จับตา: การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) คืออะไร?

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 6463 ครั้ง


การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมคือกระบวนการทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในการจัดทำแผนงาน นโยบายและการลงทุนต่างๆ ที่นำไปสู่อนาคตซึ่งงานทุกประเภทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นธรรม ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความยากจนจะถูกกำจัดและชุมชนต่างๆ จะรุ่งเรืองและแข็งแกร่ง มาตรการของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่ได้รับการพัฒนาผ่านการเจรจาทางสังคมระหว่างหน่วยงาน รัฐบาล ผู้ใช้แรงงานและผู้จ้างงานจะสร้างความไว้วางใจกัน รวมทั้งผลักดันให้เกิด การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิผล ที่มาภาพประกอบ: Labor Network for Sustainability

จากรายงาน Just Transition - Where are we now and what’s next? A Guide to National Policies and International Climate Governance โดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation - ITUC), 2017 ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) คือข้อเรียกร้องสำคัญที่ปรากฏใน ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และได้รับคำจำกัดความเพิ่มเติมในแนวปฏิบัติแรงงานสากลโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ขององค์การสหประชาชาติ ประเด็นนี้ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของขบวนการแรงงานระดับโลกเรื่องหนึ่ง โดยเป็นเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษแล้วที่การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการเจรจาต่อรองด้านสภาพภูมิอากาศจบลงที่การทำให้แน่ใจว่าประเด็นความห่วงใยทางสังคมจะต้องเป็นหัวข้อสำคัญของนโยบายด้านนี้ รวมถึงการวางแผนและการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิอากาศด้วย

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมคืออะไร?

ในระดับชาติหรือภูมิภาค การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมคือกระบวนการทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในการจัดทำแผนงาน นโยบายและการลงทุนต่างๆ ที่นำไปสู่อนาคตซึ่งงานทุกประเภทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นธรรม ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความยากจนจะถูกกำจัดและชุมชนต่างๆ จะรุ่งเรืองและแข็งแกร่ง มาตรการของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่ได้รับการพัฒนาผ่านการเจรจาทางสังคมระหว่างหน่วยงานรัฐบาล ผู้ใช้แรงงาน และผู้จ้างงานจะสร้างความไว้วางใจกัน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิผล

สำหรับบริษัทต่างๆ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม คือกระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสถานประกอบการ ในการวางแผนและดำเนินงานเกี่ยวกับความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่อากาศ โดยอ้างอิงการเจรจาทางสังคมระหว่างผู้ใช้แรงงานและผู้จ้างงาน ในกรณีนี้คำว่า "ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสถานประกอบการ" นั้นรวมถึงหน่วยต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้วย จุดมุ่งหมายของกระบวนการดังกล่าวคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มปัจจัยการผลิตด้วยวิธีการคงสภาพและปรับปรุงการจ้างงาน การเพิ่มผลิตภาพทรัพยากรในทางบวกของแรงงานและชุมชนต่างๆ ในบริเวณที่บริษัทตั้งอยู่ให้ได้มากที่สุด และอำนวยความสะดวกให้บริษัททำการเพิ่มโอกาสทางการค้าจากการเปลี่ยนไปเป็นบริษัทคาร์บอนต่ำ

ทำไมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจึงสำคัญกับบริษัท? ไม่ได้สำคัญแก่ภาครัฐเพียงเท่านั้น

การดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ และไม่มีภาคส่วนหรือบริษัทใดๆ ได้รับการยกเว้น การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว และต่อไปเราจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมหนักลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศ อุตสาหกรรมการก่อสร้างและการคมนาคมกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว และภาคเกษตรกรรมและการบริการที่กำลังเปลี่ยนผ่านเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องเช่นกัน การวางแผนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องให้แรงงานมีส่วนร่วมในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงและทำให้แน่ใจว่าบริษัทและกำลังคนของบริษัท รวมถึงชุมชนต่างๆ ในบริเวณที่บริษัทตั้งอยู่มีทักษะ ปัจจัย และศักยภาพที่จำเป็นในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งการเจรจาทางสังคมและการร่วมเจรจาต่อรอง คือเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจะนำไปสู่เรื่องต่อไปนี้

- การลงทุนในตำแหน่งงานและโอกาสการจ้างงานดีๆ ในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ชุมชนปรับตัวรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้

- ความเคารพในผลงานของแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ซึ่งอยู่เบื้องหลังความเจริญรุ่งเรื่องในทุกวันนี้ และสนับสนุนพวกเขาเรื่องค่าจ้าง การคงการจ้างงาน หรือมอบโอกาสการจ้างงานใหม่แก่พวกเขา รวมทั้งรักษาเงินบำนาญแก่แรงงานอายุมาก

- รับรองว่าแรงงานจะได้ความคุ้มครองทางสังคมและได้รับสิทธิมนุษยชน

- ลงทุนในการสืบสานชุมชนเพื่อทำให้เกิดความหวังและความเชื่อมั่นในภูมิภาคและเมืองต่างๆ ในฐานะแนวหน้าของการเปลี่ยนผ่านเรื่องพลังงาน การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมและผลกระทบทางภูมิอากาศ

- สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เผยแพร่เพื่อการเปลี่ยนแปลงของบริษัทด้านพลังงานและภาคการผลิตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

- ทำให้แน่ใจว่าแรงงานและชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนระดับภาคส่วนต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงเมืองใหญ่ๆ

- ทำให้งานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ การฟื้นฟูชุมชน และการปรับตัวรับภัยพิบัติ ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นงานที่อยู่ในระบบ

- ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเจรจาทางสังคมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และต่อรองกับผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสถานประกอบการ ผลิตภาพของทรัพยากรและการพัฒนาทักษะของแรงงาน

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมนั้นมีวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อการดำเนินงานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องดีที่เห็นว่าหน่วยงานมากมายได้ปรับใช้แนวคิดนี้แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน การที่พวกเขาล้มเหลวในการรวมเรื่องความต้องการของผู้ใช้แรงงานหรือการเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขานั้น นับเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ฉะนั้นควรทำให้ผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมและชุมชนของพวกเขา เพื่อตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: