ประธานสภาเกษตรกรหวั่นไทยโดดร่วม CPTPP ฉุดภาคเกษตร

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 1953 ครั้ง

ประธานสภาเกษตรกรหวั่นไทยโดดร่วม CPTPP ฉุดภาคเกษตร

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติห่วงไทยเข้าร่วม CPTPP ชี้กรมเจรจาการค้าฯ ศึกษารอบด้าน หวั่นให้นักลงทุนเข้าถึงพันธุกรรมพืชและชิ้นส่วนซึ่งจะเป็นการผูกขาดด้านพันธุ์พืช ทำวิถีชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนแปลง ซื้อหาพันธุ์พืชในระดับราคาที่แพงและไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อ ที่มาภาพประกอบ: CustomsNews

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 ว่านายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่าความตกลง “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) ที่อดีตประธานาธิบดีอเมริกาพยายามผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือในอดีตนั้นเป็นห่วงกันมาก เพราะทราบดีว่าไทยเสียเปรียบในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการเกษตร ขณะนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกจึงไม่ต่อเนื่อง แต่ประเทศที่เป็นสมาชิกที่เหลือพยายามผลักดันฟื้นฟูเรื่อง TPP ขึ้นมาใหม่โดยเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) กรอบความร่วมมือใกล้เคียงเดิม บทบัญญัติบางประการที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบยังคงมีไม่ใช่การตัดออกจากความตกลง เพียงแต่ยังไม่นำมาบังคับใช้ขณะนี้จึงไม่มีหลักประกันที่แน่นอนว่าจะไม่นำกลับมาบังคับใช้ใหม่ และสิ่งที่เป็นข้อกังวลใจอย่างมากของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่วนกลับมาอีกครั้งคือเรื่อง การให้นักลงทุนเข้าถึงพันธุกรรมพืชและชิ้นส่วนซึ่งจะเป็นการผูกขาดด้านพันธุ์พืช รวบตั้งแต่ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์จนถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลคือวิถีชีวิตของเกษตรกรจะเปลี่ยนแปลง ซื้อหาพันธุ์พืชในระดับราคาที่แพงและไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อ เป็นความเดือดร้อนที่มีระยะเวลายาวนานด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จะมีระยะเวลา 20-25 ปี อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลใจและมีบทเรียนจากหลายประเทศมาแล้วคือกา รนำเข้าชิ้นส่วนสุกร อาทิเช่น เวียดนาม หลังจากเข้าร่วมกรอบทีพีพีแล้วอเมริกาก็ผลักดันการนำเข้าชิ้นส่วนสุกร ปรากฏว่า Sector ภาคการเลี้ยงสุกรของเวียดนามแทบจะล่มสลายหมดเลย

หากประเทศไทยไม่เป็นประเทศเกษตรกรรมเรื่องนี้จะไม่น่ากังวล แต่ภาคการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยเข้มแข็งมาก มีเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรและส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายกลางและรายย่อยกว่า 180,000 ครัวเรือน และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงเกษตรกรผู้ผลิตพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศมากกว่า 3.5 ล้านครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 250,000 ครัวเรือน ตลอดจนผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเปลือกซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์รำข้าว/ปลายข้าว เป็นต้น หากกรอบความร่วมมือนี้มีผลสัมฤทธิ์และต้องนำเข้าชิ้นส่วนสุกรจริงต้องเกิดผลกระทบกับประเทศไทยด้านเศรษฐกิจมหาศาลแน่นอน คนเลี้ยงสุกรต้องเลิกอาชีพเพราะต้องพึ่งพาสุกรจากต่างชาติทันที ความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวจะเสียหายไปเลย ความเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องการเกษตรโดยเฉพาะด้านปศุสัตว์รวมทั้งอุตสาหกรรมการค้าอาหารสัตว์จะไม่มีอีกต่อไปเพราะทั้งหมดจะล่มสลาย ผลกระทบเศรษฐกิจจะรุนแรงและยาวนาน ประเทศไทยยังไม่พร้อมและรับไม่ไหวแน่ ผู้ได้ประโยชน์เป็นนายทุน,เศรษฐีระดับบน การเอาเกษตรกรรายย่อยเป็นอำนาจต่อรองได้รับผลกระทบระยะยาวประเทศไทยจะเสียหายมาก ใคร่เตือนสติด้วยความเคารพถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีที่พยายามผลักดันเรื่องนี้อยากให้ใช้ความรอบคอบในการจะเข้าไปผูกพันทางการค้าด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

“จริงๆ แล้วประเทศไทยมีกรอบสัญญาการค้าระดับทวิภาคี พหุภาคีเยอะอยู่แล้ว หลายประเทศที่อยู่ในความร่วมมือเรื่อง CPTPP มีกรอบความร่วมมือทวิภาคีกับไทยหลายประเทศ ไทยไม่มีปัญหาเรื่องการค้า อย่าตกเป็นเหยื่อเขาเลย หน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติต้องประคับประคองไม่ให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรมีผลกระทบ มองเห็นชะตากรรมหากเข้าร่วม CPTPP โดยไม่ได้ระมัดระวัง เกษตรกรจะหมดอาชีพเป็นล้านคน ” นายประพัฒน์กล่าว

​อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะสรุปข้อมูล ข้อคิดเห็น เสนอรัฐบาลตัดสินใจการจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ก่อนสิ้นปี 2561 จึงอยากขอให้เกษตรกร ตัวแทนเกษตรกร ผู้มีส่วนได้/เสียและเกี่ยวข้องเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นอย่าได้เพิกเฉย ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดที่เวทีภาคใต้วันที่ 12-13 ก.ย. 2561 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ จังหวัดสงขลา เวทีภาคกลาง วันที่ 19 ก.ย. 2561 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 25-26 ก.p. 2561 ณ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น เมื่อเสร็จสิ้นเวทีรับฟังความเห็นจะได้ทราบข้อมูลว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าหรือว่าจะชะลอการเจรจาต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: