ส่องชีวิต 'ผู้หญิง-เด็ก' ในแคมป์แรงงานก่อสร้าง เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิสูง

ทีมข่าว TCIJ : 10 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 42365 ครั้ง

ประเทศไทยมีผู้หญิงทำงานในภาคก่อสร้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติเพื่อนบ้าน พบคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและเด็กในแคมป์แรงงานก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกละเมิดสิทธิ 80% ไม่มีห้องอาบน้ำแยกชายหญิง-เด็ก และ 90% ของเด็กในแคมป์ก่อสร้างเคยมีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล ที่มาภาพประกอบ: Visarut Sankham/Realframe

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) [1] มีผลต่อการจ้างงานและมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่อเนื่องหลากหลาย อาทิ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ฟันเฟืองที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ก็คือ ‘แรงงานต่างชาติ’ จากพม่าและกัมพูชา ข้อมูลจากกรมการจัดหางานเมื่อเดือน ก.ย. 2560 ระบุว่าได้เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้นายจ้างมายื่นคำขอใช้แรงงานต่างชาติระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 พบว่ามีจำนวนผู้มาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติรวม 772,270 คน โดยประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนใช้แรงงานต่างชาติสูงสุด คือภาคก่อสร้าง 181,772 คน ส่วนข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ทำการสำรวจเมื่อปี 2558 ระบุว่ามีแรงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยประมาณ 557,724 คน

เรามักพบเห็นเป็นปกติว่าบริษัทฯ นายจ้างมักจะให้สวัสดิการที่พักอาศัยชั่วคราวแก่แรงงานและครอบครัวที่มาทำงานก่อสร้าง ที่พักชั่วคราวเหล่านี้สร้างขึ้นโดยนายจ้างและมักตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ก่อสร้างหรืออยู่ในสถานที่ก่อสร้างและมักเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘แคมป์แรงงาน’ ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่าผู้หญิงและเด็กในแคมป์เหล่านี้มีชีวิตที่ ‘เปราะบาง’ เผชิญกับความเสี่ยงในมิติต่างๆ เห็นได้ง่ายที่สุดจากข่าวอาชญากรรมตามหน้าสื่อต่างๆ รวมถึงมีงานศึกษาวิจัยที่ยืนยันว่าผู้หญิงและเด็กในแคมป์แรงงานนั้นมีโอกาสถูกละเมิดสิทธิได้โดยง่าย

ไทยมีผู้หญิงทำงานก่อสร้างสูงสุดเมื่อเทียบกับ 49 ประเทศกำลังพัฒนา

ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยใช้แรงงานหญิงสูงถึง 38% ส่วนใหญ่ได้ทำงานทักษะน้อยกว่าชายและได้ค่าแรงต่ำกว่าแรงงานชายอีกด้วย ที่มาภาพประกอบ: UN News

รายงาน High rise, low pay: Experiences of migrant women in the Thai construction sector ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้สัมภาษณ์แรงงานไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวน 125 คน ในกรุงเทพฯ และจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2558 โดยระบุว่าข้อมูลจากรัฐบาลไทยพบว่า มีแรงงานต่างชาติถูกกฎหมายในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างประมาณ 557,724 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากพม่าและกัมพูชา ในจำนวนนี้ 38% เป็นแรงงานหญิง และจากงานศึกษาเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ชี้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในประเทศกำลังพัฒนา 49 ประเทศ ที่มีสัดส่วนผู้หญิงในภาคแรงงานก่อสร้างเกินกว่า 10% และเมื่อเทียบสัดส่วนกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ถึง 9% ส่วนอังกฤษแรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นผู้หญิงประมาณ 1% เท่านั้น

นอกจากนี้พบว่าลักษณะการทำงานของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมักจะเป็นการ ‘แบก-หาม-ลาก’ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนงานที่ใช้ทักษะมากกว่า เช่น งานก่ออิฐ ฉาบปูน งานเชื่อม ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นงานของแรงงานชาย แม้แรงงานหญิงบางคนจะได้ทำงานก่ออิฐ ฉาบปูน หรืองานเชื่อมบ้างก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อย ทำให้พวกเธอได้รับค่าแรงน้อยกว่าแรงงานชายและขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงาน

เป็นแรงงานผู้ช่วยของสามี เสี่ยงถูกละเมิดในแคมป์แรงงาน

รายงานของ ILO เมื่อปี 2559 ยังระบุว่า นายจ้างมักมีมุมมองว่าแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นแรงงานผู้ช่วยของสามี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเธอได้รับค่าแรงต่ำกว่าแรงงานชาย แต่แม้ว่าแรงงานหญิงจะเปรียบเสมือนแรงงานราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ กระนั้นนายจ้างเองก็ไม่ค่อยอยากจะรับแรงงานหญิงเข้ามาทำงานมากนัก แต่หากพวกเธอมา สมัครงานพร้อมกับสามี นายจ้างมักจะไม่ปฏิเสธ

ผู้ประกอบการรายหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลกับผู้วิจัยว่า หากแรงงานคู่สามีภรรยาเดินทางมาสมัครงานด้วยกัน เขาก็ต้องหางานให้ภรรยาด้วย มิเช่นนั้นก็จะต้องสูญเสียแรงงานไปทั้งคู่ เพราะโดยส่วนใหญ่แรงงานชายทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านและแรงงานจากภาคอีสานมักจะมา สมัครงานเป็นคู่พร้อมภรรยา ด้านผู้จัดการบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งระบุว่า หากเขาสามารถเลือกแรงงานได้ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย เขาจะเลือกแรงงานชายเป็นอันดับแรกเพราะผู้ชายสามารถทำงานได้มากกว่า

แรงงานหญิงที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานชิ้นนี้มี 39 คนจาก 44 คนที่สมรสแล้ว เนื่องจากสภาพการทำงานที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย รวมทั้งที่พักอาศัยที่ต้องอยู่รวมกันในแคมป์ทำให้แรงงานหญิงต้องหาสามีไว้เป็นผู้คุ้มครองความปลอดภัย แต่พวกเธอก็ต้องระวังตนเองไม่ให้ตั้งครรภ์ เพราะเมื่อใดที่ตั้งครรภ์ก็หมายความว่าพวกเธอจะต้องสูญเสียงาน ทั้งที่กฎหมายไทยอนุญาตให้แรงงานหญิงลาคลอดได้ 90 วัน นอกจากนี้พวกเธอยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในแคมป์แรงงาน

รายงานของ ILO ยังระบุว่าพวกเธอต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวว่าจะถูกเพื่อนร่วมงานชายล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้การหาสามีไว้เป็นผู้คุ้มครองความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนงานหญิงเหล่านี้ แรงงานหญิงคนหนึ่งจากรัฐฉานที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่บอกกับผู้วิจัยว่างานก่อสร้างนั้นเป็นงานของผู้ชาย ผู้หญิงโสดไม่สามารถอยู่ในแคมป์แรงงานตามลำพังได้ เพราะวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของแรงงานชายในภาคก่อสร้างนี้ก็คือการดื่มแอลกอฮอล์หลังเลิกงานทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ส่วนแรงงานหญิงชาวกัมพูชาที่ทำงานในกรุงเทพฯ คนหนึ่งระบุว่าที่ผู้หญิงจำเป็นต้องถือเงินไว้นั้น เพราะหากให้สามีถือเงินพวกเขาก็จะเอาไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนหมด

โครงสร้างพื้นฐาน แคมป์แรงงานไม่ปลอดภัย

เหตุการณ์ไฟไหม้แคมป์แรงงานก่อสร้างเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ถึงแม้ในประกาศคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เรื่อง มาตรฐานด้านสวัสดิการแรงงานที่พักอาศัยสำหรับลูกจ้างประเภทกิจการก่อสร้าง ระบุให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงเตรียมไว้ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ปฏิบัติตาม ที่มาภาพประกอบ: คมชัดลึก

จากรายงาน 'สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์แรงงาน' ซึ่งเป็นโครงการเก็บบันทึกข้อมูลอันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทยและมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย Tilleke & Gibbins เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2560 ในการศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการด้านการคุ้มครองเด็ก บริการทางสุขภาพ และการศึกษาของเด็กต่างชาติที่อาศัยในที่พักคนงานก่อสร้างในประเทศไทย

ผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นเด็กและพ่อแม่เด็กได้รับคัดเลือก 119 คน จากที่พักคนงาน 21 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ของบริษัทก่อสร้างที่มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กมีข้อตกลงและได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระหว่างเดือน พ.ค. 2559 - พ.ค. 2560 ข้อมูลที่สำรวจได้พบว่า พ่อแม่จำนวนมากที่เข้ามาหางานก่อสร้างทำในประเทศไทยได้นำลูกหลานของตนมาด้วย บางคนก็มีลูกขณะที่มาทำงานในประเทศไทย  ในขณะที่ในแคมป์แรงงานก่อสร้างเหล่านี้มีอันตรายสูงมาก รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการที่เด็กจะไม่ได้รับการคุ้มครอง มีระบบสุขาภิบาลที่ไม่ดี เข้าถึงน้ำสะอาดได้น้อย มีไฟฟ้าใช้แบบไม่แน่นอน มีการจัดการของเสียและการทิ้งขยะที่จำกัดหรือไม่ปลอดภัย อีกทั้งในบริเวณที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นก็เอื้อต่อการระบาดของโรค นอกจากนี้ลักษณะของชุมชนชั่วคราวที่ตั้งอยู่ต่างหากเช่นนี้ทำให้ครอบครัวโดดเดี่ยวจากสังคมอย่างถาวร และยิ่งลดโอกาสที่จะกลมกลืนเข้ากับสังคมไทยอีกด้วย

รายงานของ UNICEF ระบุว่าแคมป์แรงงานก่อสร้างเป็นจุดศูนย์รวมของชีวิตครอบครัวคนที่มาทำงานก่อสร้างในประเทศไทย สถานที่นี้เป็นเหมือนบ้านท่ามกลางสิ่งแวดล้อมต่างชาติ เมื่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างรับสมัครคนงานเข้าทำงานในโครงการใหม่ บริษัทมักเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับคนงานและครอบครัวของพวกเขา บริษัทจะจัดหาวัสดุที่จำเป็นให้ ส่วนมากเป็นไม้อัดกับแผ่นสังกะสีและจ้างคนงานส่วนหนึ่งมาสร้างที่พัก แม้จะมีกฎหมายบังคับควบคุมคุณภาพของแคมป์แรงงาน (ดูเพิ่มเติม > จับตา: มาตรฐาน ที่พักแรงงานก่อสร้างตามกฎหมายไทย) แต่ก็มีรายงานว่ามีหลายบริษัทไม่ปฏิบัติตาม เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น สภาพแวดล้อมในเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย และข้อจำกัดด้านงบประมาณ เป็นต้น

ขาดแคลน ห้องน้ำที่ปลอดภัยและไม่แยกเพศ

รายงานของ UNICEF ระบุว่าจากการสำรวจพบห้องอาบน้ำและห้องสุขาในแคมป์แรงงานมีจำนวนไม่เพียงพอ มักตั้งอยู่กลางแจ้งโดยไม่ได้ปูพื้นหรือไม่ได้ปิดผนังเต็ม ไม่มีห้องน้ำ-ถังตักอาบ ไม่แยกผู้หญิง-ผู้ชาย ที่มาภาพประกอบ: Visarut Sankham/Realframe

ส่วนห้องอาบน้ำและห้องสุขา ในภาพรวมพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ รายงานว่าห้องอาบน้ำและห้องสุขาในที่พักมีจำนวนไม่เพียงพอ UNICEF สำรวจพบว่า 70% ของเด็กๆ ระบุว่าพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะใช้ห้องน้ำ ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้ให้เหตุผลว่ากลัวงูหรือสัตว์อื่น ๆ เนื่องจากห้องน้ำมักตั้งอยู่กลางแจ้งโดยไม่ได้ปูพื้นหรือไม่ได้ปิดผนังเต็ม นอกจากนี้ห้องอาบน้ำในที่พักคนงานมักมีขนาดใหญ่มีอ่างบรรจุน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่เหนือพื้นโดยใช้ขันตักน้ำมาอาบนอกถัง โดย 80% ของที่พักคนงานที่ได้ทำการสำรวจพบว่าไม่มีอ่างน้ำแยกต่างหากสำหรับผู้หญิง มีเพียงอ่างน้ำขนาดใหญ่ที่เดียวให้ทุกคนใช้ร่วมกัน เด็กๆ และพ่อแม่เกือบทุกคนที่อาศัยอยู่ในที่พักคนงานที่ไม่มีสถานที่อาบน้ำแยกออกมา ต่างบอกว่าห้องอาบน้ำควรแยกตามเพศ และความเห็นนี้มีความพ้องต้องกันในทุกเพศทุกวัย ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เห็นว่าควรแยกห้องอาบน้ำเพราะพวกเขารู้สึกถึงความไม่สุภาพและรู้สึกอายที่ต้องอาบน้ำร่วมกับเพศตรงข้าม เด็กและพ่อแม่คนอื่น ๆ บอกว่าห้องอาบน้ำแออัดเกินไปหรือไม่ก็กลัวการใช้ห้องอาบน้ำ

ส่วนห้องสุขาส่วนใหญ่เป็นแบบนั่งยอง ไม่มีน้ำให้เปิดจากก๊อก บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่มีน้ำสำหรับทำความสะอาดหรือตักราด และกว่า 60% ของเด็กๆ และพ่อแม่คิดว่าห้องสุขามีจำนวนไม่เพียงพอ นอกจากนี้มีรายงานถึงปัญหาด้านสุขาภิบาลและสุขอนามัยมากมาย รวมทั้งห้องสุขาซึ่งมักจะสกปรกหรือไม่ก็ส้วมเต็ม ส้วมแตก ห้องสุขาไม่เป็นส่วนตัวและไม่มีน้ำเพียงพอต่อการราดส้วมให้สะอาด

ความรุนแรงต่อเด็ก 

เกือบ 90% ของเด็กที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานของ UNICEF ระบุว่า เคยมีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล เกือบ 3 ใน 4 ของเด็กบอกว่า พ่อแม่ตีพวกเขาด้วยสิ่งที่อาจทำให้พวกเขาบาดเจ็บได้ นอกเหนือไปจากมือหรือกำปั้นของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นไม้เรียว ไม้กวาด เศษไม้ หรือไม้แขวนเสื้อ เด็กที่ให้สัมภาษณ์เกือบ 60% บอกว่า เคยถูกตบหรือตีก้นเพื่อลงโทษ เกือบ 1  ใน 3 ของเด็กรายงานว่าพ่อแม่เคยขว้างปาข้าวของใส่พวกเขา และมากกว่า 20%  ระบุว่าเคยถูกพ่อแม่ผลักหรือดึงตัวแรงๆ และเด็กมากกว่า 1 ใน 4 ยังให้ข้อมูลด้วยว่า พวกเขาเองหรือคนที่เขารู้จักถูกขู่ด้วยมีดหรืออาวุธชนิดอื่น 

นอกจากนี้เด็กเกือบ 60% รายงานว่าเคยเห็นการกระทำรุนแรงทางกายระหว่างพ่อกับแม่ หรือผู้ดูแลของเขา เทียบกับ 22% ของกลุ่มผู้หญิงที่ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เด็กๆ เหล่านี้บอกว่าเห็นแม่ถูกพ่อตบหรือตี เห็นข้าวของถูกขว้างปาใส่แม่ เห็นแม่ถูกตีด้วยสิ่งที่อาจทำให้เธอบาดเจ็บได้ (เช่น ไม้หรือไม้กวาด) และเห็นพ่อผลักหรือดึงรั้งตัวแม่ เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เห็นความรุนแรง เสียงส่วนใหญ่ในกลุ่มเด็ก ๆ บอกว่าพวกเขารู้สึกกลัว เด็กอีกส่วนหนึ่งบอกว่ามันทำให้เขารู้สึก ‘เศร้า’ ‘รำคาญ’ ‘สงสาร’ ‘โกรธ’ หรือทำให้เขา/เธอ ‘อยากจะย้ายออก’ หรือ ‘อยากจะให้พวกเขาหยุด’

สภาพแวดล้อมอันตรายและไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตเด็ก

แม้ที่พักคนงานก่อสร้างมักมีไฟฟ้าใช้ แต่ประมาณ 1 ใน 3 ของเด็กและพ่อแม่ให้ข้อมูลว่า ไฟฟ้าในที่พักถูกตัดบ่อยๆ พ่อแม่เกินกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าพวกเขาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเอง บริษัทนายจ้างที่สร้างและดูแลที่พักไม่ได้จ่ายค่าไฟหรือไม่ได้จัดไฟฟ้าให้ใช้ อุบัติเหตุจากไฟฟ้าเป็นประเด็นปัญหาอีกประการ เพราะมีพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาได้รับทราบเกี่ยวกับวิธีดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากไฟฟ้า ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ให้สัมภาษณ์ให้ข้อมูลว่า พวกเขาเคยได้ยินเรื่องอุบัติเหตุเกี่ยวกับไฟฟ้าภายในที่พักคนงาน เช่น เรื่องที่เด็กๆ ถูกไฟดูดเล็กน้อย หรือเรื่องคนงานถูกไฟดูดจนเสียชีวิตเมื่อพยายามจะซ่อมแซมไฟฟ้า เคยเห็นเปลวไฟหรือประกายไฟรวมถึงเห็นหม้อหุงข้าวไหม้

เมื่อถามเด็กๆ ว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากที่สุดในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เด็กประมาณ 40% บอกว่าอยากให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ในที่พัก เช่น ให้มีห้องส้วมที่ใช้งานได้ มีห้องอาบน้ำที่ดีกว่าเดิม ซ่อมหลังคาไม่ให้รั่วเวลาฝนตก และมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดกว่านี้ มีเด็กอีกจำนวนเท่าๆ กัน บอกว่าอยากได้ของเล่นและอยากให้มีกิจกรรมมากขึ้น

ในเรื่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่พัก ประมาณ 1 ใน 3 ของพ่อแม่เด็กกล่าวว่าการปรับปรุงห้องสุขา ห้องอาบน้ำ ไฟฟ้า และการเข้าถึงน้ำสะอาดให้ดีขึ้นเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นมากที่สุด พ่อแม่หลายคนรายงานด้วยว่า ห้องที่พวกเขาอยู่มีขนาดเล็กเกินไปหรือร้อนเกินไป หลังคาก็รั่วเวลาที่ฝนตก อยากให้มีการซ่อมแซมรวมทั้งอยากให้มีประตูตรงบริเวณทางเข้าหลักของที่พักคนงานเพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ

ขาดการรับรู้ข้อมูล เป็นอุปสรรคการเข้าถึงบริการทางสังคม

เมื่อแรงงานเดินทางมาถึงประเทศไทยหรือถึงที่พักคนงานก่อสร้างแห่งใหม่เป็นครั้งแรก ครอบครัวของแรงงานอาจยังไม่ค่อยเข้าใจดีนักเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในการเข้าถึงบริการต่างๆ อาทิ สถานบริการสาธารณสุข หรือโรงเรียนของรัฐ และไม่ทราบวิธีเข้าถึงบริการในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้หากลูก ๆ ของแรงงานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามพ่อแม่เข้ามาในประเทศไทย เด็กก็จะอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นายจ้าง (และผู้ที่เป็นสื่อกลางในการติดต่ออื่นๆ) จะต้องแจ้งให้ครอบครัวย้ายถิ่นทราบวิธีการขึ้นทะเบียนและการเข้าถึงบริการต่างๆ สำหรับลูกหลาน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของบริษัททุกบริษัทควรมีหน้าที่ต้องแจ้งแรงงานให้ทราบถึงประโยชน์ด้านการบริการต่างๆ ในระหว่างการประชุมเพื่อความปลอดภัยประจำสัปดาห์ ซึ่งตามปรกติในการประชุมนี้มีการหยิบยกประเด็นและบริการต่างๆ มาหารือกันอยู่แล้ว เช่น เรื่องความปลอดภัย สุขภาพ และเอกสารทางกฎหมาย

ในรายงานระบุว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับบริการสำหรับลูกๆ เมื่อมาถึงชุมชนที่อยู่ปัจจุบัน เช่น เรื่องการไปหาหมอ เรื่องโรงเรียน และเอกสารยืนยันตัวตน แต่กระนั้นก็ยังมีพ่อแม่อีก 12% ที่ระบุว่าไม่ได้รับคำชี้แจงดังกล่าว สำหรับกลุ่มพ่อแม่ที่ได้รับคำชี้แจงนั้น ส่วนใหญ่ได้ฟังจากญาติหรือสมาชิกอื่นๆ ในชุมชน และมีเพียง 16% ที่บอกว่านายจ้างหรือลูกพี่หรือผู้นำชุมชนทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูล แม้ผู้สัมภาษณ์จะถามอย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องข้อมูลที่ได้รับจากนายจ้าง พ่อแม่เด็กเกินครึ่งต่างยืนยันว่านายจ้างไม่ได้ช่วยพวกเขาให้รับรู้เกี่ยวกับบริการเหล่านี้

ยากที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา

การโยกย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ ตามไซต์งานของนายจ้าง เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าเรียนของบุตรหลานแรงงานก่อสร้างอย่างชัดเจน ที่มาภาพ: มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก

ด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่กล่าวว่า หากพวกเขาไม่สบายมากหรือประสบอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บ พวกเขาจะไปโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ประมาณ 15% ของผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าพวกเขาจะซื้อยากินเองจากร้านขายยา ส่วนการได้รับวัคซีน พบว่าเกือบ 1 ใน 5 ของพ่อแม่ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า เด็กบางคนในครอบครัวของพวกเขาไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้พ่อแม่มักจำไม่ได้ว่าเด็กได้รับวัคซีนใดไปแล้วบ้าง สาเหตุที่สำคัญที่ให้เด็กไม่ได้รับวัคซีนคือ ขาดความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือสถานที่ที่จะไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย และพ่อแม่ลืมนัดหรืออยู่ไกลจากโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข

ทั้งนี้แรงงานก่อสร้างที่เป็นแรงงานต่างชาติมีสิทธิใช้ระบบประกันสุขภาพหรือระบบประกันสังคมได้ โดยมีเงื่อนไขว่าแรงงานจะต้องได้รับการจัดหาและจ้างงานจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยตรงเท่านั้น ขณะที่แรงงานก่อสร้างจำนวนมากมักได้รับการจัดหาและจ้างโดยผู้รับเหมาช่วง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ แรงงานก่อสร้างเหล่านี้จึงต้องทำบัตรประกันสุขภาพซึ่งเสียค่าใช้จ่าย 2,100 บาทต่อคนต่อปี สำหรับผู้ใหญ่ และ 365 บาทต่อคนต่อปีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และต้องมีเอกสารประจำตัว รวมถึงสูติบัตร หนังสือเดินทางของพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง และหลักฐานการจ้างงานในประเทศไทย ตามกฎหมายไทยแล้วสถานบริการสาธารณสุขจะไม่ปฏิเสธบุคคลที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพ แต่บุคคลดังกล่าวอาจเป็นหนี้สินจากการเข้ารับบริการตามที่ฝ่ายสวัสดิการสังคมของศูนย์บริการสาธารณสุขหรือตามที่โรงพยาบาลกำหนด ในรายงานของ UNICEF ระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งของพ่อแม่ระบุว่าลูก ๆ ของตนไม่ได้มีบัตรสุขภาพกันครบทุกคน พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำบัตรประกันสุขภาพให้ลูกได้เนื่องจากไม่มีเอกสารครบถ้วนขณะที่เดินทางมาถึงประเทศไทย หรือเมื่อลูกคลอด และ/หรือพ่อแม่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าทำบัตรสุขภาพ

สำหรับประเด็นสถานที่ที่เด็กเกิดระหว่าง 'เกิดในโรงพยาบาล' หรือ 'เกิดที่บ้าน' ก็อาจมีผลกระทบต่อการจัดทำเอกสาร เนื่องจากเด็กที่เกิดในบ้านมักมีเอกสารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน มีเด็กเพียงส่วนน้อยที่คลอดที่บ้านและมีบัตรประกันสุขภาพที่ใช้ได้ เมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลซึ่งจะมีบัตรประกันสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ ในทำนองเดียวกันกว่า 20% ของเด็กที่เกิดที่บ้านไม่มีสูติบัตร ในขณะที่เด็กทุกคนที่เกิดในโรงพยาบาลจะได้รับเอกสารนี้ มีพ่อแม่ไม่ถึงครึ่งที่รายงานว่าลูก ๆ ทุกคนเกิดในโรงพยาบาล และพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากตามประเทศเกิดของเด็กๆ โดยเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยหรือในประเทศกัมพูชาเกิดที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีเด็กที่เกิดในพม่าเกิดที่โรงพยาบาลเลย

ด้านการศึกษา เด็กต่างชาติต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเรียนในระบบ ซึ่งรวมถึงอุปสรรคทางภาษาและการรู้หนังสือ การที่ไม่สามารถเริ่มเรียนกับเพื่อนในวัยเดียวกันได้เนื่องจากขาดการเรียนรู้ที่สมกับวัย และการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนและ/หรือเด็กคนอื่นๆ การศึกษานอกระบบมักจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเตรียมเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนให้เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐได้

ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครทราบว่ามีเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนหรือมีเด็กข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าไร เนื่องจากไม่มีการลงทะเบียนและการย้ายถิ่นที่อยู่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เชื่อกันว่าเด็กเป็นจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในที่พักคนงานก่อสร้างในประเทศไทยที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน ยกเว้นว่าชุมชนของเขามีองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เด็กเหล่านี้ได้เข้าเรียน เด็กที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการศึกษาส่วนใหญ่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเนื่องจากชุมชนของพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน อัตราการเข้าเรียนในโรงเรียนของพวกเขามีมากกว่า 80% (77 จาก 95 คำตอบ) เด็กคนไหนที่ยังเข้าเรียนในช่วงเวลาที่ให้สัมภาษณ์ก็จะถูกส่งเรื่องไปให้นักสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กรับไปดูแลเรื่องการลงทะเบียนเข้าเรียนในภาคการศึกษาถัดไป ดังนั้นข้อมูลนี้จึงไม่สามารถบ่งชี้สถานการณ์การเข้าเรียนของเด็กที่อาศัยในที่พักคนงานก่อสร้างทั่วประเทศได้ แม้ว่าอัตราการเข้าเรียนของผู้ให้สัมภาษณ์เหล่านี้จะไม่ใช่ตัวแทนของภาพรวมทั้งหมด แต่ก็ยังพอเป็นไปได้ที่จะศึกษาถึงอุปสรรคที่พวกเขาเผชิญ

แม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายให้การศึกษาฟรีแก่เด็กทุกคน โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอน เงินเดือนของข้าราชการครู ค่าหนังสือเรียนมาตรฐาน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าจัดกิจกรรมในโรงเรียน และค่าอาหารกลางวัน นอกจากเงินอุดหนุนเหล่านี้ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนขั้นพื้นฐานแก่โรงเรียนโดยตรงในวงเงิน 1,700 บาท/คน/ปีสำหรับชั้นอนุบาล วงเงิน 1,900 บาท/คน/ปีสำหรับระดับชั้นประถมศึกษา วงเงิน 3,500 บาท/คน/ปีสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ 3,800 บาท/คน/ปีสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะให้การศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โรงเรียนได้เสริมงบประมาณสนับสนุนนี้โดยการขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมสำหรับครูซึ่งเป็นเงินที่โรงเรียนใช้ในการจ้างครูเพิ่มเติมนอกเหนือจากโควตาครูที่โรงเรียนสามารถจ้างได้จากงบประมาณการศึกษาของรัฐบาล ค่าชุดนักเรียนซึ่งอยู่ที่ราว 2,000-3,500 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน ค่าประกันอุบัติเหตุและ/หรือค่ารถรับ-ส่ง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจตกประมาณ 1,000-3,000 บาท/คน/ภาคการศึกษา จากการสัมภาษณ์ครอบครัวที่มีเด็กที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน มากกว่า 40% ของผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าเด็กๆ ไม่ได้เข้าโรงเรียนเพราะไม่มีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่การสนับสนุนของรัฐไม่ได้ครอบคุลมถึง พ่อแม่ 4 คน รายงานว่าเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียนเนื่องจากต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลน้องๆ หรือครอบครัวต้องย้ายที่อยู่บ่อยเกินกว่าที่จะนำเด็กเข้าโรงเรียนได้

การโยกย้ายถิ่นฐานบ่อย ๆ เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าเรียนในโรงเรียนอย่างชัดเจน เด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เข้าเรียนในปัจจุบันเป็นผู้ที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมาก่อนหน้านี้ โดยเด็กบางคนเข้าเรียนในโรงเรียนที่บ้านเกิดของตน และเด็กบางคนก็เคยเข้าเรียนตอนที่พวกเขาอยู่ที่ที่พักคนงานในสถานที่ก่อสร้างก่อนหน้า มีเด็กกว่า 30% บอกว่าพวกเขาคิดว่าจะเลิกไปโรงเรียนหากว่าต้องย้ายที่อยู่ แต่พ่อแม่เกือบทั้งหมดบอกว่าลูกๆ ของพวกเขาจะได้เรียนต่อในโรงเรียนอื่นหากพวกเขาต้องย้ายที่อยู่

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 20/4/2561

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: มาตรฐาน ที่พักแรงงานก่อสร้างตามกฎหมายไทย

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: