ย้อนดูไทม์ไลน์ ‘นิคมฮาลาล’ กับความหวังพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ที่ไม่สามารถเป็นได้จริง กนอ.เข็นไม่ไหวประกาศหยุดดำเนินการ-ส่งไม้ต่อให้ ศอ.บต. ดูแลต่อเมื่อปี 2559 พบมีความพยายาม ‘ปัดฝุ่น’ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งดึง ‘หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ’ เป็นแกนนำตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดึงทุนนอกพื้นที่ ทุนต่างประเทศ เข้าร่วม ล่าสุดกลายเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน หลังสื่อต่างประเทศระบุดำเนินการไม่ถูกสุขลักษณะ แม่ทัพภาค 4 นำสื่อมาเลเซียเข้าตรวจสอบ แฟ้มภาพ TCIJ
นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล หรือ นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ในพื้นที่ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี เริ่มโครงการมาตั้งแต่ 2547 แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อประมาณปี 2556 เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ โดยศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ผ่านมาเคยถูกวางเพลิง 2 ครั้ง ทำให้ห้องประชุมใหญ่และอาคารผลิตได้รับความเสียหาย ขณะที่ช่วงก่อสร้างก็มีการลอบวางระเบิดในละแวกใกล้เคียงเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเผาอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นระยะด้วย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้จริง จนภาครัฐประกาศยุติเขตอุตสาหกรรมฮาลาลไปเมื่อปี 2559 และทิ้งร้างพื้นที่มาระยะหนึ่ง กระทั่งปลายปี 2560 มีแนวคิดโอนย้ายนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลมาอยู่ในความดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จากนั้นก็พบข่าวคราวความเคลื่อนไหวเรื่อยมา ล่าสุดต้นปี 2561 พบว่ามีการจัดพื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลให้ผู้เข้าร่วม ‘โครงการพาคนกลับบ้าน’ ใช้เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวและฝึกอาชีพ
ไทม์ไลน์ ‘นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล’ ปี 2545-2561
ปี 2545 มีรายงานระบุว่าบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ต้องการตั้งโรงงานแปรรูปไก่แช่แข็งป้อนตลาดตะวันออกกลาง ระหว่างทำการศึกษาทราบว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขต จ.ปัตตานี สนองนโยบายการส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 ‘การเป็นประเทศศูนย์กลาง’ บริษัทต้องการเข้าไปตั้งโรงงานในเขตนิคมฯ ซึ่งหากภาครัฐดำเนินการเองอาจไม่ทันการ จึงเสนอเข้าร่วมโครงการด้วย [1]
ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท วัตถุประสงค์ เพื่อการขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้ถือหุ้นหลัก คือ 1.นายศิริชัย ปิติเจริญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เจ้าของธุรกิจศูนย์เชฟโรเลต ปัตตานี 2.นายดำรง ชัยวนนท์ กรรมการผู้จัดการศูนย์เชฟโรเลต ปัตตานี 3.นายกิตติพงษ์ พ่วงสมบัติ 4.นายบุญส่ง พ่วงสมบัติ กรรมการบริหารบริษัท ไฮคิวแคนนิ่ง (ปัตตานี) จำกัด นอกจากนี้ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายเดิม ถือหุ้นในกิจเลี้ยงสัตว์ปีก ในนามบริษัท ฟาตอนี ชิคเค็น (ปัตตานี) จำกัด ตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท |
ปี 2546 บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ลงนามสัญญาร่วมดำเนินการกับ กนอ. จากนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ กนอ. เป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล [2]
ปี 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ส่งผลถึงสถาบันการเงินและนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่กล้าลงทุนและสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ ในขณะนั้น บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ติดค้างชำระค่าที่ดินกับชาวบ้าน จากการกว้านซื้อที่ทำกินซึ่งเป็น นส.3 ก. โดยมีโฉนดที่เป็นชื่อบริษัทเพียงแปลงเดียว [3]
ปี 2548-2555 แม้ว่าโครงการจะหยุดชะงัก แต่กลับพบว่ามีงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางถูกอนุมัติลงมาตลอดจนถึงปี 2555 รวมงบประมาณถึง 566.343 ล้านบาท [4]
ปี 2550-2552 การปรับพื้นที่เฟสแรกของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล จำนวน 170 ไร่ แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2550 แต่จนถึงปี 2552 พบว่าไม่มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งฐานการผลิตแม้แต่รายเดียว [5]
ปี 2555 กนอ.ผู้รับผิดชอบโครงการได้ปรับแผนดำเนินการใหม่ จากเดิมที่ให้สิทธิบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นผู้บริหารพื้นที่ มาเป็น กนอ. ลงทุนและบริหารนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแทน เพื่อรับประกันว่าสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับมีความน่าสนใจและความปลอดภัยจะต้องเกิดขึ้น 100% [6]
ต้นปี 2558 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาและขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในปี 2558 กนอ.ลงพื้นที่สำรวจเพื่อเลือกสถานที่ก่อสร้างนิคมฯ และตัดสินใจเลือกพื้นที่บริเวณ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แทนพื้นที่เดิมคือ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารไปแล้ว ที่เดิมถูกยกเลิกเพราะที่ผ่านมาผู้ก่อความไม่สงบลอบโจมตีหลายครั้ง เกรงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแรงงานที่จะเข้ามาสมัครงาน [7]
มี.ค. 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้นโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้นำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วและต่อเนื่อง นอกจากนั้นได้เน้นย้ำให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการสร้างเส้นทางเข้าพื้นที่นิคมฯ พร้อมผลักดันโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เช่น การจัดตั้งศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์ไก่ตามโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ เพื่อเร่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงการประสานบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุน [8]
เม.ย. 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รายงานประกาศ กนอ. เรื่องการยุบเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี ซึ่งสาระสำคัญระบุว่าเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่จัดตั้งขึ้นมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เอกชนผู้ร่วมดำเนินงานได้แจ้งความประสงค์ขอยุติโครงการและทางบอร์ด กนอ.ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติสัญญาร่วมดังกล่าวกับเอกชนผู้ดำเนินงาน (ประกาศดังกล่าวลงนามโดยประธานบอร์ด กนอ. ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2559 แต่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 92 ง เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2559) ต่อมาได้มีการส่งมอบให้ ศอ.บต. ดูแลพื้นที่ต่อ [9]
ปี 2559 มีการระบุว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เคยถูกวางเพลิง 2 ครั้ง ทำให้ห้องประชุมใหญ่และอาคารผลิตได้รับความเสียหาย ขณะที่ช่วงก่อสร้างก็มีการลอบวางระเบิดในละแวกใกล้เคียงเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเผาอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นระยะด้วย ปัญหาความไม่สงบและความไม่ปลอดภัยน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องได้จริง |
การเปิดที่ทำการ 'วิสาหกิจชุมชนศิริมงคลปัตตานี' ซึ่งจัดตั้งโดยนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เป็นหน่วยรวบรวมการผลิตสินค้าในพื้นที่ อ.สายบุรี อ.ปะนาแระ และพื้นที่อื่นๆ เพื่อส่งออกทั้งในและต่างประเทศ ที่มาภาพ: ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
พ.ค. 2559 มีการเปิดที่ทำการ 'วิสาหกิจชุมชนศิริมงคลปัตตานี' ซึ่งจัดตั้งโดยนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เป็นหน่วยรวบรวมการผลิตสินค้าในพื้นที่ อ.สายบุรี อ.ปะนาแระ และพื้นที่อื่น ๆ เพื่อส่งออกทั้งในและต่างประเทศ พิธีเปิดมีเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานในพิธี [10]
ส.ค. 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อตั้งเป็น 'นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล' หรือ 'ฮาลาลญี่ปุ่น' ด้านผู้ว่า กนอ. ระบุว่าพื้นที่เป้าหมายในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นนี้มีการเติบโต เดิมกำหนดพื้นที่ไว้ใน จ.ปัตตานี แต่ต้องยอมรับว่าด้วยปัญหาเรื่องของความปลอดภัยทำให้ กนอ.ต้องถอนตัว แต่ยังมีพื้นที่สร้างนิคมฯ เพียงลดขนาดลงและให้นักลงทุนเอกชนดำเนินการได้โดยมี ศอ.บต. เป็นผู้ดูแล พื้นที่ใหม่ย้ายไปทำที่ จ.นราธิวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่กำหนดไว้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เฟส 2 ด้วยและรัฐยังคงต้องการให้นิคมฯ เกิดที่ภาคใต้เพราะมีกลุ่มคนมุสลิมจำนวนมาก เป็นแหล่งวัตถุดิบ และใกล้ประเทศมาเลเซียซึ่งถือเป็นตลาดหลักการส่งออกอาหาร ขณะนี้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังได้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงสุดถึง 8 ปี [11]
ส.ค. 2560 รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.ปัตตานี กับรองผู้ว่า กนอ. โดยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่อุตสาหกรรมฮาลาล ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จำนวน 100 ไร่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันยังจะใช้พื้นที่อุตสาหกรรมดำเนินการเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้มแข็ง พร้อมพัฒนาท้องที่บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ โดยกำหนดให้เป็นแลนด์มาร์คในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม [12]
ก.พ. 2561 กองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่าได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ให้ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านใช้เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวและฝึกอาชีพ โดยคาดหวังว่าคนที่กลับสู่สังคมจะมีส่วนรวมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ เป็นพลเมืองดีและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้หมู่บ้านในพื้นที่ [13]
มี.ค. 2561 มีการเปิดเผยว่าคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.ปัตตานี ของ ศอ.บต. จะมีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยผู้ประกอบการต้องกำหนดเงินทุนที่ชัดเจน และมีแผนในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ หากสามารถดำเนินการตามที่กำหนดใน 3 ส่วน คือ 1.เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ 2.ผลผลิตต้องใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 3.มีการจ้างงานคนในพื้นที่ จะได้รับการพิจารณาให้เช่าพื้นที่ 50 ไร่แรก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทันที [14]
มี.ค. 2561 ตัวแทนรัฐบาลไทยได้มีการพูดคุยกับตัวแทนบริษัท PETOBANG SDN BHD ของมาเลเซีย ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ มาเลเซีย [15]
แปรสภาพเป็น’ที่พักพิงชั่วคราว-ฝึกอาชีพ’ โครงการพาคนกลับบ้าน
สภาพบางส่วนภายในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่ถูกปรับปรุงให้เป็นที่พักพิงชั่วคราว-ศูนย์ฝึกอาชีพให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน แม่ทัพภาคที่ 4 นำสื่อมวลชนจากประเทศมาเลเซียเข้าตรวจสอบเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ที่มาภาพ: ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน.รายงานข่าวว่าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4409 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 ผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 สน.เดินทางมารับรายงานตัวผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านจำนวน 2 ราย โดยทั้งคู่เป็นผู้ที่หลบหนีไปอยู่ประเทศมาเลเซียเป็นระยะเวลา 5 ปี และ 30 ปี ตามลำดับซึ่งทางหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ได้เดินทางไปรับที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการตามโครงการพาคนกลับบ้าน
จากนั้นแม่ทัพภาค 4 ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งปัจจุบัน ได้ถูกปรับปรุงพัฒนาเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน สำหรับที่พักชั่วคราวนี้ได้ดำเนินการให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเข้าพักแค่ชั่วคราวพร้อมทั้งฝึกสอนอาชีพ เพื่อที่ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถออกไปแล้วมีความรู้สามารถประกอบอาชีพได้ และได้มีการประชุมเน้นย้ำให้ส่วนที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่นระบบไฟฟ้า ประปา โรงเลี้ยงไก่ และส่วนอื่น ๆ เร่งดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก ศอ.บต. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสายบุรี, ผู้รับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
แม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาเลเซียที่ได้เดินทางมาทำข่าวหลังจากมีข่าวลือออกมาว่านิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ได้ถูกปรับปรุงพัฒนาเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านนั้นดำเนินการไม่ถูกสุขลักษณะ โดยระบุว่า ทางรัฐบาลไทยพร้อมให้การช่วยเหลือและดูแลผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านทุกคน และสื่อมวลชนก็ได้เดินทางมาเห็นด้วยตนเองว่าทางรัฐบาลไทยมีการดูแลบุคคลเหล่านี้อย่างไร
ชาวบ้าน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส คัดค้านโครงการพาคนกลับบ้านในพื้นที่
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์เบนานิวส์ รายงานว่าแม่ทัพภาค 4 ประชุมร่วมชาวบ้านลีนานนท์ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ยืนยันยุติโครงการสร้างบ้านให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านในพื้นที่ อ.สุคิริน หลังชาวบ้าน 2,000 กว่าคนพากันต่อต้าน โดยผู้ร่วมโครงการ 105 คน คือสมาชิกขบวนการพูโลที่หนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซียและสมาชิกครอบครัวได้มอบตัวต่อทางการเพื่อร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
การประชุมร่วมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีแม่ทัพภาค 4 ตัวแทนชาวบ้าน และพระภิกษุจากบ้านลีนานนท์ บ้านจุฬาภรณ์ 12 และบ้านรักธรรมเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านคัดค้านการตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินทำกินใน ต.สุคิริน ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน การประชุมได้ข้อสรุปว่าโครงการสร้างหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินทำกินจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการนำผู้หลงผิดในโครงการพาคนกลับบ้านมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในหัวข้อ “คนไทยคิดอย่างไรกับโครงการพาคนกลับบ้านมาตั้งบ้านเรือนและจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่รอบ 3 หมู่บ้านของ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส” โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,500 คน พบว่า มีผู้เห็นด้วยกับโครงการ 111 คน คิดเป็นร้อยละ 4% และมีผู้ไม่เห็นด้วย 2,389 คน คิดเป็นร้อยละ 96%
ข้อมูลอ้างอิง
[1] ปัดฝุ่น ‘นิคมฮาลาลปัตตานี’ ทิ้งของเดิม 10 ปีไม่คืบ หลังสูญงบกว่า 600 ล้าน (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, TCIJ, 22/1/2558)
[2] เพิ่งอ้าง
[3] เพิ่งอ้าง
[4] เพิ่งอ้าง
[5] นิคมอุตสาหรรมฮาลาล จ.ปัตตานี ร้าง ‘ฟาตอนี อินดัสทรีส์’ ยกธง–กนอ. ปัดฝุ่นลงทุน 300 ล้าน ดึง 13 บริษัทร่วม (ไทยพับลิก้า, 19/2/2555)
[6] เพิ่งอ้าง
[7] ปัดฝุ่น ‘นิคมฮาลาลปัตตานี’ ทิ้งของเดิม 10 ปีไม่คืบ หลังสูญงบกว่า 600 ล้าน (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, TCIJ, 22/1/2558)
[8] อนาคตฮาลาลชายแดนใต้ (1) สามปัญหาที่นิคมอุตสาหกรรมหยุดชะงัก (นาซือเราะ เจะฮะ, สำนักข่าวอิศรา, 21/3/2558)
[9] รูดม่านนิคมฮาลาลปัตตานี ศอ.บต.ขอใช้สถานที่ทำศูนย์โอทอป-กนอ.ลุยนิคมยี่งอ (สำนักข่าวอิศรา, 12/12/2559)
[10] ศอ.บต. จัดงานธงฟ้าราคาประหยัด ต้อนรับเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ฮิจเราะห์ศักราช 1437 พร้อมกิจกรรมทำบุญใหญ่ ณ นิคมฯฮาลาลปัตตานี (ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, 31/5/2559)
[11] กนอ.ดันตั้งนิคม'ฮาลาลญี่ปุ่น'ชายแดนใต้หนุนศก.ท้องถิ่นโต (หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 ส.ค. 2559)
[12] คอลัมน์: แวดวงธุรกิจภูธร: เร่งตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลปัตตานี (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, 26/8/2560)
[13] 'ผบ.ทบ.'ประธานเปิดโครงการ รับผู้ก่อเหตุรุนแรงใต้กลับบ้าน (หนังสือพิมพ์มติชน, 2/2/2561)
[14] ศอ.บต. พร้อมหนุนผู้ประกอบการร่วมลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.ปัตตานี (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 14/3/2561)
[15] ภาคเอกชนมาเลเซีย หารือผู้แทนพิเศษของรัฐบาล - ศอ.บต. เตรียมพัฒนานิคมอุตสาหกรรม จ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางฮาลาล (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 25/3/2561)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สถิติ ‘โครงการพาคนกลับบ้าน’ (ข้อมูล ณ ต้นเดือน เม.ย. 2561)
ปัดฝุ่น ‘นิคมฮาลาลปัตตานี’ ทิ้งของเดิม 10 ปีไม่คืบ หลังสูญงบกว่า 600 ล้าน (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, TCIJ, 22/1/2558)
ปมปั่นราคาที่ดินดึง‘นิคมฮาลาล’ฝันค้าง รัฐหวังแค่ทางผ่านดัน‘เซาท์เทิร์นซีบอร์ด’ (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, TCIJ, 14/2/2557)
‘นิคมฮาลาลปัตตานี’เป็นหมัน-สิบปีไม่คืบ ไร้คำตอบจากรัฐ-ไม่เดินหน้าแต่ก็ไม่เลิก (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, TCIJ, 11/2/2557)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ