เปิดรายงาน ILO กรณีสหภาพแรงงานซูซุกิไทยร้องเรียน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 13 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4701 ครั้ง

เปิดรายงาน ILO กรณีสหภาพแรงงานซูซุกิไทยร้องเรียน

เปิดรายงานของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม ฉบับที่ 383 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กรณีสหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ประเทศไทย (SMTWU) และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (TCTU) ร้องเรียนเรื่องการเลิกจ้างนักสหภาพแรงงานหลังจากที่เข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ โดยนายจ้างปฏิเสธที่จะเรียกลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และศาลแรงงานกลาง การลดตำแหน่งของประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ และการห้ามเข้าที่ทำงาน

รายงานของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม ฉบับที่ 383 [1]
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

จากการประชุมของคณะประศาสน์การ (Governing Body)[2] สมัยประชุมที่ 331 ณ กรุงเจนีวา ระหว่างวันที่ 26 ต.ค. - 9 พ.ย. 2560

กรณีปัญหา No.3196 (ประเทศไทย):  รายงานที่คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (CFA) จัดทำเพื่อติดตามพัฒนาการการแก้ไขปัญหา[3]

ผู้ร้องเรียนต่อรัฐบาลไทย คือ สหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ประเทศไทย (SMTWU) และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (TCTU)

ข้อกล่าวหา: ผู้ร้อง ร้องเรียนเรื่องการเลิกจ้างนักสหภาพแรงงานหลังจากที่เข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ โดยนายจ้างปฏิเสธที่จะเรียกลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และศาลแรงงานกลาง การลดตำแหน่งของประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ และการห้ามเข้าที่ทำงาน

626. ผู้ร้อง คือ สหภาพแรงงานซูซุกิฯ และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์ฯ ร้องเรียน CFA เมื่อวันที่ 2 มี.ค., 17 พ.ค. 2559, 13 ม.ค. และ 11 ก.ค. 2560

627. รัฐบาลได้ส่งข้อสังเกตเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560, 27 มี.ค. และ 27 ก.ย. 2560

628. ประเทศไทยไม่ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิการจัดตั้ง ปี 1948 (No.87) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม ปี 1949 (No.98) หรืออนุสัญญาว่าด้วยตัวแทนของแรงงาน ปี 1971 (No.135)

A. การกล่าวหาของผู้ร้อง

629. สืบจากการติดต่อสื่อสารเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2559 TCTU และ SMTWU (สมาชิกของ TCTU) ร้องเรียนเรื่องการเลิกจ้างคนงาน ที่มีส่วนร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง บ.ซูซุกิมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้ติดต่อ (มายัง ILO) อีก ซึ่งได้ให้รายละเอียดเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้

630. วันที่ 17 ธ.ค. 2556 กลุ่มคนงานก่อตัวและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเรื่องสภาพการทำงาน ค่าจ้างและโบนัส ตามกระบวนการของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

631. วันที่ 18 ธ.ค. 2556 คนงานยื่นจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน

632. วันที่ 20 ธ.ค. 2556 ฝ่ายตัวแทนลูกจ้างและบริษัทเจรจาต่อรองกันเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง ยกเว้นข้อเรียกร้อง 1 ข้อที่เหลือจำนวน 12 ข้อบริษัทปฏิเสธ

633. วันที่ 21 ธ.ค. 2556 ตามกฎหมายแรงงาน ตัวแทนคนงานยื่นข้อพิพาทต่อเจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาท เนื่องจากตัวแทนบริษัทปฏิเสธการเจรจา

634. วันที่ 25 ธ.ค. 2556 หลังประนอมข้อพิพาทแล้ว มีการตกลงเรื่องโบนัส และตกลงที่จะรักษาสภาพการจ้างเดิม และจะไม่นำเรื่องความประพฤติของคนงานที่ละเมิดกฎระเบียบของบริษัทในระหว่างการเจราต่อรองมาพิจารณา

635. วันที่ 26 ธ.ค. 2556 เวลา 10.00 น. คนงานได้รับแจ้งการจดทะเบียนสหภาพแรงงานสำเร็จ ต่อมาเวลา 16.00 น. แกนนำคนงาน 9 คนและคนงาน 1 คน ที่ร่วมยื่นข้อเรียกร้องและนำการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ถูกเลิกจ้างหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาก่ออาชญากรรม เจตนาทำให้บริษัทเสียหาย ลักขโมย ละทิ้งหน้าที่ ละเมิดกฎระเบียบ ทำให้บริษัทเสื่อมเสีย ยุยงปลุกปั่น ใช้ทรัพย์สินของบริษัท ส่งอีเมล์ระหว่างทำงาน
636. วันที่ 14 ม.ค. 2557 คนงานที่ถูกเลิกจ้างร้องทุกข์การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อ ครส.

637. วันที่ 9 เม.ย. 2557 ครส.ตัดสินว่า การเลิกจ้างนั้นละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 121(1) และมีคำสั่งให้บริษัทเรียกแกนนำคนงาน 9 คนกลับเข้าทำงาน แต่คนงานอีก 1 คนนั้นไม่ถูกสั่งให้กลับเข้าทำงาน แต่ผู้ร้องเห็นว่า คนงานดังกล่าวถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลเดียวกัน ดังนั้นควรมีคำสั่งเหมือนกัน วันที่ 15 มี.ค. 2558 คนงานดังกล่าวฆ่าตัวตาย ผู้ร้องจึงเห็นว่า ทายาทของเขาควรได้รับค่าชดเชยแทน

638. ผู้ร้อง ร้องเรียนต่อว่า นายจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ครส. และชี้ว่าในเดือน มิ.ย. 2557 บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ครส.ต่อศาลแรงงานกลาง และวันที่ 25 พ.ค. 2558 ศาลแรงงานกลางตัดสินยืนตามคำสั่ง ครส.ให้คนงานกลับเข้าทำงาน ผู้ร้องชี้ด้วยว่า บริษัทต้องเรียกทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม สภาพการจ้างเดิม, จ่ายโบนัสตามข้อตกลงที่ตกลงกันได้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ย 15% ต่อปี, จ่ายเงินสวัสดิการ รวมทั้งดอกเบี้ย 15% ต่อปี และปรับค่าจ้างประจำปี 2558 (ตามอัตรา 6% ของเงินเดือน รวมทั้งคำนึงถึงตำแหน่งของคนงานภายใต้กรอบโครงสร้างเงินเดือน)

639. วันที่ 30 มิ.ย. 2558 แกนนำทั้ง 9 คนเขียนจดหมายถึงนายจ้างขอกลับเข้าทำงาน นายจ้างไม่ตอบ วันที่ 7 ก.ค. 2558 สภาองค์การลูกจ้าง TCTU ยื่นจดหมายในนามคนงานทั้ง 9 คนถึงนายจ้าง แต่ไม่มีการตอบกลับ

640. วันที่ 7 ก.ค. 2558 บริษัทยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลแรงงานกลางต่อศาลฏีกา

641. วันที่ 5 ม.ค. 2559 รักษาการประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ ถูกลดตำแหน่ง และวันที่ 17 มี.ค. 2559 ระหว่างการประชุมของแผนกทรัพยากรมนุษย์ ประธานฯ ได้รับจดหมายลงนามโดยประธานบริษัทสั่งให้หยุดทำงานทันทีและห้ามเข้าโรงงาน ซึ่งส่งผลให้ไม่ได้รับค่าล่วงเวลา ค่าลางานและประโยชน์อื่น ๆ แต่ผู้ร้องชี้แจงว่า การยังได้รับเงินเดือนนั้นได้ตัดโอกาสในการฟ้องร้องนายจ้าง เพราะสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ละเมิดกฎหมาย

642. ผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่า บริษัทไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ครส.และศาลแรงงานกลาง เพื่อที่จะกีดกันประธานสหภาพแรงงาน ไม่ให้พบปะกับสมาชิกและตรวจสอบสภาพการจ้าง ผู้ร้องพิจารณาเห็นว่า นี่เป็นการบ่งชี้ว่านายจ้างต่อต้านสหภาพแรงงาน ไม่ซื่อตรง และย้ำว่า บริษัทไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกติการะหว่างประเทศ ได้แก่ คำประกาศแห่งฟิลาเดลเฟีย, ปฏิญญา ILO ว่าด้วยหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน, ปฏิญญาไตรภาคีเรื่องหลักการว่าด้วยสถานประกอบการข้ามชาติและนโยบายทางสังคม ข้อแนะการยุติการจ้างงาน ปี 1963 (No.119), อนุสัญญา 87 & 98 และปฏิญญาว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรม

643. นอกจากนี้ ผู้ร้องประณามการไม่กระทำการใดๆ ของรัฐบาล ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในมาตรา 158 ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ที่ระบุว่า “นายจ้างที่ฝ่าฝืนมาตรา 121 หรือ ม.123 จะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งสอง” ผู้ร้องชี้แจงว่า การละเมิดมาตราเหล่านี้ตามคำตัดสินของ ครส.และศาลแรงงานกลาง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของทั้งสอง เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับให้นายจ้างได้รับโทษตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งข้อหาหรือสืบสวนเลย

644. จากการติดต่อสื่อสารเมื่อวันที่ 13 ม.ค. และ 11ก.ค. 2560 สภาองค์การลูกจ้าง TCTU แจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ได้ยื่นร้องเรียนไปยังศูนย์ติดต่อประสานงานระดับชาติ (National Contact Points-NCP) ของประเทศญี่ปุ่นตามแนวทางปฏิบัติต่อบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD วันที่ 28 ก.ย. 2559 NCP ญี่ปุ่นได้แจ้งกลับมายัง TCTU ว่า “บริษัทไม่เข้าร่วมเจรจากับสหภาพแรงงานผ่านกลไก NCP ญี่ปุ่น” ทางสหภาพแรงงานจึงชี้ว่า ใน “คำแถลงสุดท้ายเรื่องการดำเนินคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับ (บริษัทแม่และลูก) แนวทางปฏิบัติ OECD นั้น ซึ่งออกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 NCP ญี่ปุ่นสรุปว่า :

5(2) (B) ทั้งที่ NCP ญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการเจรจา บริษัทต้องการจะเคารพกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยและทำตามคำตัดสินในไทย

6. NCP ญี่ปุ่นแนะ (บริษัทแม่และลูก) ให้ดำเนินการที่เป็นการเคารพแนวทางปฏิบัติ OECD ว่าด้วยบรรษัทข้ามชาติ

TCTU จึงสรุปว่า บริษัทไม่ยอมปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของ OECD ตามที่กล่าวถึงแต่อย่างใด

B. คำตอบของรัฐบาล

645. ในการติดต่อสื่อสารเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2560 รัฐบาลจัดทำเค้าโครงข้อเท็จจริงของคดีดังนี้ : วันที่ 17 ธ.ค. 2556 กลุ่มลูกจ้างบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องและเจรจากับนายจ้างตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ วันที่ 21 ธ.ค. 2556 ลูกจ้างจึงแจ้งข้อพิพาทแรงงานกับเจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง, วันที่ 25 ธ.ค. 2556 ได้มีการตกลงกันได้ในเรื่องเงื่อนไขการจ้างงาน, วันที่ 26 ธ.ค. 2556 สหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย และในวันเดียวกัน นายจ้างเลิกจ้างแกนนำคนงาน 10 คน, วันที่ 14 ม.ค. 2557 สหภาพแรงงานฯร้องเรียนการกระทำไม่เป็นธรรมต่อ ครส., วันที่ 9 เม.ย. 2557 ครส.ออกคำสั่งให้นายจ้างเรียกคนงาน 9 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม โดยต้องจ่ายค่าชดเชยและโบนัสตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 สำหรับคนงานอีก 1 คนที่ไม่ถูกสั่งให้กลับเข้าทำงาน เนื่องจากการเลิกจ้างไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกระทำไม่เป็นธรรมของนายจ้าง และเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง, วันที่ 14 มี.ค. 2558 คนงานคนที่ 10 ฆ่าตัวตาย, นายจ้างยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ครส. และได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลแรงงานกลาง, วันที่ 25 พ.ค. 58 ศาลแรงงานกลางตัดสินยืนตามคำสั่ง ครส. วันที่ 7 ก.ค. 2558 นายจ้างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลต่อศาลฎีกา ปัจจุบัน คดียังไม่สิ้นสุด คนงานทั้ง 9 คนยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน

646. รัฐบาลสังเกตว่า ผู้ร้องทั้ง 9 คนกล่าวหาว่า รัฐบาลไม่ยอมกระทำการ (1) แก้ไขเยียวยาปัญหาที่ประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ ถูกปรับลดตำแหน่ง (2) แก้ไขเยียวยาเมื่อบริษัทห้ามไม่ให้เข้าทำงาน ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียค่าล่วงวลา, ค่าวันลา, และอื่นๆ และไม่สามารถเข้าไปพบปะสมาชิกสหภาพแรงงานและ ตรวจสอบสภาพการจ้างได้ (3) แก้ไขเยียวยาปัญหาเลิกจ้างพนักงาน 9 คนอย่างไม่เป็นธรรม และ (4) จ่ายค่าชดเชยทายาทของคนงานที่ฆ่าตัวตาย

647. คำตอบกลับมาคือ รัฐบาลชี้แจงว่า จาก 4 ประเด็นข้างต้น (1) ประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ ไม่ได้ยื่นหรือมอบหมายให้ตัวแทนยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีถูกลดตำแหน่ง หากมีการยื่น เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็จะดำเนินการตัดสินได้ว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ตามมาตรา 20,52 หรือ 121ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หากมีการลดตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการในขั้นต่อไป

648. ประเด็นที่ (2) รัฐบาลชี้แจงว่า ประธานสหภาพแรงงานฯ ไม่ได้ยื่นหรือส่งตัวแทนยื่นคำร้องเรื่องการสูญเสียประโยชน์ หากร้องเรียน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อไป นอกจากนี้ การห้ามประธานสหภาพแรงงานฯ เข้าที่ทำงาน รัฐบาลพิจารณาแล้วว่า แม้ถูกเลิกจ้างและคดียังอยู่ในชั้นศาลฎีกา เขาก็ยังสามารถติดต่อและปรึกษาสมาชิกภายนอกโรงงานได้

649. ประเด็นที่ (3) รัฐบาลกล่าวว่า คำสั่ง ครส.ได้ให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง และศาลแรงงานกลางยืนตามคำตัดสินของ ครส. นายจ้างยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ซึ่งทำให้คดียังไม่สิ้นสุด

650. ประเด็นที่ (4) รัฐบาลชี้ว่า ครส. ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี หลังจากพิจารณาไต่สวนแล้ว พบว่า คนงาน 9 คนจาก 10 คนมีส่วนร่วมในการยื่นข้อเรียกร้องและถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมภายใต้มาตรา 121 ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ จากนั้น ครส.ออกคำสั่งให้กลับเข้าทำงาน ยกเว้นคนที่ 10 เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง และพบว่า มีลูกจ้าง 20 คนทำงานเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 โดยมี 3 คนในจำนวนนี้ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว 16 คนผ่านการประเมินผลปฏิบัติงานในช่วงทดลองงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 และมีเพียง 1 คนที่ไม่ผ่าน ทำให้เขาถูกเลิกจ้าง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

651. รัฐบาลชี้แจงว่า เป็นเรื่องถูกต้องที่ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลแรงงานกลาง จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา หากศาลฎีกายืนตามคำตัดสินของศาลแรงงานกลาง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องต้องกลับเข้าทำงานและได้รับค่าชดเชย ไม่ให้สูญเสียค่าจ้างและผลประโยชน์อื่นๆ หากนายจ้างไม่ยอมทำตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็จะถูกจับกุม

652. จากการติดต่อสื่อสารเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2559 รัฐบาลส่งต่อข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของบริษัทต่อคำร้องเรียนของสหภาพแรงงานซูซุกิฯ บริษัทสงสัยว่า สภาองค์การลูกจ้าง TCTU สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ CFA ในนามของสหภาพแรงงานฯ ได้หรือไม่ และบริษัทไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องยื่นไป จึงขอยื่นเค้าโครงข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ดังต่อไปนี้

653. วันที่ 16 ธ.ค. 2556 เวลา 20.00 น. พนักงานกะกลางคืนที่ขาดงานเริ่มประท้วงกับแกนนำ 7 คน ผู้ประท้วงได้ยื่นข้อเรียกร้องไม่เป็นทางการต่อนายจ้างและดำเนินการประท้วงต่อกับแกนนำอีก 2 คนจนกระทั่งเวลา 13.00 น.ของวันที่ 17 ธ.ค. การเจรจาระหว่างบริษัทกับตัวแทนลูกจ้างทื่ยื่นข้อเรียกร้องจึงเริ่มขึ้น ซึ่งการเจรจาไม่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน เพราะสหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ฯ ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นในตอนนั้น จากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ได้เซ็นข้อตกลงกันในวันที่ 25 ธ.ค. 2556

654. วันที่ 26 ธ.ค. 2556 แกนนำคนงานถูกเลิกจ้าง พร้อมๆ กับสหภาพแรงงานได้รับการจดทะเบียนสำเร็จ แต่บริษัทไม่ทราบจนกระทั่งวันที่ 6 ม.ค. 2557 ได้รับจดหมายที่เป็นทางการจากสหภาพแรงงานฯ เป็นฉบับแรก บริษัทอธิบายว่า แกนนำ 9 คนนั้นทำการยุยงปลุกปั่นพนักงานให้หยุดทำงานและร่วมประท้วงในคืนวันที่ 16 ธ.ค. ซึ่งเป็นการนัดหยุดงานของคนงานที่ไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย การกระทำนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ทำให้มีการหยุดการผลิตทั้งกระบวนการในช่วงเวลา 20.00 ของวันที่ 16 ธ.ค. และเวลา 13.00 น.ของวันที่ 17 ธ.ค. 2556

655. นอกจากนี้ การเลิกจ้างคนงานคนที่ 10 ในวันที่ 17 ก.พ. 2557 ไม่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องแต่อย่างใด คนงานไม่ผ่านการทดลองงาน (ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ได้ 53 คะแนน ไม่ถึงเกณฑ์ 60 คะแนน) บริษัทรู้ว่า เขาฆ่าตัวตายเนื่องด้วยเหตุผลส่วนตัวและไม่เกี่ยวข้องกับการไม่ถูกสั่งกลับเข้าทำงาน

656. บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมว่า ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อ ครส.ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ในนามสหภาพแรงงาน ในวันที่ 17 ม.ค. 2557 และปัจจุบัน บริษัทไม่ยอมรับคนงานทั้ง 9 คนให้กลับเข้าทำงาน เพราะคดียังไม่สิ้นสุด จากคำตัดสินของ ครส.และศาลแรงงานกลาง บริษัทได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และได้มีการวางเงินค่าชดเชยไว้กับศาลเพื่อประกันว่า บริษัทสามารถจ่ายค่าชดเชยหากคดีสิ้นสุด บริษัทยังชี้แจงว่า ได้ยื่นคำร้องของเลื่อนการบังคับตามคำสั่ง ครส.และศาลแรงงานกลาง และคดีอยู่ที่ศาลฎีกา บริษัทอ้างว่า การกลับเข้าทำงานในขณะที่ยังไม่มีคำตัดสิน จะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความกลมเกลียวในองค์กร และจะเป็นอุปสรรคต่อนายจ้างที่จะใช้อำนาจบริหารตามกฎหมาย

657. ในเรื่องการปรับลดตำแหน่งของประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ บริษัทชี้แจงว่า ไม่ใช่การลดตำแหน่ง แต่เป็นการปรับหน้าที่ความรับผิดชอบตามโครงสร้างการบริหารใหม่ของบริษัท การปรับตำแหน่งก็ได้ปรับกับลูกจ้างหลายคน ซึ่งลูกจ้างเห็นว่ายังได้รับสิทธิและสวัสดิการเช่นเดิม บริษัทกล่าวว่า ตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะทำได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากลูกจ้างก่อน ส่วนเรื่องการห้ามประธานสหภาพแรงงานฯ เข้าที่ทำงานนั้น บริษัทอธิบายว่า มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า นายจ้างกำลังขออนุญาตศาลเลิกจ้าง และอ้างว่า ประธานสหภาพแรงงานฯ ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เจตนาทำให้งานล่าช้า เป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย การอนุญาตให้เขาทำงานต่อจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังจ่ายค่าจ้างปกติและประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้น เขาจึงไม่เสียประโยชน์ ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ บริษัทพิจารณาแล้วว่า ไม่ใช่การกระทำที่ไม่เป็นธรรม ยิ่งกว่านั้น เขายังมีอิสระที่จะติดต่อกับสมาชิกสหภาพแรงงานภายนอกโรงงานได้ ส่วนเรื่องโบนัสและค่าล่วงเวลาที่ประธานสหภาพแรงงานฯ ร้องว่าเสียประโยชน์นั้น บริษัทชี้แจงว่า บริษัทมีดุลยพินิจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะมอบหมายงานล่วงเวลาให้เขาหรือไม่

658. ท้ายสุด บริษัทชี้แจงว่า นิติบุคคลต้องทำตามกฎหมายไทย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะวางแนวปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่หน้าที่ของบริษัทคือ ปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ

659. ในการติดต่อสื่อสารเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 รัฐบาลชี้แจงว่า คดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา

C. ข้อสรุปของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (CFA)

660. คณะกรรมการ CFA บันทึกว่า คดีร้องเรียนของสหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้าง TCTU เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลิกจ้างคนงาน 10 คน และการปรับลดตำแหน่งของประธานสหภาพแรงงานฯ การห้ามประธานไม่ให้เข้าที่ทำงาน ข้อเท็จจริงของคดีที่ผู้ร้อง รัฐบาล และบริษัท สรุปได้ดังนี้

661. วันที่ 17 ธ.ค. 2556 กลุ่มลูกจ้างกลุ่มหนึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาต่อรองกับนายจ้างตามกระบวนการของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ขณะเดียวกันก็ยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2556 แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง จนวันที่ 21 ธ.ค. 2556 ลูกจ้างได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ , วันที่ 25 ธ.ค. 2556 ได้มีการตกลงข้อเรียกร้องเรื่องโบนัส, วันที่ 26 ธ.ค. 2556 สหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ประเทศไทยได้รับการจดทะเบียน และในวันเดียวกัน แกนนำ 10 คนถูกเลิกจ้าง, ในเดือน ม.ค. 2557 สหภาพแรงงานฯ ร้องเรียนการกระทำไม่เป็นธรรมของนายจ้างต่อ ครส. , วันที่ 9 เม.ย. 57 ครส.ออกคำสั่งตัดสินให้นายจ้างเรียกกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์อื่นๆ ส่วนคนงานคนที่ 10 ไม่ถูกสั่งให้กลับเข้าทำงานเพราะไม่ได้ร่วมยื่นข้อเรียกร้อง, วันที่ 14 มี.ค. 2558 เขาได้ฆ่าตัวตาย, นายจ้างยังไม่เรียกคนงาน 9 คนกลับเข้าทำงานตามคำสั่ง ครส. แต่ได้อุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลแรงงานกลาง, วันที่ 25 พ.ค. 2558 ศาลแรงงานกลางตัดสินยืนตามคำสั่ง ครส., วันที่ 7 ก.ค. 2558 นายจ้างอุทธรณ์คำตัดสินศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด ลูกจ้าง 9 คนยังไม่กลับเข้าทำงาน

662. คณะกรรมการ CFA บันทึกว่า ในคำสั่ง ครส.ฉบับสำเนา ระบุว่า จากการรับฟังความจากพยานและการสืบสวนสอบสวน ครส.สรุปว่า บริษัทละเมิดมาตรา 121(1) ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และสั่งให้นายจ้างเรียกพนักงาน 9 คนกลับเข้าทำงาน คณะกรรมการ CFA ขอยกมาตรา 121(1) ด้านล่างนี้

ห้ามมิให้นายจ้าง

(1) เลิกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงานไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้ชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือนายทะเบียน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือ กรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานกำลังจะกระทำการดังกล่าว

663. คณะกรรมการ CFA ขอแสดงความเสียใจกับกรณีที่ลูกจ้าง 9 คนถูกเลิกจ้างเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 และคดียังค้างที่ศาล ในระหว่างนี้ คนงานยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน ทำให้หวนมองว่า กรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านสหภาพแรงงานจะต้องถูกตรวจสอบโดยเร็ว เพื่อว่าจะได้แก้ไขเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล ความล่าช้าในการดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ โดยเฉพาะความล่าช้าในการเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานยิ่งเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม ตลอดจนสิทธิเสรีภาพของสหภาพแรงงาน เพราะคดีเลิกจ้างเกิดขึ้นแล้ว 14 เดือน คณะกรรมการ CFA ขอให้ผู้พิพากษาศาลตัดสินคดีเลิกจ้างโดยเร็ว และขอย้ำว่า ยิ่งล่าช้าไปกว่านี้ การกลับเข้าทำงานยิ่งเป็นเรื่องชอบธรรม (โปรดดูสรุปคำตัดสินและหลักการของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม ฉบับที่ 5, ปี 2006, ย่อหน้าที่ 826 และ 827) คณะกรรมการ CFA พิจารณาแล้วว่า ในแง่ของเวลาที่ล่วงไป คำสั่งของ ครส.และศาลแรงงานกลางที่สั่งให้คนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานมาจากประเด็นการต่อต้านสหภาพแรงงาน จึงควรพิจารณาให้กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าชดเชย เพื่อว่าพวกเขาจะสามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ โดยไม่ถูกพรากรายได้ในระหว่างคดีอยู่ในชั้นศาล ดังนั้น คณะกรรมการ CFAขอร้องให้รัฐบาลทบทวนสถานการณ์ปัญหาของลูกจ้างดังกล่าว ให้การช่วยเหลือลูกจ้าง แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้อง และขอให้รัฐบาลส่งเอกสารสำเนาคำตัดสินของศาลฎีกาให้ลูกจ้างทันทีที่คดีสิ้นสุด

664. คณะกรรมการ CFA เห็นเพิ่มเติมว่า จากการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อมูล ครส.สรุปว่า กรณีคนงานคนที่ 10 นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำไม่เป็นธรรมของนายจ้างแต่อย่างใด ซึ่งต่อมาได้ฆ่าตัวตายเมื่อเดือนมี.ค. 58 อย่างไรก็ตาม กรรมการ CFA จะไม่สอบสวนคำร้องนี้อีก

665. คณะกรรมการ CFA เห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ร้อง ร้องว่า ประธานสหภาพซูซุกิฯ ถูกลดตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 59 ทำให้เสียประโยชน์จากค่าล่วงเวลา และอื่นๆ นั้น และเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2559 เขาถูกสั่งให้หยุดงานและห้ามเข้าโรงงาน อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ว่าเขายังได้รับค่าจ้างปกติ ตัดโอกาสเขาไม่ให้ฟ้องร้องนายจ้าง เพราะเหตุการณ์ยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย ในส่วนนี้ รัฐบาลชี้แจงว่า ไม่มีการยื่นคำร้องเรียนเป็นทางการของประธานสหภาพแรงงานฯ ส่วนการห้ามเข้าที่ทำงานนั้น รัฐบาลพิจารณาว่า แม้การจ้างงานประธานสหภาพแรงงานจะยุติ และคดียังอยู่ในศาลฎีกา เขาก็มีเสรีภาพที่จะติดต่อและปรึกษาสมาชิกนอกโรงงานได้ คณะกรรมการ CFA พิจารณาว่า บริษัทได้ยืนยันว่าการเปลี่ยนหน้าที่ของประธานสหภาพแรงงานฯ นั้นเป็นผลจากการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ ที่กระทบลูกจ้างคนอื่น ๆ ด้วย แต่ยังได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม บริษัทชี้แจงตามกฎหมายว่า บริษัทมีสิทธิที่จะทำเช่นนี้ได้ โดยไม่ต้องรอการยินยอมจากลูกจ้างก่อน อีกทั้ง บริษัทชี้แจงว่า เป็นอำนาจของบริษัทเพียงฝ่ายเดียวที่จะขอให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ในกรณีการห้ามเข้าที่ทำงาน บริษัทชี้แจงว่า บริษัทกำลังขออำนาจศาลเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานฯ แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างปกติ ทั้งนี้บริษัทยังอ้างว่า เขาขาดประสิทธิภาพในการทำงานและเจตนาทำให้งานล่าช้า จนทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทยืนยันการพิจารณาของรัฐบาลว่า ประธานสหภาพแรงงานฯ สามารถพบปะสมาชิกภายนอกโรงงานได้

666. คณะกรรมการ CFA เข้าใจว่า การยุติการจ้างงานประธานสหภาพแรงงานฯ นั้น ยังเป็นคดีที่ศาลฎีกา ซึ่งยังได้รับค่าจ้างปกติ ยกเว้นค่าล่วงเวลา อ้างหลักการข้างต้น คณะกรรมการหวังว่า ศาลจะตัดสินคดีนี้โดยไม่ล่าช้า และหวังว่าสหภาพแรงงานและประธานฯ จะสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ คณะกรรมการ CFA ขอให้รัฐบาลคอยแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่คนงานและสำเนาคำตัดสินศาลฎีกาทันทีหากคดีสิ้นสุด

ข้อแนะของคณะกรรมการ CFA

667. คณะกรรมการ CFA ขอให้รัฐบาลเห็นชอบข้อเสนอแนะดังนี้

(a) คณะกรรมการ CFA ขอให้รัฐบาลทบทวนสถานการณ์ปัญหาของคนงานให้กลับเข้าทำงานตามคำสั่ง ครส.และศาลแรงงานกลาง ช่วยเหลือคนงานในระหว่างคดีอยู่ในศาลฎีกา และขอให้รัฐบาลคอยแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่คนงานและสำเนาคำตัดสินศาลฎีกาทันทีหากคดีสิ้นสุด

(b) คณะกรรมการหวังว่า ศาลฏีการจะตัดสินคดีนี้โดยไม่ล่าช้า และสหภาพแรงงานและประธานสามารถใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่มและดำเนินกิจกรรมได้

(c) คณะกรรมการขอให้รัฐบาลแจ้งข้อมูลแก่คนงาน หากมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับข้อแนะข้างต้นนี้

 

 

________

 

[1] Committee on Freedom of Association (CFA) คือ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมคือคณะกรรมการไตรภาคีที่คณะประศาสน์การขององค์การแรงงานระหว่างประเทศตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดหลักการของเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม.  ที่มาของรายงาน: เว็บไซต์ ILO, http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---ed_norm/---relconf/documents/meetingdocument/wcms_592687.pdf

[2] ในการบริหารองค์การนั้น ILO มีคณะประศาสน์การเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุด ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานขององค์การ และกำหนดโครงการงบประมาณเพื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศรับรอง คณะประศาสน์การมีการประชุมปีละ 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคม มิถุนายน และพฤศจิกายน. (ที่มา เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน,  www.mol.go.th/content/page/ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ-ilo )

[3] จะมีการตอบโต้ ให้ข้อคิดเห็นจากสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทยเร็ว ๆ นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: