กัมพูชาดิ้นส่งออกแรงงานไป 'คูเวต' หลัง EU ขู่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

กองบรรณาธิการ TCIJ: 14 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 1795 ครั้ง

กัมพูชาดิ้นส่งออกแรงงานไป 'คูเวต' หลัง EU ขู่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

หลังสหภาพยุโรป (EU) มีแผนที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกัมพูชาด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยกัมพูชาที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก เพราะ EU เป็นตลาดที่ใหญ่สุด รัฐบาลของฮุน เซน จึงเตรียมส่งออกแรงงานเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยนาย Ith Sam Heng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของกัมพูชา ได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมและแรงงานของคูเวต และมีแผนว่าในปี 2019 กัมพูชาเตรียมส่งออกแรงงาน 5,000 คน ไปยังคูเวตเป็นครั้งแรก

แม้ว่ากัมพูชาและคูเวต เคยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไว้ในปี 2009  เพื่อแลกเปลี่ยนแรงงานแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติจริง กระทั่งเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีคูเวตเผยว่า คูเวต มีความต้องการแรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจบริการและเกษตรกรรม โดยสำนักงานสถิติคูเวตระบุว่า ในปัจจุบันอินเดียเป็นกลุ่มแรงงานที่เข้าไปทำงานในคูเวตมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมด

อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาเคยนำร่องแผนการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศแล้ว โดยจัดส่งแรงงานผู้หญิงจำนวน 1,000 คน ที่ผ่านการฝึกอบรมภาษาจีน และมีคุณสมบัติตามที่ฮ่องกงกำหนด ไปเป็นแม่บ้านในฮ่องกง จากหลายปีก่อนแม่บ้านในฮ่องกงส่วนใหญ่จะเป็นชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ด้านกลุ่มพิทักษ์สิทธิแรงงานในกัมพูชาตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศจุดยืนของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่ยืนยันว่าจะไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารประเทศ หรือทำตามข้อเรียกร้องของนานาชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งข้อตกลงทางการค้า ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนให้ทางอียูสามารถดำเนินการตามคำข่มขู่ได้ทันทีที่การหารือภายในเสร็จสิ้น

 

 

ที่มาข่าวและภาพประกอบ: Channel News Asia, 11/11/2018

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: