สตง. ตรวจพบ 'ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน' โครงการ ‘ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด’ ใช้ต้นทุนหัวละ 6,325.28 บาท บางพื้นที่ ไม่สามารถวัดผลสำเร็จของการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดระยะยาวได้ มีแค่ติดตามระยะสั้น บางรายกลับเข้ารับการบำบัดซ้ำหลายครั้ง ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัด จัดอบรมในสถานที่ไม่เหมาะสม-อบรมอาชีพไม่ตรงกับความต้องการ ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
จาก 'ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน' สู่ 'แผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด'
โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2555 เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 154/2554 เรื่อง ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ลงวันที่ 9 ก.ย. 2554 (มีการแก้ไขเพิ่มเติม 19 ก.ค. 2556) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประชาชนและสังคม และมีการกำหนด 'ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด' เป็นยุทธศาสตร์หลัก ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้จัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจำนวนถึง 2,660.42 ล้านบาท เพื่อใช้ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามยุทธศาสตร์ฯ นี้มีการกำหนดนโยบายให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับนำไปปฏิบัติ โดยการบริหารจัดการมี ‘ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ’ (ศพส.) เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติ และมีศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับกระทรวง กรม หน่วยงาน และระดับภาค/พื้นที่ตามแนวชายแดน ไปจนถึงระดับจังหวัด รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดระดับอำเภอและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้ทุกส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นภารกิจเร่งด่วน และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาให้บรรลุผล ศพส.ได้มอบภารกิจให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีภารกิจที่ต้องดำเนินการ ดังนี้ 1. กิจกรรมการบำบัดฟื้นฟู และฝึกอาชีพให้แก่ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และ 2.กิจกรรมการป้องกันและเฝ้าระวัง ซึ่งประกอบด้วยการป้องกันปัญหายาเสพติดโดยการติดตั้งกล้อง CCTV และก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา เป็นต้น ต่อมาหลังรัฐประหารปี 2557 ได้มีการประกาศใช้ แผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 – 2560 สู่วิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และ แผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2561 ต่อเนื่องมา
ค่ายปรับพฤติกรรม 'ศูนย์ขวัญแผ่นดิน' ไม่เป็นไปตามแนวที่กำหนด
ภาพจากโครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชุมพรศูนย์ขวัญแผ่นดินจังหวัดชุมพร ประจำปี 2560 รุ่นที่ 1 ณ กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดชุมพร เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
'ศูนย์ขวัญแผ่นดิน' ถือเป็น ‘ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม’ ที่กำหนดให้มีการสร้างกลไกลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) สำรวจและกำหนดกลไกการดำเนินงานในพื้นที่ให้เป็นไปตาม ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 และ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่องการนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู การบำบัดฟื้นฟู และการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอ โดยสถานที่ตั้งของศูนย์เพื่อการคัดกรองให้ใช้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปหรือศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานที่อื่น (ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งในหน่วยดังกล่าวข้างต้นได้) เป็นที่จัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในระดับจังหวัด และในทุกอำเภอและเขต มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำเนินการออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว พร้อมกับมอบหมายเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการ และกำกับดูแลการดำเนินงาน โดยขั้นตอนดำเนินโครงการค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน มี 4 ขั้นตอน คือ 1) ค้นหาบำบัดฟื้นฟูฯ และส่งต่อผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด 2) ประเมินคัดกรองและส่งต่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู 3) บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ และ 4) ติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู
จาก รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน ศูนย์อานวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จังหวัดในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 3 (6 จังหวัดได้แก่ จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรสาคร) ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินปีงบประมาณ 2559 ของจังหวัดที่ตรวจสอบ 6 จังหวัด ใช้จ่ายงบประมาณในการจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินจำนวน 56.82 ล้านบาท โดยมีผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจำนวน 8,983 ราย (เฉลี่ยใช้งบประมาณต่อหัวรายละ 6,325.28 บาท) โดยได้งบประมาณจาก 1) สำนักงาน ปปส.ที่จัดสรรให้กับ ศอ.ปส.จ. ทั้ง 6 จังหวัดเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน เป็นเงินจำนวน 14.06 ล้านบาท โดยนำไปจัดทำค่ายฯ จำนวน 29 รุ่น มีผู้เข้ารับการบำบัดรวมจำนวน 2,163 ราย 2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติด ยาเสพติดและส่งเสริมการฝึกอบรมอาชีพโดยจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 298 แห่ง เป็นเงินจำนวน 34.36 ล้านบาท นำไปจัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จำนวน 63 รุ่น มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 5,119 ราย 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดหนุนให้กับ ศอ.ปส.จ.และ ศป.ปส.อ. เพื่อจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้เงินอุดหนุนจำนวน 49 แห่ง เป็นเงินจำนวน 6.85 ล้านบาท นำไปจัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จำนวน 13 รุ่น มีผู้เข้ารับการบำบัดรวมจำนวน 1,469 ราย และ 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เงินงบประมาณของตนเองเพื่อจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินเพิ่มเติม ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี เป็นเงินจำนวน 1.55 ล้านบาท นำไปจัดทำค่ายฯ จำนวน 5 รุ่น มีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวน 232 รายโดยการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ผลการดำเนินงานยังไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวน 9,132 ราย โดยจำนวนผู้ผ่านการบำบัดค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินรวมแล้วมีจำนวน 8,983 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 98.37 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้
สตง. ระบุว่ายังไม่สามารถวัดผลสำเร็จของการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้ เนื่องจากต้องอาศัยข้อมูลการติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูระยะยาวและการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ระบบการติดตามผู้ผ่านการบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงข้อมูลการติดตามช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น รวมทั้งพิจารณาเห็นว่าข้อมูลที่ได้รับยังเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง ไม่สามารถนำมาใช้ในการประเมินผลสำเร็จของการจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินได้
ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัด
ในรายงานของ สตง. ยังระบุว่าจากการสอบถามผู้อำนวยการและคณะกรรมการ ศอ.ปส.จ./ศป.ปส.อ. จำนวน 101 ราย ถึงผลการดำเนินงานบำบัด และรักษาผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ขวัญแผ่นดินว่าสามารถบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้ผลสำเร็จมากน้อย เพียงใด ปรากฏว่ามีจำนวน 85 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.15 ของจำนวนที่สอบถามทั้งหมดให้ข้อมูลว่า กระบวนการบำบัดรักษาของค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินยังไม่ประสบผลสำเร็จในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเท่าที่ควร โดยพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินของทั้ง 6 จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ ในแต่ละขั้นตอนมีปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่กำหนดไว้ได้แก่ การค้นหาผู้เข้ารับการบำบัด ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดตามขั้นตอนการค้นหา จะต้องมีการประชาสัมพันธ์และเข้าถึงผู้เสพยาเสพติดในชุมชน เพื่อชักชวนและจูงใจให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในทางปฏิบัติจริงพบว่าผู้เข้ารับการบำบัดเกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้สมัครใจที่จะเข้ารับการบำบัด แต่ใช้วิธีการค้นหาโดยชุดปฏิบัติการค้นหาผู้ติดยาเสพติดของ ศป.ปส.อ. แต่ละอำเภอ และต้องยินยอมเข้ารับการบำบัดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีจำนวนน้อยมากที่สมัครใจขอเข้ารับการบำบัดด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังพบว่าผลจากการค้นหาผู้เข้ารับการบำบัดโดยมีระยะเวลาจำกัดทำให้ไม่มีการตรวจสอบประวัติของผู้ยินยอมเข้ารับการบำบัดฯ เนื่องจากผู้เข้ารับการบำบัดจะไม่บอกชื่อสกุลที่แท้จริง และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนแสดงในขณะที่ตรวจค้น หรือให้ข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทำให้ไม่ทราบว่าผู้ติดยาเสพติดที่ค้นพบนั้นเป็นใคร เป็นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น หรือมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคมหรือไม่ เคยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูมาแล้วเกินกว่า 5 ครั้ง หรือไม่ ประกอบกับยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลตามแบบกรอกข้อมูลที่กำหนดไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน
การคัดกรองและส่งต่อผู้ติด/ผู้เสพ ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด
สตง. ยังพบว่าการคัดกรองและส่งต่อผู้ติด/ผู้เสพ ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เมื่อตรวจค้นพบผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง โดยมีผลการตรวจพิสูจน์ปัสสาวะเบื้องต้นพบว่ามีสารเสพติด และบุคคลดังกล่าวยินยอมเข้าบำบัดฟื้นฟู จะต้องนำผู้ยินยอมเข้ารับการบำบัดฯ พร้อมข้อมูลตามแบบ บ.108-2557-1 และ บ.108-2557-2 ที่ได้มีการกรอกข้อมูลไว้แล้ว ไปตรวจสอบประวัติการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฯ เพื่อการคัดกรองในพื้นที่ หรือดำเนินการประเมินคัดกรองนอกพื้นที่ตามแผนปฏิบัติการฯ ที่ได้กำหนดไว้เพื่อประเมินสภาพการเสพการติดยาเสพติด คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะเสี่ยงทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ข้อมูลและสร้างแรงจูงใจในการบำบัดรักษา และพิจารณาเพื่อส่งต่อผู้ที่จะเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ศูนย์ขวัญแผ่นดิน) หรือสถานพยาบาลตามที่กำหนดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่ากระบวนการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการคัดกรองที่ศูนย์คัดกรองตามที่ประกาศกำหนด แต่จะดำเนินการคัดกรองในจุดที่เป็นสถานที่จัดทำค่ายบำบัดฟื้นฟูหรือจุดที่ชุดปฏิบัติการค้นหาผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติด ตั้งด่านตรวจค้น ซึ่งจะมีการดำเนินการก่อนเปิดค่าย 1-7 วัน สาเหตุที่ต้องดำเนินการเช่นนั้น เนื่องจากต้องหาผู้ติด/ผู้เสพให้ไปเข้ารับการบำบัดให้ครบตามจำนวนเป้าหมายที่กำหนด ทำให้การคัดกรองดำเนินการด้วยความเร่งรีบและขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วน เช่น ไม่มีการตรวจสอบประวัติผู้เสพจากระบบต่างๆ ของทางราชการ ประกอบกับผู้ต้องสงสัยนั้นไม่บอกชื่อ ชื่อสกุลที่แท้จริง และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนแสดงในขณะที่ตรวจค้น หรือให้ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนไม่ตรงตามข้อเท็จจริง มีผลให้การประเมินเพื่อจำแนกคัดกรองและแยกประเภทตามความรุนแรงของการเสพติดยังไม่เป็นไปอย่างเข้มงวดเท่าที่ควร ทำให้ผู้เสพยาเสพติดส่วนใหญ่หากไม่ได้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจะถูกนำเข้าค่ายบำบัดรวมกันทั้งหมด การพิจารณาเพื่อคัดแยกระหว่างผู้เสพกับผู้ติดยาเสพติดเพื่อนำไปเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ก็ดำเนินการได้ไม่ชัดเจน ทำให้การพิจารณาดำเนินการเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากจากข้อมูลที่จัดเก็บพบว่า มีผู้เสพยาเสพติดที่มีการกระทำผิดในรูปแบบต่างๆ ทั้งในส่วนของการกระทำผิดอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด หรือเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดเข้ารับการบำบัดด้วย
จากการตรวจสอบการบันทึกข้อมูลใน ระบบ NISPA (ระบบสารสนเทศยาเสพติดจังหวัด) พบว่ามีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองไม่ครบถ้วน โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินตามเอกสารเบิกจ่ายเงินมีทั้งหมดจำนวน 8,983 ราย ทั้งนี้ผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมดจะต้องผ่านการคัดกรองและบันทึกข้องมูลผลการคัดกรองในระบบ NISPA แต่พบว่ามีการบันทึกข้อมูลผู้ผ่านการคัดกรองรวมจำนวน 7,985 ราย มีผู้เข้ารับการบำบัดแต่ไม่มีการบันทึกข้อมูลการคัดกรองจำนวน 998 ราย โดยจังหวัดที่มีการบันทึกข้อมูลการคัดกรองไม่ครบถ้วน ได้แก่ สุพรรณบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร สำหรับการบันทึกข้อมูลผู้ผ่านการบำบัด ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินพบว่ามีการบันทึกข้อมูลผู้ผ่านการบำบัดค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินทั้งหมดจำนวน 6,934 ราย มีผู้เข้ารับการบำบัดแต่ไม่มีการบันทึกข้อมูลผลการบำบัดจำนวน 2,049 ราย โดยจังหวัดที่มีการบันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน ได้แก่ สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร
สถานที่ไม่เหมาะสม-อบรมอาชีพไม่ตรงความต้องการ
ภาพการการฝึกอบรมวิชาชีพ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ จชต. ปี 2559 ที่มาภาพ: ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการสังเกตการณ์สถานที่ดำเนินการค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินของ สตง. พบว่าส่วนใหญ่จัดในสถานที่ที่อยู่ในแหล่งชุมชน เป็นสถานที่เปิด เช่น วัด หอประชุม ทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดหลบหนีได้ง่ายและอาจเข้าไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในชุมชน อีกทั้งการดำเนินการส่วนใหญ่ขาดวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินการ เช่น เครื่องเสียง อุปกรณ์เครื่องนอน ของใช้สำหรับผู้เข้าค่ายฯ
ในการจัดอบรมอาชีพให้กับผู้เข้ารับการบำบัด พบว่า ผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่มีอาชีพประจำอยู่แล้ว แต่หลักสูตรการฝึกอาชีพให้ผู้เข้ารับการบำบัด เป็นการกำหนดขึ้นจากทีมวิทยากรเอง โดยไม่ได้มีการสอบถามความต้องการจากผู้เข้ารับการบำบัดแต่อย่างใด ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำความรู้จากการอบรมอาชีพไปใช้ในการประกอบอาชีพจริงหรือทำอาชีพเสริมได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน มีเจ้าหน้าที่บางรายให้ข้อมูลว่า บางอาชีพที่จัดอบรมให้กับผู้เข้ารับการบำบัด หากจะนำไปดำเนินการเพื่อให้เกิดรายได้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุน ซึ่งผู้เข้ารับการบำบัดอาจไม่มีเงินลงทุนเพียงพอจะดำเนินการได้ หรือบางอาชีพให้ผลตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับรายได้จากการจำหน่ายยาเสพติด หรือบางอาชีพที่นำมาฝึกให้ผู้เข้ารับการบำบัดกำหนดระยะเวลาในการอบรมเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องใช้ระยะเวลานานเพื่อฝึกฝนให้เกิดความชำนาญจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง ผลจากการที่ผู้เข้ารับการบำบัดไม่สามารถประกอบอาชีพให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ก็จะเป็นสาเหตุทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดกลับไปเสพยาเสพติดเหมือนเดิม
ไม่มีข้อมูลผู้ผ่านการบำบัดเลิกเสพยาหรือไม่ แต่พบกลับเข้าบำบัดซ้ำอีก
นอกจากนี้ใน รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ของ สตง. ยังพบว่ากิจกรรมส่งเสริมการบำบัดฟื้นฟูให้แก่ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูส่วนใหญ่ไม่ได้รับการติดตามดูแลช่วยเหลือ และบางส่วนยังไม่สามารถเลิกเสพได้ จากการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู (ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) ในปีงบประมาณ 2558 ของ 5 อำเภอที่มีผู้เข้ารับการบำบัดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พานทอง บางละมุง บ้านบึง ศรีราชา และเมืองชลบุรี พบว่าผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูได้รับการติดตามเฉลี่ยเพียงร้อยละ 30.37 ของจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทั้งหมด จำนวนผู้ที่ไม่ได้รับการติดตามและย้ายที่อยู่รวมกันประมาณร้อยละ 70 ซึ่งไม่มีข้อมูลว่าผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูในส่วนนี้สามารถเลิกเสพหรือยังมีการใช้ยาเสพติดอยู่หรือไม่ ทั้งนี้คาดว่าบางส่วนยังไม่สามารถเลิกเสพได้ เนื่องจากพบรายชื่อผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูที่กลับเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูซ้ำอีกจำนวนหลายครั้ง
ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการฝึกอบรมอาชีพพบว่า ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมอาชีพ จากการตรวจสอบเอกสารการจัดสรรงบประมาณทั้ง 2 กิจกรรมที่จัดสรรให้แก่ อปท.ใน 5 อำเภอ ได้แก่ พานทอง บางละมุง บ้านบึง ศรีราชา และเมืองชลบุรี พบว่า ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูของ อ.พานทอง อ.บ้านบึง และ อ.เมืองชลบุรี บางส่วนไม่ได้รับการฝึกอบรมอาชีพ เนื่องจาก อปท.ไม่มีการจัดฝึกอบรมอาชีพ โดยมีการคืนเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการฝึกอบรมอาชีพเต็มจำนวนที่ได้รับจัดสรร โดยจำนวนงบประมาณส่งคืนเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรของ อ.พานทอง อ.บ้านบึง และ อ.เมืองชลบุรี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2558 เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 70.48 นอกจากนี้ยังพบว่ากิจกรรมอบรมอาชีพที่ อปท. 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลพานทอง อบต.บ้านเซิด เทศบาลตำบลเขตอุดมศักดิ์ และเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย การจัดฝึกอบรมอาชีพของ อปท.ทุกแห่งไม่ได้มาจากความต้องการของผู้เข้ารับการบำบัด แต่มาจากหน่วยงานที่จัดฝึกอบรมเป็นผู้กำหนด นั่นคือศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อ.) และ อปท.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ประมาณการผู้ใช้แรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ