การล้อเลียนแม้เป็นสีสันอย่างหนึ่งที่มีให้เห็นเป็นปกติ แต่กับคนบางกลุ่มอาจ ‘ตลกไม่ออก’ ตัวอย่างล่าสุดคือคลิปวีดีโอล้อกลุ่ม LGBT ของครอบครัวนักร้องชื่อดัง เจ เจตริน วรรธนะสิน และลูกชาย เจ้าขุน เพื่อตอบโต้ข่าวลือการซื้อบริการสาวข้ามเพศ พร้อมแฮชแท็ก #jaokhun#เจ้าขุน#สายบวก#สายแข็งเชิญทางนี้#เล่นกรูนักจัดให้ซักดอก ถูกกลุ่มชาว LGBT ตอบโต้อย่างหนักในสื่อสาธารณะ ถึงประเด็นการล้อเลียนและเหยียดเพศ ผู้เขียนชวนกลับไปตั้งคำถามว่า การล้อเลียน ในเชิงเหยียดศักดิ์ศรีความดป็นมนุษย์ ปัจจุบันควรมีอยู่หรือไม่? หรือในสังคมไทยมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้เพราะ “ใครๆก็ทำกัน” ที่มาภาพประกอบ: geralt (CC0 Public Domain)
เพราะ ‘ความแตกต่าง’ จึงเกิดการล้อเลียน
ความตลกช่วยลดทอนความก้าวร้าวของเนื้อหา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับความก้าวร้าว และรุนแรงต่อคนบางกลุ่ม ความเป็นมาของการล้อเลียน เริ่มต้นจากการสร้างความแตกต่างทางรูปลักษณ์ เชื้อชาติ สีผิว หรืออื่นๆ เพื่อทำให้บุคคลเหล่านั้นแตกต่าง หรือด้อยกว่า เมื่อความแตกต่างเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นพวกเขาเป็นตัวตลก และเป็นกลุ่มที่คอยสร้างเสียงหัวเราะ เช่น ในอดีตเรามักได้ยินมุก’พูดไม่ชัก’ของคนจีนในไทย, ‘ความบ้านนอก’ ของคนอีสานผ่านภาพของนังแจ๋วหรือคนรับใช้, มาจนถึงการล้อเลียนแรงงานข้ามชาติว่า ‘ลาว-พม่า’ จนถึงปัจจุบันคือการล้อเลียน LGBT ที่มักปรากฏให้เห็นทั้งในพื้นที่หน้าสื่อและชีวิตประจำวัน
ดร.กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า 40-50 ปีที่แล้ว การพูดถึง LGBT มีน้อยมาก แต่ว่าการล้อเลียนกันเรื่องเพศเพิ่งเกิดขึ้น 20-30 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ ตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์ มีการพูดถึงมากขึ้นในบางมิติ ยังไม่ใช่เชิงคุณภาพ
การผลิตภาพลักษณ์ LGBT เฉพาะบางมิติหรือจำกัดไว้เพียงบางบทบาท ยกตัวอย่างเช่น เกย์ ตุ๊ด ถูกให้ภาพเป็นผู้มีอารมณ์หวั่นไหว รุนแรงง่าย ขี้วีน ขี้บ่น หรือผู้หญิงข้ามเพศ หรือกะเทย มักจะเป็นคนที่กล้าแสดงออก เก่งการละครหรือเวทีต่างๆ โดยไม่เคยนำเสนอภาพลักษณ์ด้านความสำเร็จทางวิชาการ ทางการเมือง หรือด้านอื่นๆ อีกทั้งมักมีการล้อเลียนชาว LGBT ในเชิงของความแตกต่าง แปลกแยก โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศด้วยถ้อยคำประดิษฐ์ที่มีนัยยะประทดประเทียด เช่น สายเหลือง ตีฉิ่ง มีงู ผู้หญิงยืนฉี่ โดยมีบริบทคำพูด เช่น ‘ว้าว’ ‘เฮฮา’ ‘แตกตื่น’
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สนับสนุน ส่งเสริมความเข้าใจ LGBT หากแต่ส่งผลกระทบในเชิงของภาพจำ (Stereotype) หรืออคติ (Stigma) และอาจนำไปสู่ความเข้าเข้าใจผิด ขัดแย้ง พฤติกรรมความรุนแรงในสังคมได้เช่นกัน
LGBT มีภาพด้านลบ-สังคมเลยล้อเลียน หรือเพราะใครๆ ก็ทำกัน ?
นิด้าโพลเผยความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่3” ระหว่างวันที่15-16 พ.ค. 2556 จากประชาชนทั่วประเทศทุกภูมิภาคของไทย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 88.5 ยอมรับได้หากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานเป็นเพศที่ 3 แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมไทยดูเหมือนจะเปิดกว้างต่อ LGBT มากขึ้นกว่าในอดีต แต่เป็นการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข สังคมยังมองคนหลากหลายทางเพศเป็นพวกไม่สมบูรณ์ และมองว่าเป็นคนชายขอบ (Marginalized)
ที่ผ่านมา สังคมไทยนิยาม LGBT หรือคนที่ไม่ใช่ชายหญิงตามมาตรฐานของสังคม ด้วยคำที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ หมายถึงผิดไปจากปกติ ซึ่งถือเป็การตีตราคนที่ไม่ปฏิบัติตามแบบแผน หรือบทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้ อีกคำหนึ่งที่ใช้กันมากคือคำว่า ‘เพศทางเลือก’ ซึ่งเป็นคำที่ไม่ควรใช้เช่นกัน เพราะเป็นการนำเสนอเพศที่แตกต่างไปจากชายหญิง เพราะเป็น ‘ทางเลือก’ ที่ไม่ใช่ชายหญิง ยิ่งทำให้แปลกแยกแตกต่างออกไป ว่าคนนั้นเลือกทางเลือกที่ไม่ปกติ
การมอง LGBT ในสังคมไทยเช่นนี้ บ่มเพาะให้เกิดอคติและความรุนแรงที่แอบแฝงอยู่ในสังคม หลายคนยังถูกดูถูกเหยียดหยาม และไม่ได้รับสิทธิที่เขาพึงจะได้รับ ที่น่ากลัวคือการบ่มเพาะอคตินี้ ยังคงมีการผลิตซ้ำในเกือบทุกสถาบันทางสังคม
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์จากอคติต่อ LGBT ก็ยังคงเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันนั้นเปิดกว้าง และการล้อเลียนไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือจริงจัง และหากเรื่องที่ล้อนั้นเป็นเรื่องจริง ก็น่าจะล้อได้ โดยนาย’ยิ้ม’ นามสมมุติ เผยว่า การล้อเลียน LGBT สำหรับเขา คือการพูดออกไปเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไร มีจุดประสงค์หลักเพียงเพื่อความสนุกสนาน มักจะล้อเลียนกับเพื่อนที่สนิทที่ไม่ได้เป็น LGBT และมีน้อยครั้งที่ล้อเลียนชาว LGBT โดยตรง นายยิ้ม ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่พบมากสุดคือ เมื่อไปในที่สาธารณะแล้วเห็นคนมองเพื่อน ตนก็จะพูดเล่นๆว่า “เนี่ย สายเหลืองมองมึงนานละนะ” หรือแม้ แต่การที่เพื่อนกลั่นแกล้งเพื่อน เช่น ถูกโยนความผิด โดนล้อมาเลยหาเรื่องล้อกลับ เช่น “ถ้ามึงกวนตีนอีกทีกุจะจับมึงมัดละให้ไอ้ตุ๊ดนั่นมาข่มขืน” รวมถึงคำพูดว่า ‘เสียวตูด’ ‘ตุ๊ดเอ้ย’ ซึ่งนายยิ้มไม่ได้คิดว่าตุ๊ดเป็นเรื่องผิด เพียงแต่อยากหาคำพูดสนุกๆ โดยไม่มีเจตนาว่าล้อเลียนชาว LGBT โดยตรง
สังคมคือบ่อเกิด’การเหยียด-ล้อเลียน’ และทำให้ไม่ ‘ปกติ’
อาจกล่าวได้ว่าประเด็นเรื่องการ ‘เหยียด-ล้อเลียน’ ยังไม่เคยถูกพูดถึง หรือตระหนักอย่างจริงจังมากนักในประเทศไทย เพราะ LGBT ถูกขายเป็นความบันเทิง ตั้งแต่ตลกคาเฟ่ จนมาถึงสื่อ โรงเรียน โลกออนไลน์ หากจะพิจารณาถึงวลีที่ว่าการล้อเลียน LGBT “ใครๆก็ทำกัน” เกิดขึ้นจากสถาบันทางสังคมในส่วนไหน ที่มักจะให้ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนนำไปสู่การตีตรา และผลิตซ้ำพฤติกรรมดังกล่าว
สถาบันทางสังคม แรกที่ทรงพลังที่สุดคือ ศาสนาและวัฒนธรรม ทุกยุคทุกสมัยแนวคิด ‘ปิตาธิปไตย’ การเชิดชูความเป็นชายขึ้นสูง ลดทอนเพศอื่นๆเป็นเพศรอง ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคม LGBT คือความไม่สมบูรณ์แบบของเพศในอุดมคติ หรือผิดแปลกจาก ‘ความเป็นลูกผู้ชาย’ คือเหตุแห่งการเหยียด โดยเฉพาะในกรณีสาวข้ามเพศและเกย์ เช่น ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะล้อเลียนเพื่อนที่ปฏิบัติแตกต่างจากความเป็นชายในอุดมคติ เช่น เรียบร้อย ไม่กล้าแสดงออก รักสวยรักงามว่า ‘เกย์’ หรือ การล้อเลียนคนชอบร้องไห้ วา ‘ตุ๊ด’ และที่สำคัญคือทุกคนมักจะหัวเราะกับถ้อยคำเหล่านี้
จากแนวคิดดังกล่าวที่มีอยู่ทั้งในทางศาสนาและวัฒนธรรม ถูกปรับเข้ากับแนวทางปฏิบัติ เช่น ห้ามบวช การผิดเพศถือว่าเป็นบาป ชาติที่แล้วทำผิดมา บางนิกายศาสนารุนแรงถึงกับต้องทำร้ายร่างกายเพื่อเป็นการทำโทษ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังตกค้างและผลิตซ้ำอยู่เรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ‘สื่อมวลชน’ ก็มีส่วนในการกำหนดขอบเขตความคิดและชักจูงความรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นละคร ข่าว ภาพยนตร์ มักนำเสนอแต่ด้านแย่ๆของ LGBTมากกว่าจะเสนอในด้านดี โดยเฉพาะชาว LGBT มักเป็นตัวประกอบ ตัวตลก ผู้ร้าย หรือมีความบกพร่องทางจิต ยิ่งมีกระแสในโซเชียลก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ความลามก อนาจาร โดยเฉพาะการโชว์ของ นัดมีเซ็กส์ หรือมั่วสุม
รณภูมิ สมัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้เผยงานวิจัยเรื่อง ‘วิเคราะห์การพาดหัวข่าวและเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ และข่าวทางโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2557-2559 ‘ ในช่วงการเกณฑ์ทหาร พบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีการรายงานข่าวการเกณฑ์ทหารทั้งหมด 72 ข่าว โดยร้อยละ 97 ของพาดหัวข่าวมุ่งเน้นที่ลักษณะทางกายภาพ รูปร่างและความโดดเด่นของสาวข้ามเพศ บางคน มากกว่ากระบวนการเกณฑ์ทหาร เพราะสื่อยังคงเน้นความแปลกมากกว่าการนำเสนอรอบด้าน ที่น่าเป็นห่วงคือทางกสทช. ควบคุมได้เพียงสื่อส่วนกลาง ไม่สามารถควบคุมสื่อท้องถิ่นและโซเชียลมีเดียได้ อีกทั้งต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนบางกลุ่ม ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิทางเพศ เพศสภาพ และเพศวิถี ก่อให้เกิดการนำเสนอภาพที่ผิด ภาพเหมารวมและอคติทางเพศ
นอกจากนี้ หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานสุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ระบุว่า “กลุ่มหลงเพศคือกลุ่มที่ต้องใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้ามกับที่ตนเองเป็นอยู่ โดยมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนเองให้เป็นเพศตรงข้าม”... “การเบี่ยงเบนทางเพศเป็นความผิดปกติในคนที่มีความรู้สึกทางเพศ ทัศนคติตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่แสดงออกไปอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม” อีกทั้งยังระบุว่า “ผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศควรปิดเป็นความลับเฉพาะตัว” เนื้อหาทั้งหมดเหล่านี้ ทั้ง ‘หลงเพศ’ หรือ ‘การเบี่ยงเบนทางเพศ’ เป็นการตอกย้ำคนที่มีความแตกต่างจากความคาดหวังในสังคม คนเหล่านี้ผิด นำ มาซึ่งเรื่องราวการถูก bully (ระราน รังแก) ในโรงเรียนของคนที่เป็น LGBT ที่ยังไม่เคยมีใครพูดถึง
ท้ายที่สุด สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญในการปลูกฝังและสร้างความเข้าใจอันดีต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้ระบบอาวุโสนิยม ครอบครัวนั้นเป็นแหล่งกำเนิดกำพืดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่เพียงบุพการีจะเป็นแบบอย่างที่ลูกจะทำตาม ยังสามารถชี้นำทางจิตวิญญาณให้คุณให้โทษ สำหรับสังคมไทยในหลายครอบครัว ผู้ปกครองมักมองประเด็น LGBT ในด้านลบ โดยเฉพาะการรักเพศเดียวกันเป็นความวิตกกังวลของพ่อแม่ในบางครอบครัว ดังเห็นได้จากกระแสการตอบรับของบทความ ‘การเลี้ยงลูกไม่ให้ผิดเพศ นงพงา ลิ้มสุวรรณ’ ปี 2542
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของอาจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งสำรวจความหลากหลายทางเพศของเด็กมัธยม 2,700 คนจากโรงเรียน 5 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่า มีเด็กวัยรุ่นที่คิดว่าว่าตัวเองมีความหลากหลายทางเพศร้อยละ11 ซึ่งในร้อยละ11 นั้นส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเพศไหน พ่อแม่จำนวนหนึ่งซึ่งมีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งลูกไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์แก้ไข ‘ความเบี่ยงเบนทางเพศ’ ของเด็กเหล่านี้ให้กลับมาเป็น ‘ปกติ’ดังเดิม อย่างไรก็ตามงานวิจัยชี้ว่าการกำหนดขอบเขตความรับรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนทำให้เกิดความเข้าใจในทางที่ผิดและมีอคติต่อกลุ่ม LGBT เด็กจะสามารถซึบซับพฤติกรรมเหล่านั้น หรือแสดงความรังเกียจ มากไปกว่านั้นเมื่อนักเรียนล้อเลียนเพื่อนแล้วมีคนเห็นด้วย หรือมีคนเห็นว่าตลก ทั้งจากครอบครัว หรือครู อาจารย์ แนวโน้มการแสดงพฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งมีมากขึ้นไปอีก
จากการล้อเลียนสู่ ‘Hate Speech’ ใครๆ ก็ล้อ ซีเรียสไปใย ?
จากการผลิตซ้ำทางความคิดเรื่องการล้อเลียนกลุ่มคน LGBT ทำให้สังคมซึบซัม Hate Speech ต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้แตกต่างหรือถูกกีดกันออกจากสังคม จากความคิดสู่คำพูด สู่การกระทำ ที่เลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานของเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถี เช่น การคุกคามทางเพศ ด้วยการไม่รับเข้าทำงาน ในกรณีของอาจารย์ เคท ครั้งพิบูลย์ (อ่านเพิ่มเติมที่: อธิการมธ. ยันไม่รับเคทเป็นอาจารย์เหตุโพสต์ภาพลิปสติกไม่เหมาะสม) เป็นต้น
นอกจากนี้การ ‘เหยียด-ล้อเลียน’ สำหรับกลุ่มคนที่มองว่าเป็นเรื่องไม่ตลก ประสบการณ์และความรู้สึกจากการถูกล้อเลียนของพวกเขา ทำให้รู้สึกถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัว สร้างความอับอาย สร้างความแปลกแยก แตกต่างจากสังคม หรือถูกทำให้ด้อยกว่า และมีผลต่อการดำรงชีวิตมากกว่าแค่คำพูดหรือการกระทำ ตัวอย่างเช่น การล้อเลียน ว่าชาว LGBT เอาใครไม่เลือก ตลกไปเสียทุกเรื่อง หรือชอบใช้คำหยาบคาย ภาพลักษณ์ที่แสดงถึงเป็นคนบ้ากาม ไร้ศีลธรรม หรือขาดความเป็นมืออาชีพนี้ ส่งผลมากกว่าความรู้สึกอับอาย แต่ส่งผลถึงอนาคตในชีวิตของพวกเขา ทำให้บางหน่วยงานหรือคนในหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับ LGBT มีความรู้สึกกลัว อคติต่อการร่วมงานกับพวกเขา เนื่องจากกลัวว่าจะต้องโดนด่าด้วยคำหยาบคายหรือถูกลวนลามทางเพศ สิ่งเหล่านี้ส่งผลย้อนกลับไปที่ตัว LGBT เอง ที่ไม่กล้าเข้าสังคม ไม่กล้าเผชิญกับท่าทีแสดงความรังเกียจจากผู้อื่น
ผู้เขียนสัมภาษณ์บุคคลที่เคยถูกล้อเลียน ซึ่งพบว่าเราสามารถแบ่งตามความชัดเจนได้สองกรณี เนื่องจากการล้อเลียนชาว LGBT ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ บางครั้งคนที่ล้อหรือถูกล้อ อาจไม่ทราบว่าตนเองกำลังเผชิญกับอะไร กรณีแรก เป็นการล้อโดยตรงจากประสบการณ์ของ ‘อิ้ง’ (นามสมมุติ) นักศึกษาข้ามเพศ เผยว่าในขณะกำลังเล่นเกมส์ ROV ซึ่งมีการจัดกลุ่มตั้งทีมเป็นสองฝ่าย และตนเองก็ได้อยู่กลุ่มกับคนที่ไม่รู้จัก พอถึงเวลาเริ่มเกมส์ คนในทีมเดียวกันต้องส่งเสียงเพื่อช่วยเหลือกันในเกมส์ เมื่อชายคนหนึ่งในทีมของอิ้ง ได้ยินเสียงและทราบว่าเป็น LGBT ทำให้ชายคนนั้นบ่นออกมาว่า “เอากะเทยมาอยู่ในทีมทำไม กะเทยเล่นไม่ดี” และเมื่อทีมพ่ายแพ้ ชายคนนั้นก็พูดอีกว่า “เห็นมั้ย เอากะเทยมาอยู่ในทีมทำให้แพ้เลย” จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชายในเกมส์ ไม่ว่าจะพูดแบบนั้นด้วยเหตุผลที่ต้องการจะเหยียด หรือเพราะกำลังจริงจังกับเกมส์ แต่ทำให้อิ้งรู้สึกเสียใจและเผยว่า “เพียงเพราะแค่เป็นกะเทย สังคมมองว่าเราไม่มีศักยภาพ เหตุการณ์นี้ไม่สะท้อนแต่ภาพของการเหยียดเพศ แต่ยังสะท้อนถึงความคิดที่ว่ากะเทยไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะภาพลักษณ์ที่ถูกจำกัดไว้เฉพาะบางเรื่อง ที่สังคมผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลา”
กรณีที่สอง คือ ‘มิ้ง’ พนักงานออฟฟิศหญิงข้ามเพศ เธอเผยว่าได้ไปส่งเพื่อนซื้อข้าวที่หลังมหาวิทยาลัย พอไปถึงร้าน เพื่อน ก็บอกให้มิ้งเป็นคนสั่งให้ หลังจากที่พูดกับพนักงานในร้านเพื่อสั่งข้าว ทันทีพนักงานในร้านหันมามองแล้วก็หัวเราะกันยกใหญ่เลย “ตอนนั้นรู้สึกไม่โอเค ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมต้องมาหัวเราะ ทำอะไรผิด มาฉุกคิดทีหลังว่า เพียงแค่เสียงของมิ้งเป็นผู้ชาย หลังจากนั้นมาจึงรู้สึกโกรธมาก รู้สึกเสียหน้าและอับอาย ที่” มิ้งเล่า
ที่ผ่านมามีงานวิจัยเรื่อง “การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการป้องกันใน 5 จังหวัดของประเทศไทย” พบว่าเกือบหนึ่งในสามของนักเรียน LGBT เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 29.3 ระบุว่าเคยถูกกระทำทางวาจา นอก จากนี้ร้อยละ 7 ของผู้ที่ถูกรังแก ระบุว่าเคยพยายามฆ่าตัวตาย ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นการล้อเลียนที่คุ้นชินในสังคมไทย เช่น ไม้ป่าเดียวกัน รักร่วมเพศ รวมไปถึง นิ้วเย็นๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ อัดถั่วดำ ฯลฯ นับเป็นการนำเรื่องบนเตียงมาสร้างความอับอายในที่สาธารณะ และละเมิดความเป็นส่วนตัว ถึงแม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ บุคคลคนนั้นควรจะมีสิทธิที่จะเลือกพูดเรื่องอะไรของตัวเองในวัน เวลา และสถานที่ที่ตนเองต้องการ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ถ้อยคำยังมีความรุนแรงถึงขึ้นชี้นำให้เกิดการขืนใจ ซึ่งส่งผลให้คนข้ามเพศหลายคนเกิดความหวาดกลัวการคุกคามทางเพศ
รวมไปถึงแนวคิดเบี่ยงเบนทางเพศ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศ ให้กลับไปเป็นตามความเป็นชายหญิงที่สังคมคาดหวัง ส่งผลให้หลายคนไม่กล้าแสดงตน หรือถูกพ่อแม่บีบบังคับให้ปิดบังพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งการปิดบังพฤติกรรมนี้ อาจจะส่งผลให้เด็กไม่กล้าแสดงออก เก็บตัว ซึมเศร้า ขาดเรียน จนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ ในอีกแง่มุมของครอบครัว จากบทความ “จดหมายจากครอบครัวสีรุ้ง” โดย มัจฉา พรอินทร์ ชี้ให้เห้นว่าการล้อเลียนไม่ได้แค่มีผลต่อคนคนเดียว แต่การล้อเลียนครอบครัวที่เป็น LGBT ก็มีผลต่อความรู้สึกของลูก เช่นกัน
สถานการณ์ LGBT ในอนาคต
จากเหตุการณ์ที่กลุ่ม LGBT แสดงความไม่พอใจต่อคลิปวีดีโอล้อเลียนของ เจ เจตริน วรรธนะสิน และลูกชาย เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า LGBT ก็เหมือนกับผู้ชายผู้หญิงทั่วไป ไม่ต้องการให้ใครมาดูถูก และต้องการการให้เกียรติเหมือนกับเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยอาจยังไม่สามารถสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยแก่ทุกเพศสภาพ หรือทำให้คนที่มีอัตลักษณ์ หรือรสนิยมทางเพศแตกต่าง เป็นเรื่องปกติ (Normalization) หากแต่กลับไปทำให้การล้อเลียนพวกเขาเป็นเรื่องปกติ
เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า จริงๆ แล้ว สังคมไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับกะเทยกำลังเปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเหมือนในประเทศตะวันตก “ระยะเวลาของความเปลี่ยนแปลงประมาณ 10 ปีจะกำลังพอดีในหลายๆ เรื่อง สิ่งหนึ่งที่ต้องรอคือกลุ่ม LGBT ต้องมองเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญเป็นปัญหา สามารถจะลุกขึ้นมาเรียกร้องใช้กลไกสิทธิมนุษยชนในการคุ้มครองปกป้องตัวเองได้ ไกลกว่านั้นคือคนในสังคมที่ไม่ใช่ LGBT มองเห็นปัญหาและสามารถบอกสังคมว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่ถูกต้อง” เคท ครั้งพิบูลย์ กล่าว
นอกจากนี้ NGO ในประเทศไทยไทยอีกหลากหลายกลุ่ม ก็มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาการผลิตซ้ำทางความคิด และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยการจัดสัมมนาร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง รัฐบาล อย่าง ‘จิบกาแฟนั่งคุย: ตามต่อกะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเพื่อกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กับ กสทช. เพื่อสร้างแนวทางการนำเสนอภาพลักษณ์ของ LGBT อย่างถูกต้องในสื่อกระแสหลัก ขณะที่ For-Sogie องค์กรสิทธิมนุษยชน กำลังทำงานวิจัยตำราสุขศึกษา เพื่อแก้ไขการผลิตซ้ำภาพแย่ๆ ของ LGBT ด้านองค์กร TEA (โรงน้ำชา Togetherness for Equality and Action) ที่ทำงานอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชนเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ เช่นเดียวกับ มัจฉา พรอินทร์ นักสิทธิมนุษยชน ที่จัดโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เน้นอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในเด็กและเยาวชนชายขอบ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ UNDP ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา และ Love Pattaya Thailand ก็จัดกิจกรรมเวิร์คชอปสร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปเกี่ยวกับ LGBT อีกด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ