รายงานพิเศษจากสื่อ 'ฐานเศรษฐกิจ' ระบุสงครามการค้าลามถึงไทยชัดยอด 9 เดือน มูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท สินค้าจีนนับสิบรายการทะลักเข้าไทยเพิ่ม ทำขาดดุลการค้าจีนพุ่ง 4.8 แสนล้าน สวนทางส่งออกไทยไปจีนฟุบ ยอด 9 เดือน โตแค่ 3.8% จับตาปลายปี 2561 นี้ถึงปี 2562 สินค้าจีนดัมพ์ราคาขายทั่วไทย-อาเซียน จี้ทุกฝ่ายรับมือ ที่มาภาพประกอบ: CHINA US Focus
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2561 ว่าสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนในอัตรา 10-25% ไปแล้ว 3 รอบ รวมกว่า 6,800 รายการ มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ด้านบวกจะทำให้สินค้าไทยหลายรายการได้อานิสงส์ส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง สินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เริ่มหันหัวทะลักมายังไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น และภาพเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
จากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจ ถึงการค้าระหว่างไทย-จีน พบว่า ไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ระบุ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกสินค้าไปจีน มูลค่า 22,246.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 3.8% (เทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ส่งออกไทยไปจีนขยายตัวสูงถึง 28.1%) ขณะที่ การนำเข้าของไทยจากจีนช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 36,907.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 13.8% (เทียบกับ 9 เดือนแรก ปี 2560 การนำเข้าของไทยจากจีนขยายตัวเพียง 4.3%) ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจีน 9 เดือนแรกปีนี้ 14,660.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 484,776 ล้านบาท (เทียบกับช่วง 9 เดือนแรก ปี 2560 ไทยขาดดุลการค้าจีน 10,994.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 389,720 ล้านบาท หรือขาดดุลเพิ่มขึ้น 95,056 ล้านบาท)
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปจีนช่วง 9 เดือน ที่ขยายตัวลดลง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จีนจะนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกต่อไปสหรัฐฯ และตลาดอื่น ๆ ได้แก่ ยางพารา (-32.6%) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (-10.9%) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-7.1%) แผงวงจรไฟฟ้า (-12.2%) เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 11-43% มีมากกว่า 10 รายการ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์โลหะ, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด, เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน และไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ เป็นต้น
นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนที่ลดลงในหลายกลุ่มสินค้าช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ เช่น ยางพารา, แผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนรถยนต์, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ มีความเชื่อมโยงจากไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปให้จีนไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปตลาดสหรัฐฯ และตลาดอื่น ๆ เมื่อสินค้าจีนสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงจากผลกระทบสงครามการค้า จึงส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนที่ลดลงในกลุ่มสินค้าข้างต้นด้วย
ขณะที่ สินค้าที่จีนจะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงจะถูกส่งมาขายในอาเซียน ซึ่งรวมทั้งไทย เพิ่มขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในตลาดการบริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้จีน เส้นทางขนส่งสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันจากสินค้าจีน ที่จะเข้ามาขายแข่งมากขึ้น ทั้งในเรื่องการลดต้นทุน การสร้างศักยภาพคน ลดภาระการใช้แรงงานที่มากเกินควร การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ทันสมัย แข่งด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนามาตรฐานโรงงาน และความปลอดภัยของคนงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเร่งหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่ม เช่น แอฟริกา
"การส่งออกไทยไปจีนเดือน ก.ย. ติดลบ 14% ซึ่งในเดือนที่เหลือปีนี้ คาดไทยจะส่งออกไปจีนได้ลดลงในบางสินค้า ที่แน่ ๆ คือ 'ยางพารา' ที่ราคายังต่ำ และจีนมีปัญหาในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราไปสหรัฐฯ"
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นอกจากแนวโน้มไทยจะส่งออกไปจีนได้ลดลงจากผลกระทบทางอ้อมสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนแล้ว มีแนวโน้มที่จีนจะส่งสินค้าในกลุ่มที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีแล้วกว่า 6,800 รายการ มาดัมพ์ขายราคาถูกในตลาดอาเซียน ซึ่งรวมทั้งไทย และในอนาคตหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนตามคำขู่ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะครอบคลุมสินค้าจีนทุกรายการที่ส่งไปสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น
"สินค้าจีนจะถูกระบายมาไทยและอาเซียนมากขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งปกติสินค้าจีนมีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกอยู่แล้ว เนื่องจากมีกำลังผลิตมาก ยิ่งตอนนี้เงินหยวนอ่อนค่า 9% สินค้าจีนยิ่งราคาถูกลงอีก เรื่องนี้ทุกกลุ่มสินค้าของไทย รวมถึงภาครัฐ ต้องเร่งหารือกันในการรับมือ เพราะสงครามการค้าส่อยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น"
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ