คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอรัฐมนตรีพลังงาน ออกกฎหมายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบที่ต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยในการจัดเก็บข้อมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยทั้งประเทศ ที่มาภาพ: Energy News Center
Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2561 ว่านางปัจฉิมา ธนสันติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ออกร่างพระราชกฤษฎีกา "กำหนดประเภทขนาดและลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ...." และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
โดยร่างกฎหมายใหม่จะกำหนดให้ขยายกรอบหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยที่มีขนาดตั้งแต่ 200 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าด้วย จากเดิมผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กตั้งแต่ 200 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า เพียงแค่มาจดแจ้งกับ กกพ. เท่านั้น
โดยกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ภาครัฐทราบรายละเอียดผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยและจัดเก็บข้อมูลเพื่อดูแลความมั่นคงไฟฟ้าประเทศได้ละเอียดมากขึ้น โดยเมื่อผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยดังกล่าวต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า จะส่งผลให้ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และในอนาคตอาจต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเงินไปพัฒนาชุมชนต่อไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดต่ำลง และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 200 กิโลวัตต์ที่มีประมาณ 300 ราย ซึ่ง กกพ.จะพยายามจัดเก็บข้อมูลกลุ่มดังกล่าวให้อยู่ในระบบต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ