บันทึก: เมื่อระบบขนส่งมวลชนในอังกฤษนั้นแสนจะง่ายต่อการโกง (ตอนที่ 1)

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข: 12 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2641 ครั้ง


อนึ่ง บทความนี้ตั้งใจที่จะเล่าถึงช่องว่าง หรือ รูหนอนในระบบบริหารจัดการขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐานของประเทศอังกฤษ ไม่ใช่มุ่งจะเชิญชวนให้คนไทย หรือนักเรียน นักศึกษาจากประเทศไทยให้ทดลองไปโกง หรือ ทุจริตทางการเงินอะไรกับงานขนส่งมวลชนสาธารณะของประเทศนี้ หากแต่เพื่อที่จะฉายภาพให้เห็นถึงช่องว่าง และรอยรั่วทางระบบการบริหารจัดการในตัวบริษัทและงานขนส่งของประเทศนี้เพียงเท่านั้น โดยบทความนี้จะมี 2 ตอนที่ต่อเนื่องกัน คือ รถเมล์ และรถไฟ (จริงๆจะกล่าวถึงโรงภาพยนตร์ด้วยก็ได้ แต่ก็ไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าใด)

ชิ้นนี้จะกล่าวถึง รถเมล์ (ขออนุญาตใช้ภาษาง่ายๆว่า รถเมล์ แทนรถโดยสารประจำทางตามภาษาเขียนทั่วๆไป) คือรถเมล์ที่อังกฤษนี้ในหลายๆจังหวัดมันจะถูกถือสัมปทานโดยกลุ่มบริษัท Stagecoach ซึ่งราคาของการขึ้นรถเมล์ในแต่ละครั้งก็จะมีอยู่ 6-7 รูปแบบ (แต่ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆก็จะมีเพียงแค่ 6 รูปแบบ [ใน Lancaster]) คือ:

  1. Single tickets คือ ตั่วแบบที่ตีรอบเดียว ใช้ได้ครั้งเดียวไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม ลงจากรถเมื่อไรจะไม่สามารถขึ้นมาได้อีก ถ้าขึ้นอีกก็ต้องซื้อตั๋วอีกใบ (ตั๋วประเภทนี้จะแพง เพราะทางบริษัทมักตั้งใจจะขายแบบตั๋วไป-กลับมากกว่า)
  2. Return tickets เป็นตั๋วประเภทไป-กลับ นั่นคือใช้ได้ 2 ครั้ง ขาไปและขากลับ ขากลับนั้นทันทีที่ผู้โดยสารขึ้นรถ คนขับก็จะดึงตั่วไปฉีกทิ้งทันที หรือทำรูบนตั๋วเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าใช้งานไม่ได้อีก (เทียบกันแล้วราคาก็จะถูกกว่าแบบ Single และคนก็จะนิยมซื้อแบบนี้มากกว่า หากไม่ใช่เป็นการใช้รถเมล์เพื่อเดินทางไปค้างแรมที่อื่น)
  3. ตั๋วประเภทรายสัปดาห์ คือซื้อละใช้ได้ทั้งสัปดาห์ อันนี้ก็จะสำหรับคนที่ต้องใช้รถเมล์ทุกวัน เช่น กลุ่มคนที่จำเป็นต้องเดินทางไป-กลับระหว่างมหาวิทยาลัย หรือที่ทำงาน กับที่พักอาศัยทุกวัน
  4. Dayrider tickets อันนี้ก็จะเป็นตั๋วที่อาจจะแพงสักหน่อย เป็นตั๋วประเภทใช้ได้กี่รอบ กี่ครั้งก็ได้ ภายใน 1 วันนั้นๆ ขึ้นกี่รอบก็ได้ หรือใช้เดินทางไปที่ไหนก็ได้
  5. Under 19 tickets (ไม่ทราบแน่ชัดว่าคนอื่นเรียกตั๋วประเภทนี้กันว่าอะไร แต่ในหมู่คนขับรถบัส รถเมล์เขาเรียกกันจนติดปากว่าอย่างนี้) ตั๋วนี้ก็มีคุณสมบัติตามชื่อตั๋วเลย คือขายสำหรับเด็ก วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปีลงไป (พูดง่ายๆก็คือตั๋วสำหรับเด็กมัธยม)
  6. ตั๋วประเภทรายเทอมการศึกษา สำหรับนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย (มี 3 เทอม) ก็จะตกอยู่ที่ราคาเหมาจ่ายเป็นรายเทอม (แต่เอาจริงๆตั๋วประเภทนี้ถ้าไม่ได้ใช้รถเมล์ทุกวัน หรือสัปดาห์หนึ่งหากใช้รถเมล์ไม่เกิน 3 วันต่อสัปดาห์ก็ไม่ควรซื้อเพราะไม่คุ้มค่ากับราคา และยิ่งหากใครที่มหาวิทยาลัยอยู่ภายในตัวเมืองไม่ได้ตั้งอยู่นอกตัวเมืองก็แทบไม่จำเป็นต้องมีบัตรรถเมล์รายเทอมนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะบัตรก็ไม่ใช่บัตรที่สามารถใช้เดินทางไปทั่วทุกเขตได้ และมีกำหนดเงื่อนไขการใช้งานอยู่ตามเขตการใช้งาน กล่าวคือเมื่อเดินทางไปยังเมืองอื่น หรือเขตการดูแลของ County อื่นก็มีโอกาสที่จะใช้งานไม่ได้)

ความน่าแปลกใจมันอยู่ที่ว่าตั๋วประเภทที่ 5 (Under 19) นี้เนี่ย ราคาจะถือว่าถูกมากๆ (ถูกกว่าตั่วในเกือบทุกประเภท เมื่อเทียบกันในเชิงคุณสมบัติของตั๋ว) ทีนี้มีเพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นแขกมาจากอินเดีย ก็ชอบไปแกล้งทำทีเป็นพูดว่าขอซื้อตั๋วสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 16-18 ปี คนขับก็จะออกตั๋วให้ทันที สำหรับในเคสที่ Lancaster นั้นราคาจะอยู่ที่ 2.5 ปอนด์ จากราคาผู้ใหญ่ที่ 5-6 ปอนด์ (ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยก็จะใช้รถเมล์เข้าเมืองกันอย่างต่ำ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งหนึ่งเพื่อเข้าไปจับจ่ายซื้อของสดในตลาด อีกครั้งหนึ่งเพื่อเข้าไปปาร์ตี้ ฉลองดื่มกินในโอกาสต่างๆทุกคืนวันศุกร์ หรือวันเสาร์)

ซึ่งคนขับรถเมล์เนี่ย ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ก็มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะเช้าชามเย็นชาม ทำงานไปวันๆ บวกกับความที่ส่วนใหญ่นั้นคนบริติชเป็นผู้ที่อัธยาศัยดี เป็นมิตร ไม่มีทางที่จะมาทำท่าสงสัย หรือประเภทโยนคำถามมาว่า "เฮ้ย ยูหน้าแก่จัง อายุต่ำกว่า 18 จริงหรือเปล่า" หรือ "เฮ้ย ไหนขอตรวจดูบัตรหน่อยสิ(ว่าอายุต่ำกว่าเกณฑ์จริงไหม)" เหตุการณ์แบบนี้จึงไม่มีวันเกิดขึ้นเพราะ เสียเวลา และคนขับเองก็ต้องรีบทำเวลา ต้องรีบวิ่งรถ ไม่งั้นก็จะไม่สามารถทำเวลาให้ตรงตามที่ GPS สั่ง และก็อาจจะมีปัญหาตามมาอีกเป็นทอดๆ เช่น ถ้าส่งรถเข้าป้าย หรือสถานีขนส่งไม่ทันตามที่จอสัญญาณแจ้งไว้ ก็จะทำให้การเดินทางช้าลงไปเป็นทอดๆ ตรงนี้ก็เป็นช่องว่างจุดหนึ่งที่ระบบขนส่งมวลชนที่อังกฤษนี้เปิดทิ้งไว้

นอกจากนี้ ความสะเพร่าอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพบ ตอนเดินทางไปเที่ยวต่างเมืองก็คือ เมื่อวันหนึ่งผู้เขียนเผลอหยิบเอาตั๋วรถเมล์ของ Lancaster ไปใช้ที่เมืองอื่น โดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วคนขับรถเมล์ก็ไม่ได้สนใจอะไร (จริงๆตั๋วต่างเมือง หรือซื้อจากคนละเมืองจะไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เช่น ตั๋ว Stagecoach จาก Lancaster จะไม่สามารถนำไปใช้กับ Stagecoach ที่ Manchester ได้) ผู้เขียนจึงให้เพื่อนหลายๆคนทดลองทำแบบเดียวกันหลายๆครั้งดู พบว่าจาก 100 ทั้ง 100 คนขับไม่เคยได้สังเกต และไม่เคยตรวจสอบเลย น้อยครั้งนักที่จะหยิบไปดู ไปอ่าน (เพราะก็คือเสียเวลานั้นแล)

โดยในวันนั้นตอนนั้นมารู้ตัวเองทีหลังว่าไม่ได้เอาตั๋วของ Manchester ยื่นไปให้คนขับ แต่เอาตั๋วLancaster ที่ซื้อไว้เมื่อตอนเช้าก่อนมายื่นไปให้ แต่เขาก็รับไปเช็ค และส่งคืนมา นี้ก็เป็นอีก 1 รูหนอน จากพฤติกรรมที่ค่อนข้างสะเพร่าของคนทำงานที่นี่ จนเกิดเป็นช่องว่างให้คนสามารถคดโกงเอาไปใช้หาประโยชน์ได้ง่ายๆ จริงๆรถเมล์ที่ London ก็สะเพร่าไม่แพ้กัน คือมีกล้องวงจรปิดไว้ละก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใด (คือ โครงสร้างทางกายภาพของรถเมล์ที่ London มันจะมี 2 ประตูสำหรับผู้โดยสาร คือทางหน้ารถตรงห้องคนขับ กับกลางลำตัวของรถ ซึ่งมันก็มักจะมีคนลักไก่แอบขึ้นประตูตรงกลางรถมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ คนขับก็ไม่ได้สนใจอะไรเรื่องการจ่ายเงิน)

ทั้งนี้ทั้งนั้นสาเหตุของความสะเพร่าของคนปะเทศนี้ก็มีสาเหตุที่เป็นไปได้อยู่ 2 ประการหลักๆ คือ มีความขี้เกียจ, ความเฉื่อยชาค่อนข้างสูง จึงไม่ค่อยได้มีความกระตือรือร้นอะไรกับการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทตัวเองนัก และค่าโดยสารรถเมล์นั้นไม่ใช่เงินจำนวนมากมายที่อาจกระทบถึงตัวรายได้บริษัท ถ้ามองในแง่ของการขาดรายได้จากหน่วยย่อยจำนวนเล็กน้อยนี้ (พูดให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือว่า อาชีพคนขับรถเมล์ในอังกฤษนั้นเป็นอาชีพที่มีการทำสัญญาเป็นรายปี และมีเงินเดือน มีโบนัส มีวันหยุด สวัสดิการที่แน่นอนและมั่นคงอาชีพหนึ่ง รายรับโดยรวมอาจแตะได้ถึง 1 ล้านบาทไทย ต่อปี) หรือสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นไปได้ก็คือ คนอังกฤษนั้นมองว่าตนเองมีศีลธรรมค่อนข้างสูง และเถรตรงกับซื่อสัตย์จนเกินไป จนคิดว่าโลกนี้อาจจะไม่มีคนคิดหาประโยชน์จากช่องว่างเหล่านั้นก็เป็นได้

(ในตอนหน้าจะเป็นการเป็นกล่าวถึงขนส่งมวลชนกลุ่มรถไฟ)


 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: psteph (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: