ไทยเปิด 'ห้องระบายความก้าวร้าว' รองรับผู้ป่วยเสี่ยงทำร้ายตัวเอง-คนอื่น

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4184 ครั้ง

ไทยเปิด 'ห้องระบายความก้าวร้าว' รองรับผู้ป่วยเสี่ยงทำร้ายตัวเอง-คนอื่น

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พบผู้ป่วยจิตเวชใน กทม.มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง มีความเสี่ยงสูงทำร้ายตนเองหรือคนอื่น เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินวันละ 30 กว่าคน เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตดูแลเฉพาะเป็นต้นแบบแห่งแรกในประเทศ มีห้องสลายความเครียด ระบายความก้าวร้าว มาตรฐานปลอดภัยอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ลงได้ภายใน 3 วัน พร้อมทั้งเปิดบริการ รพ.กลางวันฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังใน กทม.แบบเช้าไปเย็นกลับ ให้พึ่งตนเอง มีอาชีพ ที่มาภาพ: thaipost.net

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 ว่านาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กทม. หรือชื่อคุ้นหูคือหลังคาแดง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย ในปี 2561 ว่า สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงพยาบาล(รพ.)เฉพาะทางจิตเวชแห่งแรกที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศปัจจุบันอายุ 129 ปี ให้การรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในเขต กทม.ทั้งหมดที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน และยังเป็นสถาบันวิชาการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชในระดับประเทศ มีเตียงรับผู้ป่วย 500 เตียง หรือร้อยละ 70 ของเตียงจิตเวชใน กทม.ที่มี 700 เตียง ดูแลผู้ป่วยทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและในเฉลี่ยวันละ 900-1,000 คน และเป็น รพ.จิตเวชแห่งเดียวที่เปิด รพ.กลางวัน ให้การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังแบบเช้าไปเย็นกลับ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ พบว่า มีผู้ป่วยชายที่อาการกำเริบก้าวร้าวรุนแรง มีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ซึ่งจัดเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินวันละ 30 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) และผู้ที่ใช้สารเสพติด เช่นเหล้า ยาบ้า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มากกว่าผู้ป่วยหญิงประมาณ 2 เท่าตัว จึงได้พัฒนามาตรฐานบริการโดยเปิดหอผู้ป่วยวิกฤตจิตเวชหรือพีไอซียู (Psychiatric Intensive Care Unit : PICU) ขนาด 20 เตียง เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายให้ผู้ป่วยทุกคน พบว่าได้ผลดีมาก สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการสงบภายใน 3 วัน เร็วกว่าหอผู้ป่วยทั่วไปที่ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน มีความปลอดภัยและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกายจิตสังคมได้เร็ว นับเป็น รพ.ต้นแบบแห่งแรกในประเทศที่มีมาตรฐานอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีนโยบายจะขยายผลใช้ใน รพ.จิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนได้รับบริการที่มีมาตรฐาน เป็นมิตร มีความอบอุ่น ปลอดภัย คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วยอย่างดีที่สุด

ทางด้านนายแพทย์นพดล วาณิชฤดี รักษาราชการผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า หอผู้ป่วยวิกฤตจิตเวชเริ่มให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา มีทีมงานสหวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิดประกอบด้วยจิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เภสัชกร นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะวางแผนดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยแต่ละคนร่วมกันและประเมินผลการรักษาทุกวันจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยในระยะวิกฤต โดยมีห้องเฉพาะที่ออกแบบให้เอื้อต่อการสงบสติอารมณ์ มีความปลอดภัยสูง ผนังห้องและพื้นบุด้วยวัสดุนุ่ม ภายในห้อง ไม่มีสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถหยิบฉวยมาเป็นอาวุธได้ และจัดอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยใช้ระบายความก้าวร้าวรุนแรง หรือสลายความเครียด เช่นกระสอบทรายแบบนุ่ม ลูกบอลล้มลุก ส่วนห้องน้ำผู้ป่วยใช้ฝักบัวฝังติดผนัง กระจกส่องหน้าเป็นอะลูมิเนียมไม่แตก ในปี 2560 ให้บริการ 543 คน ครึ่งหนึ่งเป็นโรคจิตเภท อีกร้อยละ 24 เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สาร เสพติด และเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 6

นายแพทย์นพดล กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่อาการเข้าข่ายวิกฤตต้องให้การดูแลใกล้ชิด มี 6 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้มีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง 2.เคยมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองช่วง 7 วันก่อนมารพ. 3.มีการวางแผนทำร้ายตนเอง 4.มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมาอย่างน้อย 3 วัน 5.มีสายตาท่าทางไม่เป็นมิตร เอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ด่าว่าคนอื่นเสียงดัง มีหูแว่ว ระแวงคนอื่นจะทำร้าย 6.อารมณ์หุนหันพลันแล่น เปลี่ยนแปลงง่าย เสี่ยงเป็นอันตรายต่อตนเองต่อผู้อื่นหรือสิ่งของ

นอกจากนี้ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยังได้ปรับบริการฟื้นฟูศักยภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่อยู่ในชุมชน ให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่และชุมชนเมืองขนาดใหญ่ใน กทม. ซึ่งมักพบข้อจำกัดทางครอบครัว โดยเปิดบริการ รพ.กลางวัน ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกาย ใจ จิตสังคม จิตวิญญาณ ทักษะด้านชีวิตประจำวันแบบไปเช้าเย็นกลับ และมีการฝึกทักษะทางอาชีพที่เหมาะสม มีรายได้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เช่นขายของเบ็ดเตล็ดในโรงพยาบาล ขายกาแฟในโครงการร้านกาแฟหลังคาแดง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และเกิดทักษะทางสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายพื้นที่บริการ รพ.กลางวัน ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นจาก 20 คนเป็น 40-50 คน ต่อวัน เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังเข้าถึงระบบการดูแลต่อเนื่องและได้รับโอกาสฝึกฝนอาชีพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีในสังคม ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับมูลนิธิ รพ.สมเด็จเจ้าพระยาฯ และบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด จัดทำโครงการสร้างอาชีพผู้ป่วยจิตเวชคืนสู่สังคม ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ผ่านการฝึกและสามารถทำงานเป็นพนักงานประจำของบริษัทฯ แล้ว 2 คน ทำงานในร้านกาแฟมวลชนภายในห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในชุมชนได้ตามปกติ มีค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่แตกต่างกับบุคคลทั่วไป และได้รับคำชื่นชมจากลูกค้าที่มาใช้บริการว่ามีทักษะการชงกาแฟอย่างดีเยี่ยม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: