ตำรวจไต้หวันทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แม้แต่กฎหมายแรงงานก็ไม่คุ้มครองพวกเขา!

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 13 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4165 ครั้ง

ตำรวจไต้หวันทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แม้แต่กฎหมายแรงงานก็ไม่คุ้มครองพวกเขา!

สภาพการทำงานที่เลวร้ายส่งผลต่อการขาดแคลนบุคลากรตำรวจในไต้หวัน รวมทั้งปัญหาชั่วโมงการทำงานมากเกินไปถึงวันละ 12 ชั่วโมง ไม่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน พวกเขาจึงถูกบังคับให้ทำงานยาวนานได้หากผู้บังคับบัญชาร้องขอ ที่มาภาพ: thenewslens.com

การแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน (LSA) ที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้เข้าเดือนที่ 3 แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2018 ทว่ากลับไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ดูแลผู้สูงวัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดกรมท่าของไต้หวันด้วย

ตำรวจสืบสวนอาชญากรรม นาย Hsiao Ren-hao ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตำรวจไต้หวัน (TPU) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวส์เลนส์ว่า "ผมทำงานล่วงเวลา 88 ชั่วโมงเมื่อเดือน ก.พ. แต่ไม่ได้ค่าล่วงเวลา 16 ชั่วโมง มีหลายเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับเราและเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้ค่าล่วงเวลา"

นาย Hsiao กล่าวอีกว่า "ผมจบจากโรงเรียนตำรวจ เลยคิดว่าน่าจะได้เริ่มงานดี ๆ ผมจึงพยายามหางานเป็นตำรวจ แต่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป คือเราทำงานหนักมาก"

เขาเสริมด้วยว่า มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานและขับรถไปด้วยในสภาพที่เหนื่อยสุด ๆ "คุณคิดบ้างไหมว่า เราจะปลอดภัยบนถนนในวันที่ทำงานหนักอย่างนี้ได้ยังไง"

กรมตำรวจแห่งชาติ (NPA) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ นาย Lu Wen-ting ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวส์เลนส์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานกะวันละ 12 ชั่วโมงมักจะออกพื้นที่มากกว่าอยู่ในสำนักงาน แต่ยืนยันว่าชั่วโมงทำงานปกติ 8 ชั่วโมงบวกกับงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมงเป็นเรื่องธรรมดา

งานวิชาชีพหลายงาน รวมถึงงานตำรวจและพยาบาลจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน พวกเขาจึงถูกบังคับให้ทำงานยาวนานได้หากผู้บังคับบัญชาร้องขอ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบของตำรวจที่ระบุไว้ว่า ตำรวจจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมงและทำงานล่วงเวลาเมื่อจำเป็นภายใต้สถานการณ์พิเศษ ซึ่งรวมถึงสภาพที่ขาดแคลนบุคลากร

เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะได้รับการค่าล่วงเวลา แต่พวกเขามักได้รับจดหมายยกย่องการทำงานที่เสียสละแทน สหภาพแรงงานเจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวัน เห็นว่า ตำรวจตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากใจท่ามกลางการต่อสู่้ระหว่างผู้ประท้วงกับรัฐบาล และพวกเขาก็จะทำงานหลายชั่วโมง แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ต่างต่อรองในนามตนเองได้

สหภาพแรงงานตำรวจไต้หวันยังอ้างงานวิจัยว่า ตำรวจในไต้หวันมีอายุคาดเฉลี่ย 69 ปี ซึ่งสั้นกว่าคนทั่วไป

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจล้มเหลว โรคอ้วนจากการทำงานหนัก รับประทานอาหารแปรรูป และทำงานในลักษณะอยู่กับที่

นอกเหนือจากความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังสะท้อนนัยยะของสังคมด้วย ในงานศึกษาวิจัยที่ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ (ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการตัดสินของผู้พิพากษา ใน http://www.pnas.org/content/108/17/6889) พบว่ามีหลายครั้งที่ผู้พิพากษาในอิสราเอลตัดสินผ่อนผันโทษในช่วงหลังพักเบรก และมองว่า ตำรวจที่เหนื่อยล้า หิวโหยมักมีพฤติกรรมที่โน้มเอียงไปสู่การปฏิบัติต่อพลเมืองที่รุนแรงขึ้น

เหตุผลเบื้องหลังของปัญหานี้ คือ การขาดแคลนกำลังคน กรมตำรวจในไต้หวันจึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความสนใจต่อประชาชนในประเด็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โดยระบุว่า นับตั้งแต่ขาดเจ้าหน้าที่ตำรวจ งานของพวกเขาก็ยุ่งมาก ๆ และมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน

อีกทั้งขณะนี้มีตำรวจย้ายออกไปทำงานที่สิงคโปร์ เพื่อไปเป็นกองหนุนตามจุดตรวจชายแดน (สืบจากข่าว Channel News Asia) ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรตำรวจนี้ กรมตำรวจฯ ได้ออกแคมเปญสรรหาบุคลากรใหม่ รวมทั้งรณรงค์ผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย

ทว่า นาย Shi Ming-jin ตำรวจจราจรให้สัมภาษณ์กับนิวส์เลนส์ว่า ตำรวจจราจร 99% ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง การขาดแคลนบุคลากรนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด หากคุณต้องการกำลังคน 12 คนทำงาน พวกเขาจะสั่งให้ 8 คนทำและมอบหมายงานล่วงเวลาอีก 4 ชั่วโมงแทน ทำให้ตอนนี้สภาพการทำงานย่ำแย่และบุคลากรขาดแคลนถึง 16,000-17,000 คน

เขาเสริมอีกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการกำลังคนในการสร้างทีมใหม่ พวกเขาก็จะดึงเจ้าหน้าที่จากสาขาอื่นมามากกว่าที่จะจ้างคนใหม่ ตอนที่ผมร่วมทีมตำรวจจราจรที่สาขา Da'an ในปี 1997 มีเจ้าหน้าที่ในทีมเราตอนนั้น 136 คน แต่เมื่อผมย้ายมาที่สาขา Wanhua เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนี้เหลือแค่ 68 คน

 

แปลและเรียบเรียงจาก
https://international.thenewslens.com/article/94804

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: