5 พันธมิตรประกาศลดใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2238 ครั้ง

5 พันธมิตรประกาศลดใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์

5 พันธมิตรด้านปศุสัตว์ผนึกกำลัง เพื่อให้สินค้าปศุสัตว์เป็นอาหารปลอดภัย พร้อมประกาศเจตนารมณ์ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ ที่มาภาพประกอบ: Hans (CC0)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ฯ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สัตวแพทยสภา สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก และสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกร ประกาศเจตนารมณ์ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ ตั้งเป้าจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2564 ในงานสัมมนาหลักสูตร “มุ่งมั่นรวมใจ สินค้าปศุสัตว์ไทย ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ"

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ถือเป็นปัญหาสำคัญ และกำลังอยู่ในความสนใจระดับนานาชาติ ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังบรรจุโครงการ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์” ลงในแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยปี 2560-2564 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ที่จะลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2564 อีกทั้งกรมปศุสัตว์ยังมีหน้าที่ตรวจประเมิน รับรอง กำกับ ดูแล การผลิตสินค้าปศุสัตว์ทั้งห่วงโซ่ โดยเริ่มตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน รวมถึงสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ที่เป็นภาคส่วนที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ และในส่วนของโรงฆ่าสัตว์ สถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ เป็นภาคส่วนที่มีการตรวจสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมปศุสัตว์บรรจุกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการกำกับ ดูแล เช่น พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ มีการระบุสารต้องห้ามที่ห้ามผสมในอาหารสัตว์ ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการขอรับและออกใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ หรือมาตรฐานฟาร์ม มีการระบุบทลงโทษในกรณีที่ตรวจพบสารตกค้างหรือสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการขอรับและออกใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มีการระบุบทลงโทษในกรณีที่ตรวจพบสารตกค้างหรือสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม โดยอาจจะพักใช้หรือเพิกถอนใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม Monitoring plan เพื่อเฝ้าระวังสารตกค้างที่มีการเก็บตัวอย่างสินค้าส่งตรวจทั้งจากโรงฆ่าสัตว์ รวมถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ และขอย้ำว่ากรมปศุสัตว์จะเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสินค้าปศุสัตว์ รวมถึงการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในสินค้าปศุสัตว์สำหรับผู้บริโภค

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: