วท. เร่งคลอดกฎหมายใหม่ ปลดล็อกมหาวิทยาลัยวิจัย เปิดให้อาจารย์เป็นผู้ประกอบการได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2056 ครั้ง

วท. เร่งคลอดกฎหมายใหม่ ปลดล็อกมหาวิทยาลัยวิจัย เปิดให้อาจารย์เป็นผู้ประกอบการได้

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวผลการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับอธิการบดีจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัย 12 แห่ง ระบุนายกสั่งให้เร่งผ่านกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีสาระให้สิทธิอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและสามารถออกไปเป็นสตาร์ตอัพได้ ที่มาภาพประกอบ: Max Pixel (CC0)

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2561 ว่านายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวผลการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับอธิการบดีจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัย 12 แห่ง ว่า วท.กับ 12 มหาวิทยาลัยจะทำงานร่วมกันในกระทรวงใหม่ ที่จะเป็นการนำร่องการปฏิรูประบบราชการ โดยกระทรวงใหม่จะมีความเป็นราชการน้อยลง แต่มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศมากขึ้น ผ่านงานวิจัยที่จะไปเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้นโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เดิมมีสัดส่วนเพียง 0.4% เพิ่มขึ้นเป็น 0.7% และตั้งเป้าถึง 1% ในปี 2561 และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะไปถึง 2-3% ที่สำคัญขณะนี้ในภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการลงทุนถึง 75% มูลค่าเดินแสนล้านบาทแล้ว ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาครั้งใหญ่ และในระยะอันใกล้จะมีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมเพิ่มที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้ว เหลือขั้นตอนเจรจากับสำนักงบประมาณ

"นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหารใน 12 มหาวิทยาลัย ทั้งที่จุฬาฯ มหิดล เกษตรศาสตร์ พระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น ซึ่งได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้เร่งผ่านกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีสาระให้สิทธิอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและสามารถออกไปเป็นสตาร์ตอัพได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยกฎหมายตัวนี้ทำให้ประเทศสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กลายเป็นประเทศเจริญด้วยนวัตกรรม โดยภายใน 1 เดือนกฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จ จะเป็นการพลิกโฉมหน้ามหาวิทยาลัยไทย" นายสุวิทย์กล่าว

รัฐมนตรี วท.กล่าวต่อว่า สำหรับกระทรวงใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะมีกลไกเอื้อต่อการพัฒนาโดยมีการบริหาร 2 ภารกิจ ได้แก่ 1.ระดับนโยบายและจัดสรรทุน และ 2.ระดับปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งภารกิจออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการอุดมศึกษา และด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคสังคม/ชุมชน และจะมีสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (National Institute of Science, Technology, and Innovation : NISTI) ที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยขั้นแนวหน้า การวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยประยุกต์ เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยมีงานวิจัยและพัฒนาอยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าหน่วยงานวิจัยทั้งหมดควรมาทำงานร่วมกันผ่านกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น โดยจะมีการตั้งกรรมการบริหาร ที่มีประธานเป็นเมธีหรือผู้ทรงคุณวุฒิ มีกรรมการจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และหน่วยงานในกระทรวง โดยจะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ประเทศทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ โจทย์ระดับประเทศ โจทย์ระดับภูมิภาค และโจทย์ในท้องถิ่น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: