จนถึงต้นเดือน เม.ย. 2561 พบมีผู้เข้าร่วม ‘โครงการพาคนกลับบ้าน’ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จำนวน 412 ราย นำเข้ากระบวนการ “อบรมปรับทัศนคติโดยใช้หลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง, การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย และการอบรมวิชาชีพ/การพัฒนาคุณภาพชีวิตรับมอบปัจจัยการผลิต” ที่มาภาพ: ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
ข้อมูลจาก กองพาคนกลับบ้าน ศูนย์สันติวิธี, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2561 ระบุว่าจากผลการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้านในรอบ 6 เดือน เพื่อเปิดโอกาสหรือช่องทางให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับมาต่อสู้ด้วยแนวสันติ และเข้าสู่การอบรมปรับความคิดความเชื่อให้มาร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข โดยมียอดรายงานตัวเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ประจำปี 2561 จำนวน 412 ราย ซึ่งได้ดำเนินการตามกรรมวิธีทั้ง 6 ขั้นตอน คือ 1.การรณรงค์สร้างความเข้าใจ 2.การรับรายงานตัว และอบรมปรับทัศนคติโดยใช้หลักศาสนา 3. การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย 4.การขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้าน 5.การฝึกอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิต 6.การติดตามพัฒนาสัมพันธ์เมื่อกลับภูมิลำเนา
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่าการดำเนินโครงการประจำปี 2561 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 การดำเนินการต่อเป้าหมายประจำปี จำนวน 288 ราย แยกเป็นรายงานตัวปี 2560 จำนวน 127 ราย และปี 2561 จำนวน 161 ราย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการโครงการพาคนกลับบ้านที่สำคัญ ดังนี้ (1) การอบรมปรับทัศนคติโดยใช้หลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง “หลักสูตรประชาร่วมใจทำความดี เพื่อแผ่นดิน” จำนวน 147 ราย (2) การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย หมาย ป.วิฯอาญา มอบตัวและประกันตัวเรียบร้อย 133 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการ 155 ราย (3) การอบรมวิชาชีพ/การพัฒนาคุณภาพชีวิตรับมอบปัจจัยการผลิต 147 ราย (4) การติดตามสร้างความสัมพันธ์เมื่อกลับภูมิลำเนาโดยหน่วยในพื้นที่ติดตามพบปะอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่ 2 การดำเนินการต่อบุคคลที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน (จากประเทศเพื่อนบ้าน) จำนวน 124 ราย ตั้งแต่ 3 ก.พ. 2561 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกรรมวิธีของโครงการพาคนกลับบ้านตามนโยบาย แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่มุ่งเน้นเชิงคุณภาพเป็นประการสำคัญ โดยได้ดำเนินการดังนี้
(1) การแต่งตั้งคณะทำงานพิสูจน์สัญชาติผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เพื่อให้การดำเนินการ เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความสันติสุขอย่างยั่งยืน (2) การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ เพื่อดำเนินคัดกรอง/ดำเนินกรรมวิธีของบุคคลเป้าหมายเก็บรูปแบบสารพันธุกรรมบุคคลเพื่อพิสูจน์สัญชาติ ก่อนเข้าร่วมโครงการ และพิสูจน์พฤติกรรมการกระทำความผิดพร้อมดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้กับบุคคลที่พิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทย
(3) การฝึกอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อบรมอาชีพเพื่อให้มีคุณภาพชีวิต/รายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ตลอดการเข้าพักอาศัย (บ้านสันติสุข) จำนวน 30 หลัง ณ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ตลอดระยะ 6 เดือน หลังจากนั้นจะเดินทางกลับไปประกอบอาชีพยังภูมิลำเนาหรือเข้าทำงานในโครงการพระราชดำริต่อไป.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ