเปิดใหม่ในเมืองกุนซาน เขาจึงต้องย้ายไปเมืองนั้นทันทีโดยวางแผนว่าจะอยู่ที่นั่นจนเกษียณ ในสองสามปีแรกทุกอย่างเดินไปด้วยดี แต่สุดท้าย GM ก็เริ่มลดจำนวนการผลิตที่โรงกุนซานก่อนที่จะตัดสินใจปิดโรงงานนี้อย่างสิ้นเชิงในวันที่ 12 ก.พ. 2018 พนักงานได้รับผลกระทบอย่างมาก K จึงรู้สึกว่า GM เกาหลีก็เป็นแค่ซับคอนแทร็กรับจ้างผลิตให้สำนักงานใหญ่ที่อเมริกาเท่านั้นเอง

“พวกเขาทำให้โรงงานที่นี่แข่งขันทำการผลิต และพวกเขาก็เก็บเกี่ยวเอาผลได้จากเราไป” K กล่าว

“เมื่อย้อนไปครั้งที่มีการเลิกจ้างในปี 2001 ได้มีโครงการส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนงาน แต่แทบไม่มีใครประสบความสำเร็จ” เพราะเศรษฐกิจเมืองกุนซานย่ำแย่ หางานทำใหม่ยาก K จึงกังวลว่าจะไปเปิดร้านขายไก่ได้อีกหรือไม่

จากภาพ สหภาพแรงงานโลหะเกาหลี (Korea Metal Workers’ Union) ซึ่งพนักงาน GM เป็นสมาชิกนั้นได้จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2018 ที่รัฐสภา วิจารณ์บริษัทและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา และก่อนหน้าเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พนักงาน GM ออกมาชุมนุมประท้วงที่หน้าบริษัท โดยเรียกร้องให้ยกเลิกการปิดกิจการ

การวิจัยและพัฒนาให้สำนักงานใหญ่: ความสำเร็จจากความทุ่มเทของพนักงานตกอยู่ที่ใคร?

ความรู้สึกถึงการถูกกระทำจากน้ำมือของสำนักงานใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่พนักงานที่โรงงานกุนซาน สหภาพแรงงานโลหะเกาหลีอ้างอิงรายงานการเงิน กล่าวว่าในช่วงปี 2012-2016 GM เกาหลีขาดทุนสะสม จำนวน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (จากทั้งสิ้น 1.9 พันล้านเหรียญ) ในรูปของค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานใหญ่ รวมทั้งผลประโยชน์และเงินสนับสนุนค่าดำเนินการให้แก่สำนักงานใหญ่

และบริษัท GM เกาหลีใต้ยังได้ลงทุนทำวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงเดียวกันอีก 2.78 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สำนักงานใหญ่ลงขันเพียง 443 ล้านเหรียญ ซึ่งพนักงานวิจัยและพัฒนาต้องการทราบว่า ความสำเร็จจากความทุ่มเทของพวกเขาตกอยู่ที่ใคร

“นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงเจ้าของเป็น GM ในปี 2001 มีแต่งานที่ทำให้สำนักงานใหญ่มากกว่าเกาหลี” J พนักงานนักวิจัยในโรงงานชางวอน ผู้ผลิตรถ Chevrolet รุ่น Trax รุ่น Buick Encore และ Holden Mokka และยังพัฒนาเครื่องยนต์น้ำมันเบนซินขนาดใหญ่ให้แก่สำนักงานใหญ่

“บริษัท GM เกาหลีใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่บริษัทไม่ยอมบอกว่าสำนักงานใหญ่ได้รับเท่าไหร่หรือสิทธิบัตรจะตกอยู่กับใคร”

ในอดีต GM พลาดโอกาสหลายครั้งที่จะขายรถยี่ห้อ SAAB ในช่วงเซ้งรถยี่ห้อนี้จากสวีเดน เนื่องจากยืนกรานที่จะผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกลายเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การล้มละลายของรถ SAAB

“ผมไม่รู้ว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาที่มาจากความผิดพลาดของพนักงานหรือของผู้บริหาร GM เกาหลีกันแน่ แต่กิจกรรมการผลิตของ GM เกาหลีนับถึงปัจจุบันสนองความต้องการของสำนักงานใหญ่” เจกล่าวถึงการประกาศปิดกิจการที่โรงงานกุนซาน

“บรรษัทข้ามชาติจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ อย่างน้อยที่สุดก็กำไรบางส่วนรักษาสถานภาพของสาขาตัวเองที่อยู่ในต่างประเทศ แต่สำนักงานใหญ่ GM กลับเอาผลกำไรทุกส่วนทำเพื่อตัวเองและทอดทิ้งสาขาอื่น ซึ่งทำให้พนักงานเดือดร้อนมาก” J กล่าว

เมื่อวิกฤตใกล้เข้ามา พนักงานต่างก็ต่อต้านกันเอง

พนักงานในออฟฟิศและในสายการผลิตของบริษัท GM เกาหลีใต้ เจ็บปวดกับความรู้สึกวิตกกังวลและสูญเสีย ยังมีเรื่องที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ พวกเขาถูกบังคับให้เข้าข้างบริษัทอันเนื่องจากวิกฤตที่กำลังรุนแรง นาย Lee Beom-yeon อายุ 56 ปีทำงานในสายการผลิตของ GM ที่โรงงานบุพยองมากว่า 29 ปีนับตั้งแต่ทำงานที่ Daewoo ในปี 1989 ซึ่งยังเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาอยู่ตอนนั้น และเมื่อเดือน ธ.ค. 2017 ลีได้ตีพิมพ์หนังสือของเขาเรื่อง “30 ปีแห่งการทำงานจากคนงานที่แทรกซึมเข้ามาสู่คนงานรุ่นเก๋า” เขาได้วิพากษ์วิจารณ์สหภาพแรงงานของพนักงานประจำในบรรษัทขนาดใหญ่ต่างๆ

“ก้าวไปข้างหน้า” สำนักงานใหญ่ GM ในสหรัฐอเมริกากำลังสร้างความขัดแย้งและแบ่งแยกระหว่างพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวและระหว่างโรงงานกุนซานกับโรงงานอื่นๆ  ลีเล่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ช่วงก่อนการเลิกจ้างในปี 2001 Daewoo เริ่มเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวทั้งหมดก่อนและจากนั้นค่อยกระตุ้นให้พนักงานประจำลาออกโดยสมัครใจโดยให้ความหวังว่า จะเรียกพวกเขากลับเข้ามาทำงานหากสถานการณ์ดีขึ้น 

จากความกลัวตกงาน เมื่อรายชื่อของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างประกาศออกมา ความสัมพันธ์ส่วนตัวในบริษัทก็ร้าวฉาน ลีนึกย้อนวันเก่า ๆ ได้ว่า ในช่วงที่พนักงานถูกเรียกกลับเข้ามาทำงาน ความไม่พอใจในหมู่พนักงานชั่วคราวก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงวันนี้

การเผชิญหน้ากับสถานการณ์การปิดกิจการ ภารกิจของสหภาพแรงงาน ลีมองว่าจะต้องสร้างความสมานฉันท์ในหมู่พนักงาน วิกฤต GM ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการต่อสู้ของสหภาพแรงงานเพียงอย่างเดียว เราต้องการให้คนในสังคมวงกว้างได้ประโยชน์ด้วย และใครจะมาเห็นอกเห็นใจเรา หากเราไปเข้าข้างบริษัทและทะเลาะกันในเรื่องผลประโยชน์เดียวกัน นั่นหมายถึงสภาพแรงงานต้องมีบทบาทนำพนักงานในโรงงานต่างๆ และสถานการณ์ปัญหาที่หลากหลายเข้ามารวมอยู่ที่เดียวกัน

GM เกาหลีจ้างพนักงานทุกโรงทั้งสิ้น 16,000 คน และมีคนงานในซับพลายเออร์ของ GM อีก 140,000 คน (หากปิดทำการทุกสาขาก็จะส่งผลกระทบถึงซัพพลายเออร์ด้วย)

 

ที่มาแปลและเรียบเรียงจาก
http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_business/833575.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: