สื่อเผยเด็กเรียนกวดวิชาน้อยลง สถาบันรายได้หด

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 5351 ครั้ง

สื่อเผยเด็กเรียนกวดวิชาน้อยลง สถาบันรายได้หด

รายงานพิเศษจาก 'ฐานเศรษฐกิจ' เผยโรงเรียนกวดวิชายักษ์ใหญ่ซีด รายได้วูบ 30-40% หลังผู้เรียนลดกว่าครึ่ง เร่งปรับแผนปิดสาขาลดต้นทุน ชี้ปัจจัยมาจากเด็กเกิดใหม่น้อย เศรษฐกิจฝืดเคือง แห่เรียนออนไลน์เพิ่ม ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพ TCIJ

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเมืองไทยซึ่งมีมูลค่ารวมราว 1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ โดยส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% เป็นของโรงเรียนกวดวิชาที่มีเชนสาขากระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลัก รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการเต็มรูปแบบ ทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระแสนิยมในการเรียนกวดวิชาเป็นตัวผลักดันให้กรมสรรพากรต้องลงมาดูถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีในเวลาต่อมา

ล่าสุดพบว่าเชนโรงเรียนกวดวิชากำลังเผชิญกับวิกฤติอีกครั้ง เมื่อผลประกอบการลดลง 30-40% จากจำนวนผู้เรียนที่หายไปกว่า 50% ทำให้ต้องเร่งปรับตัวอย่างหนัก บางรายต้องปิดสาขาที่มีผู้เรียนน้อย ขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง จนเกิดภาวะขาดทุน อีกทั้งยังพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมาโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่ไม่มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดกำไร หลังจากที่มีภาระค่าใช้จ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากรด้วย

แหล่งข่าวผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชารายใหญ่กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนกวดวิชาใหม่ ๆ เกิดขึ้นน้อยมาก ขณะที่รายใหญ่ก็ชะลอการขยายสาขา บางรายถึงกับปิดสาขาหรือควบรวมสาขาเพื่อลดต้นทุน ซึ่งวันนี้จะเห็นแหล่งกวดวิชาขนาดใหญ่ที่มีโรงเรียนกวดวิชาเข้าไปเปิดให้บริการเริ่มติดป้ายปิดทำการ/ย้ายสาขา/เซ้งระยะยาว จากเดิมที่มีนักเรียนจำนวนมากเดินเข้า-ออก เพื่อเรียนกวดวิชาภาพเหล่านี้วันนี้ไม่มีแล้ว

หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบพบว่ามีปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่จำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดน้อยลง ส่งผลให้มีผู้ที่อยู่ในวัยเรียนน้อยลง, สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ขณะที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ปกครองลดค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษและกวดวิชาลง เพราะการเรียนแต่ละคอร์ส (รายชั่วโมง) มีค่าใช้จ่ายที่สูงราว 3,000-8,000 บาท

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่มีภาระต้องจ่ายภาษีทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การแข่งขันที่สูงทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าเรียนได้ จึงต้องแบกรับภาระไว้เอง และเลือกที่จะหันไปลดต้นทุนในด้านอื่น ๆ แทน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ให้ความนิยมเรียนกวดวิชาแบบตัวต่อตัวมากขึ้นเพราะเชื่อว่าได้ผลลัพท์ดีกว่า ส่งผลให้เกิดติวเตอร์หน้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่การกวดวิชาผ่านโลกออนไลน์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะความสะดวกสามารถเลือกเรียนได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเรียนเวลาใด สถานที่ใด และมีค่าใช้จ่ายต่ำ

“ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างมาก ทำให้โรงเรียนกวดวิชารายใหญ่ต้องเร่งปรับตัว แตกต่างกับรายกลางและเล็กที่มีความยืดหยุ่นได้มากกว่า ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาห้องแถวที่เปิดสอนกลุ่มเด็กประถมในพื้นที่ใกล้เคียงยังคงมีการเติบโต”

ด้านนายแมทธิว กิจโอธาน ประธานกรรมการวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย กล่าวว่าผลประกอบการโดยรวมของวอลล์สตรีท อิงลิช ในช่วงที่ผ่านมา ลดลงราว 40% จากเดิมที่เคยมีรายได้ 700 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียง 400 ล้านบาท เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้กำลังซื้อไม่ดี ผู้ปกครองชะลอการจับจ่าย ขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนของวอลล์สตรีทเป็นการขายคอร์สแบบ Level ทำให้ผู้เรียนต้องเรียนเป็นลำดับชั้น การตัดสินใจเรียนจึงยากขึ้น

อย่างไรก็ดี ล่าสุดวอลล์สตรีทได้ปรับรูปแบบการขายเป็นรายเดือน ทำให้ผู้เรียนสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในการเรียนได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางการทำตลาดให้มากขึ้น ทำให้เชื่อว่าในสิ้นปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 700 ล้านบาทเท่าเดิม และตั้งเป้ามายที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีนับจากนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: