'สมาคมดิวตี้ฟรี' ขอให้ 'ทอท.' เปิดจุดส่งมอบสินค้า

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2260 ครั้ง

'สมาคมดิวตี้ฟรี' ขอให้ 'ทอท.' เปิดจุดส่งมอบสินค้า

'สมาคมดิวตี้ฟรี' ขอให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าตามคำสั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุหากไม่ปฏิบัติตามเตรียมดำเนินการตามกฎหมาย

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้เรียกร้องเพื่อให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick-up counter) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรได้ใช้ร่วมกัน และให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้เหตุผลว่าการที่ ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้ตั้งจุดส่งมอบสินค้าอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติหรือปิดกั้นเสรีทางการค้า และเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และอาจเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ

นางรวิฐา กล่าวอีกว่า เนื่องจากในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนนักลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีมาลงทุนในประเทศไทย ต่อมาบริษัท “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรชื่อดังระดับโลกจึงสนใจ มาลงทุน โดยในขณะนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม การันตีว่าสามารถขอใช้พื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้า ปลอดอากรในพื้นที่สนามบินนานาชาติที่อยู่ภายใต้การบริหารของ ทอท.ได้ทุกแห่ง แต่เมื่อ “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” ได้ใบอนุญาตให้เปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองจากกรมศุลกากร โดยเปิดที่ศูนย์การค้าโชว์ ดีซี กลายเป็นว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ คือ ทอท.ไม่ยอมดำเนินการให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

“ที่ผ่านมา ทอท.ปฏิเสธ อ้างว่าพื้นที่แออัด และติดสัญญาสัมปทานกับผู้ประกอบการรายหนึ่ง ต้องรอจนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2563 ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวของ ทอท. ถือเป็นการให้ความสำคัญกับสัญญาเหนือกว่ากฎหมาย ทั้งที่ในสัญญาสัมปทานมี ข้อ 25 ซึ่งเป็นข้อสงวนสิทธิ ของ ทอท. ผู้ให้สัมปทานเป็นการเฉพาะระบุว่า “การดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานดังกล่าว หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ หรือมีการตีความเงื่อนไขสัญญา ให้ ทอท. และผู้รับอนุญาตร่วมหารือเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ กรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันให้ความเห็น หรือทางเลือกของ ทอท. ถือเป็นที่สุด” แต่เหตุใด ทอท.ถึงไม่ใช้ข้อสงวนสิทธินี้ เพื่อปฎิบัติตามกฎหมาย โดยที่ไม่ต้องไปยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการรายใดที่มีจุดส่งมอบสินค้าอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ ทอท. อีกด้วย” นางรวิฐา กล่าว

นางรวิฐา กล่าวต่อไปว่า อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมา ทอท.เคยอนุญาตให้ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดจุดส่งมอบสินค้าได้ จึงเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและแจ้งไปยัง ทอท. ให้ดำเนินการดังนี้ 1.ให้ ทอท.จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการจัดทำบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ในรูปแบบบริการสาธารณะ เพื่อที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายอื่นจะสามารถประกอบกิจการได้ 2.ให้ ทอท.ประสานกับคู่สัญญา เพื่อให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ประสงค์จะส่งมอบสินค้าปลอดอากรแก่ผู้ซื้อ ณ จุดส่งมอบสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้ ทอท.เป็นผู้ประสานระหว่างคู่สัญญากับผู้ประกอบการรายอื่นที่ประสงค์จะใช้จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินอาศัยอำนาจตามมาตรา 34 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัด หรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลใด ให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการให้เป็นไปตามคำเสนอแนะนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น

นางรวิฐา กล่าวด้วยว่า ถึงแม้คำวินิจฉัย หรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่มีสภาพบังคับ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีหน่วยงานใดไม่ทำตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา และเมื่อมีคำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นที่สุดแล้ว หาก ทอท. ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางสมาคมฯ ในฐานะผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม เพราะสมาคมฯ จะไม่ยอมให้ ทอท. อ้างสัญญาสัมปทาน เพื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม หาก ทอท. ยอมปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทุกอย่างถือเป็นอันยุติ เพราะถือว่า ทอท. ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: