Mission Possible? ความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในยุคดิจิทัล

พิกุลทิพย์ ยุระพันธุ์ TCIJ School รุ่นที่ 5 / นักศึกษาปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า): 14 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 9911 ครั้ง

ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายเพราะอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้หนังสือพิมพ์ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นต้องปรับ ตัว ประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ทว่าจากการสำรวจ พบหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้บางรายมียอดตี พิมพ์กว่า 20,000 ฉบับต่อสัปดาห์ มีการปรับเข้าสู่ออนไลน์และทำธุรกิจอื่นควบคู่ทั้งบริการโฆษณา-รับจ้างจัดทำสิ่งพิมพ์และอื่นๆ หลากหลาย

หนังสือพิมพ์ระดับชาติ-ท้องถิ่น ทยอยปิดตัว

สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ไทยในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะนิตยสารที่พากันปิดตัวนับร้อยราย ไม่เว้นแม้แต่’คู่สร้างคู่สม’ นิตยสารที่ครองอันดับขายดีที่สุดตลอดมา ไม่เพียงแต่ตัวเลขรายได้ค่าโฆษณาเท่านั้นที่ตกฮวบ แต่ยอดขายในท้องตลาดที่หดหายไปอย่างรวดเร็ว สร้างความกดดันให้เกิดการปรับตัวขององค์กรหนังสือพิมพ์ให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หนังสือพิมพ์ ‘บ้านเมือง’ เป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติที่ประกาศยุติการผลิตวันที่1 ม.ค.2560 หลังดำเนินกิจการยาวนานกว่า 44 ปี โดยระบุว่าเนื่องจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป มีสื่อชนิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทำให้การต่อสู้ของสื่อสิงพิมพ์เป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย จึงหันไปดำเนินธุรกิจสื่อออนไลน์พัฒนาเว็บไซต์เป็นธุรกิจหลักแทน  เช่นเดียวกับสื่อท้องถิ่น ‘เชียงใหม่นิวส์’ ปิดฉากหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่อยู่คู่กับภาคเหนือมานานกว่า 27 ปี ยุติการผลิตในวันที่ 5 มี.ค.2561 ก่อนที่จะผันตัวเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์เป็นหลัก ล่าสุดเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์’มวยสยาม’ของบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเดท จำกัด ที่ก่อนหน้านี้เคยออกจำหน่ายเป็นรายวันก็ได้ยุบมารวมเล่มกับหนังสือพิมพ์’สยามกีฬา’ อีกฉบับหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2560 ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อนิตยสารที่ลดลงสูงถึง 33% เมื่อเทียบกับปี 2559 หรือสื่อหนังสือพิมพ์ที่เม็ดเงินปรับตัวลดลงอยู่ที่ประมาณ19% ทำให้ภาพรวมของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีมูลค่ารวมกันเหลือประมาณ1 หมื่นล้านบาท จากเดิมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (อ้างในข่าว ‘เชื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย สยามสปอร์ตแนะระวัง 4 ปัจจัยชี้ปีนี้เน็ต 1.4 หมื่นล้านแซงสื่อกระดาษ’  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, 2 มี.ค. 2561)

กรณีศึกษาจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในภาคใต้

ผลการวิจัย ‘สถานภาพและบทบาทของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศไทยในปี 2552 ‘ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พบว่าสื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบันมีส่วนผสมผสานความเป็นมัลติมีเดียมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การนำเสนอ โดยการนำเสนอข่าวสารผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์มีเพิ่มขึ้น ซึ่ง็จะสามารถหาพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ หรือปรับตัวสู่ธุรกิจอื่น ๆได้มากขึ้น  เช่นเดียวกับการปรับตัวของหนังสือพิมพ์ในเขตภาคใต้ ที่มีลักษณะการสืบทอดธุรกิจโรงพิมพ์คล้ายๆกันโดยการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัวสามารถลดต้นทุนการผลิต เอื้อต่อผลประกอบการ เพราะนอกจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโรงพิมพ์ ยังสามารถหารายได้สนับสนุนจากธุรกิจอื่นๆที่เข้ามาซื้อพื้นที่โฆษณา

ทำธุรกิจหลากหลายมากกว่าแค่หวังยอดขายหนังสือพิมพ์

ดังกรณีศึกษาของสื่อสิ่งพิมพ์ภาคใต้ที่ยังดำเนินกิจการอยู่ มีเวลาตีพิมพ์แน่นอนไม่ว่าจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ ราย 10 วัน และรายเดือน วางจำหน่ายเป็นกิจลักษณะ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์สุราษฎร์ 360 องศา, หนังสือพิมพ์เสียงใต้, หนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ และหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันและที่คล้ายกัน

จากการสืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ (เข้าถึงข้อมูล 5 มิ.ย. 2561) พบว่าบริษัท อุดมลาภ การพิมพ์ จำกัด (เจ้าของหนังสือพิมพ์สุราษฎร์ 360 องศา) จดทะเบียนการค้าประเภทนิติบุคคล บริษัทจำกัด ในหมวดธุรกิจ รหัส 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการรับจ้างพิมพ์เอกสาร หนังสือ  ส่วน หจ.วชิรดีไซน์ (เจ้าของหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์) จดทะเบียนการค้าประเภทนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด  ในหมวดธุรกิจ รหัส  18119 การพิมพ์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น วัตถุประสงค์ รับจ้างจัดทำสิ่งพิมพ์ เอกสาร วารสาร ข่าวสารต่างๆ

บริษัท เสียงใต้รายวัน จำกัด (เจ้าของหนังสือพิมพ์เสียงใต้)จดทะเบียนการค้าประเภทนิติบุคคล บริษัทจำกัด ในหมวดธุรกิจ รหัส 73101 กิจกรรมของบริษัทโฆษณา วัตถุประสงค์รับจ้างโฆษณาและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ และบริษัท ออแกน โฟกัส จำกัด (เจ้าของหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส) จดทะเบียนการค้าประเภทนิติบุคคล บริษัทจำกัด ในหมวดหมวดธุรกิจรหัส 73101 กิจกรรมของบริษัทโฆษณา วัตถุประสงค์ เพื่อประกอบกิจการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ

ข้อสังเกตจากลักษณะการดำเนินความเป็นเจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์ จะเห็นว่ามีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 3 รายที่มีธุรกิจโรงพิมพ์เป็นของตนเองได้แก่ หนังสือพิมพ์สุราษฎร์ 360 องศา หนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน และหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ โดยระบุวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนนิติบุคคล รับจ้างจัดทำสิ่งพิมพ์เอกสาร วารสาร ข่าวสารต่างๆ รับจ้างโฆษณาควบคู่ไปกับการจำหน่ายหนังสือพิมพ์

‘เสียงใต้รายวัน’ ยอดพิมพ์ 25,000 ฉบับ เข้าสู่ออนไลน์ควบคู่ด้วย

หนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน มีจำนวนการพิมพ์สัปดาห์ละ 25,000 ฉบับ ที่มาภาพ: siangtai.com

สำหรับหนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน มีจำนวนการพิมพ์สัปดาห์ละ 25,000 ฉบับ จำหน่ายที่แผงหนังสือทั่วไป และร้านสะดวกซื้อทั่วภาคใต้ (7-Eleven) ทั้งยังมีนโยบายปรับเข้าสู่ออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ และทำเฟสบุ๊คแฟนเพจ

เชาวพงษ์ เมฆารักษ์กุล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน ได้ให้สัมภาษณ์ระบุถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ว่า มีผลต่อการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการจัดการในด้านอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การครอบครองเทคโนโลยีการพิมพ์ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เช่นเดียวกับความพยายามขององค์กรที่ต้องการขยายช่องทางการสื่อสารเพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นกลยุทธ์ในการบริหารงาน  ทั้งนี้ สื่อใหม่สามารถทำให้คนเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลป้อนกลับของผู้ใช้ที่โต้ตอบระหว่างกัน การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือ การทำให้เกิดการเผยแพร่ การกระจาย การสร้างเนื้อหาที่สดใหม่  และไร้ข้อจำกัดเรื่องห้วงเวลาการตีพิมพ์

“เราสร้างเว็บไซต์ขึ้นเพื่อจะทำให้เกิดการรับรู้ให้มากที่สุดและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ โดยการนำเสนอข่าวที่รวดเร็วกว่าหนังสือพิมพ์” ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวันระบุ

มีโรงพิมพ์เอง-ลดต้นทุน-ได้รับจ๊อบ

ส่วนสกนธ์ สินไชย เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ ระบุว่าโรงพิมพ์ของตนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง มีการพิมพ์ราย 10 วัน ครั้งละ 1,000 ฉบับ วางจำหน่ายที่แผงหนังสือทั่วไป สามารถเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีโรงพิมพ์เอง ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เงินลงทุนในการซื้อแท่นพิมพ์รวมไปถึงการจ้างช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญซ่อมบำรุง รักษาแท่นพิมพ์ และเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ไม่ปรับเข้าสู่ออนไลน์ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่ไม่เปิดรับเทคโนโลยี จึงทำให้กลุ่มผู้อ่านต้องการเสพข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษ “เรามีธุรกิจโรงพิมพ์เป็นของตัวเองเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตหนังสือพิมพ์ อีกทั้งมีความสะดวกเมื่อต้องการเพิ่มหรือลดจำนวนการตีพิมพ์ในแต่ละเดือนตามความต้องการ และสามารถยืดหยุ่นเวลาในการปิดต้นฉบับเพื่อรอการตีพิมพ์ได้ด้วย”

เช่นเดียวกับ เถลิงชนะ นิสสัยสรการ เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุราษฎร์ 360 องศา ที่มีจำนวนการตีพิมพ์เดือนละ 3,000 ฉบับ วางจำหน่ายที่แผงหนังสือทั่วไป แจกให้อ่านฟรีตามหน่วยงานราชการในท้องถิ่น และอ่านผ่านรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ระบุว่า องค์กรของตนมีการปรับเข้าสู่ออนไลน์ทั้งเว็บไซต์เฟสบุ๊คแฟนเพจ เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ เถลิงชนะขยายเพิ่มเติมว่า นอกจากจะสามารถลดต้นทุนการผลิตหนังสือพิมพ์แล้ว ยังสามารถบริหารจัดการทรัพยากรภายในให้เอื้อผลประกอบการธุรกิจ ด้วยการรับจ้างจัดทำสิ่งพิมพ์ เอกสาร วารสาร ข่าวสารต่างๆ รับจ้างโฆษณาไปพร้อมกับการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ รายได้ส่วนหนึ่งจึงได้จากธุรกิจภาย นอกที่เข้ามาซื้อพื้นที่โฆษณา

อีกกลยุทธ์ จ้างโรงพิมพ์อื่นพิมพ์อาจยืดหยุ่นกว่า

หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส

ในขณะที่ ภูวสิษฎ์ สุขใส ผู้อำนวยการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ระบุถึงปัจจัยที่ต้องจ้างโรงพิมพ์เอกชน อื่น เนื่องจากสามารถทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกกระดาษที่ดีมีคุณภาพสูงตามที่ต้องการ งานพิมพ์มีความละเอียด มีจำนวนการตีพิมพ์สัปดาห์ละ 8,000 ฉบับ วางจำหน่ายที่แผงหนังสือทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ และในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปรับเข้าสู่ออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟสบุ๊คแฟนเพจ

“ด้วยข้อจำกัดด้วยเรื่องของขนาดและจำนวนการพิมพ์และความสามารถของโรงพิมพ์ท้องถิ่น มีราคาสูง ขณะที่โรงพิมพ์เอกชนในกรุงเทพฯ สามารถลดต้นทุนการผลิตในราคาต่ำกว่า อีกทั้งคุณภาพกระดาษและการตีพิมพ์ เราสามารถพิมพ์ 4 สีได้ทั้งฉบับด้วยราคาถูก ไม่มีบวกเพิ่ม ทำให้องค์กรลดต้นทุนการผลิตส่วนนี้ได้ลงไปเยอะพอสมควร” ภูวสิษฎ์ ระบุ

ปัจจัยเกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการจัดการขององค์กรหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเขตภาคใต้ คือการจัดระบบองค์กรให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน ในแง่ของการจัดแบ่งสายงานตามหน้าที่และกระบวนการผลิต ความเป็นเจ้าของธุรกิจโรงพิมพ์ ก็มีผลต่อการควบคุมนโยบายหรือวัตถุประสงค์ การวางแผนตามระยะเวลา การเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงกลุ่ม เป้าหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยนำเสนอข่าวที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากสื่ออื่น ส่วนการจัดจ้างพนักงาน มีทั้งอัตราว่าจ้างพนักงานประจำและผู้สื่อข่าวฟรีเลนซ์ที่อยู่ต่างจังหวัด

ขณะที่เทคโนโลยีการพิมพ์มีผลต่อการควบคุมรายจ่ายในกระบวนการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตหนังสือพิมพ์แต่ละครั้งที่ค่อนข้างสูงจึงทำให้เกิดการลดจำนวนการผลิต ซึ่งจะทำได้ 2 วิธีเพื่อลดจำนวนการผลิต คือ ลดจำหน้าในฉบับ และลดจำนวนการผลิตในแต่ละครั้ง

‘ลดจำนวนพนักงาน’ และ ‘ลดจำนวนการผลิต’ เมื่อเผชิญวิกฤต

ทั้งนี้ พบว่าสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และภัยพิบัติ เป็นปัจจัยส่งผลต่อรายได้โดยตรง องค์กรหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะต้องปรับตัวและหาวิธีเยียวยาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักใช้วิธีการ ‘ลดจำนวนพนักงาน’ และ ‘ลดจำนวนการผลิต’ ตัวอย่าง กรณีของหนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวันที่ เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันปิดสนามบินภูเก็ต งดเที่ยวบินขึ้น-ลง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในปี 2551 มีผลทำให้งบประมาณรายได้จากโฆษณารายวันถูกยกเลิกโดยทันที ต่อมาองค์กรเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างลดจำนวนพนักงานบางส่วนและลดจำนวนการผลิตเพื่อประคองธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดในภาวะวิกฤต

“ตอนนั้น โฆษณารายวันถูกยกเลิกทันที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยเพราะมันเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน สิ่งที่ทำได้คือ การประคองธุรกิจเพื่อความอยู่รอด” ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน เล่าให้ฟัง

ส่วนหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ก็มีกรณีที่ส่งผลต่อการบริหารงานองค์กรถึง 4 ครั้ง ประกอบด้วย ผลกระทบเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ต่อมาเกิดวิกฤตน้ำท่วมหาดใหญ่ในปี 2553 ผลกระทบวิกฤตจากราคายางปลายปี 2556 และเหตุการณ์ระเบิดหาดใหญ่ในปี 2557 ส่งผลทำให้องค์กรเกิดการชะลอและเลื่อนเวลาตีพิมพ์ และจำเป็นลดจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมา “เราต้านกระแสเศรษฐกิจไม่ไหว ก็ต้องยอมปรับลด หลังระเบิดหาดใหญ่ในปี 2557 เราก็ต้องปรับลดจำนวนหน้าลงอีก ได้รับผลกระทบหลายอย่าง เพราะรายได้หลักจากโฆษณาหายไปหมดเลย” บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ระบุ

จากการสำรวจขนาดองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ในเขตภาคใต้เมื่อเดือน มิ.ย. 2559  พบขนาดองค์กรแตกต่างกันโดยหนังสือพิมพ์ สุราษฎร์ 360 องศา เป็นองค์กรขนาดเล็กมีทีมงานโดยประมาณ 5 คน  หนังสือพิมพ์เสียงใต้ เป็นองค์กรขนาดกลางมีทีมงานโดยประมาณ 15-20 คน ส่วนหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ เป็นองค์กรขนาดเล็กมีทีมงานโดยประมาณ 5 คน และหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส เป็นองค์กรขนาดกลางมีทีมงานโดยประมาณ 13-15 คน ซึ่งภายหลัง ปี 2560 หนังสือพิมพ์บางฉบับได้มีการปรับลดพนักงานบางตำแหน่งออกไปบ้าง เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด

'เม็ดเงินโฆษณา' มาจากเอกชน-นักการเมืองท้องถิ่น

ในด้านเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผู้ที่ตัดสินใจลงโฆษณากับหนังสือพิมพ์จะคำนึงยอดพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแต่ละฉบับก่อนเป็นลำดับแรก และตรวจสอบดูเนื้อหาหรือประเด็นข่าวที่อยู่ภายในว่าถ้าใช้งบประมาณลงพื้นที่โฆษณาส่วนนี้ จะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่

สำหรับผู้ลงโฆษณาที่เป็นหน่วยงานธุรกิจเอกชน จะมีการวางแผนเรื่องระยะเวลาในการซื้อพื้นที่โฆษณามาเป็นอย่างดีเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือสามารถเพิ่มจำนวนยอดขายได้หลังจากลงโฆษณา อาทิ ร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียน ส่วนใหญ่จะซื้อพื้นที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ช่วงก่อนจะเปิดเทอมหนึ่งหรือสองสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ของผู้ปกครอง หรือธุรกิจการท่องเที่ยวจะเลือกลงโฆษณาในช่วงที่เป็นเทศกาลท่องเที่ยวหรือช่วงฤดูท่องเที่ยว  นอกจากนี้ยังพบว่า นักการเมืองท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนการอยู่รอดขององค์กรหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพราะเนื่องจากการใช้พื้นที่โฆษณาในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จะมีมาตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ล้วนต้องใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดการรับรู้  ทั้งนี้ยังพบว่าองค์กรหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ประกอบธุรกิจแบบครบวงจรจะได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย เนื่องจากจะสามารถรับจ้างผลิตไวนิล โปสเตอร์ หรือการสำเนาเอกสารการเลือกตั้งจำนวนมากในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่น และบางครั้งทำให้ธุรกิจมีส่วนร่วมกับหน่วยราชการท้องถิ่นในการกำหนดงบประมาณประชาสัมพันธ์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

การรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็มีส่วนทำให้การเมืองท้องถิ่นซบเซา ไม่เกิดการแข่งขันในระดับท้องถิ่น ทำให้องค์กรขาดรายได้จากนักการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากเกิดความระแวงการใช้เม็ดเงินของนักการเมืองท้องถิ่นในการว่าจ้างผลิตสื่อท้องถิ่น เช่นเดียวกับข้อจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่น ภายหลังจาก คสช. ยึดอำนาจการปกครอง นักข่าวท้องถิ่นถูกผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจำกัดสิทธิ์ โดยอ้างการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 44 ว่าการนำเสนอข่าวภาครัฐในท้องถิ่นอาจจะส่งผลกระทบความมั่นคงของชาติ รวมทั้งการจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น

ยังไงก็มองข้าม ‘สื่อใหม่’ ไม่ได้

ช่องทางการจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้โฟกัส

จากการสำรวจพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลและการรับรู้ข่าวสารท้องถิ่นผ่านสื่อขององค์กรหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้โฟกัส พบว่า (ณ เดือน ส.ค. 2561) พบว่าผู้อ่านมีพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลผ่านทางเฟสบุ๊คมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 2.49) รองลงมาคือผ่านหนังสือพิมพ์ (ค่าเฉลี่ย 2.26) เว็บไซต์ (ค่าเฉลี่ย 2.23) ทวิตเตอร์ (ค่าเฉลี่ย 2.14) และค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.04 ตามลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับการวางแผนขององค์กรที่ต้องการปรับตัวเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ของ ภูวสิษฎ์ สุขใส ผู้อำนวยการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ที่ระบุว่า เกิดขึ้นภายหลังจำนวนการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่มีจำนวนลดลง จึงต้องหาวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารเพิ่มขึ้น โดยอาศัยสื่อใหม่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้อ่านและองค์กร

“เพราะสื่อใหม่ สามารถเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการ ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลป้อนกลับของผู้ใช้ที่โต้ตอบระหว่างกัน การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และการรวมตัวเป็นชุมชนที่แวดล้อมเนื้อหาสื่อนั้น คำมั่นของสื่อใหม่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การทำให้การสร้างสรรค์ การเผยแพร่ การกระจาย และการบริโภคเนื้อหาสื่อ อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างเนื้อหาที่สดใหม่  และไร้ข้อจำกัดในเวลาจริง ซึ่งองค์กรสามารถแบ่งรูปแบบการนำเสนอผ่านสื่อใหม่ ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ เว็บไซต์ข่าว ข่าวออนไลน์หน้าเพจบนเฟสบุ๊ค และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)” ผู้อำนวยการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ระบุ

ทั้งนี้พบว่าช่วงอายุและระดับการศึกษามีผลต่อพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลและการรับรู้ข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้โฟกัสที่ต่างกัน เช่น กลุ่มอายุ 15 - 25 ปีเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่สนใจข่าวสารในท้องถิ่นจะมีการเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อใหม่ อย่างเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอีบุ๊ค ส่วนกลุ่มวัยทำงาน อายุ 46 - 50 ปีที่สนใจข่าวท้องถิ่น และต้องการข้อมูลมาสนับสนุนการทำงานก็จะเปิดรับสื่อผ่านหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว ส่วนระดับการศึกษาพบว่าผู้อ่านในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจะมีพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลจากสื่อเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ในขณะที่ผู้อ่านระดับการศึกษาปริญญาโทมีพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลผ่านสื่อที่หลากหลายกว่า สำหรับเหตุผลในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารมากที่สุด คือ สนใจข่าวท้องถิ่น ร้อยละ 33.1 รองลงมา คือ เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารทั่วไป ร้อยละ 31.8 อ่านเพื่อความบันเทิง ร้อยละ 12.7 สนใจบทความวิเคราะห์ ร้อยละ 8.5 อ่านเพื่อฆ่าเวลา/แก้เบื่อ ร้อยละ 7.3 อ่านเพื่อสนับสนุนการทำงาน ร้อยละ 6.2  ตามลำดับ และน้อยที่สุด คือ เหตุผลอื่น ๆ (เพื่อดูประกาศรับสมัครงาน/ โฆษณา) ร้อยละ 0.4 

 

‘จุดยืนทางธุรกิจ’ และ ‘อุดมการณ์สื่อท้องถิ่น’

หนังสือพิมพ์ทั้ง 4 ฉบับ มีเพียง 2 ฉบับ คือหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสและหนังสือพิมพ์เสียงตรังนิวส์ ที่มีการวางแผนการทำงานเพื่อสังคม จัดวางตำแหน่งตนเองเป็น ‘สื่อเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เกิดการพัฒนา’ ส่วนอีก 2 ฉบับที่เหลือนำเสนอข่าวประชาสัมพันธ์กับให้หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชน หลีกเลี่ยงประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง มุ่งเน้นผลประกอบการ ให้ความสำคัญกับพื้นที่โฆษณาเพื่อสร้างรายได้เข้าโรงพิมพ์

นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตว่าผู้บริหารสื่อท้องถิ่นที่เคยมีประสบการณ์ทำงานสื่อระดับชาติมาก่อน จะมีความตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่สื่อท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ทางสังคมต้องการทำให้ธุรกิจคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมท้องถิ่นให้ดีขึ้น

ภูวสิษฎ์ สุขใส ผู้อำนวยการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส อธิบายถึงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นที่ควรมุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นสื่อที่เป็นมาตรฐานของท้องถิ่น ในอีกนัยหนึ่งคือการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องรายงานสถานการณ์ข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงวาระข่าวสารที่จะทำให้เกิดการรับรู้เรียนรู้ในท้องถิ่น และหวังว่าการนำเสนอข่าวสารในประเด็นเชิงสังคมจะทำให้คนในท้องถิ่นตระหนักต่อการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น

“วัตถุประสงค์ คือเราต้องการจะเป็นสื่อที่มีมาตรฐานในท้องถิ่น ดำเนินการเป็นธุรกิจ แต่ต้องเป็นสื่อที่สร้างสรรค์สังคมและมีมาตรฐานในปฏิบัติการ เราต้องเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมมานำเสนอและอธิบายเนื้อหาให้คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจได้” ผู้อำนวยการและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ระบุ

เช่นเดียวกับ สกนธ์ สินไชย เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ ได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต่อสังคมท้องถิ่น ว่าองค์กรต้องศึกษาแก่นของปัญหาท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อกำหนดแนวทางในการนำเสนอเรื่องราวหรือปัญหาของท้องถิ่นเป็นหลัก มีแนวทางชัดเจนว่ารับใช้สังคมท้องถิ่นโดยตรงทุก ๆ ด้าน ทุก ๆ วิชาชีพ  “เราต้องการทำงานเพื่อรับใช้อุดมการณ์หรือเพื่อรับใช้สังคม ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบในหน้าหนังสือพิมพ์มันก็ต้องออกมาดูดีทั้งเล่ม ทั้งเรื่องของเนื้อหา เราจะเน้นข่าวที่ฉีกจากคนอื่น จะเลือกนำเสนอประเด็นข่าวเจาะ ข้อมูลเชิงรุกเพราะต้องการนำเสนอประเด็นที่เกิดผลกระทบในท้องถิ่น” บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ ระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: