ไทยรั้งท้ายสัดส่วน ‘คนรุ่นใหม่’ ในรัฐสภา เหตุจากกฎหมาย-ระบบเลือกตั้ง-พรรค

ทีมข่าว TCIJ : 11 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 12721 ครั้ง

สหภาพรัฐสภาโลกจัดอันดับคนอายุต่ำกว่า 30 ปี ในรัฐสภา 126 ประเทศ ณ ปี 2015 พบไทยรั้งท้ายร่วมกับอีก 38 ชาติ (สนช.ไทย อายุ 45 ปี ขึ้นไปทั้งหมด) แม้บางประเทศ ‘คนรุ่นใหม่’ ก้าวสู่รัฐสภามากขึ้น แต่ภาพรวมของโลกพบว่ายังน้อยอยู่ สาเหตุหลักเพราะ ‘การจำกัดอายุ-คนรุ่นใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย-ระบบเลือกตั้งไม่เอื้อ’ ส่วนประเทศไทย คนรุ่นใหม่ยังคงเป็นความหวัง(ที่ไม่ใช่ความจริงอันใกล้)เพราะแนวโน้ม ส.ส.อายุน้อยลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่หลังปี 2544 ที่มาภาพประกอบ: Inter-Parliamentary Union

ข้อมูลจากรายงาน Youth participation in national parliaments 2016  ซึ่งเป็นรายงานฉบับล่าสุดของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ที่ได้ทำการศึกษาสมาชิกรัฐสภา 45,000 คน จากรัฐสภา 128 ประเทศ [ทั้งสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) และสภาสูง (วุฒิสภา) บางประเทศมีรัฐสภาเดี่ยว] ณ ปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) พบว่าสมาชิกรัฐสภาที่อายุน้อยกว่า 30 ปี มีเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น เมื่อพิจารณาโดยใช้เกณฑ์อายุ 40 ปี มีสมาชิกรัฐสภาที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ร้อยละ 14.2 ส่วนเกณฑ์อายุ 45 ปีมีสมาชิกรัฐสภาที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ร้อยละ 26

เมื่อพิจารณาจาก 126 ประเทศ พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนสมาชิกรัฐสภาอายุน้อยกว่า 30 ปี มากที่สุด 5 อันดับ 1.สวีเดน ร้อยละ 12.3 อันดับ 2.เอกวาดอร์ ร้อยละ 10.9 อันดับ 3.ฟินแลนด์ ร้อยละ 10.5 อันดับ 4.นอร์เวย์ ร้อยละ 10.1 และอันดับ 5 อันดอร์รา ร้อยละ 7.1 หากพิจารณาสัดส่วนฐานอายุของสมาชิกรัฐสภาที่ต่ำกว่า 40 ปี [เฉพาะสภาล่าง (หากเป็นระบบสองสภา) และระบบสภาเดียว] อันดับ 1.เดนมาร์ก ร้อยละ 41.3 อันดับ 2.อันดอร์รา ร้อยละ 39.3 อันดับ 3. เอกวาดอร์ ร้อยละ 38 อันดับ 4.ฟินแลนด์ ร้อยละ 37.9 และอันดับ 5.ภูฏาน ร้อยละ 36.1 และเมื่อพิจารณาสัดสวนฐานอายุของสมาชิกรัฐสภาที่ต่ำกว่า 45 ปี พบว่าอันดับ 1.โอมาน ร้อยละ 65.9 อันดับ 2.อันดอร์รา ร้อยละ 60.7 อันดับ 3.เซเชลส์ 59.6 อันดับ 4.ภูฏาน ร้อยละ 55.6 และอันดับ 5 นามิเบีย ร้อยละ 54.8

ส่วนประเทศในลำดับสุดท้ายที่ไม่มีสมาชิกรัฐสภาอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือไม่มีคนรุ่นใหม่เลยมีถึง 39 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ด้วย

ทำไมคนรุ่นใหม่ในโลกยังเข้าสู่การเมืองน้อย ?

สัดส่วนสมาชิกรัฐสภาของพม่าที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีมากกว่าประเทศอย่าง ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ (ข้อมูลระหว่างปี 2014-2015) โดยหนึ่งใน ส.ส. ที่อายุน้อยที่สุดในรัฐสภาพม่าคือ Zin Ni Ni Win (สุภาพสตรีที่นั่งท้ายเกวียน) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2012 เธอได้รับเลือกขณะอายุ 26 ปี ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ค Zin Ni Ni Win

ในรายงาน Youth participation in national parliaments 2016 ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้จำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เป็นคนรุ่นใหม่ในโลกยังมีน้อยอยู่นั้น สาเหตุประการแรก คือ คุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้ที่จะเป็นสมาชิกรัฐสภายังกำหนดไว้สูงกว่าคุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศต่าง ๆ จะกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็นสมาชิกรัฐสภาไว้ที่ 25 ปี 35 ปี และ 45 ปี และกำหนดคุณสมบัติอายุของผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาสูงหรือวุฒิสภาไว้ค่อนข้างสูง (ส่วนใหญ่ 35 ปีขึ้นไป) สาเหตุประการที่สอง คือ คนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยกว่าคนที่มีอายุมากกว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความรู้สึกห่างเหินจากกิจกรรมทางการเมืองในระบบ รวมทั้งไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

และสาเหตุประการที่สาม คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่เลือกบุคคลที่มีประสบการณ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ค่อยเลือกคนรุ่นใหม่ให้ลงสมัตรรับเลือกตั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการตัดโอกาสเข้าสู่รัฐสภา แต่สำหรับประเทศที่ประสบความ สำเร็จในการเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาคนรุ่นใหม่นั้น มักจะใช้ระบบการเลือกตั้งระบบสัดส่วน รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในประเทศที่มีประชาธิปไตย ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบมากชึ้น

ปัจจัยที่จะเพิ่มสัดส่วนคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา

สวีเดน ซึ่งประเทศที่มีสัดส่วน ส.ส.เป็นคนรุ่นใหม่มากที่สุดในโลก มีกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 25 ที่มาภาพประกอบ: thelocal.se

นอกจากนี้ในรายงาน Youth participation in national parliaments 2016 ยังได้แนะนำถึงหนทางที่จะเพิ่มจำนวนคนรุ่นใหม่ในรัฐสภาไว้ดังนี้  ต้องใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน เพราะจะทำให้การเลือกตั้งมีลักษณะเปิด ทำให้ได้ตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง และจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างสมดุลกัน ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในระบบเสียงส่วนใหญ่ที่เน้นได้ผู้ชนะเพียงคนเดียว ที่ผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวไม่ค่อยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคในการลงเลือกตั้ง ทั้งนี้ พบว่าประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จะมีจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เป็นคนรุ่นใหม่มากกว่าประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมถึง 2 เท่า และมากกว่าประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ 15-20 เท่า

ต้องลดเกณฑ์อายุสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 90 ของประเทศที่ได้ทำการสำรวจนี้ กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ 18 ปี แต่ร้อยละ 65.1 กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้สูงกว่าอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บางประเทศผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องรออีก 2-3 ปี ถึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่โดยส่วนใหญ่จะมีระยะห่างมากกว่า 7 ปีขึ้นไป

ต้องออกแบบระบบเลือกตั้งให้เอื้อ เช่น การกำหนดสัดส่วนที่นั่งสำหรับสมาชิกรัฐสภาคนรุ่นใหม่ (reserved seats) เช่น รวันดา กำหนดสัดส่วนที่นั่งในรัฐสภาให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ไว้ร้อยละ 7.7 ประเทศเคนยากำหนดสัดส่วนที่นั่งในสภาล่างให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ไว้ร้อยละ 3.4 เป็นต้น กำหนดสัดส่วนโดยกฎหมาย (legislated quotas) เช่น ฟิลิปปินส์ มีกฎหมายกำหนดให้ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อต้องมาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งเยาวชน ในศรีลังกามีกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นสตรีและคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี ต้องมีสัดส่วนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด เป็นต้น และการกำหนดสัดส่วนให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ (party quotas) เช่น สวีเดน (ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วน ส.ส.เป็นคนรุ่นใหม่มากที่สุดในโลก) กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 25 เป็นต้น

อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการเข้าสู่การเมืองของประเทศที่น่าสนใจ


อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประเทศส่วนใหญ่ในการสำรวจ (รวมทั้งไทยด้วย) มักจะให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ประชาชนที่อายุขั้นต่ำไว้ที่ 18 ปี ส่วนฐานอายุอื่น ๆ ของประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้:

16 ปี และ 17 ปี อาร์เจนตินา ออสเตรีย บราซิล คิวบา เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และนิการากัว

19 ปี เกาหลีใต้

20 ปี บาห์เรน

21 ปี เลบานอน

23 ปี มาเลเซีย โอมาน 

การเข้าสู่การเมืองระดับประเทศ คุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาจะกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ไว้ที่ 18 ปี  25 ปี (สำหรับสภาล่าง) และ 35 ปี (สำหรับสภาสูง)

 

คนรุ่นใหม่ในไทยเข้าสู่การเมืองน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกิดจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ปี ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกิดจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ล้วนแล้วแต่มีอายุเกิน 45 ปี ทั้งสิ้น โดยค่าเฉลี่ยอายุของ สนช. ทั้งสภาอยู่ที่ 64 ปี ขณะที่คนวัยเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 185 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของทั้งสภานิติบัญญัติ [1]

ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูสถิติการเลือกตั้งครั้งหลังสุดจาก ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 พบว่าในการเลือกตั้งปี 2554 จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ) จำแนกตามช่วงอายุ จากผู้สมัครรวม 1,410 คน มีผู้ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี เพียง 85 คน (ร้อยละ 6.03) อายุ 31-40 ปี มี 167 คน (ร้อยละ 11.84) ที่เหลือร้อยละ 82.13 เป็นผู้สมัครอายุ 41-มากกว่า 80 ปี ส่วนจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ส.ส.แบบแบ่งเขต) จำแนกตามช่วงอายุ จากผู้สมัครทั้งหมด 2,422 คน พบว่ามีผู้ลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต อายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี เพียง 116 คน (ร้อยละ 4.79) อายุ 31-40 ปี มี 377 คน (ร้อยละ 15.57) ที่เหลือร้อยละ 79.64 เป็นผู้สมัครอายุ 41-มากกว่า 80 ปี

ได้รับเลือกน้อยลงด้วย

เมื่อพิจารณาผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ยิ่งน่าตกใจ พบว่าตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2544 เป็นต้นมา สัดส่วนของ ส.ส.ที่เป็นคนรุ่นใหม่ลดลงเรื่อย ๆ โดยในการเลือกตั้งปี 2544 มีผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่มีอายุระหว่าง 25-39 ปี จำนวน 117 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.40 จากจำนวนทั้งหมด 500 คน ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 มีผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่มีอายุระหว่าง 25-39 ปี จำนวน 74 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.80 จากจำนวนทั้งหมด 500 คน ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2550 มีผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี จำนวน 79 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.46 จากจำนวนทั้งหมด 480 คน และในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดในปี 2554 มีผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มีอายุระหว่าง 25-40 ปี จำนวน 66 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.20 จากจำนวนทั้งหมด 500 คน

โดยในบทวิเคราะห์ 'คนรุ่นใหม่กับการเป็นสมาชิกรัฐสภา' โดยอรณิช รุ่งธิปานนท์, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร, ธ.ค. 2560  ได้ระบุว่าสำหรับประเทศไทยภายหลังการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปการเมืองและประชาชนต้องการนักการเมืองหน้าใหม่เข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเก่าของประเทศ อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในระยะหลัง คนรุ่นใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนลดลง โดยเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองและการรัฐประหาร ที่ทำให้การพัฒนาทางการเมืองในวิถีประชาธิปไตยหยุดชะงัก เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในการทำงานของสมาชิกรัฐสภารุ่นใหม่ ๆ และก่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่จูงใจให้คนรุ่นหนุ่มสาวเข้ามาสู่ระบบการเมือง

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ปรับปรุงเรื่องอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเดิมที่กำหนดให้ต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค. ของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็นอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง แต่กระนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่ได้ปรับลดคุณสมบัติอายุของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อายุของขั้นต่ำผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไว้ที่ 25 ปี ส.ว. 40 ปี รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอยู่ที่ 35 ปี) เหมือนกับบางประเทศที่มีความก้าวหน้าและผลักดันคนรุ่นใหม่เข้าสู่การเมืองในประเทศ

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] ใครออกกฎหมาย? 2: ส่องสนช. ‘สภาอาวุโส’ วัยหลังเกษียณ 75% พบแก่สุด 92 ปี อ่อนสุด 51 ปี (iLaw, 5/2/2560)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ช่วงอายุไหนได้รับเลือกมากที่สุด?

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: