การฆ่าแมวครั้งใหญ่ ความรุนแรงและแรงกดดันของชายหนุ่ม (โสด) ในฝรั่งเศสคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์: 14 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 13396 ครั้ง


อ่าน “Workers Revolt: The Great Cat Massacre of the Rue Saint-Séverin.” ผ่านมุมมองของเพศสภาพ: การฆ่าแมวครั้งใหญ่ ความรุนแรงและแรงกดดันของชายหนุ่ม (โสด) ในฝรั่งเศสคริสต์ศตวรรษที่ 18 

จากหัวเรื่องหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมแมวที่เปรียบเสมือนเทพเจ้าให้กับมนุษย์ยุคปัจจุบันได้บูชา ครั้งหนึ่งเคยถูกไล่ล่าสังหารหมู่และเป็นเครื่องสังเวยให้กับความรุนแรงภายในจิตใจของคนที่ปะทุขึ้นมาได้ แน่นอนว่าการฆ่าและทรมานสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่อาจถูกมองเป็นเพียงเรื่องของความโหดร้ายของมนุษย์ ปรากฏการณ์นี้ยังสามารถอธิบายถึงสังคมฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นกลางและการแย่งชิงสถานะของความเป็นชาย ก่อนหน้าที่จะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ได้อย่างลึกซึ้ง

บทความเรื่อง Workers Revolt: The Great Cat Massacre of the Rue Saint-Séverin.” โดย Robert Darnton นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นหนึ่งในบทความที่ถูกรวมเล่มในหนังสือชื่อ The Great Cat Massacre and Other Episodes in French Cultural History. หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของ Darnton ที่จะทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึก ตลอดจนการให้ความหมายต่อสิ่งรอบตัวของคนในอดีต ผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น นิทานพื้นบ้าน จดหมาย บันทึกส่วนตัว ฯลฯ อันเป็นแนวทางของการศึกษาแบบ l’histoire des mentalités หรือการศึกษาความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม

บทความชิ้นนี้วิเคราะห์บันทึกของชายหนุ่มชื่อ Nicolas Contat คนงานที่บันทึกเรื่องการฆ่าแมวครั้งใหญ่ในปารีสคริสต์ศตวรรษที่ 18 Contat บอกเล่าให้เห็นถึงสถานภาพของเด็กหนุ่มฝึกงานเหล่านี้จึงไม่สู้จะดีนัก ทั้งเรื่องของสภาพการทำงานและการใช้ชีวิตที่ถูกกดขี่จากทั้งนายจ้างและภรรยาของนายจ้างชนชั้นกลาง เด็กหนุ่มเหล่านี้ต้องอาศัยห้องเล็กๆในร้านค้าเป็นที่ซุกหัวนอน กินอาหารที่ทั้งเย็นและชืด และเห็นว่าสัตว์เลี้ยงขนปุยของเจ้านายมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าตนเอง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กหนุ่มเหล่านี้ทนไม่ได้คือการต้องอดหลับอดนอนเพราะเสียงแมวที่ร้องครางในยามค่ำคืน ในขณะที่บรรดาเจ้านายต่างได้หลับอย่างสำราญ เป็นเหตุผลที่ทำให้เหล่าเด็กหนุ่มเริ่มคิดแผนการโดยการเลียนเสียงแมวไปส่งเสียงร้องที่ใกล้หน้าต่างห้องนอนของเจ้านายในตอนค่ำคืนเป็นเวลาหลายคืน แน่นอนว่าเสียงแมว (ปลอม) ทำให้เจ้านายและภรรยาทนไม่ได้เช่นกันและสั่งให้เด็กฝึกงานจัดการกำจัดแมวในแถบนั้น การสังหารแมวครั้งใหญ่จึงเริ่มขึ้น บรรดาเด็กฝึกงานหลายคนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ออกไล่ล่าแมวทุกตัวในย่าน มีการจำลองศาลไต่สวนและมีการแสดงการประหารโดยการแขวนคอ เรียกได้ว่าการสังหารแมวไม่ใช่แค่การออกล่าและฆ่า แต่เป็นเสมือนมหรสพประเภทหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมลงมือกระทำด้วยความเบิกบานใจ แม้แต่แมวตัวโปรดของนายหญิงก็ถูกจับแขวนคอเช่นกัน

Darnton เริ่มการวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวด้วยคำถามว่าเราจะเข้าใจความตลกของบันทึกเรื่องนี้ได้อย่างไร ในเมื่อปัจจุบันการฆ่าและทรมานสัตว์ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตลกขบขัน (ตรงกันข้ามในตอนนี้สิทธิของสัตว์ดูจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล) เขาได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเรารู้ว่าเราไม่เข้าใจเรื่องตลก สุภาษิต หรือแม้แต่พิธีกรรมบางอย่างที่มีความหมายต่อคนบางกลุ่ม ณ จุดนั้นเองที่เราจะต้องพยายามสืบสาว/ค้นหาความหมายของมันเพื่อทำความเข้าใจตรรกะหรือความคิดของคนกลุ่มนั้นๆ

บทความประกอบไปด้วย 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ การอธิบายการเข้าสู่โลกสมัยใหม่ของฝรั่งเศสและการเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง (bourgeois class) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ความเสื่อมสลายของการเป็นช่างฝีมือ (artisan) และแรงกดดัน/ความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง/ เจ้านาย-เด็กฝึกงาน และชนชั้นกลาง-ชนชั้นแรงงาน ซึ่งทั้งหมดแสดงออกมาผ่านการสังหารหมู่เหล่าแมวที่บรรดาลูกจ้างหรือเด็กฝึกงานสามารถแสดงออก/ประท้วงได้ผ่านทางสัญลักษณ์เหล่านี้ ก่อนที่การประท้วงอย่างเป็นรูปธรรมของเหล่าชนชั้นแรงงานจะมีขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

ขณะนั้นบริบทของยุโรปยุคกลางและยุคก่อนสมัยใหม่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสมาคมช่างฝีมือ (guild) ที่มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เด็กหนุ่มจำนวนมากสมัครเป็นเด็กฝึกงานจากเจ้าของร้านค้า/ช่างฝีมือเพื่อที่จะเรียนรู้งานและหวังจะเปิดร้านค้าของตนเองในวันหนึ่งหลังจากที่ตนเองได้เรียนรู้งานมากพอ แต่ร้านค้าเหล่านี้ได้รับแรงบีบคั้นอย่างมากในช่วงที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศจำกัดจำนวนร้านค้าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17  โดยเฉพาะธุรกิจสิ่งพิมพ์ (printing shops) เนื่องจากต้องการให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ร้านค้าประเภทนี้มีจำนวนลดลงอย่างมากในแต่ละปี ผลที่ตามมาของจำนวนที่ลดลง คือจำนวนของเด็กฝึกงานที่ยังคงมีเท่าเดิม แต่อัตราการแข่งขันของเด็กหนุ่มเหล่านี้ในการเข้ามาฝึกงานกับนายจ้างสูงขึ้นอย่างมาก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงโอกาสในการเปิดร้านค้าเป็นของตัวเองในอนาคตที่น้อยลงเช่นกัน

จากบันทึกของ Contat จะเห็นว่าเด็กหนุ่มกำลังบอกเล่าเรื่องราวของโลกสองใบที่คู่ขนาน โลกหนึ่งเป็นโลกของเด็กฝึกงานหรือลูกจ้างที่ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันและสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่สู้ดีนัก ถูกกดขี่จากนายจ้าง และยังแทบจะมองไม่เห็นทางของการไต่เต้าไปเป็นเจ้าของร้านค้าเนื่องจากนโยบายการจำกัดจำนวนธุรกิจสิ่งพิมพ์ของรัฐ ขณะเดียวกันโลกของเจ้านายและภรรยาดูจะเป็นชีวิตที่สุขสบาย เจ้าของร้านแทบจะไม่ต้องทำงานอะไร มีเวลาพักผ่อนและใช้ชีวิตอย่างสำราญเต็มที่บนหยาดเหงื่อของแรงงานที่ถูกว่าจ้าง สิ่งสำคัญที่ Contat  เน้นย้ำว่าเป็นสิ่งที่ทำให้บรรดาลูกจ้างทนไม่ได้คือการต้องอดหลับอดนอนจากเสียงแมวที่โหยหวนในยามค่ำคืน ในเวลากลางวันที่งานก็เหนื่อยสาหัสอยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังต้องถูกรบกวนในเวลาที่ควรจะได้พักผ่อน “การพักผ่อน” จึงเป็นเสมือนตัวตอกย้ำถึงความแตกต่างของสองโลกระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน

คำถามคือ ทำไมต้องเป็นแมว ในความเป็นจริงแล้วในหลายพื้นที่ของยุโรปการทรมานแมวนับเป็นเรื่องสนุกสนานและเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลต่างๆมาแต่ดั้งเดิม ตามความเชื่อของชาวตะวันตก แมวเป็นสัตว์ที่ผูกกับอำนาจลึกลับและสิ่งที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะแม่มด แมวถือเป็นสัตว์ของแม่มดและปีศาจ ในยามที่มีคนป่วยใกล้เสียชีวิต หากมีแมวมานอนอยู่บนเตียงจะเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจที่มารอรับดวงวิญญาณ บางเมืองในฝรั่งเศสยังเชื่อว่าแมวมีอำนาจพิเศษที่ทำให้ขนมปังไม่ฟูขึ้น ฯลฯ การสังหารแมวจึงไม่นับว่าเป็นเรื่องประหลาดที่เหนือความคาดหมายมากเท่าใดนักเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว

ไม่เพียงแต่การถูกผูกโยงเข้ากับอำนาจลึกลับและแม่มดปีศาจ แมวยังเกี่ยวพันกับเรื่องเพศสังเกตได้จากคำว่า pussy หรือ le chat ก็เป็นศัพท์ที่มีนัยยะถึงอวัยวะเพศหญิง ในแง่นี้แมวจึงมีความหมายเกี่ยวพันไปถึงนายหญิงของบ้านที่กดขี่บรรดาเด็กฝึกงานและมีชีวิตที่หรูหราอยู่กับแมวของหล่อน การฆ่าแมวจึงไม่ได้เป็นเพียงการฆ่าแมวอย่างตรงตัว แต่ยังหมายถึงการทำร้ายนายหญิงของบ้าน เป็นเสมือนการระบายออกของความต้องการจะเหนือกว่าของเด็กหนุ่มที่มีต่อเพศหญิงที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง และถ้าหากจะเหนือไปกว่านั้นคือการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของเจ้านายที่ถือเป็นหัวหน้าสูงสุดของบ้านอีกด้วย เนื่องจากไม่สามารถที่จะปกป้องภรรยาของตนที่ถูกเหยียมหยาม (เชิงสัญลักษณ์) ได้ เรื่องราวของการสังหารหมู่แมวจึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของนายและนายหญิง ทั้งคู่เดินออกจากมหรสพของการสังหารหมู่อย่างเงียบๆ เหลือไว้แต่บรรดาเด็กหนุ่มที่ยังคงกระเหี้ยนกระหือรือต่อการแขวนคอและทรมานแมวต่อไปอย่างสนุกสนานในฐานะที่แมวเป็นเสมือนการระบายออกซึ่งแรงกดดันที่ตนเองได้รับจากนายจ้างชนชั้นกลาง

แม้งานของ Darnton จะอธิบายการประท้วงของเด็กฝึกงานในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานก่อนหน้าที่การปฏิวัติ (จริงๆ) จะเกิดขึ้นในปี 1789 อันเป็นปีของการปฏิวัติฝรั่งเศสไว้อย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชวนคิดต่อคือ การสังหารแมวครั้งใหญ่เมื่อมองจากมุมมองของเพศสภาพหรือ gender ก็สามารถอธิบายความขัดแย้งระหว่างผู้ชายสองช่วงวัยและสองชนชั้นได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากความรุนแรงและปัญหาที่เกิดจากเด็กหนุ่มที่อยู่ในวัยพลุ่งพล่านเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในฝรั่งเศส และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าว หากเป็นปัญหาที่ปรากฏในสังคมตะวันตกมาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของยุคกลาง (The High Middle Ages)

การเป็นเด็กฝึกงานในยุคกลาง (Medieval Age) จนถึงยุคก่อนสมัยใหม่ (The Early Modern) หรือคริสต์ศตวรรษที่ 12-17 เด็กหนุ่มจะต้องเซ็นสัญญาที่จะเรียนรู้การทำงานกับนายจ้างเป็นเวลา 3-10 ปี ซึ่งหมายถึงช่วงวัย 14-21 ปีโดยประมาณ เมื่อมองในแง่นี้การฝึกงานในร้านค้าจึงแทบไม่ต่างจากการเข้าโรงเรียนในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการจะเรียนรู้การทำงาน หมายความว่าจะต้องกิน อยู่ หลับ นอน ที่ร้านค้าที่ตนเองไปฝึกงานด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การห้ามแต่งงาน เหตุผลของการห้ามแต่งงานในแง่หนึ่ง เนื่องจากการแต่งงานเป็นเสมือนหมุดหมายของการลงหลักปักฐานและสร้างครอบครัว ภรรยาจะกลายมาเป็นแรงงานที่ช่วยเหลือสามีในการประกอบธุรกิจพร้อมกับการตกมาอยู่ใต้อาณัติของสามี นอกจากนี้การแต่งงานยังเป็นเสมือนการยืนยันสถานภาพของผู้ชายเต็มวัยที่พร้อมจะเป็นหัวหน้าครอบครัว (a head of a household) และมีทายาท (reproduction) เด็กฝึกงานจึงไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานและจำต้องเป็นสมาชิกของบ้านภายใต้การปกครองของนายจ้าง

ประเด็นของการห้ามแต่งงานก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ เมื่อฮอร์โมนของวัยหนุ่มยากเกินจะควบคุม เด็กฝึกงานเหล่านี้จึงมักหาทางระบายออกผ่านการไปเที่ยวหญิงโสเภณี ส่งผลให้ยุโรปในช่วงนั้นมีการขยายตัวของซ่องโสเภณีอย่างมาก ในบางครั้งนายจ้างถึงกับห้ามไม่ให้เด็กหนุ่มเหล่านี้ไปมีความสัมพันธ์กับหญิงบริการ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ มิหนำซ้ำในหลายกรณี การถูกบังคับไม่ให้แต่งงานยังทำให้เด็กหนุ่มพลาดโอกาสที่จะแต่งงานกับหญิงสาวที่ตนเองหมายปอง เนื่องจากผู้ชายที่อายุมากกว่า พร้อมกว่าทั้งด้วยวัยวุฒิและฐานะตัดหน้าแต่งงานไปเสียก่อน ผลที่ตามมาคือสังคมตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดการรวมตัวและกระทำเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนไปถึงการใช้กำลังของบรรดาเด็กฝึกงาน บางครั้งกรณีเหล่านี้เลยเถิดไปถึงการข่มขืนและรุมโทรมหญิง

จะเห็นได้ว่าความพยายามของนายจ้างที่จะควบคุมเด็กฝึกงานไม่ได้เป็นไปแค่เรื่องของการเรียนรู้งาน แต่ยังหมายรวมถึงปริมณฑลที่เป็นเรื่องส่วนตัวที่สุดอย่างเรื่องของเพศอีกด้วย เมื่อมองในมุมมองการศึกษาของเพศสภาพ อาจอธิบายได้ว่าการควบคุมในเรื่องเพศเป็นเสมือนการลดทอนความเป็นผู้ชายของเด็กหนุ่มให้ไม่สามารถจะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงได้อย่างเปิดเผยและไม่สามารถที่จะดำรงสถานะของผู้ชายเต็มตัวที่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้ ขณะเดียวกันนายจ้างกลับอยู่ในสถานะหัวหน้าครอบครัวที่มีอำนาจในการ “ปกครอง” สมาชิกในบ้านซึ่งรวมถึงเด็กฝึกงาน และมี “ผู้หญิง” อยู่ในการครอบครองของตนเอง ความเป็นชายของเด็กหนุ่มเหล่านี้จึงยังไม่ถือว่าสมบูรณ์และไม่อยู่ในสถานภาพที่เท่าเทียมกับนายจ้างของตนเอง ดังนั้นการเกิดขึ้นของความรุนแรงและการข่มขืนผู้หญิงที่เหล่าเด็กฝึกงานกระทำ จึงเป็นเหมือนความพยายามที่จะแสดงออกและพิสูจน์ความเป็นชายของตนเอง ในกรณีของการฆ่าแมว แมวจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ของเพศหญิงและยังหมายรวมถึงการ “รุกล้ำ” ปริมณฑลของความเป็นชายของนายจ้างของตนเองอีกด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองก็ไม่ได้มีความเป็นชายที่น้อยกว่านายจ้างแต่อย่างใด

Workers Revolt: The Great Cat Massacre of the Rue Saint-Séverin.” โดย Robert Darnton จึงไม่ได้เป็นเพียงงานที่อธิบายถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ แต่ยังสามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนของการแข่งขัน/แย่งชิง “ความเป็นชาย” ระหว่างเด็กหนุ่มกับชายผู้อาวุโสกว่าและ “ความเป็นชาย” ที่แตกต่างกันของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน โดยมีผู้หญิงและสัตว์เป็นพื้นที่แห่งการแสดง

 

ที่มา

Karras, Ruth Mazo. From Boys to Men: Formations of Masculinity in Late Medieval Europe. Pennsylvania: University of Pennsylvania Press, 2003.

Darnton, Robert. The Great Cat Massacre and Other Episodes in French Cultural History. New York: Basic Books, 1999.

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Historytoday

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: