ผ่านมา 60 ปี ‘หมอ-ครู-ทหาร-ตำรวจ’ ยังเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทย

ทีมข่าว TCIJ : 14 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 13136 ครั้ง

TCIJ สำรวจย้อนหลัง ‘อาชีพในฝันเด็กไทย’ ตั้งแต่ปี 2500-2561 พบแบบแผนคลาสสิคคือ ‘หมอ-ครู-ทหาร-ตำรวจ’ ยอดนิยมทุกยุคทุกสมัย พบ ‘อาชีพนักการเมือง’ มักเป็นตัวร้ายในโพลล์วันเด็กเสมอ ผลสำรวจปีล่าสุด ‘ครู’ เบียด ‘หมอ’ ขึ้นแชมป์อาชีพในฝัน และเด็กรุ่นใหม่ยังมอง ‘ทหาร-ตำรวจ-นักกีฬา’ เป็นอาชีพสุดเท่ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ย้อนดูอดีต 60 ปี ค่านิยมอาชีพสุจริตแห่งชาติ‘หมอ-ครู-ทหาร-ตำรวจ’

TCIJ สืบค้นข้อมูลย้อนไปในอดีตจากงานศึกษาต่าง ๆ ถึงค่านิยมในการประกอบอาชีพของเยาวชนไทย พบว่าในปี 2500 มีงานศึกษาเรื่อง 'การสำรวจความสนใจของนักเรียนนักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา 2500 ในพระนคร-ธนบุรี' ของ เพียงใจ พึงพระเกียรติ วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2500 ศึกษาพบว่านักเรียนชายและหญิงสนใจอยากเรียนแพทย์มากที่สุด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ รองลงไปนักเรียนชายสนใจเป็นทหาร และสนใจที่จะเรียนครู นอกจากนี้ทั้งนักเรียนชายและหญิงนิยมที่จะรับราชการ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง [1]

ต่อมาในปี 2510 มีงานศึกษาเรื่อง ‘ค่านิยมทางอาชีพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดพระนครและธนบุรี’ ของ ยุพรรณี สุขสมิติ, วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510 ที่ได้ทำการศึกษานักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างปีการศึกษา 2509 จำนวน 300 คน จาก 9 โรงเรียนในเขตจังหวัดพระนครและธนบุรี พบประเด็นที่น่าสนคือ ในด้าน ระดับสติปัญญากับค่านิยมทางอาชีพ พบว่ากลุ่มนักเรียนที่มีระดับสติปัญญาสูงมีแนวโน้มที่จะเลือกงานที่สุจริต ตรงกันข้ามกับนักเรียนที่มีระดับสติปัญญาต่ำที่มีแนวโน้มจะเลือกงานที่ทุจริต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจมาจากผู้มีระดับสติปัญญาสูงเล็งเห็นว่าการทำงานที่ไม่สุจริตแม้รายได้จะดี แต่เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ขาดความสบายใจในการทำงาน แสดงถึงความมีสติและความรอบคอบของผู้มีระดับสติปัญญาสูง นอกจากนี้นักเรียนที่มีระดับสติปัญญาสูงมีความเชื่อมั่นในตนเองมากกว่านักเรียนระดับสติปัญญาต่ำว่าตนเองสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายกว่า ในด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพของบิดามารดา สรุปได้ว่านักเรียนที่มีบิดามารดาประกอบอาชีพในระดับสูง เห็นว่าการมีอิสระในการทำงานมีความสำคัญต่อการเลือกอาชีพเป็นอย่างมาก แต่นักเรียนที่มีบิดามารดามีอาชีพในระดับต่ำเห็นว่าเกณฑ์ในการเลือกอาชีพดังกล่าวไม่มีความสำคัญ แสดงว่านักเรียนที่มีบิดามารดามีอาชีพในระดับสูงต้องการความอิสระมากกว่านักเรียนที่มีบิดามารดามีอาชีพในระดับต่ำ ทั้งนี้อาจเนื่องจากผู้มีระดับอาชีพสูงส่วนมากมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มักจะให้ความรักความเอาใจใส่กับบุตรมากเกินไปจนเด็กมองเห็นว่าการแสดงออกของบิดามารดาของตนเช่นนั้นเป็นการบีบบังคับ ตรงกันข้ามกับเด็กที่บิดามารดามีอาชีพในระดับต่ำ ฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ บิดามารดาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำมาหากิน เวลาที่จะอยู่ใกล้ชิดและอบรมบุตรมีน้อย ผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือในการดูแลบุตรก็ไม่มี เด็ก ๆ ถูกปล่อยให้ปกครองตนเองจึงได้รับอิสระเต็มที่ เด็กเหล่านี้แสดงออกถึงความต้องการเป็นอิสระน้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวซึ่งมีฐานะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง อีกประการหนึ่งผู้มีระดับอาชีพสูงส่วนมากได้รับการศึกษาสูง แสดงถึงการมีระดับสติปัญญาสูงด้วย และในด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมอาชีพของนักเรียนกับค่านิยมทางอาชีพของบิดามารดา พบว่าบิดามารดามีอิทธิพลต่อการยึดถือค่านิยมทางอาชีพอยู่ไม่น้อย โดยค่านิยมของบิดามารดาที่มีอิทธิพลต่อต่อการเลือกอาชีพของเด็กได้แก่ อาชีพที่ประเทศชาติต้องการ อาชีพสุจริต  อาชีพที่มีความมั่นคง และอาชีพที่เหมาะสมกับความรู้ที่ได้เรียนมา เป็นต้น

สำหรับเกณฑ์ที่จัดเป็นค่านิยมทางอาชีพที่งานศึกษาฯ ของยุพรรณี สำรวจได้ในขณะนั้น มี 40 ข้อดังนี้

นอกจากนี้ ในงานศึกษาของยุพรรณี ได้แบ่งระดับอาชีพไว้ดังต่อไปนี้ อาชีพระดับสูง บุคคลที่มีอาชีพในหมวดนี้ จะต้องเรียนมากและได้รับการฝึกฝนอบรมมากเป็นพิเศษ อาชีพซึ่งจัดอยู่ในระดับนี้ได้แก่ แพทย์ ทนายความ ครู สถาปนิก วิศวกร นักปกครอง ผู้จัดการบริษัทห้างร้าน โรงแรมและโรงมหรสพ เป็นต้น ช่างฝีมือหรืออาชีพระดับกลาง เป็นอาชีพที่ต้องการการฝึกฝนมากพอที่จะมีความรู้และฝีมือในงาน และเป็นระดับอาชีพที่ต้องใช้ทั้งมือและสมองคู่กันไป ส่วนรายได้โดยทั่วไปมักจะต่ำกว่าอาชีพระดับสูง (แต่บางกรณีก็สูงกว่า) อาชีพระดับนี้ได้แก่ ช่างประเภทต่าง ๆ เช่น ช่างทาสี ช่างปูน ช่างตัดเสื้อ ช่างเสริมสวย ช่างพิมพ์ นอกจากนั้นยังมีอาชีพอื่น คือ เลขานุการ พนักงานโทรศัพท์ นายหน้าประกันชีวิต กสิกร ชาวประมง เป็นต้น คนงานหรือกรรมกร เป็นระดับอาชีพที่ใช้แรงงาน ผู้ที่มีอาชีพนี้ไม่ต้องเรียนมาก เรียนรู้จากการกระทำจริง ๆ หรือจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ได้แก่ การขุดดิน รับจ้างแบกของและคนขายตั๋ว เป็นต้น

ในปี 2513 ยังมีงานศึกษาเรื่อง 'การสำรวจการศึกษาต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จังหวัดปราจีนบุรี' โดย รัตนา เทพดลไชย วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2513 พบว่าทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิงที่ได้ทำการสำรวจต้องการเรียนครูมากที่สุด รองลงมาคืออาชีวศึกษา ทหาร ตำรวจ โดยสาเหตุที่ต้องการเรียนครูและด้านอาชีวศึกษามากเพราะเห็นว่าเหมาะสมกับความ สามารถและความสนใจ นักเรียนชายเลือกเรียนทหาร ตำรวจ เพราะต้องการเอาอย่างบรรพบุรุษ [2]

30 ปีก่อน อาชีพด้าน‘วิทยาศาสตร์-ธุรกิจ-บริการ’ เริ่มปักหมุด แต่‘หมอ-ทหาร’ ยังนำโด่ง

ย้อนมาเมื่อช่วงประมาณ 30 ปีก่อน ในปี 2530 มีงานศึกษาเรื่อง 'การสำรวจความสนใจในอาชีพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2527 ในกรุงเทพมหานคร' ของ ษมาธร พันธุมโพธิ วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในกรุงเทพฯ จำนวน 1,224 คน พบประเด็นน่าสนใจคือ นักเรียนชายและนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สนใจ อาชีพหมวดวิชาชีพ วิชาการ มากที่สุดในทั้ง 3 อันดับความสนใจในอาชีพ และเมื่อพิจารณารายอาชีพที่นักเรียนสนใจมากที่สุด 5 อันดับแรกของความสนใจใน อาชีพอันดับที่ 1 พบว่านักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สนใจอาชีพ วิศวกร ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า ทหาร แพทย์ และสถาปนิก ตามลำดับ และนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สนใจ ในอาชีพ แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ แอร์โฮสเตส ช่างตกแต่งภายใน เภสัชกร และค้าขาย ตามลำดับ สำหรับนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สนใจอาชีพ วิศวกร ตำรวจ ทหาร นักธุรกิจ และค้าขาย ตามลำดับ และนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สนใจอาชีพ พยาบาล นักธุรกิจ ค้าขาย มัคคุเทศก์ นักบัญชี เลขานุการ และช่างตกแต่งภายใน ตามลำดับ

นอกจากนี้ในปี 2531 งานศึกษาเรื่อง ‘การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพของนักเรียนเพื่อการวางแผนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ : ศึกษาเฉพาะกรณีโรงเรียนวัดสุทธิวราราม’  โดย ทิพยวรรณ ประภาพรรณศิริ, วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531 ทำการศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ในปีการศึกษา 2530 จำนวน 590 คน พบว่าอาชีพที่นักเรียนเลือกมากที่สุดได้แก่ วิศวกร ช่างอิเล็กทรอนิกส์ แพทย์ ทหาร ตำรวจ นายธนาคาร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ ช่างไฟฟ้า นักสถิติ นักบัญชี เภสัชกร

หลัง 2540 ‘หมอ-ครู-ทหาร-ตำรวจ’ ยังเหนียวแน่น ‘นักการเมือง’ เป็นผู้ร้าย

การเปิด 'ค่ายทหาร' ของกองทัพเพื่อจัดกิจกรรมให้เด็กเขาไปเล่นอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงวันเด็กของทุก ๆ ปี อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยปลูกฝังค่านิยมให้ 'ทหาร' เป็นอาชีพในฝันของเด็ก ๆ มาทุกยุคทุกสมัย ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

หลังปี 2540 เป็นต้นมา เกือบทุกปีจะมีการทำโพลล์เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ พบว่านอกจากจะทำการสำรวจความคาดหวังต่ออาชีพในอนาคตของเด็ก ๆ ซึ่งอาชีพ หมอ ครู ทหาร ตำรวจ ยังคงเป็นอาชีพที่เด็กอยากจะเป็นในอนาคต แล้วก็มักจะมีคำถามเกี่ยวกับอาชีพนักการเมืองพ่วงมาด้วยเสมอ

ปี 2545 จากการสำรวจเรื่อง 'การคาดหวังของเยาวชนในวันเด็ก' โดยกรุงเทพโพลล์ ที่ได้ทำการสำรวจนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 1,050 คน ในเขตกรุงเทพฯ พบว่าอาชีพที่เด็กอยากเป็นมากที่สุด  ร้อยละ 27.2  อยากประกอบอาชีพครู อาจารย์  ร้อยละ 24.0 อยากเป็น แพทย์ พยาบาล ร้อยละ 21.2  อยากเป็น ทหาร ตำรวจ ร้อยละ 15.2 อยากเป็นนักธุรกิจ ร้อยละ 6.3  อยากทำงานบริษัทและร้อยละ 5.2 และเมื่อถามว่าโตขึ้นอยากเป็นนักการเมืองหรือไม่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.7 ไม่อยากเป็นนักการเมือง ร้อยละ 24.0 อยากเป็นนักการเมือง และร้อยละ 7.3 ไม่มีความเห็น และเมื่อถามว่าอยากเห็นนักการเมืองในประเทศไทยเป็นแบบไหนมากที่สุดกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.8 ระบุว่ามีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ร้อยละ 26.0 ระบุว่าทำงานเพื่อประเทศชาติ ร้อยละ 24.3 ระบุว่าไม่ทะเลาะกัน ร้อยละ 12.8 ระบุว่าปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก และร้อยละ 8.6 ระบุว่าเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน [3]

ปี 2547 เอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจเรื่อง 'วันเด็ก 2547 : กรณีศึกษาเด็กนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 7 - 14 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร' พบว่าอาชีพที่อยากเป็นเมื่อโตขึ้น ร้อยละ 22.0 อยากเป็นแพทย์ ร้อยละ 9.5 อยากเป็นครู ร้อยละ 7.2 อยากเป็นนักธุรกิจ และ ร้อยละ 7.0 อยากเป็นดารา/นักแสดง/นักร้อง/วงการบันเทิง [4]

ปี 2548 กรุงเทพโพลล์ได้ทำการสำรวจเรื่อง 'วันเด็กกับความในใจของเด็กด้อยโอกาส' ทำการสำรวจเด็กอายุตั้งแต่ 10-17 ปี ในกรุงเทพ ทั้งที่ศึกษาอยู่และไม่ได้ศึกษาแล้ว จำนวน  854  คน พบว่าเมื่อถามว่าอนาคตโตขึ้นอยากเป็นอะไร อันดับแรก ร้อยละ 23.1 ระบุว่า อยากเป็นทหาร/ตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 18.9  อยากเป็นนักร้อง/นักแสดง ร้อยละ 16.0 อยากเป็นครู/อาจารย์ ร้อยละ 14.7 อยากเป็นแพทย์ ร้อยละ 12.9 อยากเป็นนักธุรกิจ ร้อยละ 4.2 อยากเป็นนักการเมือง และอื่น ๆ ร้อยละ 10.3 [5]

ปี 2549 การสำรวจเรื่อง 'ปัญหาการเมืองไทย ณ วันนี้ ในสายตาเด็ก' โดยสวนดุสิตโพลล์ ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปีที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,080 คน พบว่า อาชีพที่เด็กชายอยากทำเมื่อเติบโตขึ้น คือ อันดับที่ 1 ทหาร ร้อยละ 35.42 เพราะ อยากช่วยชาติ, เป็นอาชีพที่มั่นคง, มีเกียรติยศ ชื่อเสียง,ได้ช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ อันดับที่ 2 ตำรวจ ร้อยละ 18.75 เพราะจะได้ช่วยจับคนร้ายให้หมดสิ้นไปในสังคมไทย, มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ฯลฯ อันดับที่ 3 หมอ/แพทย์/พยาบาล ร้อยละ 17.71 เพราะจะได้ช่วยรักษาคนที่เจ็บป่วย,ช่วยเหลือคนจนที่ไม่มีเงินรักษา,จะได้รักษาพ่อ แม่ ยามเจ็บป่วย ฯลฯ  ส่วนอาชีพที่เด็กหญิง อยากทำเมื่อเติบโตขึ้น คือ อันดับที่ 1 แพทย์/พยาบาล ร้อยละ 59.31 เพราะจะได้ช่วยรักษาคนที่เจ็บป่วย, ช่วยเหลือคนจนที่ไม่มีเงินรักษา, จะได้รักษาพ่อ แม่ ยามเจ็บป่วย ฯลฯ อันดับที่ 2 ครู/อาจารย์ ร้อยละ 13.78 เพราะอยากให้เด็ก ๆ มีความรู้,อยากให้ประเทศชาติเจริญ, อยากไปสอนเด็กตามต่างจังหวัด, เด็กมีความรู้จะได้ไม่ทำผิด ฯลฯ อันดับที่ 3 นักแสดง/ดารา/นักร้อง ร้อยละ 11.74 เพราะได้รู้จักคนมากมาย,รู้สึกมีความสุขกับอาชีพนี้,ชอบเป็นการส่วนตัว ฯลฯ [6]

ปี 2551 สวนดุสิตโพลล์สำรวจความคิดเห็นเรื่อง 'เด็กไทย คิดอย่างไร กับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง' จากเยาวชน อายุ 8-15 ปีในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,750 คน ผลสำรวจระบุว่าเด็กไทยคิดว่า การเมือง สังคม และเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร อันดับ 1 ระบุว่าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่มีความสงบ แก่งแย่งชิงอำนาจกัน ร้อยละ 55.00 อันดับ 2 การคอรัปชั่น ความไม่ซื่อสัตย์ นักการเมืองเห็นแก่ตัว ร้อยละ 17.65 อันดับ 3 ขาดความสามัคคี แบ่งพรรคแบ่งพวก ร้อยละ 11.18 อันดับ 4 นักการเมืองขาดคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ ร้อยละ 7.65 อันดับ 5 ขาดบุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพ ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างเต็มที่ ร้อยละ 3.24 เมื่อถามว่าโตขึ้นเด็กไทยอยากทำงานเป็นนักการเมืองหรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.14 ระบุว่าไม่อยากเป็นเพราะเป็นงานที่วุ่นวาย ยุ่งยาก มีแต่ปัญหา, ไม่ชอบการเมือง ไม่สนใจ, ภาพลักษณ์นักการเมืองโกงกินเงินประเทศชาติ เห็นแก่ตัว, มีโอกาสเสี่ยงโดนประณาม ถึงจะไม่ได้ทำผิด, กลัวทำไม่ได้ ทำออกมาไม่ดี ไม่มั่นใจเพราะพูดอะไรแล้วต้องทำจริง ฯลฯ เมื่อถามว่าโตขึ้นเด็กไทยอยากทำงานเป็นอาชีพทางสังคม เช่น ครู แพทย์ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ หรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.00 ตอบว่าอยากเป็น เพราะเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือสังคมและช่วยเหลือผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาบ้านเมืองและสังคมประเทศชาติให้เจริญขึ้น, เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก, อยากรับใช้ประเทศชาติ ตอบแทนแผ่นดิน ดูแลความสงบสุขของประเทศหรือได้สละชีวิตป้องกันประเทศ, เป็นอาชีพที่ดีมีความมั่นคง สวัสดิการดี, แพทย์เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง [7]

ปี 2555 จากการสำรวจเรื่อง 'มองต่างมุม พ่อแม่-ลูก ว่าด้วยอาชีพในฝันและวันเวลาที่มีให้กัน' โดยเอแบคโพลล์ ที่ได้ทำการสำรวจพ่อแม่ผู้ปกครองและบุตรหลานอายุไม่เกิน 19 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,205 คน เมื่อสอบถามเด็ก ๆ ที่เป็นบุตรหลานวัยไม่เกิน 19 ปี พบว่า อาชีพที่อยากเป็นอันดับแรกคือร้อยละ 30.8 ของกลุ่มเด็ก ๆ อยากเป็น นักบิน แอร์โฮสเตส รองลงมาคือ ร้อยละ 29.1 อยากเป็นดารา นักร้อง นักแสดง ร้อยละ 28.9 อยากเป็นแพทย์ ร้อยละ 25.7 อยากเป็นนักธุรกิจ ร้อยละ 24.4 อยากเป็นตำรวจ และรอง ๆ ลงไปคือ อยากเป็นพยาบาล ครูอาจารย์ นักวิชาการ ทหาร วิศวกร พนักงานธนาคาร และที่น่าพิจารณาเช่นกันคือ เพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่อยากเป็นนักการเมือง [8]

ปี 2556 กรุงเทพโพลล์ สำรวจความเห้นเรื่อง 'ความคิดของเด็กฝากถึงผู้ใหญ่ ในวันเด็กแห่งชาติ' สำรวจความคิดเห็นของเด็ก ๆ ที่มีอายุ 6-14 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,115 คน พบว่าอาชีพที่เด็กใฝ่ฝันอยากจะเป็นมากที่สุดเมื่อโตขึ้น คือ อาชีพหมอ/แพทย์ ร้อยละ 16.6 รองลงมาคือ คุณครู ร้อยละ 14.1 และตำรวจ ร้อยละ 11.5 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น ที่ระบุว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรีและนักการเมือง โดยเรื่องที่เด็ก ๆ อยากบอกผู้ใหญ่ในสังคมมากที่สุดคือ ให้สามัคคีปรองดอง เลิกทะเลาะกัน ร้อยละ 33.6 รองลงมาคือ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกง ร้อยละ 23.7 และให้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก ร้อยละ 11.1 [9]

ปี 2557 สวนดุสิตโพลล์สำรวจเรื่อง '“เด็กไทย” กับ “การเมืองไทย” ณ วันนี้' โดยสำรวจความคิดเห็นของเด็กไทยทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,337 คน เมื่อถามว่าเด็กอยากเป็นนักการเมือง หรือไม่? ส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.01 ตอบว่าไม่อยากเป็นเพราะ เป็นงานยาก ต้องทำงานหนัก มีอาชีพที่อยากทำอยู่แล้ว กลัวเหนื่อย มีแต่ทะเลาะกัน ฯลฯ เมื่อถามว่าเด็กอยากให้นักการเมืองทำอะไร? ให้กับเด็กบ้าง อันดับ 1 ตอบว่าอยากให้เป็นนักการเมืองที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ร้อยละ 35.74 อันดับ 2 ให้ความสำคัญและดูแลเรื่องการศึกษาของเด็ก ร้อยละ 25.10 อันดับ 3 พัฒนาประเทศให้สงบสุข น่าอยู่ ร้อยละ 21.29 และอันดับ 4 ตั้งใจทำงาน ไม่โกงกิน ช่วยกันทำงาน รักและสามัคคีกัน ร้อยละ 17.87% [10]

ปี 2558 จากผลสำรวจ 'วันเด็ก ปี 2558' โดยสวนดุสิตโพลล์ ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จำนวน 1,275 คน สิ่งที่เด็กๆตั้งใจหรืออยากจะทำเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ คือ อันดับ 1 ประกอบอาชีพที่ใฝ่ฝัน เช่น หมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ ครู โปรแกรมเมอร์ ร้อยละ 95.45 และเมื่อถามว่าเด็กๆคิดอย่างไรกับการเมืองไทย ณ วันนี้ เด็กระบุว่าไม่อยากให้ผู้ใหญ่ทะเลาะกัน อยากให้สามัคคีกัน ร้อยละ 84.94 ยังมีคนโกงกิน คอรัปชั่น ร้อยละ 83.84 และอยากได้ ส.ส.ที่ดี นายกรัฐมนตรีที่ดี พัฒนาบ้านเมืองร้อยละ 70.15 [11]

‘ครู’ เบียด ‘หมอ’ ขึ้นแชมป์อาชีพในฝันล่าสุด แต่‘ทหาร-ตำรวจ-นักกีฬา’ยังเป็นอาชีพสุดเท่

ข้อมูลจากกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย (Adecco Group Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลอาชีพในฝันเด็กไทยมา 9 ครั้ง (ระหว่างปี 2552-2561) พบว่าระหว่างปี 2552-2559  อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เด็กไทยใฝ่ฝันอยากจะเป็นมากที่สุด แต่ผลสำรวจในปี 2560 และ 2561 ที่ผ่านมาพบว่าอาชีพครูได้แซงขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 แล้ว โดยผลสำรวจล่าสุดในปี 2561 ของกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ที่ได้ทำการสำรวจเด็กไทยที่มีอายุ 7-14 ปี จำนวน 2 ,044 คน พบว่าอาชีพที่เด็ก ๆ ใฝ่ฝัน อยากทำมากที่สุดคืออาชีพ ‘ครู’ เพราะอยาก ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น ปลูกฝังให้ เด็กไทยเป็นคนเก่งและคนดีและเป็นอาชีพ ที่สุจริตและมั่นคง ส่วนอาชีพที่มีคะแนนตามติดมาเป็นอันดับสอง คือ ‘แพทย์’ ซึ่งในปีนี้เยาวชนอยากเป็นแพทย์เฉพาะทาง มากขึ้น เช่น แพทย์ทางด้านสมอง แพทย์ทหาร และแพทย์ผิวหนัง และอาชีพนักกีฬา เป็นอาชีพที่มาแรงโดยขึ้นมาอยู่ในอันดับสาม โดยส่วนใหญ่อยากเป็นนักฟุตบอลโดยเด็ก ๆ ระบุว่าช่วยให้สุขภาพแข็งแรง มีค่าตอบแทนที่ดี และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้ นอกจากนี้สำหรับอาชีพใหม่ ๆ ที่เด็กไทยให้ความสนใจในปีนี้มีหลากหลายอาชีพ อาทิ ‘เกมเมอร์/นักแคสเกม’ เพราะอยากใช้ความชอบในการเล่นเกมมาประกอบอาชีพสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ขณะเดียวกันก็มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจอยากเป็นนักธุรกิจและผู้ประกอบการ เพราะต้องการอิสระในการทำงาน บางส่วนต้องการสืบทอดกิจการของครอบครัว ด้าน ‘เชฟ’ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มาแรงในปีนี้ โดยน้อง ๆ ให้เหตุผลว่าอยากเป็นเชฟเพราะอยากทำอาหารอร่อย ๆ ให้คนที่ทานมีความสุข ทหาร-ตำรวจ-นักกีฬารั้งอาชีพสุดเท่ ส่วนอาชีพที่เท่ที่สุดในสายตาเด็กไทย อันดับหนึ่งคือทหาร รองลงมาคือ ตำรวจ นักกีฬา ศิลปิน/ดารา และ แพทย์ ตามลำดับ สำหรับเหตุผลที่เด็ก ๆ คิดว่าทหารและตำรวจเป็นอาชีพที่เท่นั้น เพราะเป็นอาชีพที่ได้ปกป้องคุ้มครอง ประเทศ ได้รับใช้ประชาชนและประเทศชาติ เช่นเดียวกับอาชีพนักกีฬาที่เปิดโอกาส ให้รับใช้ทีมชาติและสร้างชื่อเสียงให้กับ ประเทศจึงถูกมองว่าเป็นอาชีพที่เท่ ในความคิดของเด็กไทย [12]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] งานศึกษาเรื่อง 'การสำรวจความสนใจของนักเรียนนักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา 2500 ในพระนคร-ธนบุรี' ของ เพียงใจ พึงพระเกียรติ ถูกอ้างใน  ‘การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพของนักเรียนเพื่อการวางแผนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ : ศึกษาเฉพาะกรณีโรงเรียนวัดสุทธิวราราม’  โดยทิพยวรรณ ประภาพรรณศิริ, วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2531
[2] งานศึกษาเรื่อง 'การสำรวจการศึกษาต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จังหวัดปราจีนบุรี' โดย รัตนา เทพดลไชย วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2513 ถูกอ้างใน ‘การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพของนักเรียนเพื่อการวางแผนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ : ศึกษาเฉพาะกรณีโรงเรียนวัดสุทธิวราราม’  โดยทิพยวรรณ ประภาพรรณศิริ, วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2531
[3] กรุงเทพโพลล์: การคาดหวังของเยาวชนในวันเด็ก (กรุงเทพโพลล์, 11/1/2545)

[4] เอแบคโพลล์: วันเด็ก 2547 กรณีศึกษาเด็กนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 7-14 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร (เอแบคโพลล์, 1/14/2547)
[5] กรุงเทพโพลล์: วันเด็กกับความในใจของเด็กด้อยโอกาส (กรุงเทพโพลล์, 6/1/2548)
[6] สวนดุสิตโพลล์: ปัญหาการเมืองไทย ณ วันนี้ ในสายตาเด็ก (12/1/2549)
[7] สวนดุสิตโพลล์:"เด็กไทย" คิดอย่างไร กับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง (สวนดุสิตโพลล์, 16/1/2551)
[8] เอแบคโพลล์: มองต่างมุม พ่อแม่-ลูก ว่าด้วยอาชีพในฝันและวันเวลาที่มีให้กัน (เอแบคโพลล์, 12/1/2555)
[9] กรุงเทพโพลล์: ความคิดของเด็กฝากถึงผู้ใหญ่ ในวันเด็กแห่งชาติ (กรุงเทพโพลล์, 11/1/2556)
[10] สวนดุสิตโพลล์: “เด็กไทย” กับ “การเมืองไทย” ณ วันนี้ (สวนดุสิตโพลล์, 9/1/2557)
[11] สวนดุสิตโพลล์: วันเด็ก ปี 2558 (สวนดุสิตโพลล์, 9/1/2558)
[12] ผลสำรวจ “อาชีพในฝันของเด็กไทย” ปี 2561 (Adecco Group Thailand, 5/1/2561)

 

อ่านเพิ่มเติม
จับตา: วันเด็ก 2561 เฉลี่ยแล้วพ่อแม่จ่ายเพื่อลูก 926-2,348 บาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: