พบสาเหตุ 'ใหลตาย' เกิดจากพังผืดที่หัวใจ ไม่ใช่ 'ผีแม่ม่าย'

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4083 ครั้ง

พบสาเหตุ 'ใหลตาย' เกิดจากพังผืดที่หัวใจ ไม่ใช่ 'ผีแม่ม่าย'

แพทย์ชี้ 'ใหลตาย' พบได้ทั่วไทยและทั่วโลก แต่พบมากในอีสาน ยันไม่เกี่ยวกับ 'ผีแม่ม่าย' แต่เกิดจากพังผืดหัวใจช่องล่างด้านขวา คาดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เผยจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ ช่วยรักษาที่ต้นเหตุ หยุดการเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เร่งเก็บข้อมูลผู้ป่วยเพิ่ก่อนเสนอเป็นสิทธิรักษาแทนฝังเครื่องช็อกหัวใจ พร้อมศึกษาเกิดขึ้นจากพันธุกรรมส่วนไหน คาดอีก 2 - 3 ปี รู้ผล

MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 ว่าในงานแถลงข่าว “ไขความลับ! ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ใหลตาย จากการถอดรหัสพันธุกรรมในคนไทยกว่า 750 คน ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่และการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ” ผศ.นพ.สมชาย ปรัชาวัฒน์ หัวหน้าอนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ สาขาวิชาหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โรคใหลตาย” หรือ Sudden Unexplained Nocturnal Death Syndrome (SUND) คือ การเสียชีวิตขณะนอนหลับ มักมีอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอนและพบว่าเสียชีวิตในตอนเช้าวันถัดไป ที่ผ่านมาจะพบข่าวโรคใหลตายบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแถบทางภาคอีสาน หรืออย่างกรณีแรงงานชาวอีสานไปทำงานที่สิงคโปร์และเกิดอาการใหลตายมากถึง 161 ราย ซึ่งจริงๆ แล้วโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะคนอีสาน แต่พบได้ทั่วโลก ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่จะพบบ่อยในทางเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว ก็พบเช่นกัน

“แม้โรคนี้จะพบได้ทั่วโลก แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยังมีน้อย ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากพันธุกรรม ส่วนสิ่งแวดล้อมสำคัญ คือ เกิดขึ้นเวลากลางคืน และเป็นในผู้ชาย โดยประเทศไทยทางอีสานจึงมีความเชื่อว่าในการโทษว่าเป็นผีแม่ม่าย จนต้องมีการมาทาเล็บ ห้อยปลัดขิก หรือหุ่นฟางหน้าบ้าน แต่จากการศึกษาพบว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ หรือหัวใจเต้นระริก คือ ไม่มีการบีบตัวเลย ทำให้หัวใจเปรียบเสมือนหยุดเต้น หากช่วยเหลือไม่ทัน ไม่กี่นาทีก็เสียชีวิต” ศ.นพ.สมชาย กล่าว

ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคใหลตายในเมืองไทยเกิดขึ้นได้บ่อย โดยในคนอายุ 30 - 50 ปีนั้น พบอัตราการใหลตายประมาณ 40 ต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงเป็นอันดับสอง รองจากการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคใหลตายนั้น จากการศึกษาวิจัยมาตลอดกว่า 30 ปี ทำให้ทราบว่า เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการมีพังผืดบริเวณผิวของหัวใจด้านนอกช่องล่างด้านขวา ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นระริก หากดูจากกราฟหัวใจก็จะพบว่ามีลักษณะคล้ายกับขาตั๊กแตน หรือเรียกว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด Brugada สำหรับสาเหตุของการเกิดพังผืดที่หัวใจนั้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากพันธุกรรม ส่วนปัจจัยอื่นยังไม่ทราบอย่างชัดเจน จึงต้องมาศึกษาเพิ่มเติมว่าเกิดจากอะไร อย่างการติดเชื้อไวรัสก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนดีเอ็นเอให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน ต้องศึกษาต่อไป สำหรับโรคใหลตายนั้นพบได้ทุกภาคทั่วประเทศไทย แต่อาจพบในคนอีสานมากกว่า อย่างเชียงใหม่ก็พบมาก แต่ปัจจัยอื่นที่คนมองว่าอาจมีความเกี่ยวข้องคือ ภาคอีสานมีสภาพอากาศที่ร้อนมาก โรคพวกนี้จะอ่อนไหวกับความร้อน ถ้าอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ก็จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น

ศ.นพ.กุลวี กล่าวว่า สำหรับคนที่มีความเสี่ยงโรคใหลตายนั้น คือผู้รอดชีวิตจากการใหลตาย ผู้ที่มีญาติสายตรงมีอาการใหลตาย หรือผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Brugada ซึ่งการรักษานั้นที่ผ่านมาจะใช้วิธีการฝังเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AICD) ซึ่งจะสามารถช่วยเฝ้าระวังและป้องกันการเสียชีวิตจากการใหลตายได้ โดยเมื่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดปกติ เครื่องก็จะทำงานเข้ามาช็อกให้หัวใจเต้นเป็นปกติ โดยเครื่องมีราคาแพง ไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท แต่ปัจจุบันอยู่ในสิทธิการรักษา เนื่องจากประสิทธิผลชัดเจนว่าลดอัตราการตายได้ 0% แต่หากเป็นการรักษาด้วยยายังพบการตายอยู่ประมาณ 14% อย่างไรก็ตาม เครื่องจะสามารถช็อกได้ประมาณ 200 ครั้ง ก็จะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี ซึ่งหากผู้ป่วยเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อยก็ต้องเปลี่ยนแบตเตอรีบ่อยครั้ง ที่สำคัญการรักษาดังกล่าวไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ จึงมีการพัฒนาการรักษาที่ต้นเหตุคือ การจี้พังผืดหัวใจด้วยคลื่นวิทยุ ได้ทำมาประมาณกว่า 10 ปีแล้ว โดยในเมืองไทยได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีแล้วกว่า 70 ราย ซึ่งผลลัพธ์ออกมาก็พบว่า อาการคลื่นไฟฟ้าผิดปกตินั้นหายไป ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และจากการติดตามต่อเนื่องมา 4 - 5 ปี ก็ไม่พบการเกิดอาการคลื่นหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยบางรายก็สามารถถอดเครื่อง AICD ออกได้

“การรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุจะมีการใช้เทคโนโลยี 3-Dimention Electroanatomical Mapping) มาจำลองภาพ 3 มิติของหัวใจ เพื่อให้แพทย์มองเห็นการทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจได้ชัดเจน และค้นหาตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ จากนั้นจะใช้สายสวนหัวใจเข้าไปโดยใช้ความร้อนจี้ตรงที่มีปัญหาให้หายไป ซึ่ง 85 - 90% สามารถทำสำเร็จได้ด้วยการจี้ครั้งเดียว แต่บางคนที่เป็นเยอะอาจต้องกลับมาจี้ซ้ำ ประมาณ 10 - 15% อย่างไรก็ตาม แม้กว่า 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นผลชัดเจนว่าสามารถรักษาการเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้ แต่เพื่อความมั่นใจจึงต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการจี้ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อความแน่ใจ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 2 ปีก็จะได้ข้อสรุป ซึ่งหากมีประสิทธิผลที่ดีก็จะผลักดันให้เป็นสิทธิการรักษาแทนการฝังเครื่อง AICD เพราะมีราคาถูกกว่า ไม่ต้องฝังเครื่องในร่างกายและมาเปลี่ยนบ่อย ที่สำคัญยังเป็นการรักษาที่ต้นเหตุด้วย” ศ.นพ.กุลวี กล่าว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากข้อมูลที่พบคือ คนใหลตายมักมีประวัติในครอบครัวรุ่นก่อนที่เป็นเช่นเดียวกัน จึงคาดว่าน่าจะมาจากพันธุกรรมด้วย จึงต้องมีการศึกษาต่อ ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ จะเก็บข้อมูลพันธุกรรมและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของคนที่เป็นโรคใหลตายจำนวน 250 คน เปรียบเทียบกับการถอดรหัสพันธุกรรมของคนปกติอีก 500 คน หรือในอัตรา 1 ต่อ 2 ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อดูว่าแตกต่างกันอย่างไร แต่กต่างกันตรงไหนบ้าง ซึ่งขณะนี้เก็บข้อมูลคนไข้ใหลตายได้แล้วกว่า 200 คน คนปกติอีกประมาณ 300 กว่าคน กำลังอยู่ในช่วงถอดรหัสและเก็บข้อมูลให้ครบจำนวน 250 และ 500 คน คาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 2 - 3 ปีจึงจะรู้คำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลและถอดรหัสพันธุกรรมคนปกติ 500 คนนั้น หากเก็บเพิ่มอีก 500 คน เป็น 1,000 คน จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลเรื่องพันธุกรรมที่ใช้ในการเปรียบเทียบโรคจากพันธุกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะกลายเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: