เตรียมแก้กฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 9075 ครั้ง

เตรียมแก้กฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์

เตรียมแก้กฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำสวนป่า ปลูกป่าไม้มีค่าที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและเป็นการเก็บเงินออมระยะยาวในรูปแบบสินทรัพย์ได้อีกทางหนึ่ง ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2561 ว่านายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ประชุมครั้งที่ 3 /2561 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561 เห็นชอบในหลักการการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งที่ประชุมยังเห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ที่ใช้มานานกว่า 70 ปี ในมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ยางนา และไม้มีค่าอื่นๆ รวมถึงไม้ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 106/2557 ที่ไม่ว่าขึ้นอยู่ที่ไหนในราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้าม ดังนั้นการทำไม้หรือนำไปใช้ประโยชน์ จึงต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายและประชาชนที่ปลูกไม้มีค่าเหล่านี้ในพื้นที่ของตนเอง จึงไม่สามารถตัดหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้

การประชุมในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำสวนป่า ปลูกป่าไม้มีค่า ที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นการเก็บเงินออมระยะยาวในรูปแบบสินทรัพย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่สำคัญต้นไม้มีค่าเหล่านี้ยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่รองรับนโยบายธนาคารต้นไม้ ซึ่งในปัจจุบันตลาดมีความต้องการไม้มีค่าในปริมาณที่สูง และคาดว่าในอีก 50-60 ปีข้างหน้าความต้องการไม้มีค่าจะมีค่าสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า และอาจมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงปลายปีนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: