รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเปิดเผยว่าบริษัท อูเบอร์ เทคโนโลยี อิงค์ (Uber) ได้ตกลงขายกิจการเกือบทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่ง บริษัท แกร็บ อิงค์ (Grab) โดย Uber จะได้ถือหุ้นในแกร็บเป็นการแลกเปลี่ยนที่มีสัดส่วนราว 30% นับเป็นการจบศึกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นที่ยืดเยื้อมาตลอดหลายปีในอาเซียน โดยข้อตกลงอยู่ระหว่างการสรุปในรายละเอียดขั้นสุดท้าย
อย่างไรก็ตามข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยให้ Uber สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกหุ้นเสนอขายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกได้ในปี 2562 ตามแผนที่วางเอาไว้ได้ หลังจากบริษัทประสบภาวะขาดทุนถึง 4,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 แสนล้านบาท) ในปี 2560 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้Uber ได้ทุ่มงบประมาณถึงราว 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 6,300 ล้านบาท) เพื่อแข่งขันในตลาดอาเซียนกับคู่แข่งรายใหญ่ เช่น Grab จากสิงคโปร์ และ Gojek หรือธุรกิจเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นจากอินโดนีเซีย ที่เพิ่งระดมทุนได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.13 หมื่นล้านบาท)
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา Grab ระดมทุนได้ถึงราว 2,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.84 หมื่นล้านบาท) จากนักลงทุนทั่วโลกซึ่งรวมถึงบริษัท ซอฟต์แบงก์ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาในช่วงต้นปี 2561 ซอฟต์แบงก์ได้เข้าซื้อหุ้น 15% ในอูเบอร์ เป็นมูลค่า 7,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.41 แสนล้านบาท) ทำให้ซอฟต์แบงก์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในธุรกิจเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น
สำหรับตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดที่มีประชากรมากกว่า 640 ล้านคน พื้นที่นี้ Grab ครองสถิติผู้ขับมากกว่า 2.3 คน โดยขณะนี้ Grab กำลังขยายไปสู่บริการชำระเงินแบบดิจิทัล ล่าสุด Grab ถูกประเมินว่ามีมูลค่าตลาดประมาณ 6 พันล้านเหรียญ ซึ่งได้รับเงินทุนจาก China Investment Corp ที่ร่วมทุนระหว่าง GGV Capital และบริษัทย่อยของเทมาเสก (Temasek Holdings) ยักษ์ใหญ่สิงคโปร์ อย่าง Vertex Ventures ด้วย
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: Rappler, 9/3/2018
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ